ศาลพิพากษายกฟ้องรายที่ 7  “หนุ่ย อภิสิทธิ์” ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง กรณีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ชี้การเรียกร้องให้นายกลาออก เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

วันที่ 25 ต.ค. 2565 เวลา 09.30 น. ศาลแขวงดุสิต นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ หนุ่ย — อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพื่อเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ที่ทำเนียบรัฐบาล  และถูกฟ้อง ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9  ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 รวมถึงประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 เรื่องห้ามชุมนุมหรือมั่วสุม ข้อ 1

ในคดีนี้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 เป็นอัยการโจทก์ฟ้องนักกิจกรรมและประชาชนรวมกันกว่า 14 คน โดยรับสารภาพไปแล้ว 2 ราย ทำให้ 12 รายที่เหลือตัดสินใจสู้คดีถึงที่สุด และได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.พญาไท พร้อมปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งหมด

นอกจากนี้ ในเหตุเดียวกัน ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษายกฟ้องนักกิจกรรมและประชาชนไปแล้ว 6 ราย ประกอบไปด้วย มายด์ ภัสราวลี, ไพศาล จันปาน, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ลุงศักดิ์ วีรวิชญ์, วสันต์ กล่ำถาวร และ อานันท์ ลุ่มจันทร์

.

ย้อนอ่านการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา >>> ประชาชน 12 คน รับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย 

.

สำหรับคดีของอภิสิทธิ์ เขาถูกอัยการฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 คดีมีการสืบพยานจนเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

เวลา 10.20 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 408 ศาลอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟัง โดยมีใจความสรุปว่า ตามข้อกล่าวหาของโจทก์ที่บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเหตุอันควรที่เชื่อได้ว่ากระทำการรุนแรงที่ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐและทรัพย์สินของรัฐ ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 รวมถึงประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค 2563 เรื่องการมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม ข้อ 1 และกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44

ปรากฎว่า พยานโจทก์ผู้ลงสังเกตการณ์ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เห็นจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีพฤติการณ์เพียงยืนอยู่รวมกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ เท่านั้น และไม่ปรากฎหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ใช้ความรุนแรง หรือกระทำการใดในลักษณะที่ไม่สงบ อีกทั้งไม่ปรากฎว่าจำเลยเป็นผู้รื้อรั้วชุมนุม หรือฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนในวันดังกล่าว

พยานหลักฐานของพยานโจทก์ฟังได้เพียงว่า จำเลยในคดีนี้เป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น ซึ่งไม่ผิดตามข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง 

ส่วนความผิดฐานมั่วสุม ที่อัยการโจทก์ฟ้องว่าจำเลยและพวกมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 10,000 คน เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2563 ซึ่งมีจุดประสงค์ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ในส่วนนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยกระทำการใดที่เป็นการมั่วสุมจนทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 

ศาลแขวงดุสิตได้วินิจฉัยว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “มั่วสุม” หมายถึง การชุมนุมกันเพื่อกระทำการในทางไม่ดี ส่วนการที่มีบุคคลมารวมตัวกันกว่า 10,000 คน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้น เป็นการเรียกร้องโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่ “การมั่วสุม” ตามที่อัยการบรรยายฟ้อง ศาลไม่เห็นว่าจำเลยมีการกระทำผิดอย่างไร พิพากษายกฟ้อง

สำหรับการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 เป็นการชุมนุมของประชาชนซึ่งรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเวลาประมาณ 16.00 น. ก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่น “จดหมายลาออกของนายกฯ” ฉบับจำลองให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และ 2 เงื่อนไข ของผู้ชุมนุม  

หนุ่ย อภิสิทธิ์ นับได้ว่าเป็นประชาชนรายที่ 7 ในคดีนี้ที่ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เขาได้เล่าความรู้สึกทิ้งทวนไว้ว่า “ผมรู้สึกเสียเวลา คดีนี้มันไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่แรก มันมีกระบวนการที่ใ่ช้เวลานานถึง 2 ปี มันเป็นภาระทางคดี มันทำคดีมาก็เพื่อให้เราเสียเวลาชีวิต ซึ่งสุดท้าย ในหลายๆ คดี ศาลก็ยกฟ้อง”

X