ตร.แจ้ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 8 นักกิจกรรม ใส่ชุดนักโทษขึ้นรถไฟฟ้า ครบ 9 ปี การหายไปของ ‘บิลลี่ พอละจี’ ทั้งหมดยืนยันให้การปฏิเสธ

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2566 ที่ สน.บางซื่อ นักกิจกรรม 8 ราย เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุม  ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จากกรณีใส่ชุดนักโทษขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อแสดงสัญลักษณ์ครบรอบ 9 ปี กรณีการหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย รวมทั้งเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ก่อนหน้านี้ นักกิจกรรมทยอยได้รับหมายเรียกของ สน.บางซื่อ ลงวันที่ 19 เม.ย. 2566 ให้ไปรับทราบข้อหาในวันที่ 27 เม.ย. 2566 โดย จิรภาส กอรัมย์ หรือ “แก๊ป” ได้รับหมายเรียกถึงสองใบ โดยเป็นหมายเรียกคดีเดียวกัน แต่ตำรวจกลับออกมาหมายเรียกครั้งที่ 2 ล่วงหน้า ทั้งที่ยังไม่ถึงวันนัดตามหมายเรียกครั้งแรกแต่อย่างใด โดยหมายเรียกครั้งที่ 2 ลงวันที่ 28 เม.ย. 2566 หมายเรียกครั้งที่ 2 นี้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

นอกจากจิรภาส แล้วยังมีผู้ได้รับหมายเรียกอีก 7 ราย ได้แก่ ธัญศิษฐ์ อิงคยุทธวิทยา, สิทธิชัย ปราศรัย,โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง, วรินทิพย์ วัชรวงษ์ทวี, เงินตา คำแสน, กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน และวีรดา คงธนกุลโรจน์

พ.ต.ท.สุภัทร เหมจินดา และ ร.ต.อ.เวทิศ สิงหะ พนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ แจ้งพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่า วันที่ 17 เม.ย. 2566 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะที่ พ.ต.ท.พูลพัฒน์ ธรรมรัชต์เจริญ รองผู้กำกับการสืบสวน สน.บางซื่อ ผู้กล่าวหากับพวก ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ได้รับแจ้งว่ามีผู้จัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง บริเวณเมโทรมอล ภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) สถานีจตุจักร จึงได้ร่วมกันเดินทางไปตรวจสอบ พบนักกิจกรรมกำลังยืนเรียงแถวหน้ากระดาน โดยสวมชุดนักโทษ (เสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้น สีน้ำตาล) พร้อมชูนิ้วมื้อ 3 นิ้ว อันเป็นสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านการทำงานของรัฐบาล

การกระทำดังกล่าวเป็นไปโดยเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปที่มาใช้บริการสถานีรถไฟฟ้าดังกล่าว เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้พบเห็นและร่วมแสดงความเห็นและข้อเท็จจริง เมื่อพบการกระทำผู้กล่าวหาจึงบันทึกภาพถ่ายไว้เป็นหลักฐาน และตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุ และบริเวณใกล้เคียง

ก่อนเกิดเหตุผู้กล่าวหากับพวกทราบจากกลุ่มไลน์ของคนทำข่าว ว่าผู้ต้องหาจะร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมดังกล่าว จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบว่าผู้ต้องหาทั้ง 8 คน เดินทางมายังที่เกิดเหตุพร้อมกัน จากนั้นผู้ต้องหา 7 ราย เข้าไปเปลี่ยนชุดในห้องน้ำของสถานีรถไฟฟ้า MRT เป็นชุดนักโทษ และจัดการชุมนุมและบันทึกภาพตามลำดับ 

จากนั้นผู้ต้องหาทั้ง 8 คน เดินขึ้นสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีหมอชิต เพื่อมุ่งหน้าไปยังสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยระหว่างที่อยู่บนรถไฟฟ้า ผู้ต้องหาที่ 6 ถือป้ายรูปมือชู 3 นิ้ว มีข้อความใต้ภาพว่า ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อแสดงให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้พบเห็นการจัดกิจกรรมดังกล่าว

พนักงานสอบสวนระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการจัดกิจกรรมชุมนุมโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยมีเจตนาร่วมกันและแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อให้บุคคลทั่วไปพบเห็นและเข้าร่วมชุมนุม โดยผู้ต้องหา 7 รายแต่งชุดนักโทษพร้อมชู 3 นิ้ว เพื่อให้เป็นจุดเด่น และจุดสนใจแก่บุคคลที่พบเห็น ส่วนผู้ต้องหาอีก 1 ราย ทำหน้าที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวและถ่ายทอดสด ซึ่งผู้ต้องหาแต่ละคนต่างมีความสำคัญในการชุมนุมเท่าเทียมกัน ถือเป็นแกนนำหรือผู้จัดหรือผู้จัดให้มีการชุมนุม มีหน้าที่จะต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะให้ผู้กำกับ สน.บางซื่อ ซึ่งเป็นท้องที่รับผิดชอบทราบถึงการชุมนุมดังกล่าวไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง 

หลังรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ และจะทำหนังสือให้การเพิ่มเติมภายใน 30 วัน ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ลงลายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหา และมีผู้ต้องหาอีก 3 ราย คือ สิทธิชัย, โสภณ และ วีรดา ที่ปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือ ตำรวจยังนัดหมายส่งสำนวนให้อัยการต่อไปวันที่ 15 พ.ค. 2566

สำหรับกิจกรรมเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2566 ประชาไท รายงานว่า นักกิจกรรมอิสระทั้ง 7 ราย ใส่ชุดนักโทษขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสพร้อมถือป้ายข้อความ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสื่อถึงวันครบรอบ 9 ปีการหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ถูกฆาตรกรรม แม้ปัจจุบันจะมีการพบผู้ต้องสงสัยแล้ว แต่คดีก็ยังดำเนินไปอย่างล่าช้า และตลอดเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ก็ยังมีประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกทำร้ายจากกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวอีกหลายกรณี 

ทั้งนี้ข้อหาเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ดังกล่าว มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

.

X