พิพากษาจำคุก 6 ปชช. ร่วมชุมนุมต้านรัฐประหารเมียนมา ให้รอการลงโทษ 2 ปี ด้าน “ปัณณพัทธ์” นศ.มธ. ซึ่งต่อสู้คดี ศาลลงจำคุก 4 เดือน 20 วัน ก่อนให้ประกันตัว

วันที่ 21 ส.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมาหรือ #ม็อบ1กุมภา2564 ของปัณณพัทธ์ จันทนางกูล กับพวกรวม 7 คน ในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, “ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน” มาตรา 138 ประกอบมาตรา 140 และ “ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน” ตามมาตรา 297

คดีนี้มีจำเลยทั้งหมด 7 คน ได้แก่ 1. ปัณณพัทธ์ จันทนางกูล 2. เกียรติศักดิ์ พันธุ์เรณู 3. หัสดินทร์ 4. พัชรวัฒน์ 5. ใบบุญ 6. ณัฐพงศ์ 7. ชาญชัย

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวประชาชน 4 ราย ที่ร่วมชุมนุมในกิจกรรม #StandWithMyanmar บริเวณหน้าสถานเอกอัครทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ถนนสาธรเหนือ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หลาย ในประเทศเมียนมา

คดีนี้ ปัณณพัทธ์ จันทนางกูล (ขณะเกิดเหตุอายุ 19 ปี และเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และ เกียรติศักดิ์ พันธุ์เรณู (ขณะเกิดเหตุอายุ 19 ปี) ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุ ตำรวจพาตัวไปยัง สน.ยานนาวา แจ้งข้อกล่าวหารวม 5 ข้อหา ดังกล่าว ก่อนในวันที่ 2 ก.พ. 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้จะอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคน

ต่อมา เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 ประชาชนและสมาชิกกลุ่ม We Volunteer (WeVo) รวม 7 คน ได้เดินทางเข้ารับทราบตามหมายเรียกจากเหตุการณ์ชุมนุมเดียวกันนี้ โดยคดีมี พ.ต.ท.ประวิทย์ วงษ์เกษม กับพวก เป็นผู้กล่าวหา โดยมีการแจ้งข้อหา “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์” ตามมาตรา 358 เพิ่มเติมจากผู้ถูกดำเนินคดี 2 รายแรกด้วย

ต่อมา เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2564 ประชาชนและสมาชิกกลุ่ม We Volunteer (WeVo) รวม 7 คน เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในข้อหา “ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท โดยอ้างพฤติการณ์จากกรณีเจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน 1 นาย ได้รับบาดเจ็บนิ้วก้อยเท้าขวาหัก ระหว่างเกิดเหตุปะทะและจับกุมในคดีนี้ ต้องใช้เวลาในการรักษาประมาณ 6 สัปดาห์ 

ต่อมา เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2564 ปัณณพัทธ์ และ เกียรติศักดิ์ ได้ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และมาตรา 297 ดังกล่าว แต่ไม่ได้ถูกแจ้งข้อหาทำให้เสียทรัพย์

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ โดยฟ้องจำเลยจำนวน 7 ราย จาก 9 ราย ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไว้

ก่อนการสืบพยานในเดือนมิถุนายน 2566 จำเลยที่ 1 (ปัณณพัทธ์ จันทนางกูล) ยืนยันในการต่อสู้คดี ส่วนจำเลยที่ 2-7 ได้ขอแถลงให้การรับสารภาพตามฟ้อง โดยจำเลยที่ 3-7 พร้อมชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายจนครบถ้วนในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไป และเนื่องจากความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดอันยอมความได้ ศาลจึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ออกจากสารบบความ และนัดฟังคำพิพากษาต่อมาพร้อมกับจำเลยที่ 1 ที่มีการสืบพยานต่อสู้คดี

การอ่านคำพิพากษาเกิดขึ้นที่ห้องพิจารณาคดีที่ 403 โดยจำเลยทั้งเจ็ดเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามเวลาที่ศาลได้นัดหมายเอาไว้

ศาลออกนั่งพิจารณาและเริ่มอ่านคำพิพากษา มีใจความสรุปได้ว่า ข้อเท็จจริงปรากฏได้ว่า เมื่อวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1-7 เข้าร่วมการชุมนุมในวันดังกล่าวจริง ซึ่งเป็นการชุมนุมที่มีความแออัด ไม่มีการตรวจคัดกรองโรค จึงมีความผิดจริงตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่หนึ่ง 1 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2-7 ให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท

สำหรับฐานความผิดอื่นๆ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อพิเคราะห์จากภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในวันเกิดเหตุ มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจจริง ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากการชุมนุมโดยทั่วไป โดยผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่งยืนประจันหน้ากับตำรวจ และข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1-7 ได้ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายจริง จึงเห็นว่าเป็นความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 215 

เนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษในกฎหมายที่หนักที่สุด คือ ฐาน “ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน” มาตรา 138 ประกอบมาตรา 140 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จำคุก 6 เดือน, จำเลยที่ 2 จำคุก 3 ปี ปรับ 30,000 บาท, และจำเลยที่ 3-7 จำคุกคนละ 4 ปี ปรับคนละ 60,000 บาท

ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุให้บรรเทาโทษ จึงลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 โดยลดโทษในฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหลือจำคุก 20 วัน และฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน เหลือจำคุก 4 เดือน รวมโทษจำคุก 4 เดือน 20 วัน

สำหรับจำเลยที่ 2-7 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุให้บรรเทาโทษ จึงลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง โดยลดโทษในฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหลือจำคุก 15 วัน ปรับ 5,000 บาท 

และฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานสำหรับจำเลยที่ 2 เหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 15,000 บาท รวมโทษจำคุกทั้งหมด 1 ปี 6 เดือน 15 วัน ปรับ 20,000 บาท  สำหรับจำเลยที่ 3-7 เหลือจำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 30,000 บาท รวมโทษจำคุกทั้งหมด 2 ปี 15 วัน ปรับ 35,000 บาท

พินิจพฤติการณ์ประกอบกับรายงานสืบเสาะเห็นว่า จำเลยที่ 2-7 เข้าร่วมการชุมนุมเพียงเพื่อต้องการแสดงออก และเป็นไปด้วยความสงบ จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัว จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี และคุมประพฤติเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ 4 ครั้ง กำหนดคนละ 30 ชั่วโมง

ต่อมาทนายความได้ยื่นประกันตัวจำเลยที่ 1 ซึ่งถูกพิพากษาจำคุก 4 เดือน 20 วัน โดยไม่รอลงอาญา ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัว 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

X