จับตาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี ม.112 “แอมป์ ณวรรษ” ปราศรัย #ม็อบ13กุมภา64 หลังถูกศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 1 ปี 7 เดือน

ในวันที่ 9 ธ.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือ “แอมป์” นักกิจกรรมและบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ถูกฟ้องในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา หรือ #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564

คดีนี้ณวรรษถูกฟ้องในข้อหาตาม มาตรา 112, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ มาตรา 358, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ มาตรา 385, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ในการชุมนุม #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน “คณะราษฎร 2563” ได้จัดการชุมนุมบริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันดังกล่าวมีการทำกิจกรรมเขียนความเห็นลงบนป้ายผ้าสีแดง ก่อนเข้ารื้อกระถางต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออก และนำผ้าแดงที่มีข้อความแสดงความเห็นของผู้ชุมนุมไปคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งยังมีการปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎรที่ถูกคุมขังในขณะนั้น และประเด็น 3 ข้อเรียกร้อง

หลังการชุมนุม ในส่วนของแกนนำนักกิจกรรม ได้มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 9 ราย (ต่อมาศาลแขวงดุสิตพิพากษายกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) แต่เฉพาะณวรรษที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 ด้วย และถูกแยกฟ้องที่ศาลอาญา จากคำปราศรัยที่มีเนื้อหาเรียกร้องให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และทวงถามเรื่องการใช้เงินภาษีของประชาชน

.

ในวันแรกของนัดสืบพยาน เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 ณวรรษได้ตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566

ศาลพิพากษาว่ามีความผิดในข้อหาตามมาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ลงโทษจำคุก 2 เดือน ส่วนในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มาตรา 385 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุด คือฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับ 2,000 บาท และข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท (โดยที่กฎหมายกำหนดโทษปรับข้อหานี้ไว้ ไม่เกิน 200 บาท เท่านั้น)

ศาลเห็นว่าจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 1 ปี 7 เดือน และปรับ 1,500 บาท เนื่องจากเห็นว่าจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกันหลายคดี จึงไม่รอการลงโทษจำคุก

ในวันดังกล่าว ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวณวรรษ ในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยใช้หลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา 

.

สำหรับณวรรษ ปัจจุบันอายุ 30 ปี จบการศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในช่วงการชุมนุมของนักศึกษาเยาวชนปี 2563-65 เขาเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นหนึ่งในคนที่มีบทบาทขึ้นปราศรัยในการชุมนุมหลายครั้ง ทำให้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองรวมถึง 20 คดี (สิ้นสุดไปแล้ว 7 คดี) ในจำนวนนี้เป็นคดีที่มีข้อหาหลักตามมาตรา 112 จำนวน 6 คดี โดยคดีจากการชุมนุม #13กุมภา64 เป็นคดีเดียวที่ศาลมีคำพิพากษาออกมา และกำลังถึงวันนัดฟังคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์

แอมป์เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเปิดเผยตัวว่าเป็นผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งเขาเคยบอกว่าสังคมมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นต่อการเปิดเผยเรื่องนี้ แต่แอมป์จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัสให้ตรงเวลาทุกวัน ต้องพบแพทย์เป็นระยะ หากต้องเข้าเรือนจำ ทำให้น่ากังวลต่อสถานการณ์สุขภาพของเขา

ขณะเดียวกันเขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงการออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองว่าอยากเห็นสังคมไทยที่ดีขึ้นและเท่าเทียมกันมากขึ้น สำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

“เมื่อก่อนเราฝันอยากเป็นผู้กำกับหนัง แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว คือเราก็ยังอยากทำหนังอยู่ แต่มองว่าอาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งในชีวิต ไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่สิ่งที่เราอยากทำจริงๆ ตอนนี้คือ อะไรก็ได้ที่ทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น นั่นเป็นความฝันของเราตอนนี้ แล้วก็เป็นความฝันของนักกิจกรรมหลาย ๆ คนในประเทศด้วย ทุกคนอยากให้ประเทศนี้มันดีขึ้น อยากเห็นความเท่าเทียมเกิดขึ้นจริง ๆ ในสังคม”

“การต่อสู้กับอำนาจขนาดใหญ่ขนาดนี้ มีบ้างที่รู้สึกกลัว แต่ถ้าเราไม่ออกมาทำอะไรเลย แล้วเมื่อไหร่ความเปลี่ยนแปลงมันจะเกิด แล้วถ้าไม่ทำตอนนี้ คนรุ่นต่อๆ ไปก็ต้องมาเผชิญกับสภาพสังคมที่คนรุ่นเราต้องเจอ เราไม่อยากส่งต่อสังคมแบบนี้ให้คนรุ่นต่อไป ให้เพื่อนเรา ให้น้องเรา ความไม่เท่าเทียมควรหยุดอยู่แค่นี้”

.

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ของณวรรษ “ผมเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองและเป็นผู้ติดเชื้อ HIV” 

.

X