การเลือกเส้นทางสายนักกิจกรรมทางการเมือง ไม่ใช่ และไม่เคยเป็นเรื่องง่าย การถูกดำเนินคดีมาพร้อมกันกับภาระอีกมากมาย ไล่เรียงตั้งแต่ค่าเดินทางที่บางครั้งอาจต้องสัญจรข้ามจังหวัดตามแต่ผู้แจ้งความไปกล่าวหาไว้ที่ใด การถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ กระทบแม้กับครอบครัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ เวลามากมายที่ต้องเสียไปเข้าร่วมกระบวนการยุติธรรมที่อาจกินช่วงชีวิตต่อเนื่องยาวนานไปหลายปี ไปจนถึงความป่วยไข้ทางใจภายในที่แต่ละคนต้องแบกรับ เมื่อเลือกแล้วว่าไม่อาจทนนิ่งเฉย ปล่อยให้อนาคตถูกช่วงชิงไปโดยอำนาจเผด็จการ
ในกรณีของ “แอมป์” เองก็ไม่ได้เจอประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากนักกิจกรรมรายอื่น การถูกดำเนินคดีความในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถึง 4 คดี และเมื่อรวมกับคดีชุมนุมอื่นๆ ทำให้เขาถูกกล่าวหาไปแล้วรวม 18 คดี ภาระเหล่านี้ได้ทิ้งร่องรอย หยาดเหงื่อ คราบน้ำตา และความเจ็บปวดไว้ในชีวิตของเขาพอสมควร
ทว่าในอีกสถานะหนึ่งที่แตกต่างออกไป แอมป์คือผู้ติดเชื้อ HIV ข้อแตกต่างด้านสุขภาพที่ต้องเผชิญพร้อมกับการถูกดำเนินคดีไม่ใช่กำแพงที่กั้นขวางการต่อสู้สำหรับเขา แต่คือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เด็กหนุ่มยังคงเคลื่อนไหวต่อ เพราะเชื่อว่าสังคมยังมีหวัง และการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
“หลังจากที่เปิดตัวในเฟซบุ๊กว่าเราเป็นผู้ติดเชื้อ คนในแวดวงนักเคลื่อนไหวเข้าใจเรื่องนี้กันทุกคน หรือแม้แต่คนวงนอกในสังคม เขาก็เข้าใจเรื่องนี้ดี อย่างตัวเราเองก้าวพ้นจากความเจ็บปวดในเรื่องนี้มาแล้ว ข้ามพ้นจากมุมมองของสังคมที่เคยไม่ดี พอมาเจอกับคนที่สามารถรับเรื่องนี้ได้ คนที่เขามีมุมมองในด้านบวก เราว่ามันเกินคาด นอกจากคนจะไม่มองเราด้วยความรู้สึกที่ไม่ดีแล้ว มันยังมีบางคนที่โอบรับ ชื่นชมในตัวเรา คนที่รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องกล้าหาญ เราไม่คิดว่าจะเจออะไรแบบนี้ เมื่อก่อน มีบางคนที่รู้เกี่ยวกับเรา แล้วเขาไม่กล้าเข้าหา บางคนยังรู้สึกว่าต้องมีระยะห่าง แต่ในทุกวันนี้ สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว บางคนอาจเข้าใจเรื่องโรคดีกว่าเราด้วยซ้ำ (หัวเราะ)”
“การต่อสู้กับอำนาจขนาดใหญ่ขนาดนี้ มีบ้างที่รู้สึกกลัว แต่ถ้าเราไม่ออกมาทำอะไรเลย แล้วเมื่อไหร่ความเปลี่ยนแปลงมันจะเกิด แล้วถ้าไม่ทำตอนนี้ คนรุ่นต่อๆ ไปก็ต้องมาเผชิญกับสภาพสังคมที่คนรุ่นเราต้องเจอ เราไม่อยากส่งต่อสังคมแบบนี้ให้คนรุ่นต่อไป ให้เพื่อนเรา ให้น้องเรา ความไม่เท่าเทียมควรหยุดอยู่แค่นี้”
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนสรุปยอดเรื่องราวการต่อสู้และการเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผ่านสายตาของ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมทางการเมือง อดีตบัณฑิตจากรั้วศิลปากร ผู้เชื่อมั่นในอุดมการณ์ #คนเท่ากัน เรื่องเล่าถึงผลกระทบจากการออกมาท้าทายอำนาจรัฐ ทัศนะต่อความหลากหลายทางเพศในฐานะองค์ประกอบสำคัญของการต่อสู้ ประสบการณ์ชีวิตในฐานะผู้ติดเชื้อ HIV และความฝันของคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นอย่างหมดใจว่ายุคสมัยนั้นยืนอยู่เคียงข้างพวกเขา
“คดีความแรกในชีวิตเราเป็นคดีจากการชุมนุมที่จัดโดยกลุ่มฟรียูธ (Free Youth) ย้อนไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ปี 63 เราถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเรื่องข้อกำหนดการชุมนุมในสถานการณ์โควิด แต่จริงๆ เราเริ่มหันมาสนใจการเมืองตั้งแต่ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. หลายปีก่อนหน้านี้ จำได้ว่าตอนนั้นก็ค่อนข้างเอนเอียงไปกับฝั่งนั้น แต่ด้วยความที่ที่บ้านมีช่องเคเบิ้ลของทั้งเสื้อแดง ทั้งเสื้อเหลือง เราเลยตามสื่อจากทั้งสองช่อง จุดนั้นทำให้เราตั้งคำถามกับความเชื่อทางการเมืองที่เคยมี”
“มาถึงต้นปี 2563 ที่เพิ่งเรียนจบมหาลัย กำลังรอรับปริญญา เราถึงรู้จักนักเคลื่อนไหวหน้าใหม่ เข้าไปอยู่ในแวดวง พอดีกับที่เพิ่งมีกลุ่มตลาดหลวง (Royalist Marketplace) ในเฟซบุ๊ก จำได้ว่าอ่านเนื้อหาที่แชร์กันในนั้น ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่สุดท้ายก็ตั้งคำถามตาม จนเราชัดเจนกับตัวเองว่าจะอยู่ฝั่งไหน”
“นับจากวันนั้น เวลาผ่านไป 2 ปี เราเปลี่ยนไปมาก จากที่ไม่ได้สนใจการเมืองขนาดนั้น ตอนนี้การเมืองมันกลายเป็นทุกอย่างในชีวิตเรา มันทำให้เรามองโลกด้วยมุมมองของคนที่เป็นผู้ใหญ่ หลายอย่างในประเทศนี้มันถูกกดทับด้วยโครงสร้างทางการเมือง รวมไปถึงการเข้ามาแทรกแซงการเมืองของสถาบันฯ”
“ทุกวันนี้โดนคดี มาตรา 112 – 4 คดี แล้ว ตอนแรกที่โดน เรารู้สึกเครียดนะ เหมือนมันมีระเบิดเวลา เราเตรียมใจไว้แล้วว่ายังไงเราก็เสี่ยงต้องติดคุก เพราะการที่เราสู้กับคนที่มีอำนาจ สุดท้ายเขาก็ย่อมใช้อำนาจกลั่นแกล้งเราเมื่อไหร่ก็ได้ ทั้ง มาตรา 112 ใครจะแจ้งความก็ได้ ถ้าประชาชนทั่วไปมองว่าสิ่งที่เราพูดหรือสิ่งที่เราออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสถาบันฯ มันเป็นการล้มล้างการปกครอง หรือเป็นการทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสีย เท่ากับคุณมองสถาบันฯ ว่า มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่สถาบันในหลายๆ ประเทศเขาก็อยู่เหนือการเมืองจริงๆ ใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปจริงๆ ก็มี”
“อย่างในประเทศอังกฤษ สถาบันฯ ก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันกับประชาชนได้ อยู่กับประเทศได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรามองเห็นมากขึ้น”
“ช่วงแรก การออกมาเคลื่อนไหวส่งผลกับเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวเรา ตอนนี้ก็ไม่ถึงกับดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้แย่ลง แม่ยังคงห่วง กังวล กับพี่สาวที่เคยมีปัญหากันก็คุยกันมากขึ้น เข้าหากันมากขึ้น เมื่อก่อนเรามีสมาชิกครอบครัวอยู่คนละฝั่งกันทางการเมือง แต่พอตอนนี้ เราเริ่มเข้าใจในความเชื่อทางการเมืองของเขา โอเค ถึงแม้เรื่องการเมือง เราจะมีความเห็นตรงข้ามกันกับคนที่บ้าน แต่เราไม่ค่อยเอาเรื่องนี้มาทะเลาะกับคนในบ้านแล้ว หรือไปทะเลาะกับทางบ้านใหญ่ กับทางญาติ เพราะเรารู้สึกว่า เราไม่อยากให้การเมืองมาเป็นสิ่งแบ่งแยกความสัมพันธ์ในครอบครัว”
“ตอนนี้เผด็จการกำลังพยายามโฆษณาชวนเชื่อว่า คนรุ่นใหม่เข้ามาแทรกแซง เข้ามาทำลายบ้านเมือง ซึ่งตรงนี้มันทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย ทำให้ครอบครัวแตกออกเป็น 2 ฝั่ง นี่คือความพยายามของเผด็จการในการสร้างความแตกแยกในสังคม”
“เราไม่อยากให้การเมืองเข้ามาเป็นส่วนที่ทำให้ครอบครัวเรามีปัญหา ทุกวันนี้เราก็ก้าวข้ามเรื่องนี้ไปแล้ว”
“ตอนม็อบสมบูรณญาสิทธิราชย์เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2564 เราคุยกับเพื่อนนักกิจกรรมว่า ถ้าออกไปเคลื่อนไหว เราพร้อมโดนคดีนะ เพราะเชื่อว่าขบวนยังคงไปต่อได้ สำหรับเรา เราเป็นคนที่อยู่ที่ไหนก็ได้ ต่อให้ต้องติดคุก เราก็เชื่อว่าเราน่าจะอยู่ได้ อย่างเพื่อนนักกิจกรรมคนอื่น อย่างพี่ฟ้า (พรหมศร วีระธรรมจารี) เขาก็ติดคุกหลายรอบแล้ว หรือไบรท์ (ชินวัตร จันทร์กระจ่าง) เขาเองก็มีลูกเล็ก หรือหลายๆ คน เรารู้สึกว่าตัวเราไม่ได้เป็นคนที่มีพันธะขนาดนั้น เพราะพ่อแม่เรา พี่สาวก็เป็นคนดูแล ทำให้เรารู้สึกว่า เราค่อนข้างพร้อมกับความเสี่ยงทางคดีมากกว่าคนอื่น”
“เราเคยนั่งคุยกับพี่ฟ้าเรื่องประสบการณ์ข้างในคุก การเป็น LGBTIQ+ ในนั้นต้องเจอกับอะไรบ้าง แต่ทุกวันนี้สภาพเริ่มดีขึ้นหลังจากที่เพื่อนนักกิจกรรมเราเข้าไป มีการเรียกร้องเรื่องสิทธิของผู้ต้องขังมากขึ้น อย่างสาวประเภทสอง หรือคนที่ผ่าตัดหน้าอก เขาก็จะได้สิทธิอาบน้ำในห้องของผู้หญิง”
“เมื่อก่อนเราฝันอยากเป็นผู้กำกับหนัง แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว คือเราก็ยังอยากทำหนังอยู่ แต่มองว่าอาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งในชีวิต ไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่สิ่งที่เราอยากทำจริงๆ ตอนนี้คือ อะไรก็ได้ที่ทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น นั่นเป็นความฝันของเราตอนนี้ แล้วก็เป็นความฝันของนักกิจกรรมหลายๆ คนในประเทศด้วย ทุกคนอยากให้ประเทศนี้มันดีขึ้น อยากเห็นความเท่าเทียมเกิดขึ้นจริงๆ ในสังคม”
“เราติดเชื้อ HIV จากแฟนเมื่อ 6 – 7 ปีก่อน เขาเป็นคนโทรมาบอก แล้วเราไปตรวจ แล้วก็เจอผลเป็นบวกเหมือนกัน”
“เรากินยามาโดยตลอด แล้วก็ดูแลตัวเองมาเรื่อยๆ ตอนที่รู้ว่าติดเชื้อครั้งแรก บอกตามตรงว่า รู้สึกใจสลาย จนเรามาฟื้นฟูจิตใจตัวเอง มองว่า เออ ติดเชื้อแล้ว แต่เราก็ยังมีชีวิตอยู่ได้นี่นา ถ้าเราดูแลรักษาตัวเองดีๆ แค่ต้องกินยาให้ตรงเวลา ดูแลตัวเองให้มากขึ้น แต่ตอนนี้พอมาทำกิจกรรมการเมือง ทำให้เราไม่ค่อยได้ดูแลตัวเองมาก แต่ก็พยายามกินยา”
“ตอนแรกที่พ่อแม่รู้ เขาก็รู้สึกไม่ค่อยดี ถึงจะไม่หนักมาก แต่ก็ส่งผลกระทบทางจิตใจ ทำให้เขายิ่งห่วงเรา คอยถามเวลาต้องหาหมอ ต้องกินยา เพราะเราเป็นคนไม่ค่อยดูแลตัวเอง เราเองพยายามตั้งเวลาในการกินยา กินให้ได้ตามเวลา”
“หลังจากที่เปิดตัวในเฟซบุ๊กว่าเราเป็นผู้ติดเชื้อ คนในแวดวงนักเคลื่อนไหวเข้าใจเรื่องนี้กันทุกคน หรือแม้แต่คนวงนอกในสังคม เขาก็เข้าใจเรื่องนี้ดี อย่างตัวเราเองก้าวพ้นจากความเจ็บปวดในเรื่องนี้มาแล้ว ข้ามพ้นจากมุมมองของสังคมที่เคยไม่ดี พอมาเจอกับคนที่สามารถรับเรื่องนี้ได้ คนที่เขามีมุมมองในด้านบวก เราว่ามันเกินคาด นอกจากคนจะไม่มองเราด้วยความรู้สึกที่ไม่ดีแล้ว มันยังมีบางคนที่โอบรับ ชื่นชมในตัวเรา คนที่รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องกล้าหาญ เราไม่คิดว่าจะเจออะไรแบบนี้ เมื่อก่อน มีบางคนที่รู้เกี่ยวกับเราแล้วเขาไม่กล้าเข้าหา บางคนยังรู้สึกว่าต้องมีระยะห่าง แต่ในทุกวันนี้ สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว บางคนอาจเข้าใจเรื่องโรคดีกว่าเราด้วยซ้ำ (หัวเราะ)”
“สำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เรามองว่าเรื่องสมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญมากๆ อย่างกรณีเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ ตอนแรกมีการคุยกันว่า สังคมอาจจะยอมแค่นั้นไปก่อน ซึ่งจริงๆ พ.ร.บ. นี้มองว่า LGBTIQ+ เป็นพลเมืองอีกระดับหนึ่ง มันแย่ แล้วพอมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาคัดค้านการสมรสเท่าเทียม วินิจฉัยว่า การสมรสเท่าเทียมจะทำให้คนแอบอ้างใช้การสมรสเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง คืออะไรวะ! มันคือการมองโลกแบบชายเป็นใหญ่ เหมือนเขาไม่เคยลงมามองเห็นชีวิตคนทั่วไป มันแย่ตรงที่คนที่วินิจฉัย เป็นคนที่มีหน้าที่ในการออกกฎหมายที่เกี่ยวพันกับทั้งสังคม มีหน้าที่วิเคราะห์คดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรัฐธรรมนูญ เราไม่อยากให้คนแบบนี้มาเป็นคนที่มีหน้าที่ในการควบคุม ในการออกแบบกฎหมาย”
“การที่ LGBTIQ+ ออกมาเคลื่อนไหวกันเป็นจำนวนมากตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องประชาธิปไตยและเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ก็เพราะด้วยความจำเป็น เพราะ ’สิทธิ’ เป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่เคยให้พวกเราได้อย่างเต็มที่ อย่างกรณีสมรสเท่าเทียม เห็นชัดเจนเลยว่า ผู้มีอำนาจไม่เคยมองว่าพวกเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างนั้น อ้างว่าใช้หลักวิทยาศาสตร์หรืออะไรก็แล้วแต่ ชายต้องคู่กับหญิงเท่านั้น สะท้อนว่ากระบวนการคิดเขาจำกัดมาก”
“คนที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนเองก็หวังที่จะมีคู่ชีวิต อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความสัมพันธ์ที่มั่นคง อยากมีหลักประกันที่รับรองได้ว่า เขาสามารถรักกับใครก็ตามได้อย่างถูกกฎหมาย การสมรสเท่าเทียมจำเป็นเพราะเป็นการยอมรับของสังคมว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจริงๆ มันก็เลยเป็นเรื่องที่คนในกลุ่ม LGBTIQ+ เห็นตรงกันชัดเจน”
“คนที่เป็น LGBTIQ+ คือกลุ่มคนที่ถูกกดทับมาโดยตลอด การต่อสู้ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นแค่การต่อสู้ของกลุ่มคณะราษฎร แต่มันคือการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ มันคือการต่อสู้ของคนที่ถูกกดทับ คนที่ถูกสังคมเพิกเฉยกับสิ่งที่เขาพยายามเรียกร้องมาโดยตลอด นี่คือสิ่งที่ทำให้การเคลื่อนไหวมันมีพลัง ยิ่งเขาเคยชินกับการถูกกดทับ พอวันหนึ่งที่เขาลุกขึ้นมาสู้ มันจึงเป็นการสู้แบบขาดใจ สู้จนหยดสุดท้าย ยอมแลกซึ่งทุกอย่าง สู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ เพื่อให้ทุกคนนั้นเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง”
“การต่อสู้กับอำนาจขนาดใหญ่ขนาดนี้ มีบ้างที่รู้สึกกลัว แต่ถ้าเราไม่ออกมาทำอะไรเลย แล้วเมื่อไหร่ความเปลี่ยนแปลงมันจะเกิด แล้วถ้าไม่ทำตอนนี้ คนรุ่นต่อๆ ไปก็ต้องมาเผชิญกับสภาพสังคมที่คนรุ่นเราต้องเจอ เราไม่อยากส่งต่อสังคมแบบนี้ให้คนรุ่นต่อไป ให้เพื่อนเรา ให้น้องเรา ความไม่เท่าเทียมควรหยุดอยู่แค่นี้”
“เราต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าเราทนอยู่ต่อไปอย่างไม่มีความรับผิดชอบ ทุกอย่างจะยิ่งแย่ แล้วประเทศมันจะไปต่อได้ยังไง”