12 มี.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดีของ 8 ประชาชนและนักกิจกรรม ที่ถูกฟ้องในข้อหาหลักตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมกิจกรรม #ม็อบ13กุมภา หรือ #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งจัดบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 โดยศาลพิพากษายกฟ้อง เห็นว่าจำเลยทั้ง 8 ร่วมชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ชุมนุมในที่โล่งแจ้ง และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เป็นไปตามมาตรการการป้องกันโควิด
คดีนี้สืบเนื่องมาจากเกิดจากการชุมนุมชื่อ “นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน” ซึ่งนัดหมายรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎรซึ่งถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยมีกิจกรรมห่มผืนผ้าสีแดงขนาดใหญ่ที่มีข้อความจากประชาชนถึงรัฐบาล คลุมรอบอนุสาวรีย์ฯ ต่อมามีการเคลื่อนขบวนไปยังศาลหลักเมือง เพื่อขอให้คุ้มครองราษฎร แต่ได้มีการตั้งแนวกั้นของตำรวจควบคุมฝูงชน ก่อนมีการประกาศยุติการชุมนุม แต่ยังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ชุมนุมในคืนวันดังกล่าว ไปอย่างน้อย 11 คน
ต่อมาพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ยังออกหมายเรียกนักกิจกรรมจำนวน 8 ราย ไปแจ้งข้อกล่าวหาหลักตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แก่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา, ชนินทร์ วงษ์ศรี, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ, “แหวน” ณัฏฐธิดา มีวังปลา, ธนาธร วิทยเบญจางค์, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล
ทั้งนี้เฉพาะไมค์และรุ้งได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ด้วย เหตุจากการให้มีการรื้อกระถางต้นไม้ที่ประดับรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออก เพื่อทำกิจกรรม โดยทั้งสองถูกตำรวจไปแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำระหว่างไม่ได้รับการประกันตัวในคดีอื่น ๆ
ในการสั่งฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2565 อัยการได้ฟ้องเฉพาะข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และทำให้เสียทรัพย์ โดยข้อหากีดขวางการจราจร, กีดขวางทางสาธารณะ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ขาดอายุความไปแล้ว โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และมีการสืบพยานไปเมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา
.
ช่วงเช้า ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 509 จำเลยทั้ง 8 คนได้ทยอยเดินทางมาฟังคำพิพากษา ก่อนในเวลา 10.19 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์และอ่านคำพิพากษา โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า
ขณะเกิดเหตุมีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีการควบคุมสูงสุด แต่เมื่อพิจารณาจากการพฤติการณ์การชุมนุมของจำเลยทั้ง 8 แล้วพบว่า การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย สันติ และปราศจากอาวุธ ไม่ได้มีการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังสามารถบรรจุคนได้หลายร้อยคน การชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมในที่โล่งแจ้ง แสงแดดส่องถึง และพบว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย ยังไม่ถึงขนาดเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัด อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าจำเลยทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊ก “ราษฎร” ที่เชิญชวนให้มาร่วมชุมนุมในวันดังกล่าว ดังนั้นจำเลยทั้งหมดจึงยังไม่ถือว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว
ส่วนจำเลย “รุ้ง” ปนัสยา กับ “ไมค์” ภาณุพงศ์ ศาลเห็นว่ามีความผิดในข้อหาตาม มาตรา 358 ทำให้เสียทรัพย์ เนื่องจากมีคำปราศรัยเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายกระถางต้นไม้และทำให้ต้นไม้เสียหาย พิพากษาจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท เนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี พร้อมกันนี้ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครซึ่งก็คือกระถางดอกไม้ จำนวน 50,000 บาท ส่วนข้อหาอื่น ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 8 คน
อนึ่ง ในการชุมนุมครั้งนี้ ยังมีกรณีของ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ได้ถูกแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังแจ้งข้อหามาตรา 112 เพิ่มเติม จากคำปราศรัยในวันดังกล่าว ทำให้ณวรรษถูกแยกฟ้องไปเป็นอีกคดีหนึ่งที่ศาลอาญา คดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา
ในส่วนกรณีของผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมจำนวน 11 รายนั้น จำนวน 3 ราย ถูกแจ้งข้อกล่าวหาก่อความเดือดร้อนรำคาญ ทำให้มีการเปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ คดีสิ้นสุดไปแล้ว ส่วนอีก 8 คน ที่ถูกแจ้งหลายข้อหานั้น คดีก็ยังอยู่ในชั้นสอบสวน