“ผมเป็นนักสู้ ไม่ใช่อาชญากร” การเยี่ยมครั้งสุดท้าย ก่อน “มะ ณัฐชนน” ตัดสินใจไม่อุทธรณ์คดี

จากกรณีของ “มะ” ณัฐชนน ช่างไฟฟ้าหนุ่มวัย 25 ปี ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังจากถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อถูกตรวจค้นพบประทัดยักษ์ ในช่วงก่อนการชุมนุม #ม็อบ12มิถุนา65 ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหามีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ณัฐชนนได้ให้การรับสารภาพ โดยไม่มีทนายความและไม่ได้รับการประกันตัว จนเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2565 ศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เนื่องจากเขาให้การรับสารภาพ เหลือจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทนายความได้เข้าเยี่ยมณัฐชนนสองครั้ง เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและสอบถามความประสงค์ในการอุทธรณ์คดีต่อ โดยมีกำหนดการยื่นอุทธรณ์ได้จนถึงวันที่ 9 ก.ย. 2565 และเขาตัดสินใจไม่อุทธรณ์ต่อ ทำให้คดีถึงที่สุดลง

.

ตัดสินใจไม่อุทธรณ์และพยายามคิดบวก เพื่อออกไปเริ่มต้นใหม่

“หากต้องใช้เวลาในการยื่นอุทธรณ์และรอคำพิพากษากว่า 1 ปี ผมคงจะไม่อุทธรณ์ดีกว่า เพื่อให้ได้อภัยโทษในทุกๆ รอบ” มะ ณัฐชนน แจ้งถึงการตัดสินใจหลังจากสอบถามระยะเวลาในคดีหากยื่นอุทธรณ์ต่อไป และประเมินความเป็นไปได้ต่างๆ แล้ว

“ในวันพิจารณา ผมไม่มีทนาย ไม่มีใครให้ปรึกษา ผมก็เลยรับสารภาพไป เพราะไม่คิดว่าโทษมันจะหนักขนาดนี้  ตอนนี้ถามว่าผมโอเคไหม วันแรกก็ดาวน์ๆ แต่ก็อดทนรอได้ รอไปเรื่อยๆ อย่างน้อยก็มีวันที่ได้ออกมา มันเป็นความรู้สึกยังไงดี คือมันเซ็งๆ แล้วก็จำยอมอ่ะ ผมก็ผิดจริง แต่ผมย้อนเวลากลับไปไม่ได้ ผมก็คิดนะ เด็กๆ น้องๆ รุ่นใหม่เสียสละเยอะกว่าผมอีก แกนนำ น้องๆ โดนกันหนักมาก แต่ทุกคนยังสู้ สู้กันมาตลอดตั้งแต่ปี 63 ถึงทุกวันนี้  ตอนแรกผมก็ช็อคแหละ แต่ก็คิดว่าออกไปเริ่มใหม่ได้ 

“เอาจริงๆ ตอนศาลตัดสินว่าจำคุก 6 ปี มันก็พูดอะไรไม่ออกเลย คือเราไม่รู้ว่าลิมิตโทษเรามันเท่าไหร่ จนมาตัดสิน ดีที่ศาลยังลดให้ครึ่งหนึ่ง วันแรกผมไปไม่ถูกเลย มันยากเหมือนกัน ผมไม่คิดว่ามันจะขนาดนี้ แต่ก็นะ ติดยังมีวันได้ออก

“ผมพยายามคิดบวก คิดว่าคนอื่นสู้มาหนักกว่าผมอีก โดนหนักกว่าผม มันทำให้ผมยังสู้ และผมก็สู้เพื่อจะออกไปเจอครอบครัว เจอแฟนและลูกที่กำลังจะเกิด ผมมีไอดอลคือ พี่แอมมี่ THE BOTTOM BLUE ผมคิดว่าพี่เค้ามีชื่อเสียง  ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เค้ายังออกมาสู้ขนาดนี้ ผมก็ต้องสู้สิ” ณัฐชนนบอกถึงความรู้สึกและสิ่งที่นึกคิดหลังศาลมีคำพิพากษา

.

ช่างไฟฟ้า ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ณัฐชนน มีภูมิหลังเป็นช่างไฟฟ้าในบริษัทแห่งหนึ่ง เขาเรียนจบโรงเรียนวัดในจังหวัดนครปฐม และจบระดับ ปวส. แผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง จากวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม ก่อนสอบได้ใบประกอบวิชาชีพช่างไฟฟ้ากำลัง และเริ่มไปทำงานเป็นช่างไฟฟ้าบนเรือขุดทางเดินเรือ-ขุดวางปะการัง อยู่ราวปีเศษๆ ก่อนลาออกมาหางานใหม่ในบริษัทปัจจุบัน ซึ่งก็ทำมาได้ราว 3 ปีเศษแล้ว

มะเล่าว่าตัวเองเริ่มติดตามการเมืองในช่วงปี 2563 เนื่องจากเห็นการบริหารงานของรัฐบาลที่ล้มเหลว ความรู้สึกถึงข้าวของที่แพงขึ้นในชีวิตประจำวัน ค่าแรงถูก แต่ค่าครองชีพสูง ทำให้ครอบครัวได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งเมื่อเห็นการออกมาเรียกร้องของประชาชน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว และเห็นการถูกสลายการชุมนุม เห็นข่าวการใช้กระสุนยางยิงประชาชน การฉีดแก๊สน้ำตาผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุม ทำให้เขาตัดสินใจออกมาร่วมการเคลื่อนไหวด้วย

“ผมเห็นถึงความไม่ยุติธรรมในสังคมที่เกิดขึ้นกับแกนนำ ผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น ผมเลยไปม็อบ ไปช่วยม็อบ เป็นผู้ชุมนุม ผมเห็นทุกอย่างที่รัฐทำกับประชาชน  ผมทนไม่ไหวแล้ว ผมเข้าใจสภาพของผู้ชุมนุมที่ดินแดงว่าทำไมเค้าถึงตอบโต้เจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างนั้น ตัวผมเองยังทนไม่ได้เลย”

.

ทบทวนวันถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ให้ติดต่อญาติ ไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความ

หากย้อนกลับไปเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2565 ณัฐชนนเล่าว่าเขากำลังขับรถจักรยานยนต์จากนครปฐม เพื่อไปร่วมชุมนุมเพื่อเดินขบวนไปยังบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เมื่อถึงด่านตรวจที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ ตำรวจได้ขอตรวจค้นกระเป๋าเป้ และได้พบท่อ PVC โดยข้างในเป็นประทัด แต่ไม่ได้มีสะเก็ดหรือเศษแก้วแต่อย่างใด  ทั้งยังมีการพบสายไฟฟ้ายาวหนึ่งคืบ และหางปลา ซึ่งเขาบอกว่าเป็นอุปกรณ์การทำงาน

“ผมพยายามแจ้งเจ้าหน้าที่แล้วว่า ผมเป็นช่างไฟฟ้า และกระเป๋าใบนี้เป็นกระเป๋าทำงานของผม”

เมื่อพบสิ่งของเหล่านี้ มะถูกเจ้าหน้าที่เข้าล็อคตัว และจับแขนไพล่หลัง ก่อนกดตัวลงกับพื้น โดยมีทั้งตำรวจชุดสีกาสี และ คฝ. ไม่ต่ำกว่า 10 นาย เข้ามารุม ก่อนจะถูกนำสายเคเบิ้ลไทร์มารัดแขนเอาไว้เพื่อจับกุม

ระหว่างนั้นเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาติหรือเพื่อนใดๆ ก่อนตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย จะพาขึ้นรถกระบะตำรวจ โดยไม่ได้แจ้งว่าจะพาไปที่ไหน จนไปถึง สน.พญาไท ก็พาเขาย้ายไปที่รถผู้ต้องขัง และพาตัวออกไปอีกครั้ง กระทั่งไปถึง บช.ปส. ภายในสโมสรตำรวจ

กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนต่างๆ ที่ บช.ปส. นั้น ณัฐชนนไม่ได้อนุญาตให้ติดต่อใคร และตำรวจไม่แจ้งสิทธิการมีทนายความเข้าร่วม จนสอบสวนเสร็จแล้ว เขาถึงได้รับอนุญาตให้โทรศัพท์ติดต่อแฟน เพื่อแจ้งเรื่องการถูกจับกุมและการเตรียมเรื่องประกันตัวได้

“ผมเข้าสู่กระบวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยไม่มีทนาย ผมไม่รู้ขั้นตอนทางกฎหมาย ผมอยู่คนเดียวไม่มีใครให้ปรึกษา กลัวก็กลัว  พอประกันไม่ได้ ผมก็ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่ได้เตรียมใจไว้ก่อนเลย” ณัฐชนนเล่า

เช้าวันถัดมาคือวันที่ 13 มิ.ย. 2565 เขาถูกยื่นขอฝากขัง และศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้เขาสูญเสียอิสรภาพมานับแต่นั้น

“ผมไม่ได้เจอหน้าแฟน หน้าพ่อแม่ เพื่อนผมเลย ผมได้แค่โทรไปหาคืนวันที่ 12 นั้น แค่นั้นเลย แล้วผมก็ถูกส่งเข้าเรือนจำ  ก่อนไปเรือนจำ ผมขอเจ้าหน้าที่ติดต่อญาติ เค้าก็ไม่ให้ผมติดต่อ ผมทำอะไรไม่ได้เลย

“พอเข้าไปเรือนจำจริงๆ มันจิตตกหนักกว่าเดิมอีก มันดาวน์ มันเศร้า มันคิดแต่เรื่องไม่ดี แบบฆ่าตัวตายอะไรอย่างนี้ ผมไม่แปลกใจเลยที่มีคนพยายามฆ่าตัวตาย แต่ผมก็พยายามคิดบวกนะ คือผมคิดว่าผมทำอะไรไม่ได้ เลยคิดว่า ต้องอยู่ให้ได้เพื่อออกไปเจอครอบครัว  ผมคิดอยู่เสมอว่าผมเป็นนักสู้ไม่ใช่อาชญากร ไม่ใช่ภัยต่อสังคมและประชาชน”

.

ความกังวลต่อครอบครัวระหว่างรับโทษ

เรื่องน่ากังวลสำหรับณัฐชนนระหว่างเขาต้องติดคุก คือเรื่องของครอบครัว เนื่องจากแฟนสาวที่จดทะเบียนสมรสกันนั้น เพิ่งตั้งท้องได้ 4-5 เดือน ทำให้เขาจะถูกคุมขังไปโดยไม่เห็นหน้าลูก และลูกก็จะไม่ได้เห็นหน้าเขาในตอนแรกเกิด รวมทั้งการไม่สามารถช่วยเหลือในการทำมาหาเลี้ยงครอบครัวเหมือนปกติได้ เนื่องจากเขาเป็นเสาหลักในทางเศรษฐกิจของครอบครัวในช่วงที่ผ่านมา โดยแม่ของมะประกอบอาชีพขายลูกชิ้นปิ้ง ส่วนพ่อเคยขับมอเตอร์ไซต์รับจ้าง แต่ต้องหยุดงานลง เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ

“พอแฟนได้มาเยี่ยมก็คลายกังวลเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว ได้ทราบว่าครอบครัวเข้าใจและรับได้ ทุกคนเป็นกำลังใจให้ ก็ไม่กังวลไม่เครียดมากแล้วเรื่องสภาพจิตใจคนในครอบครัว 

“แต่เพิ่งทราบว่าแฟนท้องหลังจากติดคุก ปกติผมก็เป็นเสาหลักครอบครัว เราหาเลี้ยงครอบครัว ทำงาน เลิกงานก็กลับบ้านมาช่วยพ่อแม่ขายลูกชิ้น ช่วยเค้าเก็บร้านทุกวัน เจอหน้าแฟนทุกวัน ชีวิตผมก็มีเท่านี้ ว่างจากงาน ถ้ามีม็อบผมก็ไป ไม่เคยคิดว่าชีวิตตัวเองจะเดินทางมาถึงจุดนี้ จุดที่ต้องเข้ามาเป็นนักโทษทางการเมืองติดคุกอยู่ตอนนี้” ณัฐชนนเล่าถึงสถานการณ์ของครอบครัว  

ณัฐชนนยังบอกถึงความรู้สึกผิดที่มีต่อครอบครัวด้วยเสียงสั่นเครือเล็กน้อย “ผมไม่ได้ทำหน้าที่ลูกที่ดี ผมไม่ได้ทำหน้าที่แฟนที่ดี ผมไม่ได้ทำหน้าที่พ่อที่ดี  คอยดูแลลูกผมที่กำลังจะเกิดในอีกไม่กี่เดือน

“มันทรมานมากนะพี่ ผมไม่ได้เห็นการเจริญเติบโตของลูกในท้อง เวลาจะเป็นพ่อคนจริงๆ มันคงรู้สึกได้มากกว่านี้ ถ้าผมอยู่ข้างนอกนะ เวลาแฟนมาเยี่ยม แล้วเห็นเค้าบ่นเหนื่อย เพลีย ผมแทบจะร้องไห้ ผมรู้สึกผิดกับเค้ามากๆ 

“คือแฟนผมอะ เค้ารักเด็กมาก เราอยากมีลูกกันอยู่ ตั้งใจว่าจะมีลูกกัน ผมก็ตั้งใจว่าจะดูแลเค้าให้ดี อยากเป็นแฟนที่ดี พ่อที่ดี ในฐานะว่าที่พ่อ ผมเศร้ามากที่ไม่ได้อยู่ดูแลแฟนและลูก ผมก็คนธรรมดาที่ฝันแบบคนธรรมดานี่แหละว่าอยากจะดูแลแฟนกับลูกให้ดีที่สุด ในฐานะแฟนและพ่อ”

.

“ผมขอยืนยันว่า ผมไม่ใช่อาชญากรเลวร้าย”

ในช่วงที่ถูกฝากขังนั่นเอง ณัฐชนนเริ่มได้เจอผู้ชุมนุมจากกลุ่มทะลุแก๊สที่ถูกคุมขังและไม่ได้รับการประกันตัวเช่นกัน จึงได้เริ่มมีการแจ้งข่าวคราวการถูกคุมขังออกมา เพื่อนๆ ที่เขาพบในเรือนจำ จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเข้มแข็งขึ้น

“การได้เจอพวกเพื่อนทะลุแก๊ส ทำให้ผมไม่รู้สึกโดดเดี่ยว น้องๆ ก็พยายามช่วยผม ช่วยแจ้งทนายให้ แบ่งของกินให้ผมตลอด คอยช่วยเหลือกันตลอด ตอนนั้นญาติ แฟนผมก็ยังทำอะไรไม่เป็น ก็ได้น้องๆ นี่แหละที่คอยช่วยกัน”

“ฝากบอกเพื่อนๆ ด้วยว่า ผมคิดถึง ตอนนี้คดีผมตัดสินแล้ว ผมอยู่แดน 8 แล้ว มี ผม ต๊ะ เพชร น้าเพชรพระอุมา ไม่ต้องเป็นห่วงผม ผมสบายดี ผมขอบคุณทุกๆ คนที่ช่วยผมมากๆ”

เมื่อถามถึงความฝันต่อชีวิตภายหลังจากนี้ หลังจากพ้นโทษจากเรือนจำ เขายังคิดหวังอะไรไว้ไหม ณัฐชนนบอกว่า “ความฝันผม ก็ไม่ได้ใหญ่อะไรมาก แค่อยากมีเงินพาครอบครัวไปเที่ยวทั่วประเทศให้ได้ ผมได้เที่ยวกับครอบครัว อยู่กับครอบครัว เห็นครอบครัวมีความสุข ผมก็มีความสุขแล้ว  อีกอย่างก็อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เป็นธุรกิจอะไรก็ได้ที่ไม่ผิดกฎหมาย และผมทำแล้วมีความสุข มีเงินเลี้ยงดูครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีความสุข

ผมขอยืนยันว่า ผมไม่ใช่อาชญากรเลวร้าย ผมไม่ใช่ภัยอันตรายต่อสังคม  แต่ผมเป็นภัยต่อเผด็จการ เป็นนักโทษการเมือง” มะ พูดทิ้งท้ายไว้ก่อนจบการสนทนา

เนื่องจากทางเรือนจำมีระเบียบ ไม่ให้ทนายความเข้าเยี่ยมหากคดีถึงที่สุดแล้วในฐานะทนายความอีก โดยที่ญาติยังคงเยี่ยมผู้ต้องขังตามปกติได้ หลังจากณัฐชนนตัดสินใจไม่อุทธรณ์คดีอีก ทำให้คดีจบสิ้นลง และทำให้การเข้าเยี่ยมของทนายความเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2565 ถือเป็นวันสุดท้าย

ตลอดการเยี่ยมโดยผ่านทางโทรศัพท์ สำหรับแดน 8 จะไม่มีการถ่ายทอดวิดีโอ ทนายและผู้ต้องขังจึงไม่เห็นหน้ากัน แต่จากน้ำเสียงของณัฐชนนดูเหมือนเขายังคงเข้มแข็งอยู่ และหวังว่าเขาจะแข็งแรงพอจะผ่านวันเวลาเหล่านี้ไปได้

.

X