ทนายยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษา คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ #ม็อบย่างกุ้ง ของกลุ่ม WeVo เหตุมีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณา-พิพากษา เสียความยุติธรรม

วันที่ 21 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดสืบพยานจำเลยในคดีของ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และสมาชิกกลุ่ม WeVo หรือ We Volunteer รวม 11 คน จากการจัดกิจกรรม #ม็อบย่างกุ้ง เพื่อจำหน่ายกุ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริเวณสนามหลวงและอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563

ก่อนหน้านัดสืบพยานดังกล่าว คือ ในวันที่ 20 พ.ย. 2566 ทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้าน สิรพัชร์ สินมา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ผ่านทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม โดยอ้างเหตุอันมีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 12

คำร้องดังกล่าวระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้ยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาไว้ 2 ประการ ดังนี้

ในระหว่างการสืบพยานจำเลยในวันที่ 2 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้สอบถามเกี่ยวกับคดีอื่น ๆ ของปิยรัฐ จำเลยที่ 1 และตั้งคำถามเกี่ยวกับการหลุดจากสถานะ สส. ซึ่งเป็นการ พูดถึงสถานะ สส. ของจำเลยที่ 1 ที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพิจารณาคดีของศาล 

ก่อนหน้าวันดังกล่าว ผู้พิพากษาฯ ก็ได้ถามถึงคดีของศาลแขวงดุสิตที่เป็นคดีในทำนองเดียวกัน คือ คดีฐานความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เพิ่งพิพากษาไปว่า ศาลพิพากษาอย่างไร ซึ่งคดีดังกล่าว ศาลพิพากษาลงโทษตามคำฟ้องทุกฐานความผิด แต่ลงโทษปรับจำเลย ลักษณะการถามดังกล่าวทำให้ทนายความจำเลยรู้สึกได้ว่า ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมองว่าจำเลยในคดีนี้ซึ่งไปขายกุ้งที่สนามหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรฟาร์มกุ้งที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดตลาดกลางกุ้งในช่วงเดือนธันวาคม 2563 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกัน

ในการพิจารณาคดีทุกนัดที่ผ่านมา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลเข้ามานั่งประจำห้องพิจารณา และปล่อยให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลเชิญทนายความจำเลยที่ 1 ที่ 2 ออกจากห้องพิจารณาขณะที่กำลังทำหน้าที่ถามค้านพยานโจทก์ และเมื่อเสร็จการพิจารณาในแต่ละวันเกือบทุกครั้งก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจศาลจะออกไปจากห้อง ผู้พิพากษาฯ จะพูดขอบคุณทำนองว่า มีเจ้าพนักงานตำรวจศาลมานั่งอยู่ในห้องทำให้คดีดำเนินไปได้ด้วยดี เป็นไปโดยเรียบร้อย ทั้งที่กระบวนพิจารณาคดีดำเนินไปได้ก็เนื่องจากคู่ความและบุคลากรทุกคนที่อยู่ในห้องพิจารณา ไม่ใช่เฉพาะแค่เจ้าพนักงานตำรวจศาล 

คำพูดในลักษณะดังกล่าวสะท้อนมุมมองของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนที่มีต่อฝ่ายจำเลยว่า ต้องมีเจ้าพนักงานตำรวจศาลมานั่งในห้อง กระบวนพิจารณาจึงจะสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี  อย่างไรก็ตาม ภายหลังทนายความจำเลยได้มีหนังสือถึงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิต เพื่อขอให้พิจารณากรณีดังกล่าว ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจึงได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลไม่ต้องมานั่งประจำห้องพิจารณาคดีอีกต่อไป

ในการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2566 ในระหว่างสืบพยานจำเลย ทนายความจำเลยที่ 3 – 5 กำลังซักถามพยาน ทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้บอกคำถามที่ตกหล่นให้ทนายความจำเลยที่ 3 – 5 ถามเพิ่ม รวมทั้งส่งกระดาษที่เขียนคำถามพยานที่ตกหล่นให้ทนายความจำเลยที่ 3 – 5 ถาม รวมถึงในบางช่วงเวลาได้มีการพูดคุยกับทนายความจำเลยที่ 3 – 5 เกี่ยวกับคำถามที่ตกหล่นไปเพื่อให้ถามพยานได้ความครบถ้วน ซึ่งเป็นกระบวนการทำหน้าที่ทนายความตามปกติในกรณีที่มีทนายความทำงานร่วมกันหลายคน และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของจำเลย แต่ศาลเตือนทนายความจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่า ทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะตามกฎหมายให้ทนายความถามความได้ทีละคน 

ทนายความจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงได้โต้แย้งศาลว่า เป็นการทำหน้าที่ร่วมกันเป็นทีมและกรณีนี้ไม่ใช่การถามความหลายคนตามข้อกฎหมายที่ศาลเห็นว่าทำไม่ได้ และทนายความยืนยันต่อศาลว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีกฎหมายห้ามทนายความบอกคำถาม ส่งกระดาษคำถามให้กันหรือปรึกษาหารือกันระหว่างการถามความ 

หลังจากนั้น ศาลได้บันทึกข้อความลงในคำเบิกความพยานปากดังกล่าวทุกครั้งที่ทนายความจำเลยที่ 1 ที่ 2 ส่งกระดาษคำถาม บอกคำถามหรือปรึกษาหารือกับทนายจำเลยที่ 3 – 5  

อีกทั้งผู้พิพากษาฯ ได้กล่าวทำนองว่า ท่านจะให้ตั้งเรื่องมั้ย จะได้ตรวจสอบ จะได้ให้สภาทนายดู ทนายความจำเลยที่ 1 ที่ 2 ถามว่า ท่านจะตั้งเรื่องอะไร เรื่องละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ผู้พิพากษาฯ ตอบว่า ไม่ใช่ละเมิดอำนาจศาล ดูว่ากระบวนการชอบหรือไม่ และจะฟังพยานปากนี้ได้หรือไม่ ฟังได้ขนาดไหน ถึงต้องมีกล้อง จะได้ชัดเจน แล้วก็เคารพกฎหมายนะครับ ใครทำอะไรก็ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย 

กรณีดังกล่าวทำให้ทนายความจำเลยเข้าใจได้ว่า หากยังบอกคำถามกัน ส่งกระดาษคำถามให้กัน หรือคำปรึกษาหรือกันอยู่อีก จะต้องมาพิจารณากันว่า จะรับฟังพยานปากดังกล่าวได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  ทำให้ทนายความจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 – 5 รู้สึกได้ว่า หากยังยืนยันสิทธิที่จะปฏิบัติเช่นเดิม ศาลจะไม่รับฟังพยานปากดังกล่าว และมีการกล่าวถึงสภาทนายความทำให้ทนายความจำเลยเกิดความกลัวและวิตกกังวลในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ทนายความเพื่อประโยชน์ของลูกความ ส่งผลให้ทนายความจำเลยไม่อาจถามพยานปากดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว 

ทนายความจำเลยทั้ง 11 เห็นว่า การทำหน้าที่ตามที่ระบุข้างต้นเป็นการทำหน้าที่ทนายความโดยปกติทั่วไปในกระบวนพิจารณาคดี และที่ผ่านมาไม่เคยพบว่าศาลใดเห็นว่าการทำหน้าที่ของทนายความในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องผิดปกติหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระบวนพิจารณาคดี 

การที่ศาลจะนำกรณีดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการรับฟังพยานปากดังกล่าวว่ารับฟังได้หรือไม่ เนื่องจากในระหว่างการถามความทนายความมีการส่งคำถามหรือปรึกษาหารือกัน ทั้งที่ไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ทนายความจำเลยปรึกษาหารือ บอกคำถาม หรือส่งกระดาษคำถามให้กัน และการห้ามหรือการวินิจฉัยว่า การกระทำของทนายความจำเลยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจส่งผลต่อรูปคดีของจำเลยอย่างร้ายแรงได้ เนื่องจากเป็นพยานปากสำคัญคนหนึ่งในคดี 

.

ในคำร้องระบุว่า ลักษณะการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ถือได้ว่าเป็นสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไป โดยมีสาเหตุอันเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ ทนายความจำเลยได้เข้าพบผู้พิพากษาหัวหน้าศาล กรณีที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแจ้งกับทนายความจำเลยว่า จะมีคำสั่งยกเลิกการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยทั้ง 11 คน ซึ่งผู้พิพากษาท่านเดิมได้อนุญาตไว้ และจะให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดมาศาลในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้น ภายหลังจากนั้นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้เชิญผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนไปหารือ และต่อมาก็ไม่ยกเลิกคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยที่ศาลท่านเดิมได้อนุญาตไว้  

กรณีดังกล่าวข้างต้น ที่ทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งการเข้าพบผู้พิพากษาหัวหน้าศาล 2 ครั้ง ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนท่านนี้ที่ผ่านมา ที่อาจสร้างความไม่พอใจ และย่อมส่งผลต่อความเป็นอิสระ เป็นกลางและปราศจากอคติในการพิพากษาคดีโดยตรง กรณีดังกล่าวได้สะท้อนผ่านการถามหรือพูดถึงสถานะ สส. ของจำเลยที่ 1 ที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพิจารณาพิพากษาคดี และการดำเนินกระบวนพิจารณาในลักษณะที่เพ่งเล็งการถามความของทนายความจำเลยในวันที่ 2 พ.ย. 2566 ดังกล่าวข้างต้น ย่อมเป็นเหตุอันมีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไป

.

ในวันที่ 21 พ.ย. 2566 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 401 สิรพัชร์ สินมา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนออกนั่งพิจารณาคดี และอ่านคำสั่งต่อคำร้องคัดค้านดังกล่าวโดยสรุปว่า ตามที่ทนายความจำเลยยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษา เห็นว่ากรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 12 ให้ยกคำร้อง โดยผู้พิพากษาสิรพัชร์เป็นผู้สั่งตามคำร้องดังกล่าวด้วยตนเอง และสั่งให้ดำเนินการสืบพยานจำเลยปาก ปิยรัฐ จำเลยที่ 1 ซึ่งอ้างตนเป็นพยานต่อไป

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า หลักความเป็นอิสระของตุลาการเป็นหลักการสำคัญที่ช่วยประกันสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของผู้ต้องหาในคดีอาญา ดังนั้นตามหลักการนี้ ผู้พิพากษาจะต้องมีความเที่ยงธรรม คือ อยู่ในสถานะที่ไม่มีผลประโยชน์หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในคดี และต้องไม่มีความคิดล่วงหน้าใดๆ เกี่ยวกับประเด็นที่กำลังพิจารณา 

หากมีเหตุเพียงพอที่จะทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเที่ยงธรรมของผู้พิพากษา ผู้พิพากษาก็มีหน้าที่ที่จะต้องถอนตัวจากคดีนั้น ซึ่งบทบัญญัติกฎหมายก็เปิดช่องให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถคัดค้านผู้พิพากษาได้ โดยอ้างเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11 และ 12 

นอกจากนี้ ในการพิจารณาคำร้องคัดค้านผู้พิพากษา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 13 วรรคสาม วางหลักไว้ว่า “ถ้าศาลใดมีผู้พิพากษาคนเดียว และผู้พิพากษาคนนั้นถูกคัดค้าน หรือถ้าศาลใดมีผู้พิพากษาหลายคน และผู้พิพากษาทั้งหมดถูกคัดค้าน ให้ศาลซึ่งมีอำนาจสูงกว่าตามลำดับเป็นผู้ชี้ขาดคำคัดค้าน” จึงมีข้อน่าพิจารณาและตั้งคำถามว่า ผู้พิพากษาที่ถูกคัดค้านจะมีอำนาจในการสั่งคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาด้วยตนเองหรือไม่

X