ไพศาล จันปาน: ฉากชีวิตของคนขับแท็กซี่ สู่การเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง พร้อมข้อยืนยันที่ว่า ‘เรายังต้องการความหวังในการต่อสู้’

พิพากษายกฟ้อง!”

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565 ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษายกฟ้องในคดีของ ไพศาล จันปาน คนขับแท็กซี่ ที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง เหตุจากเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือ #ม็อบ21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย

คดีจากการชุมนุมครั้งนี้ ยังมีจำเลยรายอื่นอีก รวม 14 ราย และมีรวม 4 รายแล้ว ที่ศาลพิพากษายกฟ้องเช่นเดียวกับไพศาล โดยให้เหตุผลคล้ายกันว่า การชุมนุมดังกล่าวของพวกจำเลยเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากความรุนแรง เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการมั่วสุม หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

หลังจากฟังคำพิพากษา ไพศาลมีสีหน้าชื่นมื่นขึ้นอย่างชัดเจน ถึงแม้จะรู้อยู่แล้วว่า คำพิพากษาในคดีน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะมีแนวทางจากคดีของคนอื่นๆ มาก่อนแล้ว แต่การถูกดำเนินคดีก็ยังก่อความกังวลอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น เพราะเขายังมีคดีความอีกรวม 9 คดี ที่ยังติดค้างอยู่ในกระบวนการ ไม่นับคดีนี้ที่ยังต้องรอว่าอัยการจะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ จำนวนคดีเช่นนี้ก็สร้างภาระให้กับคนขับแท็กซี่อย่างเขาที่ต้องเจียดเวลาทำมาหากินเพื่อมาตามที่ศาลนัด แต่ยังโชคดีอยู่บ้างที่ไพศาลไม่ได้มีครอบครัวให้ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง

เทียบกับนักกิจกรรม-แกนนำการชุมนุมรายอื่นๆ ชื่อ “ไพศาล” อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ตลอดเส้นทางชีวิตของชายคนนี้มักพาดผ่าน พัวพันกับสมรภูมิการต่อสู้ทางการเมืองของภาคประชาชนเสมอ ไล่ตั้งแต่รัฐประหารปี พ.ศ. 2549 – การชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง ปี พ.ศ. 2552 – 2553 – ม็อบต้านรัฐประหารหลังปี พ.ศ. 2557 – ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 จนล่าสุดคือการเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์ นำโดยกลุ่มคณะราษฎร ปี 2563

หากชีวิตคือคำนิยามที่เราต่างต้องกำหนดกันขึ้นมาเอง คำว่า “คนเท่ากัน” และ “ประชาธิปไตย” คงเป็นสองคำหลักในชีวิตของคนขับรถแท็กซี่ ผู้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า แม้ในยามที่ความเปลี่ยนแปลงดูเป็นเรื่องที่เป็นไปยาก แต่ตราบใดที่ยังมีชีวิต เราจำเป็นต้องมีความหวังนำทางเสมอ

.

จากบัณฑิตรัฐศาสตร์ สู่การตื่นรู้ทางการเมือง

ไพศาลเดิมทีเป็นคนจังหวัดขอนแก่น และเช่นเดียวกับคนต่างจังหวัดอีกจำนวนมาก เขาเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อแสวงหาโอกาสให้กับชีวิต ในวัย 12 ปี หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษา ไพศาลหอบข้าวของเข้ามาในเมืองหลวงพร้อมกับพี่ชาย เริ่มต้นการหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นคนงานก่อสร้าง ก่อนจะขยับขยายไปทำงานอย่างอื่น ไล่ตั้งแต่เด็กเสิร์ฟ พนักงานปั๊มน้ำมัน คนเลี้ยงเป็ด สารพัดช่าง จนเมื่อปี พ.ศ. 2555 ไพศาลจึงได้มายึดอาชีพคนขับแท็กซี่เป็นอาชีพหลัก

“แรกเริ่มที่เข้ามาในกรุงเทพฯ ก็อยู่กับพี่ชาย ทำงานก่อสร้างเหมือนกัน จนตอนนี้ พี่ชายอายุ 60 กว่าแล้ว เลยย้ายกลับไปอยู่บ้านนอก”

“ชีวิตผมผูกพันกับการดิ้นรนคล้ายกับคนระดับล่างคนอื่น” ไพศาลสะท้อนความรู้สึกเมื่อหวนย้อนรำลึกถึงชีวิตในอดีต

ถึงแม้จะขาดต้นทุนชีวิต แต่ไพศาลในห้วงเวลากว่า 10 ปี ก่อน ตัดสินใจเรียนต่อในหลักสูตรการศึกษานอกระบบฯ (กศน.) ในช่วงปี พ.ศ. 2547 เพราะได้แรงบันดาลใจจากคนรู้จัก ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ใช้เวลาราว 3 ปี จึงเรียนจบอย่างที่หวังไว้ ในช่วงปี พ.ศ. 2549 ปีเดียวกับที่จบ กศน. จุดเปลี่ยนในชีวิตของไพศาลก็มาถึง พร้อมกันกับการก่อรัฐประหาร นำโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ในนามคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

“ตั้งแต่เด็ก ผมไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน จนมาเริ่มสนใจเมื่อปี 49 ช่วงก่อนการยึดอำนาจ ในตอนนั้นมีกลุ่มม็อบเกษตรกรที่เดินทางเข้ามาชุมนุมที่กรุงเทพฯ ปักหลักกันที่สวนจตุจักร รู้ว่ามีม็อบเพราะว่าตอนนั้นรับจ้างขับรถลีมูซีนอยู่ที่สนามบิน เห็นม็อบเคลื่อนขบวนผ่านมา รู้สึกสนใจ ตัวเราเป็นคนชอบฟังด้วย พอวันหยุด ก็ไปร่วมม็อบกับเขา ฟังปราศรัย ฟังชาวบ้านที่ลุกขึ้นพูดถึงปัญหาที่พวกเขาเจอ ฟังแล้วรู้สึกชอบ”

“พอมาคุยกับเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน เพื่อนบอกว่า ‘มันเป็นเรื่องของการเมือง ถ้าอยากเข้าใจต้องเรียนรัฐศาสตร์’ ช่วงนั้นประจวบกับที่เพิ่งเรียนจบ กศน. แล้วรู้จักกับอาจารย์ท่านหนึ่ง เขาก็แนะนำให้เรียนต่อปริญญาตรี เราก็ไม่รู้ว่ารัฐศาสตร์คืออะไร แต่สนใจ อยากรู้ข้อเท็จจริง เลยเลือกไปสมัครเรียนคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช”

ในวันที่สังคมยังขาดความเข้าใจเรื่องการเมืองอย่างถ่องแท้ ไพศาลก็คล้ายกับคนอื่น มองไม่ออกว่าการกระทำดังกล่าวของ คปค. จะก่อให้เกิดผลกระทบอะไรขึ้นในระยะยาว จนปี พ.ศ. 2551 เริ่มเรียนปี 2 คณะรัฐศาสตร์ เข้าสู่วิชาเอก สายการเมือง การปกครองโดยตรง นั่นเองจึงนำมาสู่การ “ตื่นรู้ทางการเมือง”

และนับแต่นั้น การเมืองก็เรียกได้ว่ากลายเป็นทุกอย่างในชีวิต

“ปี 49 หลังการยึดอำนาจ ผมยังไปมอบดอกไม้ให้ทหารอยู่เลย เห็นคนอื่นไป เราก็ไปด้วย รู้สึกมันงดงามดี ยังไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมือง รู้แต่ที่เขาบอกๆ กันว่า ทักษิณโกง”

“มาเข้าใจว่าการรัฐประการมันคือสิ่งที่ผิดก็เมื่อปี 51 ตอนเริ่มเข้าเรียนวิชาเอก เราเริ่มเห็นว่ามันมีกลุ่มผลประโยชน์ มีการทำงานด้านจิตวิทยา การสร้างสถานการณ์ สัมพันธ์กับการคลัง งบประมาณ เศรษฐศาสตร์การเมือง ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไป เริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว เริ่มเข้าใจว่าใครทำอะไร ส่งผลทางการเมืองยังไง”

“ที่เขาอ้างว่าเป็นเทวดา เราก็เริ่มไม่เชื่อแล้ว”

.

คนเสื้อแดง บาดแผล และความเจ็บปวดที่ยากจะลืม

ปี พ.ศ. 2552 สังคมไทยเริ่มเข้าสู่ยุคของความขัดแย้งด้วยสัญลักษณ์สีเสื้อ เมื่อมีการเกิดขึ้นของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไพศาลที่สนใจเรื่องการเมืองเป็นทุนเดิม จึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ เริ่มจากเทียวไปเทียวมาที่ม็อบ ในที่สุดก็ปักหลักชุมนุมยืนระยะเมื่อกระแสการต่อสู้พุ่งขึ้นสูงในปี 2553

จนกระทั่งเหตุการณ์ “เมษา – พฤษภาเลือด” มาถึง…

“ปี 52 ปีนั้นกลุ่มคนเสื้อแดงเข้ามาปักหลักชุมนุมกันที่ข้างทำเนียบรัฐบาล เราก็แวะเข้าไปฟัง เห็นการอภิปราย พูดคุยเรื่องปัญหาบ้านเมือง ปัญหาเรื่องปากท้อง สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชน แล้วมันสัมพันธ์กับเรื่องที่เราเรียน เห็นว่ามันมีกลุ่มผลประโยชน์ที่กุมอำนาจทางการเมืองไว้ข้างบน ก็เริ่มตาสว่าง”

“ปี 53 ช่วงที่มีม็อบต่อเนื่อง ผมไม่ได้ทำงานเลย ไปร่วมชุมนุมกับเขาตั้งแต่วันที่ 12 มีนา จำได้ว่ามีเงินเก็บอยู่สองหมื่น ก็ใช้เงินเก็บไป จนมาถึงวันที่ เสธ.แดง (พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล) โดนยิง ใช้เงินเก็บจนหมด เลยต้องออกไปรับจ้างขับรถ เป็นงานสัญญาจ้าง ขับไปจนถึงระยองถึงได้รู้ข่าวว่า เสธ.แดง โดนยิงในที่ชุมนุม”

“วันที่มีการสลายการชุมนุมบริเวณราชดำเนิน เวทีผ่านฟ้า วันที่ 10 เมษา 53 ตัวผมอยู่ที่หน้า จปร. เริ่มมีการสลายฯ ในช่วงบ่าย เกิดความรุนแรงที่บริเวณแยกคอกวัวกับแถวโรงเรียนสตรีวิทย์ ผมไปร่วมกับผู้ชุมนุมคนอื่น ตรึงกำลังกันเป็นโล่มนุษย์เพื่อกันไม่ให้ทหารเข้ามาเสริมกับชุดที่อยู่ที่ราชดำเนิน สื่อสารกันผ่านวอร์ ก็ได้ยินเสียงปืนดังจากวอร์เป็นช่วง ๆ”

“ตอนนั้นยังไม่มีการถ่ายทอดสดจากที่ชุมนุมเหมือนในทุกวันนี้ จนสถานการณ์เริ่มคลี่คลายตอนเวลาประมาณสองทุ่ม ก็ย้ายกันมาตรงแยกผ่านฟ้า ราว 3 ทุ่ม ณัฐวุฒิขึ้นประกาศให้ยุติการชุมนุม ขอให้คนเสื้อแดงถอนตัว ผมเดินมาต่อจนถึงเต้นท์พยาบาลตรงใกล้กับเทเวศน์ประกันภัย ราว 4 – 5 ทุ่ม เหนื่อยจนน็อค ตื่นมาอีกทีตีห้า เดินกลับไปดู เจอทั้งรถถัง รถฮัมวี่ รอยเลือด รอยระเบิด รอยกระสุน”

“ตอนที่มีการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ วันที่ 19 พฤษภา ผมก็อยู่ร่วมด้วย รวมกับคนอื่นอยู่ในวัดปทุม วันต่อมา จำได้ว่ามีกลุ่ม ส.ส. มาเชิญออกจากวัด พร้อมกับเจ้าหน้าที่หน่วยอรินทราชกว่า 10 นาย ถือปืนมาด้วย สัญญาว่าจะดูแลความปลอดภัยให้ เพราะคนที่อยู่ในวัดไม่กล้าเดินออกมากันเอง เพราะเห็นทหารถือปืนตรึงกำลังอยู่บนรางรถไฟฟ้า”

“เหตุการณ์ในช่วงนั้นทำให้เราได้เห็นอะไรหลายอย่าง เราเห็นการที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน มีคนถูกยิง เพื่อนของเราต้องมาตาย บ้างสูญหาย พอสลายชุมนุมได้ เจ้าหน้าที่รัฐเอาอาวุธมากอง อ้างเคลียร์ออกมาจากในวัดปทุมฯ บอกว่าคนเสื้อแดงมีอาวุธ แต่กลับไม่มีการตรวจหมายเลขทะเบียนอาวุธ (Serial Number) เลยว่ามีที่มาอย่างไร อาวุธจำนวนมากไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร”

“หลังจากการสลายการชุมนุม ผมมีอาการทางจิตอยู่ 2 – 3 ปี เวลาไปงานรำลึกการชุมนุม เวลาที่เห็นภาพการปะทะ ภาพคนยิงกัน อยู่ๆ น้ำตามันก็ไหลออกมาเองอัตโนมัติ เป็นอย่างนั้นอยู่นาน ทุกครั้งที่ไปก็ร้องไห้ เพราะคนที่โดนยิงโดนฆ่าคือเพื่อนเรา มันเจ็บปวดที่เห็นคนโดนยิงต่อหน้าต่อตา”

“ทั้งๆ ที่มีหลายคนอยู่กับผมในช่วงสลายการชุมนุม ทั้งหมอ ทั้งตำรวจ แต่กลับไม่มีใครไปเป็นพยานในคดีการสลายการชุมนุมเลยว่า วันนั้นมันเกิดอะไรขึ้น”

.

ม็อบเพื่อสลายสีเสื้อ?

ความเจ็บปวดไม่ได้หายไปไหน แต่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อ ไพศาลยืนยันว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้พรากเอาจิตวิญญาณของการต่อสู้ออกไปจากเขาแต่อย่างใด ปี พ.ศ. 2555 อดีตมวลชนเสื้อแดงรายนี้ผันตัวมาขับรถแท็กซี่เป็นงานหลัก ยิ่งมีรถ ยิ่งทำให้การเดินทางไปร่วมชุมนุมเป็นเรื่องง่าย เขาติดตามความเคลื่อนไหวของการชุมนุมผ่านทางเฟซบุ๊ก เห็นว่ามีม็อบที่ไหน ก็ไปทุกม็อบ

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ไพศาลเห็นข้อแตกต่างอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมฯ เทียบกับการต่อสู้ของคนเสื้อแดงในช่วงปี 2552 – 2553 ก่อนหน้า

“ม็อบส่วนใหญ่หลังจากนั้นมักเป็นม็อบรำลึกเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ช่วงนั้นยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) เริ่มเข้ามามีอำนาจ เป็นเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหารปี 57 มีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่บริเวณถนนอักษะ จากการที่ไปเข้าร่วม ผมมองว่าม็อบพวกนี้เป็นกลยุทธ์ทางยุทธศาสตร์อย่างหนึ่ง รัฐพยายามเข้ามาสลายสีเสื้อ มากกว่าเป็นการชุมนุมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง”

“ม็อบเสื้อแดงปี 52 – 53 เป็นม็อบที่ยังไม่มีการจัดตั้ง เป็นของประชาชนที่ตื่นรู้ทางการเมืองจริงๆ สมัยยุคทักษิณ ช่วงปี 48 คนรากหญ้าได้รับผลประโยชน์จากนโยบายทางการเมือง คนเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนปี 52 – 53 เขาก็เริ่มเรียนรู้เรื่องการเมือง เห็นว่าการยึดอำนาจปี 49 บ้านเราไม่มีอะไรดีขึ้นเลย สภาพความเป็นอยู่ของคนเริ่มเลวร้ายลง”

“เกิดการแสดงออกของสัญลักษณ์ทางการเมือง ใส่เสื้อแดงร่วมชุมนุม คนตื่นตัวกันมาก คนที่บ้านเกิดผมมาร่วมม็อบก็ออกค่าน้ำมันมากันเอง พกเอาอาหารมาทำกินกันในที่ชุมนุม เป็นการเสียสละชีวิตของภาคประชาชน ต่างจากม็อบหลังปี 53 ที่รัฐเริ่มเข้ามาแทรกแซง”

.

รัฐบีบให้คนจน เจ็บ โง่จนขาดส่วนร่วมทางการเมือง

ปัจจัยอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อการตื่นรู้ทางการเมืองของคนทั่วไป ไพศาลมองว่า การครอบงำและปัจจัยทางเศรษฐกิจคือตัวชี้ชาด ยิ่งข้นแค้น ยิ่งห่างไกลจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง จึงเป็นเหตุผลว่า แม้ผ่านการรัฐประหาร 2549 มาแล้ว สังคมไทยที่เริ่มเผชิญกับความอ่อนแอทางด้านเศรษฐกิจกลับไม่เคยได้เรียนรู้จากความผิดพลาด จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

“คนไทยโดนครอบงำและกดขี่ทางด้านเศรษฐกิจ ถ้าคนอยู่ดี กินดี เขาก็เริ่มสนใจเรื่องการเมือง อยากมีส่วนร่วม ในทางรัฐศาสตร์เรียกว่า มีส่วนรับรู้ อยากมีส่วนร่วม แต่พอเจอสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก เขาจึงมีแค่มีส่วนที่รู้ แต่ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้เพราะโดนกดขี่ด้านเศรษฐกิจ”

“รัฐบาลเผด็จการรู้จุดอ่อนเรื่องนี้ของคนไทย เลยบีบให้คน ‘จน เจ็บ โง่’ จากนั้นรัฐก็เข้ามาควบคุมทรัพยากร แย่งชิงทรัพยากรไปจากประชาชน สมัยยิ่งลักษณ์ รัฐใช้งบประมาณราว 2.5 ล้านๆ พืชผลทางเศรษฐกิจดี เศรษฐกิจดี คนลืมตาอ้าปากได้ เงินส่วนกลางมาถึงภาคประชาชน แต่ตอนนี้ ประยุทธ์เข้ามา ใช้งบมากกว่ายิ่งลักษณ์กว่าเท่าตัว แล้วเงินมันหายไปไหน? สมัยยิ่งลักษณ์ ค่าเงินบาทเรา 40 บาท ต่อดอลลาร์ ตอนนี้ค่าเงินบาทเรา 33 บาท ต่อดอลลาร์ ค่าเงินแข็ง แล้วเงินหายไปไหน? ทำไมทุกคนยังยากจน ย่ำแย่ เศรษฐกิจก็พัง กลับไม่มีใครลุกขึ้นมาตั้งคำถาม”

“ปี 57 เราได้เห็นการรัฐประหารอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ความเสียหายมันต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 49 แล้ว ครั้งนี้ เราไม่มีแกนนำ คนที่จะเข้ามาต่อต้านการรัฐประหารก็โดนสกัด ต่างจังหวัดแม้มีคนที่ออกมาต่อต้าน แต่รัฐใช้ทหารเข้ามาจับกุมคุมขังแกนนำ เรียกเอาคนมาปรับทัศนคติ เอาข้าราชการที่มีท่าทีกระด้างกระเดื่องมาอบรม มีการบังคับใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว”

“8 ปีมานี้ รัฐบาลประยุทธ์ทำอะไรเพื่อบ้านเมืองบ้าง? หนี้สาธารณะมหาศาล งบหายไปโดยไม่มีการตรวจสอบ ข้าวของแพง  ค่าแรงต่ำ ชีวิตคนย่ำแย่ คุณมีความชอบธรรมอะไรบ้างที่ทำให้เข้ามาอยู่ในตำแหน่งนี้? รัฐประหารปี 57 เกิดขึ้นได้ก็เพราะการสร้างสถานการณ์ ใช้ม็อบชนม็อบ ภาครัฐอำนวยความสะดวกให้ม็อบ กปปส. พยายามสร้างวาทกรรมเพื่อล้มล้างรัฐบาลพลเรือน”

.

หวนสู่การต่อสู้อีกครั้ง ในวันที่สังคมต้องสูญเสียโอกาสไปเพราะการรัฐประหาร

ภายหลังจากการรัฐประหารปี 57 เกิดกระแสการต่อต้านจากกลุ่มนักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนหลายกลุ่ม การต่อสู้ ออกมาประท้วง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในหลายพื้นที่ ก็ด้วยเพราะคนเริ่มตระหนักแล้วว่า สังคมไทยต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง จากการฉีกทึ้งรัฐธรรมนูญโดยคนบางกลุ่ม

ไพศาลเล่าย้อนถึงการชุมนุมภายหลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ในช่วงเย็นไปจนถึงค่ำของการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 จัดโดยกลุ่มนักศึกษา (หนึ่งในนั้นคือ รังสิมันต์ โรม) มีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมด้วยส่วนหนึ่ง ไพศาลเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เสี่ยงจนถึงขนาดเกือบโดนเจ้าหน้าที่รัฐรุมทำร้าย ขณะที่พยายามเข้าไปขวางการจับกุมตัวนักศึกษา

นั่นคือครั้งแรกที่เขาเริ่มรู้จักกับนักต่อสู้หน้าใหม่ ไฟของการต่อสู้ที่เหมือนจะมอดไปหวนกลับมาจุดติดอีกครั้ง

“ถ้าเทียบกับการต่อสู้หลังปี 49 การต่อสู้หลังปี 57 ดีกว่านะ ในแง่ของการสื่อสาร ในแง่ของการตื่นรู้ทางการเมือง คนมีส่วนรับรู้เยอะกว่า ผมว่าสังคมมันเปลี่ยนไปมาก ตอนปี 49 เกิดการลุกขึ้นมาต่อสู้ของคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ของเขา หลังปี 57 เด็กๆ เยาวชน คนรุ่นใหม่เริ่มรับรู้ปัญหามากขึ้น เริ่มเกิดผลกระทบกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ”

“รัฐแพ้ในทางยุทธศาสตร์ แต่ในทางยุทธวิธี เขายังสามารถควบคุมประชาชนได้ รัฐบาลประยุทธ์อยู่ได้ก็เพราะทหารกับตำรวจ หลังปี 57 คนอาจไม่ได้ออกมาต่อต้านมากในทางปฏิบัติ แต่ในแง่ของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การทำงานทางความคิด สังคมมีการรับรู้มากกว่า ดูได้จากยอดไลค์ ยอดแชร์ในเพจที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง บางเพจคนกดไลค์หลายล้านด้วยซ้ำ”

การรัฐประหารไม่ได้แค่เป็นการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรมเพียงอย่างเดียว แต่ในแง่หนึ่ง มันยังสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล ไพศาลชี้ว่า สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปมักไม่ค่อยทราบ นั่นก็คือการรัฐประหารยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบโครงสร้างของเมือง ยกตัวอย่างกรณีการพัฒนาระบบรางรถไฟฟ้า ซึ่งต้องล่าช้าออกไปจากระยะเวลาเดิมที่กำหนดนานหลายปี

“การทำรัฐประหาร นอกจากทำให้เศรษฐกิจแย่ ผังเมืองเราก็พัง เพราะการก่อสร้างที่ไม่ได้มีความต่อเนื่อง อย่างรถไฟฟ้าที่เราเห็นทุกวันนี้ ได้ข้อมูลมาจาก พลตำรวจเอก สล่าง บุนนาค เขาทำวาระแห่งชาติเรื่องการรถไฟ การคมนาคม ถ้าปี 49 เราไม่มีการยึดอำนาจ รถไฟฟ้าที่เราเห็นกันทุกวันนี้น่าจะได้ใช้ตั้งแต่ปี 55 แล้ว มันเป็นงบ TOR (Terms of Reference) สิ่งที่รัฐบาลรับรอง จำเป็นต้องทำให้เสร็จในเวลาที่กำหนด ถ้าไม่เสร็จจะโดนฟ้องร้อง แต่พอเกิดการรัฐประหาร รัฐบาลฉีกสัญญาพวกนี้ทิ้งหมด ไม่ยอมสร้าง”

“จนปี 53 รัฐบาลของอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ถึงเอามาเข้าวาระการประชุม ครม. ก่อนจะลงจากอำนาจ แล้วก็สร้างเป็นโครงการขึ้นมาใหม่ ทำสัญญาใหม่ แต่สเปกการก่อสร้างไม่เหมือนเดิมแล้ว อย่างแอร์พอร์ตลิงค์ สัญญาจริงๆ จะต้องเชื่อมระหว่างสุวรรณภูมิกับดอนเมือง แต่ทุกวันนี้ดอนเมืองต้องไปทางบางซื่อ ถ้าจะไปสุวรรณภูมิต้องเปลี่ยนรถที่พญาไท มันไม่เป็นไปตามสเปกเดิม นี่คือความผิดพลาดที่เกิดจากการยึดอำนาจ เป็นผลผลิตจากการยึดอำนาจตั้งแต่ปี 49”

“รัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง ก็กระทำโดยกลุ่มอำนาจกลุ่มเดิม ไม่ใช่คนกลุ่มอื่นเลย อ้างความชอบธรรมว่าคนนั้นคนนี้โกง อ้างว่าไม่จงรักภักดีฯ”

.

เลือกตั้ง – การปาหี่ทางการเมือง – และความหวังที่ถูกจุดติดอีกครั้งใน พ.ศ. 2563

หลังการครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานของ คสช. ประเทศไทยหวนคืนสู่กระบวนการการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2562 แม้จะเป็นการหวนคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งในปีนั้นนับว่ามีข้อกังขาอยู่มาก โดยเฉพาะในสายตาของคอการเมืองทั่วไป เนื่องจาก คสช. ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 และออกแบบกลไกต่างๆ ขึ้นมาเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง

สำหรับไพศาล การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงในนามเท่านั้น และเป็นการละเล่นปาหี่ทางการเมือง ไม่ได้สร้างความหวังให้กับเหล่าคนชนชั้นรากหญ้าที่คาดหวังว่าชีวิตของตัวเองจะดีขึ้น หากมีรัฐบาลที่ผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยขึ้นอยู่ในอำนาจ พร้อมกันนั้นก็สะท้อนให้เห็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ซ่อนรูปอยู่ภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

“การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ผมมองว่าเป็นการเล่นปาหี่ทางการเมือง มันไม่ได้สะท้อนหรือมีความหวังอะไร อย่างที่เราเห็นแล้วตลอด 3 ปีมานี้ รัฐบาลประยุทธ์ใช้งบประมาณโดยที่แทบไม่ได้มีการตรวจสอบเลย ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การเมืองมาก่อน มีการเบิกงบล่วงหน้า สมมติปีนี้ปี 65 แต่คุณเอางบปี 66 มาใช้แล้ว สิ่งนี้มันไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพิ่งจะมีรัฐบาลชุดนี้เป็นชุดแรก เป็นอะไรที่น่าอัปยศอดสูมาก”

“ความเป็นจริง งบประมาณต้องใช้ปีต่อปี สิ้นตุลา ต้องเข้า ครม. รัฐบาลต้องมาแถลงว่า งบประมาณในปีนั้นๆ เอาไปใช้ทำอะไรบ้าง จะต้องมีการต่อรอง มีการประท้วงกันข้ามวันข้ามคืน แต่ตอนนี้ ของรัฐบาลชุดนี้แทบไม่มีการเปิดอภิปรายเลย มีแค่กระดาษแผ่นเดียว ไม่บอกด้วยว่าจะเอาเงินไปใช้ทำอะไร ไหนจะกู้เพิ่มอีกเท่าไหร่”

“ถึงจะเป็นอย่างนั้น แต่การเลือกตั้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น แต่เลือกตั้งในบ้านเรามันเหมือนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ประเทศอื่น ถ้ารัฐมนตรีได้รับเลือกตั้งจากคนส่วนใหญ่ เขาสามารถลงนามรับรองฯ ได้ด้วยตนเอง เข้าสาบานตนรับตำแหน่ง แต่กรณีเราต้องรอการโปรดเกล้าฯ รอวันลงพระปรมาภิไธย เป็นการปกครองที่นิยามโดยกษัตริย์  ประชาชนมีอำนาจครั้งเดียวคือตอนที่เอาบัตรเลือกตั้งไปหย่อน แต่หลังจากนั้นต้องมารอการโปรดเกล้าฯ รับรอง แค่นั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว”

หลังปี 2562 ถึงแม้สังคมจะยังคงตกหล่มอยู่ในวังวนของความขัดแย้งทางการเมือง ความไม่เป็นประชาธิปไตยที่ซ่อนรูปอยู่ในกำมือของชนชั้นนำ แต่เมื่อเกิดกระแสการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ขึ้นในปี 2563 ความหวังที่จะเห็นสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางดีขึ้นได้สว่างขึ้นมาอีกครั้ง แม้จะยังริบหรี่แสง แต่สำหรับตอนนี้ บัณฑิตรัฐศาสตร์รายนี้มองว่า นี่คือหมุดหมายใหม่ของการต่อสู้

แม้ชัยชนะอาจจะยังมาไม่ถึงในเร็ววัน ไพศาลย้ำว่า ตราบใดที่ยังมีชีวิต สิ่งสำคัญที่เราไม่อาจละทิ้งได้นั่นก็คือ ‘ความหวัง’

“พอมาถึงการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรปี 63 ผมชื่นชมนะ เด็กๆ เขาดูมีพลังดี มีความกล้า กล้าที่จะชนกับปัญหาโดยตรง ถ้าเรามองย้อนไป ในกรณีของเสื้อแดงก็ดี ในแง่ของพรรคเพื่อไทยก็ดี การต่อสู้มันก็เป็นแค่ลูกกระทบชิ่ง ไม่พูดถึงปัญหาตรงๆ พูดแบบกำกวมให้คนสงสัยเองว่ามันเกิดหรือมีปัญหาอะไร จนมาถึงตอนนี้ เด็กๆ เขาชี้เลยว่า ปัญหามันเกิดขึ้นตรงนั้นนะ นี่คือความกล้าที่จะสู้อย่างพลีชีพของพวกเขา ซึ่งในทางรัฐศาสตร์ มันก็เกิดปัญหาในจุดที่พวกเขาพูดถึงจริงๆ มันไม่ใช่การกล่าวร้าย การกล่าวหา เราพูดความจริงไม่ได้ เพราะมันมีกฎหมายที่ทำให้เราติดคุกได้”

“ผมอยากให้ปีนี้มีม็อบ เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้หลังจากหมดโควิด เรายังต้องการม็อบ รัฐบาลชุดนี้เขามาด้วยม็อบ เราก็ต้องล้มเขาด้วยม็อบ รัฐสภาไม่มีทางแก้ไขอะไรได้แล้วในตอนนี้ สู้ไม่ได้ ถึงจะเลือกตั้งใหม่ก็ยังสู้ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญถูกเขียนโดยพวกเขา ลองอ่านบทเฉพาะกาล มาตรา 279 เขาให้อำนาจตัวเองหมดทุกอย่าง ใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ช่าง ยังไงอำนาจมันก็ยังอยู่ที่เขา เราจะมีความหวังก็ต่อเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไม่มีบทเฉพาะกาลที่เขาเขียนขึ้น ถึงจะเลือกตั้งใหม่ได้”

“ผมยังมีความหวังเสมอว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงตราบเท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่ ทุกวันเราต้องสู้ ถึงจะเหนื่อยหรือท้อ ก็ต้องสู้ ถามว่าความหวังจำเป็นไหม? จำเป็นซิ เราต้องสู้ด้วยความหวัง มันอยู่ที่ว่าเราจะชนะเขาวันไหนเท่านั้นเอง แต่แน่นอน การต่อสู้อาจจะต้องมีเชลยศึก มีคนโดนจับกุมคุมขัง แต่การต่อสู้ก็จะยังคงอยู่ ทั้งการเคลื่อนไหวบนถนนหรือบนสื่อออนไลน์ก็ตาม”
.

X