พิพากษาปรับ 3 การ์ด Wevo คนละ 10,000 บาท กรณีร่วม #ม็อบย่างกุ้ง เห็นว่าเป็นกิจกรรมมั่วสุมแออัด ฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

7 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ 3 ทีมการ์ดผู้ชุมนุมกลุ่ม  We Volunteer (WeVo) ได้แก่ หัสดินทร์ ไกรโสภา, ปัณณพัทธ์ จันทนางกูลและ มงคล (สงวนนามสกุล) กรณีทำกิจกรรม #ม็อบย่างกุ้ง ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยศาลได้พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามฟ้อง ปรับคนละ 10,000 บาท 

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 กลุ่มผู้ชุมนุม Wevo ได้นัดหมายทำจัดกิจกรรม #ม็อบย่างกุ้ง เพื่อจัดจำหน่ายกุ้งเผาของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง หลังตลาดกุ้งในจังหวัดสมุทรสาครได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าล้อมกลุ่มประชาชนที่กำลังเข้าร่วมกิจกรรมซื้อขายกุ้งเผาที่สนามหลวง โดยมีการจับกุมประชาชนได้ทั้งหมด 12 ราย 

ต่อมา กลุ่ม WeVo จึงนำกุ้งส่วนที่เหลือไปขายที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แต่ถูกชุดควบคุมฝูงชนเข้าล้อมพื้นที่และเข้าจับกุมประชาชนในบริเวณนั้นไปอีก 4 คน  รวมผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 16 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ถึง 2 คน 

ทั้งหมดถูกควบคุมตัวขึ้นรถไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จ.ปทุมธานี ก่อนจะนำตัวไปขออำนาจศาลแขวงดุสิตฝากขังและได้รับประกันตัวออกมา

.

ย้อนดูเหตุการณ์การจับกุม >> ตร.ไม่ให้ประกันหลังจับ 16 ปชช.ร่วมกิจกรรม #ม็อบย่างกุ้ง ควบคุมตัวที่ บก.ตชด.ภาค1 ส่งฝากขัง 2 ม.ค.

.

หลังจากนั้น ในส่วนของคดีผู้ใหญ่ ได้มีการฟ้องคดีแยกเป็นสองคดีที่ศาลแขวงดุสิต ตามสถานที่ถูกจับกุม โดยแยกเป็นคดีผู้ถูกจับกุมจากสนามหลวง 11 คน ซึ่งขณะนี้ยังสืบพยานไม่เสร็จสิ้น และคดีของผู้ถูกจับกุมจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 3 คน 

เกี่ยวกับคดีนี้ จำเลยทั้งสามได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา รวมถึงยืนยันว่าการทำกิจกรรมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และถึงแม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ก็ได้จัดทำมาตรการป้องกันโรคตามสมควรแล้ว ศาลได้สืบพยานไปเมื่อวันที่ 24-25 พ.ค. และ 7 มิ.ย. 2566  ก่อนที่จะนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

ที่ห้องพิจารณาคดี 401 เวลา 09.00 น. จำเลยทั้ง 3 และทนายความได้ทยอยมารอที่ห้องพิจารณาคดี ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี เวลา 09.50 น. ศาลชี้แจงว่าสาเหตุที่อ่านคำพิพากษาล่าช้า เป็นเพราะคำพิพากษาฉบับนี้เพิ่งส่งมาจากอธิบดี ซึ่งต้องเป็นผู้ตรวจทานก่อน

โดยสรุปศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-2019 ระบาดร้ายแรง ยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษา มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในประเทศไทย 

จากข้อเท็จจริงของพยานโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกิจกรรมขายกุ้งจริง โดยไม่ได้มีมาตรการป้องกันโควิด-2019 ไม่มีเจลแอลกอฮอล์ ไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่มีการตรวจจุดคัดกรอง แม้มีผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนที่สวมหน้ากากอนามัย จึงเห็นกิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมในลักษณะมั่วสุมแออัด เสี่ยงต่อการทำให้เกิดการแพร่เชื้อ และเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกชุมนุมแล้ว ก็ไม่เลิกชุมนุมแต่อย่างใด  

ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสามที่บอกว่าเป็นการใช้สิทธิเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านเกษตกร หลังตลาดกุ้งในจังหวัดสมุทรสาครได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การระบาดขณะนั้นมีความรุนแรง และยังไม่มีวัคซีนหรือยาตัวใดรักษาได้ 

ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ลงโทษปรับคนละ 10,000 บาท รวมปรับทั้งหมด 30,000 บาท

.

X