ศาลให้รอการลงโทษจำคุก ‘ชาญชัย’ อดีตการ์ดเสื้อแดง กรณีผลักดันตำรวจใน #ม็อบ8กุมภา ต้านรัฐประหารเมียนมา 

19 ธ.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีชุมนุม #ม็อบ8กุมภา หรือ #StandWithMyanmar หน้าสถานเอกอัครทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ถนนสาธรเหนือ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564 โดยจำเลยในคดีนี้คือ “ชาญชัย ปุสรังษี” อายุ 56 ปี ซึ่งเป็นอดีตการ์ดเสื้อแดง

เหตุในคดีนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 15.00 น. ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งชาวไทยและชาวเมียนมาราว 50-60 คน มาชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในประเทศเมียนมา อยู่ที่หน้าสถานทูตเมียนมา โดยมีชาญชัยและภูมิ ศศลักษณ์ เยาวชนไทย อายุ 17 ปี เข้าร่วมการชุมนุมด้วย ซึ่งคดีของภูมิถูกแยกไปดำเนินคดีในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และยังอยู่ในระหว่างการสืบพยาน

ระหว่างการชุมนุม ชาญชัยและภูมิไม่พอใจกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.ยานนาวา ขอตรวจสอบหนังสือเดินทางและบัตรประจําตัวชาวเมียนมาที่มาร่วมชุมนุม โดยทั้งสองพยายามกดดันให้เจ้าหน้าที่คืนบัตรให้กับชาวเมียนมาและปล่อยตัวเขาไป และผลักดันเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) จนเสียหลักเซไปชนกับพันตำรวจโทประวิทย์ วงษ์เกษม และเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนที่ตรวจสอบหนังสือเดินทางและบัตรประจําตัวชาวเมียนมาอยู่ล้มลง โดยทั้งสองกับพวกก็ยังยืนดูและต่อว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยชาวเมียนมาคนดังกล่าว 

พนักงานอัยการสั่งฟ้องชาญชัยใน 3 ข้อหา ได้แก่

  1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ 2548 
  2. ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ร่วมกันกระทําการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะฯ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
  3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง “ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้าย” ประกอบ มาตรา 140 “ถ้าความผิดตามมาตรา 138 วรรคสอง ได้กระทำโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในชั้นสอบสวนชาญชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตามระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ชาญชัยกลับคำให้การเป็นรับสารภาพเพื่อประโยชน์ในทางคดี และศาลมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย ก่อนจะมีคำพิพากษา

ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 601 เวลา 9.00 น. ชาญชัยนั่งรอในห้องพิจารณาอยู่ก่อนแล้ว เมื่อสอบถามว่าเขาคาดว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นเช่นไร ชาญชัยแจ้งว่าศาลน่าจะมีคำพิพากษาจำคุกและไม่รอลงอาญา เนื่องจากถูกกล่าวหาในข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานด้วย

เวลา 9.40 น. ศาลออกนั่งพิจารณา และให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์นำรายงานการสืบเสาะที่เจ้าพนักงานคุมประพฤติส่งมาให้ชาญชัยอ่านก่อนมีคำพิพากษา หลังจากได้อ่านรายงาน ชาญชัยก็แจ้งว่าเขาอาจจะมีโอกาสได้รอลงอาญาไว้ก่อน เนื่องจากความเห็นของเจ้าพนักงานคุมประพฤติเป็นไปในแนวทางที่ดี

เวลา 10.05 น. ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ เห็นว่าจำเลยมีความผิดในทั้งสามข้อกล่าวหา เห็นว่ากระทำความผิดหลายกรรม ลงทุกกรรมตามกระทงความผิดไป 

ข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป  พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี และลงโทษปรับ 6,000 บาท, ข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พิพากษาลงโทษจำคุก 1 เดือน และลงโทษปรับ 5,000 บาท และข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมแออัดเสี่ยงต่อการแพร่โรค พิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี และลงโทษปรับ 5,000 บาท

จำเลยรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง ข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป คงลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และลงโทษปรับ 3,000 บาท, ข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ คงลงโทษจำคุก 15 วัน และลงโทษปรับ 2,500 บาท และข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมแออัดเสี่ยงต่อการแพร่โรค คงลงโทษจำคุก 6 เดือน และลงโทษปรับ 2,500 บาท รวมลงโทษจำคุก 1 ปี 12 เดือน 15 วัน และลงโทษปรับ 8,000 บาท

เมื่อพิจารณารายงานการสืบเสาะ ศาลเห็นว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิด ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน อยู่ในวิสัยที่สามารถแก้ไขได้ และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา 2 ปี ให้คุมประพฤติจำเลย 1 ปี โดยต้องไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้งภายใน 1 ปี และให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร 12 ชั่วโมง

ในระหว่างรอจ่ายค่าปรับจำนวน 8,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ชาญชัยถูกเจ้าหน้าที่ศาลควบคุมตัวไปรออยู่ที่ห้องเวรชี้ตั้งแต่เวลา 10.20 น. ก่อนได้รับการปล่อยตัวในเวลา 12.00 น. 

ทั้งนี้ ชาญชัยยังคงมีคดีชุมนุม #StandWithMyanmar ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ร่วมกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ อีกคดีหนึ่ง จากการชุมนุมในวันที่ 1 ก.พ. 2564 ภายหลังมีการรัฐประหารในประเทศเมียนมา ตอนช่วงเช้าของวันที่ 1 ก.พ. 2564 ต่อมาในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 15.30 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมชาวเมียนมาและคนไทยมาร่วมชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารที่บริเวณหน้าสถานทูต โดยชาญชัยยืนยันว่าในคดีนี้ตนไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแต่อย่างใด เพียงแค่จอดรถอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุเท่านั้น คดีนี้อยู่ระหว่างรอสืบพยานในช่วงเดือนมิถุนายน 2566

.

ย้อนอ่านข่าวการแจ้งข้อกล่าวหา >>> แจ้งข้อหา 7 ปชช.เพิ่ม คดี #ม็อบ1กุมภา เหตุ คฝ.นิ้วก้อยหัก ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ พร้อมดำเนินคดี 1 ผู้ชุมนุม #ม็อบ8กุมภา

X