อัยการฟ้อง “ชนะดล” วัย 24 ปี คดีครอบครองระเบิด ร่วมชุมนุม #ม็อบ20สิงหา64 ก่อนศาลอาญาไม่ให้ประกัน อ้างโทษสูง – เกรงหลบหนี แม้ชนะดลไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

วันที่ 15 มี.ค. 2566 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ยื่นฟ้อง “มาร์ค – ชนะดล ลอยมั่นคง” หนุ่มวัย 24 ปี ในข้อกล่าวหา ร่วมการจัดชุมนุมและชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ,  มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง จากกรณีเข้าร่วมชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564

ในคดีนี้ ชนะดลถูกตำรวจ คฝ. จับกุมพร้อมผู้ชุมนุมคนอื่นอีก 2 คน ที่บริเวณหน้าธนาคารออมสิน ถนนดินแดง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการควบคุมฝูงชน 1 ได้ประสานกำลังร่วมกันจับกุมกว่า 8 นาย และแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสามคนว่า ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากกว่า 5 คน ในพื้นที่ที่มีการควบคุมสูงสุด และร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” โดยชนะดลถูกแจ้งข้อหา มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยอีก 1 ข้อหา ระบุว่า ตรวจค้นพบระเบิดปิงปองพร้อมหนังสะติ๊ก และระเบิดแสวงเครื่องในกระเป๋าสะพาย ก่อนได้รับการประกันตัวชั้นฝากขัง ตีราคาประกันเป็นเงินสด 110,000 บาท 

.

ย้อนอ่านเหตุการณ์จับกุม >>> จับแล้วจับอีก! #ม็อบ20สิงหา จับเด็กและเยาวชน 19 ราย ผู้ใหญ่อีก 7 จากหลายจุด เด็ก 2 คน ถูกยิงด้วยกระสุนยาง ยังรักษาตัวอยู่ รพ. 

.

อย่างไรก็ตาม หลังครบกำหนดฝากขัง 84 วัน พนักงานอัยการไม่ได้ยื่นฟ้องชนะดล จึงทำให้ศาลคืนเงินประกัน แต่ชนะดลยังเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองตามนัดแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมและนัดส่งตัวอัยการเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2565 รวมทั้งเดินทางมาศาลในนัดส่งฟ้องนี้ด้วย 

หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นประกันระหว่างพิจารณา ระบุเหตุผลสำคัญว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี โดยได้ให้ความร่วมมือแก่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมาโดยตลอดทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เดินทางไปรายงานตัวตามกำหนดทุกนัด อีกทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ของจำเลยที่จะเข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลย 

ณัฐพงศ์ วายุพัฒน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 บรรยายฟ้องโดยมีข้อกล่าวหาและใจความสำคัญระบุว่า ในวันที่ 20 ส.ค. 2564 จำเลยกับพวกรวมกว่า 50 คน ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ได้ร่วมกันชุมนุมและก่อความวุ่นวายขว้างปาประทัดและระเบิดปิงปอง ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ที่บริเวณดินแดง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  และการชุมนุมดังกล่าว เป็นการชุมนุมที่มีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย มีการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 

เนื่องจากในพื้นที่การชุมนุม ไม่มีการจัดจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ ไม่ได้จัดให้มีแพทย์หรือบริการทางสาธารณะสุขเข้าไปดูแล หรือช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อ ไม่จัดให้มีการตรวจวัดอุณภูมิ หรือคัดกรองบุคคลที่เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง 

ทั้งนี้ อัยการได้บรรยายฟ้องถึงพฤติการณ์ของจำเลยต่อไปว่า จำเลยได้มีการพกพาวัตถุระเบิด ซึ่งมีรูปแบบการประกอบนำขวดแก้วมาบรรจุสารระเบิดแรงต่ำ บริเวณฝาขวดมีการเจาะรูใส่สายชนวนดอกไม้เพลิง จำนวน 1 ลูก อันเป็นวัตถุระเบิดตามกฎหมายที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ และมีระเบิดปิงปอง จำนวน 29 ลูก ที่ดีดหนังสติ๊ก จำนวน 1 อัน ซึ่งอัยการกล่าวหาว่า จำเลยมีไว้เพื่อใช้ก่อความวุ่นวายในพื้นที่ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้อัยการได้ระบุในท้ายคำฟ้องว่า ไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยแต่อย่างใด หากจำเลยยื่นคำร้องขอประกันตัว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล 

ซึ่งต่อมา ในเวลา 16.08 น. ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวชนะดล โดยระบุคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลย พร้อมระเบิดปิงปอง 29 ลูก คดีมีอัตราโทษสูง เชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวจำเลยแล้วจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ยกคำร้อง 

ลงนามคำสั่งโดย พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา 

หลังจากศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ทำให้ชนะดลถูกควบคุมตัวส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที โดยเขากลายผู้ต้องขังในระหว่างต่อสู้คดีรายที่ 8 ที่ถูกคุมขังอยู่ปัจจุบัน และหากรวมผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดีสิ้นสุดแล้วยังได้รับโทษจำคุกอยู่ 6 ราย ทำให้มีผู้ต้องขังทางการเมืองคงอยู่ในเรือนจำรวมทั้งสิ้น 14 ราย

ดูรายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง ปี 2566 >>>  กลางมีนา 66 ยอดผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มเป็น 8 คน หลังศาลอาญา-ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันต่อเนื่อง

X