หลังจากเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565 ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีของ “ไพศาล จันปาน” คนขับรถแท็กซี่และผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง ที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สืบเนื่องจากการเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือ ม็อบ #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เพื่อเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง พร้อมกับเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
คดีนี้ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงดุสิตเป็นโจทก์ฟ้องไพศาล มีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 และมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยอ้างเหตุว่ามีการปลุกระดมและดำเนินการให้มีการชุมนุมอันไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และยังได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ข้อ 1 ห้ามการชุมนุม ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
ต่อมา เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 จําเลยกับบุคคลรวมประมาณ 10,000 คน ซึ่งมีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ได้รวมตัวชุมนุม อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้นเคลื่อนขบวนไปยังหน้าทําเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ข้อ 1
ไพศาลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล ก่อนคดีจะมีการสืบพยานโจทก์และจำเลย เมื่อวันที่ 15-17 ธ.ค. 2564 และศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 16 มี.ค. 2565
คำพิพากษายกฟ้อง ของวริษฐา มงคลสิริ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน แบ่งประเด็นวินิจฉัยออกเป็น 2 ประเด็น
1. ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยใช้ความรุนแรง จึงไม่ผิดข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ศาลเห็นว่า เนื่องจากข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 เป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีที่มีการกระทําที่มีความรุนแรง อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การชุมนุมอันจะเป็นความผิดตามข้อกําหนดดังกล่าว จึงต้องเป็นการกระทําที่มีความรุนแรง อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44
เมื่อไม่ปรากฏพยานหลักฐานโจทก์ว่า จําเลยกระทําการใดอันเป็นการชุมนุมในลักษณะที่ไม่สงบ หรือมีอาวุธ ทั้งไม่ปรากฏว่าจําเลยมีการกระทําที่รุนแรง หรือเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นของตํารวจควบคุมฝูงชน พยานหลักฐานโจทก์จึงยังฟังไม่ได้ว่า การกระทําของจําเลยเป็นการกระทําที่รุนแรง อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 จึงไม่เป็นความผิดตามข้อกําหนด ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ข้อ 1
2. การกระทำตามฟ้องเป็นเพียงการเรียกร้องทางการเมือง ไม่ใช่การ “มั่วสุม” กระทำสิ่งไม่ดี
ศาลเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จําเลยกระทําการใดอันเป็นการมั่วสุมหรือยุยง ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การที่จําเลยกับบุคคลประมาณ 10,000 คน รวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้นเคลื่อนขบวนไปยังหน้าทําเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไขกฎหมายนั้น เป็นการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องทางการเมืองตามปกติ
ทั้งนี้ คำว่า “มั่วสุม” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า “ชุมนุมกันเพื่อกระทําการในทางไม่ดี” เมื่อคำฟ้องไม่ปรากฏว่า จําเลยกับผู้มีชื่อรวมตัวกันเพื่อกระทําการในทางไม่ดี การรวมตัวกันดังกล่าวจึงไม่ใช่การมั่วสุม หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การกระทําของจําเลยตามที่บรรยายในฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานมั่วสุม หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ตามข้อกําหนด ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ข้อ 1 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม
สำหรับภูมิหลังของ “ไพศาล จันปาน” เดิมเป็นคนจังหวัดขอนแก่น และย้ายเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อแสวงหาความก้าวหน้าในชีวิตตั้งแต่วัย 12 ปี ก่อนจะเริ่มสนใจการเมืองอย่างจริงจังในช่วงรัฐประหารปี 2549 กระทั่งผันตัวเป็นมวลชนเสื้อแดงใน ปี 2552 – 2553
ปัจจุบันนี้ ไพศาลมีอาชีพขับรถแท๊กซี่เป็นงานหลัก รวมถึงมีส่วนร่วมในการชุมนุมและเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นม็อบต้านรัฐประหารหลังปี 2557, ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง 2561 และการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ปี 2563 โดยวาดหวังว่าสังคมไทยจะมี “ประชาธิปไตย” และให้คุณค่า “ความเป็นคนเท่ากัน” ในเร็ววัน
หลังจากต่อสู้คดีมาเกือบ 2 ปี ศาลก็ได้พิพากษายกฟ้องไพศาลว่า ไม่มีความผิดตามที่อัยการฟ้อง อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาต่อไปว่าอัยการจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่
ทั้งนี้ คดีความที่เกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมครั้งนี้มีนักกิจกรรมถูกดำเนินนคดีรวม 14 ราย เช่น ชลธิชา แจ้งเร็ว, กรกช แสงเย็นพันธ์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ปิยรัฐ จงเทพ, ชาติชาย แกดำ, “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ซึ่งพนักงานอัยการได้ทยอยฟ้องจำเลยทีละราย ไม่ได้พิจารณารวมเป็นคดีเดียวกัน
จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 นอกจากคดีของไพศาลแล้ว มีอีก 4 คดี ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลคล้ายกันว่า การชุมนุมดังกล่าวของพวกจำเลยเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากความรุนแรง เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการมั่วสุม หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง