ในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ทนายความอาสาของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าเยี่ยมและพูดคุยกับ “กิจจา” (นามสมมติ) ผู้ต้องขังถึงที่สุดในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยเขาถูกคุมขังมาครบ 10 เดือนแล้ว และเป็นการรับโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกา คือจำคุก 1 ปี 6 เดือน
กิจจา ปัจจุบันอายุ 31 ปี เขาเรียนจบด้านภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยประกอบอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์และค้าขายของออนไลน์อยู่ที่จังหวัดปทุมธานี โดยเคยเปิดบริษัทของตนเอง
คดีของเขานั้น มีที่มาจากการที่บริษัทของคู่แข่งได้นำข้อความที่เขาโพสต์ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโลยี (บก.ปอท.) โดยมีเหตุมาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 1 ข้อความ ในช่วงเดือนตุลาคม 2563
ช่วงนั้นเขาติดตามสถานการณ์ทางการเมือง และพบว่าเจ้าหน้าที่มีการฉีดน้ำแรงดันสูง พร้อมสารเคมี เข้าสลายการชุมนุมของเยาวชนและประชาชนที่ย่านสยามสแควร์ โดยทราบว่ามีเพื่อนของเขาถูกฉีดน้ำเข้าหูด้วย เขาโกรธต่อการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ทำให้มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก แต่โพสต์ให้เห็นเฉพาะเพื่อนเท่านั้น ไม่ได้คาดคิดว่าจะมี “เพื่อน” นำโพสต์ข้อความนั้นไปแจ้งความดำเนินคดี
คดีของเขา กิจจาระบุว่าทั้งในชั้นสอบสวน และในชั้นพิจารณา เขาไม่ได้มีการแต่งตั้งทนายความ โดยเขาให้การว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหาเองตั้งแต่ต้น จึงไม่ได้มีการต่อสู้คดี
จนเขาถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 5 ปี ให้การรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา โดยเขายังได้รับการประกันตัวชั้นอุทธรณ์ และในชั้นอุทธรณ์นี้ เขาได้ขอให้ทนายความที่รู้จักกันเข้ามาช่วยจัดทำเอกสารยื่นอุทธรณ์คดี
กลางปี 2565 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาลดโทษลงมาเหลือจำคุก 3 ปี ให้การรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และเขายังได้รับการประกันตัวเช่นกัน จึงได้ยื่นฎีกาต่อมา
จนเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาชั้นฎีกา และศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ทำให้คดีของเขาสิ้นสุดลง ต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นมา จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 10 เดือนแล้ว
“ผมติดตามการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียมาโดยตลอด มีพูดคุยผ่านคลับเฮาส์บ้าง ก่อนหน้านี้ผมโพสต์เกี่ยวกับเรื่องสิทธิทรงผมในตัวร่างกายมาก่อนในทวิตเตอร์ พอเราติดตามการเมือง เราก็เลยรู้สึกว่าอยากจะร่วมทำอะไร เพื่อการเปลี่ยนแปลง” กิจจาเล่า
กิจจาบอกว่า หลังคำพิพากษาของศาลในชั้นต่าง ๆ เขาก็เตรียมตัวเตรียมใจต้องถูกคุมขังไว้ และได้เตรียมเก็บเงินบางส่วนไว้สำหรับเริ่มต้นใหม่หลังพ้นโทษ แต่ล่าสุดแม่ของเขามีอาการป่วย ทำให้ต้องใช้เงินในการรักษา จึงได้ให้นำเงินส่วนนี้ไปดูแล แต่ก็ทำให้หากเขาได้รับการปล่อยตัว ชีวิตก็ดูจะต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด
ล่าสุด หลังมีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2567 กิจจาคิดว่าตนเองน่าจะเข้าข่ายได้รับการปล่อยตัวด้วย แต่ยังต้องติดตามการประกาศรายชื่อของเรือนจำเพื่อยืนยันอีกครั้งต่อไป
.