ความคิดและความใฝ่ฝันของ “บอล ธนวัฒน์ วงค์ไชย” คนรุ่นใหม่ที่ต้องพยายามเติบโตในยุคเผด็จการ

“บอล” ธนวัฒน์ วงค์ไชย คนรุ่นใหม่อายุเพียง 22 ปี นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ปี 3 ย่างเข้าปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตรองประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อนี้คงเคยผ่านหูผ่านตาของหลายคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง จากบทบาทการทำกิจกรรมรณรงค์ทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ในช่วงบั้นปลายของยุค คสช. ต่อเนื่องมาจนถึง “รัฐบาลประยุทธ์ 2” แต่เคยสงสัยไหมว่า “บอล ธนวัฒน์” เป็นใครมาจากไหน ประสบการณ์แบบไหนกันที่ผลักดันนักศึกษาเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งให้ออกมาทำกิจกรรมและทำงานสื่อสารทางการเมือง จนสร้างผู้ติดตามในแฟนเพจเฟซบุ๊ก “ธนวัฒน์ วงค์ไชย – Tanawat Wongchai” ได้ถึงกว่า 4 แสน 4 หมื่นคนแล้ว และเขาเผชิญอะไรบ้างระหว่างการเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในช่วงที่ผ่านมา

ชวนสนทนาคำต่อคำทบทวนเส้นทางชีวิตประสบการณ์ และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “บอล ธนวัฒน์” หนึ่งในเสียงของคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดความฝันอยากให้ประเทศดีกว่านี้

 

บอลเกิดและเติบโตมาจากที่ไหน  

ตั้งแต่เด็กเป็นคนเชียงใหม่ และละแวกในเมืองเชียงใหม่ ที่บอกว่าละแวกคือตั้งแต่เด็กมีการดูแลจากหลายๆ คน พ่ออาศัยอยู่ในเมืองกับแม่ แต่ว่าปู่กับย่า ตากับยาย จะอยู่อำเภอรอบๆ สันทราย แม่ริม หางดงบ้าง ก็จะเวียนอยู่แถวนี้ ถ้าพ่อแม่ทำงานบางวันก็ไปอยู่กับปู่ บางวันอยู่กับยาย บางวันอยู่กับตา ผลัดกันไป เป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิดและอยู่ละแวกเชียงใหม่

เรียนจบประถมจากโรงเรียนเทพบดินทร์วิทยาเชียงใหม่ จำเกรดเฉลี่ยไม่ได้, มัธยมต้นที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยเกรดเฉลี่ยราว 3.9 และจบมัธยมปลายโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เกรดเฉลี่ยราว 3.8  เรื่องเกรดจำแม่นๆ ไม่ได้เหมือนกันนะครับ

ตอนเด็กที่บ้านเลี้ยงดูมายังไง มีผลต่อความคิดเห็นในปัจจุบันของเราไหม

น่าจะมีผล เพราะที่บ้านเลี้ยงมาโดยไม่มีการจ้ำจี้จ้ำไช คือการบ้านก็ไม่ได้มานั่งบอกว่าต้องทำต้องส่ง ให้เป็นหน้าที่ของลูกเองว่าจะทำ ไม่ทำ เรื่องของคุณน่ะ อย่างเราจะไปเล่นข้างนอก ก็แค่บอกว่ากลับมาให้ทันข้าวเย็น สมมติเราออกไปเที่ยง กับเพื่อน ปั่นจักรยานไป เขาก็แค่บอกว่ามาให้ทันกินข้าวเย็นนะ จบ เขาจะไม่มาบอกว่าจะต้องแบบนั้นแบบนี้ คือการเลี้ยงที่ไม่ได้เคร่งครัดเกินไป ก็น่าจะมีผลที่ทำให้เราไปใช้ชีวิตที่มันรู้สึกว่าเราได้ลองชีวิตเอง อันนี้ก็น่าจะเป็นส่วนที่ทำให้เราโตมากับชีวิตที่ไม่ค่อยมีกรอบเท่าไหร่ ถ้ากลับไม่ทันตามที่กำหนด ก็ไม่มีบทลงโทษอะไร เท่าที่จำความได้คือไม่เคยโดนตี คือจะเหลวไหลยังไง ก็ไม่เคยโดนที่บ้านตี

ถ้าถามถึงคำว่า “การเมือง” ครั้งแรกที่เรารู้จักกับคำนี้ บอลคิดถึงอะไรหรือเหตุการณ์อะไร

คิดถึงเสื้อแดง ตอนนั้นเป็นวันเปิดเทอมของโรงเรียนยุพราช แล้วก่อนออกจากบ้าน ที่บ้านจะกินข้าวเช้าแล้วเปิดทีวีทิ้งไว้ จำได้ว่าตอนนั้นเป็นข่าว “เสธฯ แดง” โดนยิง ของวันไหนไม่รู้ แต่มันขึ้นข่าวเช้าของวันนั้น ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้หรอกว่าเป็นเสธฯ แดง ก็รู้แค่ว่ามีคนโดนยิงที่หัว แล้วเหตุการณ์มันก็รุนแรงมาก แล้วที่บ้านอากงหรือตาเนี่ย ก็จะเป็นเสื้อแดง แต่ว่าไม่ได้เป็นเสื้อแดงที่ไปชุมนุม แค่เป็นเสื้อแดง เขาก็บ่นๆๆ ว่า ไอ้พวกนี้มันไอ้เหี้ยไอ้เลว ด่ารัฐบาลขณะนั้น เราก็เลยรู้สึกว่าคืออะไร ก็ได้แต่สงสัยมาเรื่อยๆ

จริงๆ มีเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นที่ทำให้รู้สึกสนใจวิชาสังคม ตอนนั้นยังไม่รู้จักการเมือง ตั้งแต่ตอนประถมผมชอบวิทยาศาสตร์มาก อยากเป็นนักบินอวกาศไปนอกโลก แล้วจุดเปลี่ยนที่ทำให้เปลี่ยนวิชาที่สนใจเลยนะ ตอนประถม ปออะไรจำไม่ได้ แต่วันนั้นซ้อนรถปู่ ปู่ไปส่งที่โรงเรียนเทพบดินทร์ ครูบอกว่าวันนี้โรงเรียนปิด ทุกคนก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เขาก็คุยเหตุผลกัน พอกลับถึงบ้านปุ๊บ โทรทัศน์เปิดอยู่ก็จะเป็นคลิปของ..เขาเรียกอะไร ..มันคือโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจสมัยนี้ (ททท.) นะครับ เราถึงรู้วันที่เราไปโรงเรียนแล้ว เราเข้าโรงเรียนไม่ได้ เพราะว่าวันนั้นน่ะรัฐประหารปี 49 มันก็เลยทำให้เราสนใจว่ารัฐประหารคืออะไร พอสนใจเรื่อยๆ เราก็เริ่มไปอ่านแล้วว่ามันมีกี่ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่เท่าไหร่ แล้วทำไมถึงทำ มันเลยทำให้เปลี่ยนความสนใจจากวิทยาศาสตร์มาเป็นสังคมศาสตร์

แล้วก็มารู้จักคำว่า “การเมือง” เป็นครั้งแรกก็ตอนเสื้อแดงนะครับ ตอนโรงเรียนเทพบดินทร์ ยังไม่มีคอมฯ ให้นักเรียนใช้ มันมีแต่คอมพิวเตอร์ในห้องคอมฯ แต่ว่าโรงเรียนยุพราชเนี่ยมันมีคอมพิวเตอร์ในห้องสมุด ซึ่งเราไม่ต้องรอให้ถึงคาบคอมฯ เราไปเสิร์ชเอง แล้วตอนนั้นเราก็เริ่มไปเสิร์ชแล้วว่าเสื้อแดงคืออะไร แล้วก็ตอนนั้นเฟซบุ๊กมันเริ่มมาล่ะ เราก็เลยเริ่มค้นเริ่มเสิร์ชเริ่มหา ก็เลยเข้าใจคำว่าการเมือง การเมืองคืออะไร อะไรคือการจัดตั้งรัฐบาล แล้วนายกฯ มันมายังไง เสื้อแดงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราสนใจการเมือง ตอนนั้นประมาณปี 53 จำได้ว่าวันที่ 16 หรือ 17 ของเดือนพฤษภาคมนี่แหละ

แล้วตอนนั้นบอลคิดยังไงกับเหตุการณ์ที่ได้เห็น

รู้สึกว่า…ตอนนั้นนะคิดโดยเด็กนะครับ ประเทศเราทำไมมันเหมือนประเทศทางแอฟริกา ที่แบบฆ่าล้างกันอะไร ซึ่งตอนนั้นเป็นความคิดแบบเด็กๆ แล้วก็ไม่เข้าใจ พอมาเรียนสังคมที่โรงเรียน ครูในระบบราชการเขาก็ฝังเรามาครับว่าเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้าไม่ได้อินเทอร์เน็ตนะ ผมก็คงเชื่อเรื่องแบบที่เพื่อนส่วนมากในห้องเรียนเชื่อตามที่ครูปลูกฝังมา ก็คือเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง เป็นคนที่ทำให้ประเทศเนี่ยเสียหาย คือทั้งห้องเชื่ออย่างนั้นหมดเพราะว่าครูยัดอย่างนั้นไป แล้วเด็กมัธยมต้นเนี่ย ไม่มีใครแข่งกันวิชาสังคมศาสตร์ เขาแข่งกันคณิตศาสตร์ไม่ก็วิทยาศาสตร์ ไม่มีใครมาแข่งกันวิชาสังคมว่าใครรู้เยอะกว่าแสดงว่าเก่ง ไม่มี แล้วครูคนนี้เขาสอนทุกห้อง เพราะฉะนั้นเด็กจะได้ชุดความคิดแบบนี้ไปหมดเลย แล้วคิดดูว่าโรงเรียนที่น่าจะเป็นอันดับต้นๆ ของเชียงใหม่ เด็กยังมีความคิดแบบนี้ แล้วที่เหลือรุ่นเราๆ จะคิดยังไง ถ้าไม่ได้อินเทอร์เน็ต ผมก็คงอยู่อย่างนั้น

เหตุการณ์ที่ทำให้บอลเข้าไปเกี่ยวข้องกับคำว่า “การเมือง” ครั้งแรก

ตอนที่เรียนที่ม.ปลาย ทุกคนก็จะรู้จะพูดว่าผมไม่ค่อยถูกกับอาจารย์ระเบียบวินัยของโรงเรียนเท่าไหร่ เพราะว่าเขาห้ามอะไร ผมก็จะทำแบบนั้น โดยเฉพาะเรื่องถุงเท้า ผมไม่เข้าใจว่าถุงเท้าพื้นดำเนี่ยมันเป็นอะไรนักหนา คือจนครูคนหนึ่งเขาไม่ชอบผมไปเลย ผมก็ไม่สนใจ ผมจะเป็นคนที่ไม่ได้กวนตีนนะ แต่ว่าตัดผมเนี่ยนะครับ เขาให้เท่าไหร่ผมเอาเท่านั้น เช่นเขาบอกว่าให้ไม่เกิน 3 เซ็น ผมก็เอา 3 เซ็น คือไม่มีต่ำกว่านั้น ก็กลายเป็นคนเหมือนดื้อนิดๆ

จนกระทั่งผมเข้าเรียนที่จุฬาฯ ปี 1 มันมีกรณีการรับน้องในโรงเรียนม.ปลายของผม แล้วให้น้องกลิ้งบนพื้นคอนกรีตสนามคอนกรีต สนามบาส ให้น้องกลิ้งให้มุดเลอะ เอาแป้งมาทำอะไรแบบนี้ แล้วก็มีคนส่งไปให้เพจ “ANTI SOTUS” ลง ประกอบกับเป็นช่วงที่ผมเริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรื่องพ.ร.บ.คอมฯ ในจุฬาฯ และเคยไปเป็นวิทยากรหนึ่งในการเสวนาของเพจ “ANTI SOTUS” ด้วยครั้งหนึ่ง รวมๆ กันก็เลยเป็นที่มา ซึ่งผมคิดไปเองนะว่าเขาเลยเล็งผม พอเกิดกรณีเผยแพร่เรื่องรับน้องในโรงเรียน ก็มีรุ่นพี่ที่รู้จักและครูในโรงเรียนส่งข้อความมาว่าทำไมทำกับโรงเรียนแบบนี้ ทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง ครูขอให้เธอลบเถอะ เราก็งงว่าให้ลบอะไร เขาก็บอกว่าในเพจ “ANTI SOTUS” ที่มีการเอาไปลง ผมก็ชี้แจงว่าผมไม่ใช่คนเอาไปลง ผมไม่ใช่แอดมิน เขาก็ยังบอกว่าเธอก็ต้องเป็นคนส่งให้แอดมินนั่นแหละ ไปบอกให้แอดมินลบ แล้วก็มีเพื่อนร่วมห้องสัก 2-3 คน ส่งข้อความมาต่อว่า แล้วก็ลบเพื่อนในเฟซบุ๊กผมไป แล้วมีรุ่นพี่หลายคนเลย ก็โพสต์ด่า โพสต์แซะ โดนล่าแม่มดอยู่ช่วงหนึ่ง แต่รุ่นน้องหลายคนก็ค่อนข้างเข้าใจเรา อันนี้แปลกมาก รุ่นที่ถัดจากผมไปเข้าใจว่าผมไม่ได้ทำ แล้วต่อให้ผมทำเนี่ย มันก็ไม่ใช่เรื่องผิด มันไม่ได้ทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง คนที่ทำให้เสียชื่อเสียงคือคนทำ ไม่ใช่คนปล่อยเรื่องเปิดเผยเรื่อง จนสุดท้ายเหตุการณ์สำหรับตัวผมจบลง เพราะเหมือนมีคนไปบอกว่าคนที่ส่งให้เพจคือคนชื่อนี้ ตอนนั้นแหละครับก็เลยแบบกระแสด่าผมเลยหายไป แต่ว่าไม่มีคำขอโทษนะ ไม่มี คือด่าแล้วพอรู้ว่าคนที่ส่งให้จริงๆ เป็นอีกคนเนี่ย ก็หยุด แล้วก็ไปด่าอีกคน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกน่ะ

ตอนรัฐประหารปี 2557 เราทำอะไรอยู่แล้วรู้เรื่องแค่ไหน

ตอนนั้นอยู่เชียงใหม่ ม.ปลาย ราว ม.5 เป็นช่วงที่ทำสมัชชาเยาวชน หรือสภาเยาวชนของจังหวัด จำชื่อเต็มๆ ไม่ได้ วันนั้นจำได้ว่าประชุมอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด แล้วก็มีทีมรปภ. เขาบอกว่าให้กลับได้แล้ว จะมีการรัฐประหารหรืออะไรนี่แหละ ตอนนั้นรู้เรื่องแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ก็มีความรู้สึกหดหู่ รู้สึกว่า มันน่าจะยาว เอาจริงๆ นะ เพราะคุยกับเพื่อนๆ หลังจากออกจากศาลากลาง ก็คุยกัน มีเพื่อนอีกคนที่ตอนนี้ไปเรียนที่อังกฤษ ผมกับเพื่อนเสนอความคิดด้วยกันว่า รอบนี้น่าจะอยู่ยาว แต่เพื่อนคนอื่นๆ เชื่อว่าเหมือนรอบก่อนแหละ อยู่กันปีสองปี ซึ่งตอนนั้นก็คิดๆ กันในความเป็นเด็ก ม.ปลาย ตอนนั้นก็เริ่มเป็นเด็กที่เห่อการเมืองแล้วนะ ม.5 เริ่มไปอยู่ในกลุ่มการเมืองในเฟซแล้ว และก็มีเพจของตัวเองชื่อว่า “ติ่งสังคม” ตอนนั้นเข้าใจว่ามีคนติดตามอยู่ 4 หมื่น แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำแล้ว แค่มีแชร์จากเพจธนวัฒน์ไปลงอย่างเดียว จะลบทิ้งก็เสียดาย เพราะว่ามีคนติดตาม 1.4 แสน ก็เลยทิ้งไว้แชร์จากเพจไปลง

ตอนนั้นเรามีความเห็นต่อการรัฐประหาร ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยใหญ่ที่ทำให้บอลออกมาเคลื่อนไหวจนถึงปัจจุบันยังไง

ไม่เห็นด้วยน่ะ ก็โพสต์ 22 พ.ค. 57 แสดงความไม่เห็นด้วย คัดค้าน ช่วงนั้นก็โพสต์เรื่องการเมืองแล้วน่ะ ตอนอยู่ม.ปลาย ก็โพสต์เรื่อยๆ แสดงความเห็นแบบเด็กๆ รู้สึกว่ามันเป็นการทำให้ประเทศถอยหลัง เพราะว่ามันก็เห็นอยู่แล้ว รัฐประหารปี 49 มันก็ไม่ทำให้ประเทศดีขึ้น เราคิดว่ามันไม่ควรเป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองที่ถูกต้อง การจะแก้ปัญหาทางการเมือง มันต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง การเมืองมีกลไกของมันถูกไหม คือก็จัดเลือกตั้ง ถ้าคุณคิดว่ามวลมหาประชาชนไม่เอาทักษิณ ยิ่งลักษณ์แล้ว ก็แข่งกันในระบบซิครับ แล้วตอนนั้นเพื่อไทยไม่ใช่ คสช. นะ เป็นแค่รัฐบาลรักษาการที่แทบไม่มีอำนาจอะไรเลย แทรกแซงการเลือกตั้งก็ไม่ได้ คุณก็แข่งกันเลย

แล้วก็เรารู้สึกว่ามันควรจะเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้ายนะ พูดกับตัวเองตั้งแต่ปี 57 แล้วล่ะว่าอยากให้มันเป็นครั้งสุดท้าย แต่ตอนนั้นเนี่ย ยังไม่ได้ฝันอะไรไกล แค่คิดว่ามันควรจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ถ้ามีโอกาสก็อยากจะทำให้มันเป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ จนกระทั่งมีโอกาสได้มีทำกิจกรรม ก็รู้สึกว่ามันทำยาก เพราะว่ามันมีปัจจัยเหนือความควบคุมเยอะ

หลังจบม.ปลาย บอลเลือกเข้าเรียนที่จุฬาฯ เป็นที่แรกเลยไหมหรือยังไง

สอบโควต้าที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อน แต่ว่าตั้งใจอยู่แล้วว่าจะไปเรียนที่กรุงเทพฯ ไม่จุฬาฯ ก็ธรรมศาสตร์ แต่ว่าสอบโควต้าเพราะทุกคนสอบหมด แล้วค่าสมัครมันไม่ได้แพง ก็เลยสมัคร เลือกคณะที่คะแนนสูงสุดไปที่เราเห็นตอนนั้นไปคือ ศึกษาศาสตร์ เอกสังคม คะแนนสูงสุดตอนนั้น 500 กว่าถ้าจำไม่ผิด มันชาเลนจ์ดี เหมือนกับว่าจะไปเรียนกรุงเทพฯ อยู่แล้ว อันนี้ก็เหมือนติดให้ภูมิใจ แล้วก็ชาเลนจ์ตัวเองว่าจะทำได้ไหม ส่วนอีกอันเลือกเศรษฐศาสตร์สองภาษาที่เป็นปริญญาตรีควบปริญญาโท จาก 2 อันดับที่เลือกได้ ส่วนอีก 2 อันดับที่ให้เลือกเผื่อไว้ เป็นมหาวิทยาลัยร่วมตอนนั้นไม่ได้เลือกอะไรเผื่อเลย

ทำไมถึงเลือก ศึกษาศาสตร์เอกสังคม กับเศรษฐศาสตร์สองภาษา

ศึกษาสังคม เพราะจะชาเลนจ์ตัวเองว่ามันทำได้ไหม คือคะแนนมันสูงดีว่างั้นเถอะ 500 กว่า คะแนนขั้นต่ำ แล้วก็เศรษฐศาสตร์สองภาษา ตรีควบโทเนี่ย คิดตอนนั้นเร็วๆ ว่าก็ดีนะ เพราะถ้าจบตรีแล้วมาต่อโทเนี่ย ตามปกติมัน 6 ปี ใช่ไหม แต่อันนี้จบใน 5 ปี ก็เลยคิดว่าเอาอันนี้ดีกว่า อะไรแบบนี้

ผลสุดท้ายเป็นยังไง

สอบติดคณะศึกษาศาสตร์ เอกสังคมศาสตร์ แต่เลือกที่จะไปสอบกรุงเทพฯ ต่อ

เลือกสอบกรุงเทพฯ ที่ไหนบ้าง

เลือกสอบเข้า 2 ที่ จุฬาฯ กับ ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ เนี่ยตอนนั้นใช้คะแนนที่มันสอบ 9 วิชาสามัญ กับ GAT ,PAT เพราะว่าเป็นรอบรับตรงก่อนแอดมิชชั่น ส่วนธรรมศาสตร์เป็นการสอบข้อเขียน

เลือกคณะอะไรบ้างที่จุฬาฯ กับธรรมศาสตร์

ที่จุฬาฯ เลือกคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์เลือกเป็นรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ

ทำไมถึงเลือกคณะเศรษฐศาสตร์ เราคาดหวังอะไรตอนนั้น

รัฐศาสตร์ระหว่างประเทศเนี่ย ตอนนั้นเข้าใจว่าเป็นช่วงเลือกตั้งของสหรัฐ ใกล้จะเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ตอนนั้นปี 2015 เขาเริ่มโหมโรงกันแล้ว เราก็ไปตามอ่านข่าวอะไรอย่างนี้ แล้วรู้สึกสนใจว่าการเมืองระหว่างประเทศการเมืองในประเทศอื่นๆ มันน่าสนใจ ซึ่งจริงๆ แล้วเนี่ย ตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องหรอกว่าถ้าเราสนใจแขนงแบบนี้ ต้องไปเรียนปกครอง แต่เราก็เข้าใจไปเองด้วยความเป็นเด็ก ว่าชอบเรื่องการเมืองต่างประเทศ เราลงไออาร์ดีกว่า ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าไออาร์เนี่ย คือการเรียนทูตเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มันไม่ใช่เรื่องการเรียนระบบการปกครองในต่างประเทศ แต่เราก็ไม่รู้ด้วย แล้วก็ตอนจะสอบก็ไปอ่านในเน็ต ในเว็บเด็กดีหรืออะไรแบบนั้น ว่าข้อสอบปีก่อนๆ เขาออกอะไรบ้าง ก็ไปเกร็งๆ เองกับเพื่อน สมัยเรียนม.ปลายไม่เข้าติวเตอร์ แต่ใช้วิธีการขอเพื่อนที่ไปเรียนติวเตอร์ ยืมมาอ่าน ยืมอ่านๆๆ อ่านแล้วก็จำ จำแล้วก็เอาไปสอบ

ส่วนเศรษฐศาสตร์เนี่ย ตอนนั้นเหมือนโตขึ้นมานิดหนึ่ง เพราะว่าสอบตรงธรรมศาสตร์เนี่ยสอบก่อน ตอนนั้นก็เริ่มรู้สึกว่าไปอ่านงานเขียนงานวิเคราะห์อะไรอย่างนี้ เขาบอกว่าเศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย ในช่วงปีประมาณ 59-60 เราก็อ่านๆ เพราะอะไรเศรษฐกิจมันถึงตกต่ำ ทำไมอะไรอย่างนี้ ก็เริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย เศรษฐศาสตร์มันก็ดูเหมือนเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้ความเข้าใจ แล้วก็ดูเหมือนจะเป็นศาสตร์ที่จะแก้ปัญหาของประเทศได้ในอนาคต ก็เลยรู้สึกว่าเศรษฐศาสตร์ก็เป็นศาสตร์ที่น่าสนใจ

ประกอบกับที่ว่าถ้าเราลงรัฐศาสตร์ไปเนี่ย ที่ธรรมศาสตร์เราก็ลงรัฐศาสตร์อยู่แล้ว อันนี้ก็อยากให้มันเป็นอีกคณะหนึ่งเผื่อติดคู่อย่างนี้ ก็จะได้มาชั่งน้ำหนักว่าจะเรียนคณะอะไร ดีกว่าจะมาเลือกว่าจะเรียนมหาลัยอะไร ที่จุฬาฯ ก็เลยสมัครเป็นเศรษฐศาสตร์ไป

ผลการสอบออกมาเป็นยังไง

ติดทั้งคู่ แล้วตอนนั้นเลือกเป็นเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ

สุดท้ายปลายทางตอนนั้นเราคิดอยากทำอาชีพอะไร หรือว่าอยากทำอะไรหลังเรียนจบเศรษฐศาสตร์ไป

ตอนนั้นเนี่ย จริงๆ พ่อกับแม่ไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ว่าคนที่ไม่ใช่พ่อแม่ ปู่ย่าน้าอาก็ชอบถามว่าจบมหาลัยแล้วทำอะไร ซึ่งคำตอบที่ตอบไปเพื่อให้ได้เรียนเศรษฐศาสตร์คือตอบว่าทำงานแบงค์ไง คนเชียงใหม่จะมีความเชื่อจริงๆ น่ะว่าถ้าทำงานแบงค์เนี่ย คือเดอะเบสจ็อบล่ะ ยิ่งกว่าข้าราชการ คือน้องๆ หมอ เป็นรองแค่หมอกับพวกคนใหญ่คนโต ก็จบเศรษฐศาสตร์มาก็ทำงานแบงค์ไง

จริงๆ แล้วอยากทำงานที่เราได้มีส่วนในการกำหนดนโยบาย เรารู้สึกว่า ณ ตอนนั้นน่ะ เศรษฐกิจของประเทศมันผูกขาดกับคนไม่กี่คน แล้วตอนนั้นก็เป็นบ้ามาก ชอบไปอ่านงานเขียนของอาจารย์ผาสุก ที่เขาลงในเน็ต แล้วไปอ่านฟรี ตอนนั้นยังไม่รู้จักว่าอาจารย์เขียนหนังสืออะไรบ้าง คืออาจารย์แกชอบอัพบทความในเว็บอะไรจำไม่ได้แล้วสมัยก่อน แล้วก็ตามอ่าน ก็รู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งเรามีโอกาส เราจบไปเนี่ย เผื่อได้มีโอกาสไปกำหนดนโยบายที่มันจะเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศ แล้วมันทำให้คนจนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี คิดในมุมนั้นมากกว่า

แล้วคิดอีกแบบหนึ่งก็คือว่ารัฐศาสตร์ อันนี้เราไม่ได้ดูถูกศาสตร์ของใครนะ แต่เรารู้สึกว่ารัฐศาสตร์เนี่ยมันเป็นศาสตร์ที่ หนึ่ง อ่านเองได้ สอง มันเหมือนใช้สกิลในตัวมากกว่า ในการจะปกครองคน ก็เลยคิดว่ารัฐศาสตร์มันฝึกเอาเอง แล้วก็อ่านเองก็น่าจะพอรู้เรื่องน่ะ แต่ส่วนเศรษฐศาสตร์เนี่ย ถ้าคุณไม่จบมา การจะเข้าใจอะไรที่มันแบบต้องเด็กทางนี้จริงๆ เนี่ย ก็เลยรู้สึกว่าเลือกเศรษฐศาสตร์

พอเข้าเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วความคิดของเรายังคงเดิมไหม หรือว่ามันมีอะไรเปลี่ยนไป

คงเดิมและได้เห็นอะไรที่มันแย่กว่าเดิมเยอะ ปัญหามันไม่ใช่แค่นายทุนแล้วตอนนี้ ปัญหามันเยอะมาก แล้วการเรียนเศรษฐศาสตร์เนี่ยมันทำให้เราได้รู้อะไรที่มากกว่าเดิม มันทำให้เรารู้ว่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่พูดเสมอว่า ลดภาษีแล้วคนรวยจะเอาเงินไปให้คนจน จ้างงานมากขึ้นอะไรอย่างนี้ มันยังมีเศรษฐศาสตร์กระแสรอง มันยังมีสังคมนิยม มันยังมีแนวคิดเศรษฐกิจแบบมาร์กซ์ ที่อธิบายสังคมจำนวนมาก แต่ว่าสิ่งเหล่านี้เราไม่เคยเรียนตอนม.ปลาย เราเรียนมาแค่ว่าสังคมนิยมคือรัฐวางแผนจบ เขาไม่อธิบายต่อว่าสังคมนิยมเนี่ยมันทำให้สาธารณสุข การศึกษามันถ้วนหน้ายังไง แล้วมันมีผลดียังไง แต่กลับกลายเป็นว่าในหลักสูตรของม.ปลาย อธิบายทุนนิยมเยอะมาก การใช้นโยบายดอกเบี้ย การใช้นโยบายการเงินการคลังเยอะแยะมากมาย ซึ่งการเรียนเศรษฐศาสตร์มันทำให้เรารู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ แล้วทำให้เรารู้ว่าในโลกนี้ มันยังมีชุดความคิดทางเศรษฐศาสตร์อีกเยอะที่ไม่ได้ถูกพูดถึงในสังคม

ต้องขอบคุณอาจารย์ท่านหนึ่งคือ อาจารย์กุลลินี (ผศ.ดร.กุลลินี มุทธากลิน) แกเป็นคนเปิดโลกหมดเลย คือเด็กเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะในมหาลัยที่สอนตามตำราเนี่ย จะคิดเหมือนกันว่าชุดความคิดเดียวที่แก้ปัญหาในโลกนี้ได้คือทุนนิยม แต่อาจารย์กุลลินีเนี่ยเหมือนเปิดโลก เป็นคอร์สเรียนวิชาอีค่อนฮิส อีค่อนต๊อด (วิชาประวัติแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์) แล้วก็ผมอยู่ปี 2 ตอนนั้น วิชานี้ส่วนมากเขาจะเก็บไว้เรียนตอนปี 4 แต่ผมลงวิชาเอกตัวหนึ่งไม่ติด ก็เลยไปลงตัวนี้ กลายเป็นปี 2 คนเดียวที่ไปเรียนกับปี 4 แล้วอาจารย์กุลลินีแกก็สอน แล้วเราก็รู้สึกว่าเฮ้ย มันน่าสนใจว่ะ โลกใบนี้มันยังมีอีกเยอะ คือตอนที่เราเรียนรู้มันยังเป็นแค่ปี 2 ทำให้เรามีความสนใจในการเรียน ในการหาความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ในแขนงอื่นๆ อีกเยอะ แต่ว่าคนส่วนมากร้อยละ 99 ของคณะผมเนี่ย เรียนไอ้วิชานี้ตอนปี 4 กว่าจะรู้ตัวว่า เฮ้ย ไอ้ที่เรียนมาเนี่ยใช้ไม่ได้ ก็ปี 4 แล้ว ก็เลยทำให้เรามีเวลาไปหาความรู้หาอะไรมาอ่านเพิ่มขึ้น แล้วก็วิชาเนี่ยก็ได้เจอกับพี่เสก ศุภลักษณ์ (นักกิจกรรม) แล้วก็ได้ไปเจอกับชมรมผู้ฝักใฝ่ลัทธิสังคมนิยม ก็เลยได้ไปเจอแฟรงค์ เนติวิทย์ ได้ไปเจอนักกิจกรรมคนอื่นที่จุฬาฯ

ก้าวแรกสู่กิจกรรมทางการเมืองเริ่มขึ้นได้อย่างไร

เริ่มต้นน่าจะมาจากตอนทำสภานิสิตของจุฬาฯ ชั้นปี 2 ปี 2560 ตอนนั้นพอเข้าไปทำ สภานิสิตชุดนั้นตั้งใจกันไว้ว่าจะไม่ได้ทำแค่เรื่องของนิสิต แต่จะทำเรื่องของชุมชนรอบข้างจุฬาฯ ด้วย แล้วก็ทำเรื่องของประชาชนทั่วไปด้วย ก็เลยขยายงานจากเดิมดูแค่สวัสดิการนิสิต ดูเรื่องสิทธิของนิสิต ก็กลายเป็นว่าไปดูเรื่องของชุมชนรอบข้างด้วย รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าที่เช่าที่ของจุฬาฯ ที่เขาได้รับผลกระทบ จุฬาฯ ไปวาดฝันให้เขาอย่างดี ชื่อว่าโครงการ “สวนหลวงสแควร์” จุฬาฯ เซ็ตไว้ว่าเด็กจะมาเดินโน่นนี่ สุดท้ายเปิดมาเจ๊ง เพราะเด็กไม่ไป เราก็ไปช่วยเขาสะท้อนเสียงว่า เฮ้ย เขาเดือดร้อนนะจุฬาฯ ไม่ยอมลดค่าเช่า ยังเก็บเขาโหดเหมือนเดิม แล้วก็จะขึ้นค่าเช่ากับผู้ค้าโดยรอบอีก คือการไล่ที่ทางอ้อม เราก็ไปช่วยสะท้อนเสียงตรงนั้น

แล้วก็ตอนนั้นมีเรื่องของถวายสัตย์ฯ มาพอดี แฟรงค์ (เนติวิทย์) โดนปลด เราก็เลยรับไม้ต่อมาจากเพื่อนที่ถูกปลด ก็ทำสภามาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 61 ก็ไปทำเรื่องของคนอยากเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นแกนนำ ก็ไปร่วมกิจกรรม ไปทำกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ ที่นอกเหนือจากมหาลัย ก็เริ่มได้ไปประท้วงกับเขาบ้าง ได้ไปจัดกิจกรรมเองหลายครั้งเหมือนกัน ทำกับสนท. แต่จุดเริ่มมาจากสภานิสิตจุฬาฯ

เล่าที่ไปที่มาของเพจ “ธนวัฒน์ วงค์ไชย” ที่มีผู้ติดตาม 4 แสนกว่าคนหน่อย

มันเริ่มจากตอนที่เราเป็นสภานิสิตจุฬาฯ แล้วเพจสภาเนี่ย เรามีข้อตกลงกันว่าต้องเป็นอะไรที่ทางการที่มีมติของสภาเท่านั้นถึงจะลงได้ แต่บางเรื่องเรารู้สึกว่าเราก็คันปาก เราอยากจะพูด เช่นตอนนั้นสภามีความขัดแย้งกับองค์การบริหารของจุฬาฯ (อบจ.) ความขัดแย้งกันเรื่องโคโรเน็ต(ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว), ลีด, คทากร เรารู้สึกว่า 3 องค์กรนี้ ไม่ควรใช้เงินของนิสิตในการทำกิจกรรม มันไม่ควรจะใช้เงินของสโมฯ มาจัดกิจกรรมนี้ ความขัดแย้งกันเยอะมาก รุนแรงมาก จนเราปล่อยลีดกับคทากรผ่าน แต่โคโรเน็ต เนี่ยเราไม่ผ่าน เพราะว่าโคโรเน็ตมีปัญหาต่อเนื่องคือเรื่องอัญเชิญพระเกี้ยว แบกเสลี่ยง  เราไม่เห็นด้วยที่จะเอาใครไม่รู้ที่หน้าตาดีๆ 2 คน เป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาฯ อัญเชิญพระเกี้ยว แล้วทำเหมือนคนด้านล่างเป็นเหมือนหมูเป็นหมา ก็ขัดแย้งกันแรงมาก

มันก็ลามไปยัง สนจ. ก็คือสมาคมนิสิตเก่าที่หนุนหลัง อบจ. อยู่ กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสภา กับผู้ใหญ่ ผู้บริหารของจุฬาฯ ตอนนั้นมีเรื่องเยอะมาก เพราะว่า อบจ. เขาก็เหมือนมาพิมพ์โต้กัน เราก็รู้สึกว่าควรจะชี้แจงอะไรไหม ผมก็ใช้เฟซผมนั่นแหละพิมพ์อย่างที่เคย ตอนนั้นก็เริ่มมีคนถามแล้วว่า เฮ้ย สร้างแยกกันไหม อันหนึ่งเพจ อันหนึ่งเฟซส่วนตัว เฟซส่วนตัวคุณก็อัพเรื่องที่คุณอยากจะฉอดไป ส่วนเพจเนี่ย คุณก็อัพอะไรก็ได้ที่มันเป็นทางการ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้จริงจังอะไร

จนมาทำ สนท. (สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย – Student Union of Thailand) ร่วมตั้งกลุ่ม สนท.  แล้วก็มีกิจกรรมเคลื่อนไหวเล็กๆ หลายกิจกรรม คนใน สนท. ก็บอกว่าทำไมไม่สร้างแยก เพราะเหมือนเป็นไบโพล่าร์ คุณทางการอยู่แป๊บหนึ่ง คือผมเป็นคนชอบโพสต์อะไรบนเฟซ ก็คือไปกินเบียร์ ผมก็จะโพสต์ละว่าวันนี้มากินเบียร์ มันเหมือนแบบจะจริงจังก็ไม่จริงจัง คนกำลังจริงจังแล้วแบบ เฮ้ย โพสต์รูปของกินอีกล่ะ อะไรแบบนี้ ก็เริ่มมีคนบอกว่าไหนๆ มึงก็มีชื่อระดับหนึ่งล่ะ ก็สร้างเพจแยกไปเลยไหม ประกอบกับช่วงนั้น คนเห่อสร้างเพจกันเยอะมาก มีคนรุ่นผมสร้างเพจกันประมาณ 10 กว่าคน ก็เลยสร้างก็สร้าง แยกโพสิชั่นกันเลยว่าอันไหนเรื่องส่วนตัวโพสต์เฟซส่วนตัว อันไหนเป็นเรื่องงาน เรื่องการแสดงความเห็นทางการเมืองที่เราจะวิจารณ์ ก็เอาไปลงในเพจ เข้าใจว่าตอนนั้นประมาณพฤศจิกายน 61 เริ่มสร้าง

แปลว่าโดยฐานเดิมเป็นเรื่องราวในจุฬาฯ ก่อน แล้วมันเริ่มขยายวงออกมาเรื่องการเมืองการแสดงความเห็น จนมีผู้ติดตาม 4 แสน ได้ยังไง

ตอนนั้น คนตามเพจก็หลักร้อย ครึ่งหนึ่งก็เป็นเพื่อนในเฟซที่เราไปกดเชิญมาถูกใจ เราสร้างเพจพฤศจิกา 61 กุมภา 62 มีกิจกรรมแขวนพริกเกลือกับเพนกวิน แล้วหลังโดนจับ เราก็โพสต์อัพเดตว่าเราโดนจับ เพราะแค่มาแขวนพริกเกลือ ก็เป็นรูปหน้าผม แล้วก็มีของกลางที่ตำรวจยึด พริก, กระเทียม, เกลือ โพสต์อันนั้นไป บึ้ม คนกดไลค์ 30,000 นั่นแหละ จากเพจหลักพันก็พุ่งขึ้นเป็นหมื่น ในวันเดียว

ก่อนหน้านั้นก็มีคนตามมาบ้าง แต่ก็ไม่เยอะ เพราะว่าตั้งแต่พฤศจิกาจนถึงกุมภา ก็โพสต์แสดงความเห็นทางการเมืองเรื่อยๆ แล้วก็โพสต์กิจกรรมที่ทำ ตอนนั้นเหมือนไปเดินสายขอให้พรรคการเมืองหยุดหนุนประยุทธเป็นนายกฯ แล้วก็เคลื่อนไหวเรื่องการปิดสวิตซ์ คสช. พฤศจิกา ธันวา มกรา จนกุมภาเนี่ยมาบึ้ม แล้วกิจกรรมหลังจากนั้น คนก็ตามเรามาเรื่อยๆ ตอนนั้นนักศึกษายังไม่ออกมาเยอะ มีผม เพนกวิน แล้วก็มีเพื่อนไม่กี่คนทำกิจกรรม

แล้วก็ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ใกล้เลือกตั้ง แล้วเรารู้สึกว่าคนที่พูดเรื่องการเมืองแล้วเป็นนักศึกษา แล้วเข้าใจว่านักศึกษาต้องการจะสื่อสารอะไรเนี่ย มีไม่เยอะ ถึงมี ก็พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือพูดรู้เรื่อง แต่ก็ใช้ภาษาที่เข้าใจยาก หรือพูดรู้เรื่อง แต่เขาพูดไม่ได้ หรือพูดแบบยังไม่ถูกจริต เราก็เลยรู้สึกว่า เออ เราอยากเป็นคนที่แบบพูดแทนเพื่อนของเราที่ หนึ่ง เขาไม่มีพื้นที่ สอง เขาพูดแล้วคนไม่แชร์เขา สาม เขาอยากพูดแต่พูดไม่ได้

ก็เริ่มโพสต์โดยมีจุดมุ่งหมายว่าต้องการให้คนรู้ข้อมูลเรื่องการเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด กุมภา 62 ก็ทำมา 2-3 เดือนช่วงนั้น เพจก็เริ่มขึ้นจาก 1 หมื่น ไปเป็นหลัก 8-9 หมื่น เกือบแสน จนพอช่วงใกล้เลือกตั้งเกิดเหตุการณ์ 8 กุมภา เรื่องทูลกระหม่อมฯ ลงสมัครพรรคไทยรักษาชาติ แล้วในช่วงเลือกตั้งก็ได้รณรงค์เลือกพรรคฝั่งประชาธิปไตย พูดเรื่องเหตุการณ์เลือกตั้งที่คนรุ่นเราจะได้เลือกเป็นครั้งแรก จริงๆ ผมก็ไม่ได้รู้อะไรมากหรอก เราก็อาศัยรวบรวมความรู้จากหลายๆ แหล่งมา จนคนรุ่นผมที่กำลังจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในวันที่ 24 มีนาคม 62 เนี่ย ตามอ่านเพจผม ว่าไอ้นี่จะพูดอะไรวันนี้ จะเอานโยบายพรรคไหนมาลง เราก็ทำเปรียบเทียบหมดนะ ว่านโยบายด้านแรงงานของพรรคนี้ ด้านศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ของพรรคนี้ ใครเป็นอะไร ยังไง

คือช่วงเลือกตั้งเนี่ย คนตามเพจผมอยู่แล้วใช่ไหม แล้วก็คืนเลือกตั้งที่เขาลุ้นคะแนนกัน คนมันไม่ดูไลฟ์อยู่แล้วว่าพรรคไหนนำ คะแนนเท่าไหร่ เราก็อาศัยจังหวะว่าทำสรุปให้ว่าช่วงเนี่ยใครนำอยู่ ช่วงนี้ใครนำ เขตไหนต้องจับตา เขตไหนสูสีกันอย่างนี้ คนก็ง่ายดีมาตามที่เพจไอ้นี่คนเดียวแล้วกัน จะได้รู้ข้อมูลหมด คืนวันเลือกตั้งก็ขึ้นมาอีกหลายหมื่นยอดไลค์ คนก็ตามข้อมูลเลือกตั้ง จนหลังเลือกตั้งก็ไม่ไปไหนนะ ก็มีเรื่องของการตั้งรัฐบาลเพื่อไทยอนาคตใหม่ มีข่าวลือนั่นนู่นนี่ ตั้งรัฐบาล เรื่อง ส.ว. เรื่องนั่นนู่นนี่ต่อ ก็ทำให้คนยังอยู่ต่อ แล้วหลังจากเลือกตั้ง ก็กลายเป็นว่าคนที่เคยอยู่กับเพจเรา เราก็เปลี่ยนโพสต์จากเรื่องเลือกตั้ง มาเป็นเรื่องการวิจารณ์รัฐบาล พูดเรื่องการสืบทอดอำนาจ พูดถึงเรื่องช่องทางการแสดงความเห็น เรื่องพลังของคนรุ่นใหม่แบบนี้ ก็เลยทำให้คนยังอยู่กับเพจของเราต่อ

จนมันมีคำว่านักศึกษาเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็เป็นนักศึกษาใช่ไหม แล้วเหมือนช่วงนั้น คนที่ออกมาก็ยังเป็นคนหน้าเดิมๆ  มันยังไม่มีแฟลชม็อบ ยังไม่มีอะไรเหมือนช่วงนี้ (ปี 2563) คนที่ออกมาช่วงนั้นก็จะมี แค่ธนวัฒน์, พริษฐ์, เนติวิทย์  คำว่านักศึกษาเวลานึกถึงช่วงนั้นก็อาจจะไม่มีใครเท่าไหร่ ก็เลยทำให้ฐานมันขยายจากพันเป็นหมื่น จากหมื่นเป็นแสน จนถึงปัจจุบัน คือเพจผมมันเหมือนโชคดีหลายต่อนะ คือตอนเลือกตั้งใช่ไหม หลังเลือกตั้ง แล้วก็เกิดคำว่าคนรุ่นใหม่ คำว่านักศึกษา

แล้วพอนักศึกษาทำแฟลชม็อบ มีนักศึกษาเกิดขึ้นมาหลายคน คนก็เริ่มขยับไปสนใจใครก็ตามที่ไม่ใช่นักศึกษา แต่เป็นคนรุ่นใหม่ มันก็เลยทำให้เพจผมยังอยู่ต่อ คือมันไม่ดร็อปไป พอมีกระแสนักศึกษาปุ๊บ เหมือนคนมันก็ใฝ่หาถึงสิ่งที่ยังไม่มี แล้วผมก็เลยกลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่พูดเรื่องการเมือง ซึ่งไม่มีใครทำ มีจอห์น วิญญู แต่ก็ทำเป็นรายการ ทำ Podcast ไป แต่ไม่ค่อยมีใครที่เขียนลงเฟซ ลงทวิตเตอร์ เหมือนเราขยับจากตรงนั้นมาตรงนี้ จากตรงนี้ไปตรงนั้น ต่อเรื่อยๆ

เราทำเพจคนเดียวหมดเลยหรือเปล่า

คนเดียวครับ ทั้งเพจมีผมทำอยู่คนเดียว

คดีแรกที่เราถูกดำเนินคดี จากการออกมาทำกิจกรรมคือคดีไหน

คดีแขวนพริกเกลือ แล้วก็โดนอีก 4 คดี รวมเป็น 5 คดีแล้ว ตอนคนอยากเลือกตั้ง ไม่โดนคดีเลยทั้งในฐานะผู้ร่วมชุมนุมและแกนนำ มาโดนจากการเปิดเพลงหนักแผ่นดิน, โดนกับจ่านิวที่เชียงราย คดีปิดสวิตซ์ ส.ว., แล้วก็แฟลชม็อบไม่ถอยไม่ทน และคดีวิ่งไล่ลุง

ตอนนั้นหลังโดนคดีแรก เรารู้สึกยังไงบ้าง

ก็ไม่เคยโดน โดนครั้งแรกตำรวจเอาไปถ่วงเวลา เหมือนกับว่าวันนั้นจะมีกิจกรรมรอบเย็นที่ราชประสงค์ พนักงานสอบสวนอ้างว่าพิมพ์ไม่เก่ง คือเราไปทำกิจกรรมพริกเกลือตอนเช้า ถูกจับแล้วปล่อยตัวเราตอน 2 ทุ่ม คือเป็นการรับทราบข้อกล่าวหาที่มีแค่โทษปรับซึ่งนานมาก 10 ชั่วโมงได้ จนเขาปล่อยเราออกมา 2 ทุ่ม มันกดดันนะในนั้น แต่ว่าก็ไม่ได้เครียด แค่มีบรรยากาศกดดันเฉยๆ แล้วก็เนื่องจากว่าเราไม่เคยโดน ก็ได้ประสานทนายจากศูนย์ทนายฯ เข้าไปช่วย ทนายยังบ่นเลยว่าทำไมนาน ไม่เคยเจอนานขนาดนี้

เป็นความรู้สึกที่มันก็ไม่น่ากลัวอย่างที่เราคิด เพราะตอนที่ไปพิมพ์ลายนิ้วมือ เราคิดว่ามันจะน่ากลัวกว่านั้น คือจริงๆ เราก็ไม่ควรโดนนะ แต่ว่ามันก็เข้าใจได้ หนึ่ง เราไม่ควรโดน สอง คนอื่นๆ ที่เขาไม่ได้โดนแค่คดีที่มีโทษปรับอย่างเรา เขาจะรู้สึกยังไง คนที่ต่อสู้แล้วโดนโทษจำคุกด้วยเนี่ย อันนี้หนักกว่าเรามาก เพราะฉะนั้นเราเลยรู้สึกว่าแค่วันเดียวที่เราต้องเสียที่ สน. ก็เสียเวลาแล้ว ต่อสู้คดีอีก มันเสียเวลา เสียเงินของเราเท่าไหร่ นี่คือต้นทุนของการเคลื่อนไหว

เราก็เข้าใจคนที่เขาเคลื่อนไหวมาก่อนหน้าเรามากขึ้น แล้วยิ่งเข้าใจเลยว่าโดยเฉพาะคนที่ต้องติดคุกเนี่ย เขาเสียทั้งโอกาส เสียทั้งเวลา เสียทั้งต้นทุนในชีวิตเขามากขนาดไหน ก็เลยทำให้ตัวเองกับเพนกวิน หนักแน่นในอุดมการณ์มากขึ้น คือแทนที่เขาจะแจ้งความเราแล้ว เล่นงานเราด้วยกฎหมายเนี่ย เพื่อทำให้เรารู้สึกกลัวใช่ไหม แต่เรากลับรู้สึกเข้าใจเลยว่าทำไมคนที่ยิ่งโดนคดี ยิ่งโดนแกล้งเนี่ย ถึงออกมาต่อสู้ ออกมาเคลื่อนไหวหนักมากขึ้น เพราะเขาสัมผัสโดยตรงกับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับเขา

ตอนที่โดนคดีแรก และคดีอื่นๆ ต่อมา ที่บ้านเป็นยังไงบ้าง

เขาก็ให้เราระวังตัวน่ะ ระมัดระวัง เขาก็เป็นห่วงว่าทำแบบนี้แล้วเหมือนสู้กับอำนาจมืด เขามีพร้อมเต็มสูบทุกอย่าง แต่ว่าเราไม่มีอะไรเลย เราจะสู้เขาไหวหรือเปล่า อะไรอย่างนี้ ผมก็บอกว่าไหว ถ้าเราไม่ยืนยันความถูกต้อง ถ้าเราไม่สู้แล้วใครจะสู้ ถ้าทุกคนกลัวหมด มันจะมีภาพๆ หนึ่งที่มันโยนแส้ ถ้ามีคนๆ หนึ่งลุกขึ้นมา ไอ้ที่เหลือก็มีความเป็นไปได้ที่จะลุกขึ้นมา แต่ถ้าไม่มีใครลุกขึ้นมาต่อสู้เลย ทุกคนก็ไม่มีใครกล้าสู้ เพราะฉะนั้นคนที่มีต้นทุนพร้อมกว่า หรือคนที่มีชื่อเสียงก็ควรจะใช้ต้นทุนนั้น ให้มันเกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นผมก็คิดว่าคนที่ยืนหยัดสู้ตั้งแต่วันที่ไม่มีใครสู้ พี่ไผ่ (ดาวดิน) หรือคนอื่นๆ  ผมคิดว่าเขาไม่ควรจะสู้แล้วไม่มีคนรับไม้ต่อ เพราะฉะนั้นมันต้องมีการรับไม้ต่อเรื่อยๆ แล้วผมก็ดีใจว่าวันนี้มันไม่ใช่เรื่องของหน้าเดิมๆ แต่มันมีคนอีกมากมายแล้ว ตอนนี้ที่เขาพร้อมจะสู้แล้ว ซึ่งก็ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราเสียไปไม่สูญเปล่า เงินในการสู้คดีหรืออะไรก็ไม่เสียดายเลย เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้

แต่ละคดีตอนนี้เป็นยังไงบ้าง แล้วมีความเห็นยังไงบ้าง

จาก 5 คดี พิพากษาไปแล้ว 2 คดี คือแขวนพริกเกลือกับเปิดเพลงหนักแผ่นดิน โดนปรับทั้ง 2 คดี ความเห็นเรื่องคดี มันก็ไม่ควรเกิด แต่มันก็เข้าใจได้ คือถ้ามันเป็นประชาธิปไตยจริงๆ 2 คดีนี้มันไม่ควรขึ้นสู่ชั้นศาลตั้งแต่แรก มันไม่ควรถูกจับตั้งแต่แรก แต่มันไม่เป็นประชาธิปไตย เขาเปลี่ยนแทนที่จะใช้มาตรา 44  หรือคำสั่งของ คสช. เนี่ย เขามาใช้กฎหมายที่ออกโดยสภาที่เขาแต่งตั้งเข้าไปเป็น แล้วก็มาใช้เล่นงานคนที่ออกมาเคลื่อนไหว คนที่ออกมาสะท้อนความคิดเห็นที่เขาไม่ต้องการ

แต่ก็เข้าใจได้ว่าทำไมมันถึงจะต้องลงโทษเรา เราเข้าใจตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ถ้าเขาไม่แจ้งข้อหาเรา เขาก็โดนเล่นงาน เข้าใจอัยการถ้าเขาไม่สั่งฟ้องเรา เขาก็ต้องไปอธิบายกับหัวหน้าเขาว่าทำไมเขาถึงไม่สั่งฟ้อง อย่างเคสที่เขาไม่สั่งฟ้อง MBKใช่ไหม ก็เห็นว่าโดนย้าย เราเห็นเคสนี้ เรายิ่งเข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ ศาลถ้าเขาไม่ลงว่าเราผิด เขาก็จะไปอธิบายกับหัวหน้าต่อๆ ไปของเขาได้อย่างไร คือเราเข้าใจว่าทำไมเราถึงโดน แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ควรจะโดนตั้งแต่แรก

แล้วการโดนดำเนินคดีของเรา มันทำให้เรามีความคิดหรือความเชื่อเปลี่ยนไปบ้างไหม

คือเรารู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมมันมีปัญหาอยู่แล้วล่ะ แต่พอเราโดนเอง เราก็ยิ่งเข้าใจว่าทำไม มันถึงเป็นแบบนั้น คือเท่าที่เราดู โดยเฉพาะฝั่งตรงข้ามกับผู้มีอำนาจโดน เราก็รู้แหละว่ามันมีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น แต่พอเราโดนเองแล้ว เราได้ไปเห็นกระบวนการแต่ละขั้นตอน มันยิ่งทำให้ความเชื่อหรือภาพที่เราเห็นในแนวคิดที่ว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยมีปัญหา แล้วมันทำให้คนจนที่เขาไม่มีโอกาสจะต่อสู้ เขาได้รับผลกระทบจริงๆ อย่างเรา เอาแค่คดีที่ไม่มีโทษจำคุกนะ  ยิ่งโทษจำคุก ยิ่งต้องไปหาเงินมาประกันตัวใช่ไหมครับ โดนปรับ 2,000 แต่รวมเบ็ดเสร็จสู้คดี เสียเงินไปเป็นหมื่นต่อคดี เพราะค่าเดินทางจากหอไป สน. จากหอเราไปอัยการ จากหอเราไปศาล ทุกนัดๆ ที่เขานัด แล้วมันเสียเวลาเรา เวลาเรียน เราต้องลาทั้งวันเพื่อไปศาลน่ะครับ อันนี้มันก็เสียหลายๆ อย่าง ถ้าเป็นคนทำงาน สมมติเป็นคนหาเช้ากินค่ำ เขาก็ต้องเสียรายได้เขาต่อวันเลย เพื่อจะไปศาล

แล้วก็กระบวนการสืบพยาน กระบวนการยุติธรรมที่เราเห็นมันยิ่งชัดเจน อย่างตอนคดีพริกเกลือ ศาลก็ชัดเจนว่าเขาจะลงเรา เวลาสืบพยาน เวลาทนายฝั่งเราถามค้านอะไร ศาลก็เบรกหมด ข้อนี้ศาลรู้อยู่แล้วไม่ต้องถาม ข้อนี้ศาลพิจารณาเองได้ แต่พออัยการถามศาลไม่เบรกอะไรเลย มีคำหนึ่งผมจำได้ไม่ชัด ศาลพูดมาประโยคหนึ่ง ซึ่งมันโคตรชัดเลยว่าเขาจะเอาเรา แต่ว่าแค่ให้มันพ้นๆ กระบวนการ คือธงคุณมีอยู่แล้ว มันก็ยิ่งทำให้เราเห็นว่า เออ มันเป็นกระบวนการเดียวกัน แล้วมันมีปัญหาจริงๆ มันไม่ใช่แค่วาทกรรมของคนที่เขาได้รับผลกระทบ แล้วเขาโจมตีศาล ไม่ใช่ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ  คือเชื่ออยู่แล้วว่ามันมีปัญหา แต่พอโดนกับตัวก็ยิ่งเชื่อ และยิ่งอยากให้มันได้รับการแก้ไข คือกระบวนการยุติธรรมมันต้องเป็นเรื่องของการเอาข้อเท็จจริงมาสู้กัน เอาข้อกฎหมายมาสู้กันใช่ไหม แต่กลายเป็นว่าเรื่องการเมืองเนี่ย กระบวนการยุติธรรมมันกลายเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรอง ใครเจรจา ใครมีน้ำหนัก ใครมีภาษีดีกว่า คุณก็พ้นคดี ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น

สิ่งที่น้อยคนจะรู้ว่าหลังออกมาทำกิจกรรม บอลได้ตัดสินใจพักการเรียนไป 1 ปี ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น

ตอนนั้นปี 2 จะขึ้นปี 3 ตัดสินใจดร็อปเรียนไป ตอนนั้นเป็นสภานิสิตแล้ว ก็หมดวาระไปแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เรามีบทบาทค่อนข้างเยอะในจุฬาฯ และการเมืองระดับประเทศ กิจกรรมค่อนข้างเยอะ คิดนั่นโน่นนี่ แล้วก็ไปร่วมตั้ง สนท. แล้วก็ออกหน้าสื่อบ่อยๆ ก็มี..เขาเรียกว่าอะไร…เป็นภัยคุกคาม มีคนส่งจดหมายมาขู่ทำร้ายอะไรแบบนี้ แล้วเรารู้สึกว่าชีวิตเราไม่ค่อยปลอดภัย ตอนที่เกิดเรื่องนี้ประมาณ มิ.ย.- ก.ค. 62 หลังการเลือกตั้งใหญ่เสร็จสิ้น เป็นช่วงที่มีข่าวการทำร้ายนักกิจกรรมคุณฟอร์ด คุณเอกชัย แล้วมาถึงช่วงที่พี่นิว (จ่านิว สิรวิชญ์) โดนตีครั้งแรก เพนกวินก็ถูกโทรข่มขู่คุกคามกันมากขึ้น เป็นช่วงนั้นที่ตัดสินใจดร็อปออกมาก่อน แล้วก็ลดบทบาทบนหน้าสื่อลง

กลับไปกรุงเทพอีกครั้งก็ประมาณเดือน ก.ย.-ต.ค. 62 ก็คือมาอยู่เชียงใหม่ 2-3 เดือน จนเรารู้สึกว่า เฮ้ย เราปลอดภัย และเราก็รู้สึกว่าถ้าเราหลบแบบนี้ มันก็ต้องหลบตลอด เราก็เลยรู้สึกว่ากลับไปดีกว่า แล้วอีกอย่างการเมืองมันก็เริ่มนิ่ง แล้วก็กรรมาธิการในสภาก็เริ่มที่จะทำงานที่เวิร์คล่ะ เราก็เลยรู้สึกว่าถ้ามันมีอะไร อย่างน้อยก็มีกลไก เพราะตอนนั้น คสช. ก็หมดละ หมดช่วงเดือนกรกฎา ก็เริ่มตัดสินใจว่าโอเค ขอดูต่ออีกสักเดือนหนึ่ง จนกระทั่งปลาย ส.ค. เราก็เริ่มตัดสินใจว่าเราจะกลับไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ กลับไปใช้ชีวิตแบบปกติ แต่ก็เป็นชีวิตที่เปลี่ยนไปเยอะนะครับ จริงๆ ผม New Normal มาตั้งแต่ปีก่อน ก็ไม่ขึ้นรถเมล์ ไม่ขึ้นรถไฟฟ้า แท็กซี่อย่างเดียว แล้วก็ต้องเป็นแท็กซี่ที่เราเรียกมา แล้วก็ใช้แอพที่เป็นหน้าคนอื่น เอาหน้าเพื่อนมาใส่ แล้วก็เบอร์เวลาจะออกข้างนอก เบอร์ส่วนตัวเราจะปิดไว้ ต้องใช้เบอร์คนอื่นในชื่อคนอื่น ตอนแรกดร็อปไปเทอมหนึ่ง แล้วปลายๆ เทอมหนึ่ง เราก็ไปอุตริคิดกิจกรรม หลังเว้นจากหน้าสื่อไปนานมาก เราอยากทำกิจกรรมอะไรขึ้นมาสักกิจกรรมหนึ่ง ก็คิดกับเพื่อน จนออกมาเป็นกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่คิดออกมากัน ตอนนั้น ตุลา-พฤศจิกา 62 ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นงานใหญ่ ก็ลงทะเบียนเรียนไป ตามปกติ ทำไปทำมามันเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยตัดสินใจดร็อปอีกเทอมหนึ่ง กลายเป็นดร็อปไป 1 ปี เต็ม

บอลมีความคิดความฝันอยากให้ประเทศเป็นแบบไหน ในแง่คนที่ออกมาผลักดันทางการเมือง

คิดว่าเป็นไปได้มากที่สุด อยากให้มันเป็นเหมือนแถบสแกนดิเนเวีย คุณภาพชีวิตดี ประชาชนทุกคนมีสวัสดิการที่ดี การศึกษาถึงปริญญาฟรี แล้วฟรีจริงๆ น่ะ มี Universal Income, Basic Income ที่ทุกคนจะได้รับเงิน มีการรักษาพยาบาลที่ฟรี มีเศรษฐกิจกระจายไปที่คนทุกกลุ่ม ไม่ใช่กระจุกอยู่ที่คนแค่ไม่กี่คน มีระบอบการปกครองที่รัฐบาลมาจากเสียงของประชาชนจริงๆ แล้วประชาชนสามารถสะท้อนสิทธิเสียงของเขาได้ และเป็นประเทศที่ทุกคนกล้าเรียกมันว่า “บ้านเกิด” ประเทศที่ไม่มีใครอยากจะพูดว่าถ้ามีเงิน จะย้ายไปอยู่ที่อื่น ผมคิดว่ามันทำได้ แล้วมันก็ควรจะเกิดขึ้นให้ได้อย่างน้อยๆ ก็ควรจะเป็นรุ่นผมที่มันจะเปลี่ยน ถ้าเรายังปล่อยให้ไอ้ประเทศแบบนี้ มันส่งต่อไปเรื่อยๆ ถึงวันนั้นมา มันก็คงจะไม่มีใครกล้าเรียกประเทศนี้ว่าบ้านเกิดอีก

แล้วในฐานะคนรุ่นใหม่ คิดว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่มีอะไร และขาดอะไรไปอีกบ้างเพื่อผลักดันประเทศนี้ให้ดีขึ้น

เรามีความคิด มีอุดมการณ์ เรามีพลัง เรามีเวลาในชีวิตที่เหลืออยู่อีกยาว เรามีต้นทุนในการจะเปลี่ยนประเทศนี้ ไม่นับเงินน่ะ ครบทุกอย่าง เหลืออย่างเดียวคือการเอาต้นทุนนี้ มาทำให้เกิดผลที่เราอยากจะเห็นมัน ไอ้เงินเนี่ยมันไม่ยากหรอก ไปทำกิจกรรมระดมทุนขายของก็พอได้มา แต่เราคิดว่าสิ่งที่มันยังเปลี่ยนประเทศนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา ทุกคนวิจารณ์รัฐบาลหมด ทุกคนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลทำในหลายๆ เรื่อง เกือบทุกเรื่อง แต่สิ่งที่พวกเราไม่ทำ แล้วมันทำให้ คสช. อยู่มา 6 ปี เพราะว่าเราไม่เอาต้นทุนที่มีอยู่มาทำ

เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ มีความได้เปรียบกว่าคนอื่นหลายๆ เรื่อง หนึ่ง เสียงคุณดังกล่าวชาวบ้าน จริงๆ นะ เวลานักศึกษาพูดอะไรดังกว่าคนอื่นพูดเสมอ สอง คุณมีพละกำลังล้นเหลือ หลายๆ คนเรียนอย่างเดียว แต่มันก็มีคนที่ทั้งเรียนด้วย ทำงานด้วยนะครับ แต่ว่าคนจำนวนไม่น้อยเรียนอย่างเดียว เพราะฉะนั้นคุณมีเวลาว่างมากกว่าคนที่เขาทำงานแล้ว คุณมีเวลาในการคิด ในการศึกษา ในการเอากำลังที่คุณมีอยู่ไปทำอะไรให้มันเกิดประโยชน์ แล้วก็คุณมีความสดใหม่ การเป็นคนรุ่นใหม่ มันมีความสดใหม่ มีความ energetic (มีพลัง) อะดรีนาลีนมันพุ่งกว่าคนแก่น่ะ เวลาคุณอยากทำอะไร มันมีกำลังเยอะกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นแต้มต่อ ขาดอย่างเดียวคือเอามาใช้

บอลวางแผนชีวิตยังไงต่อจากนี้ จากที่ดร็อปไปก็กลับมาเรียนแล้ว วางแผนยังไงต่อ

ก็เรียนให้จบนะครับ แต่ว่าไม่ได้รีบน่ะ ไม่ได้รีบอะไรมากมาย เพราะว่ามีตั้ง 8 ปี แต่ว่าก็คงไม่ใช้ให้เต็ม 8 (หัวเราะ) แต่หมายถึงว่าเราไม่ใช่เรียนอัดๆๆ ให้มันจบ แต่ก็คงเรียนควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมนะครับ แล้วก็พูดให้ได้มากที่สุด ให้คนในสังคมตื่นตัวให้ได้มากที่สุด แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งในกลไกการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ร่วมกับคนอื่นๆ

หากเรียนจบไปแล้ว ก็คงไปหาอะไรทำที่รู้สึกว่าจะมีส่วนในการช่วยทำให้ประเทศนี้มันเปลี่ยนไปในทิศทางที่เราต้องการจะเห็น เราไม่ได้ผูกมัดว่า เฮ้ย จบไปจะต้องเป็นนั่นโน่นนี่ แต่ว่าจบไปแล้ว ก็อยากจะทำตัวให้มันมีประโยชน์กับประเทศ คือชีวิตคนเรามันเกิดมาครั้งเดียว หลายคนอาจจะคิดว่า เฮ้ย ทำงานให้มันรวยก่อนแล้วกัน พอรวยแล้วก็ค่อยหันมาพัฒนาประเทศ ผมคิดว่าถึงขั้นนั้นมา ก็คงอายุ 50-60 กันหมดแล้ว แล้วก็คงจะทำให้หลายๆ อย่างที่เราอยากทำ มันไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นอะไรที่เราอยากทำ เราก็อยากทำตั้งแต่ที่มันมีโอกาสแล้ว ทำให้มันมีส่วนเปลี่ยนประเทศนี้ มันจะมีน้อยมีมาก ก็ขอให้ได้มีการเปลี่ยน ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่อยากจะทำในอนาคตหลังเรียนจบ แต่ไม่ได้เจาะจงว่าต้องไปทำอะไร แต่ขอแค่เป็นงานที่ทำแล้ว มีส่วนในการเปลี่ยนประเทศ

 

X