ศาลยกฟ้อง “วีรวิชญ์” เป็นรายที่ 6 ในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง เหตุร่วมชุมนุม 21 ตุลา 63 ชี้เป็นการใช้สิทธิตาม รธน. 

วันที่ 1 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ “ศักดิ์” หรือ วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล ดีไซเนอร์และอดีตผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงวัย 62 ปี สืบเนื่องจากการเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยเขาถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

สำหรับการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยเป็นการชุมนุมของประชาชนซึ่งรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่น “จดหมายลาออกของนายกฯ ฉบับจำลอง” ให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และ 2 เงื่อนไข ของผู้ชุมนุม โดยไม่ได้มีแกนนำหลักในการชุมนุม

การชุมนุมครั้งนี้ ต่อมามีผู้ถูกดำเนินคดีรวมทั้งหมด 14 ราย ซึ่งพนักงานอัยการได้ทยอยสั่งฟ้องจำเลยแยกสำนวนคดีเป็นรายบุคคล โดยไม่ได้พิจารณาร่วมเป็นคดีเดียวกัน ต่อมา ศาลแขวงดุสิตได้ทยอยมีคำพิพากษายกฟ้องคดีไปแล้ว 5 รายด้วยกัน ได้แก่ คดีของภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, อานันท์ ลุ่มจันทร์, ไพศาล จันปาน, วสันต์ กล่ำถาวร และสุวรรณา ตาลเหล็ก 

สำหรับคดีของวีรวิชญ์ เขาถูกอัยการฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 คดีมีการสืบพยานจนเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 20-21 เม.ย. 2565 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

.

ศาลยกฟ้อง “วีรวิชญ์” ระบุชุมนุมโดยสงบ ไม่มีอาวุธ เป็นสิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ

ณ ห้องพิจารณาคดี 509 ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า ถึงแม้ในวันเวลาเกิดเหตุ คดีนี้อยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมที่มีการมั่วสุมเกินกว่า 5 คนขึ้นไป และไม่ให้ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองก็ตาม แต่การจะพิจารณาว่าการกระทำตามฟ้องนั้นผิดตามประกาศดังกล่าวหรือไม่ต้องดูที่เจตนาของผู้กระทำด้วย ตามฟ้องที่อัยการโจทก์อ้างว่า จำเลยได้กระทำการปลุกระดม ก่อให้เกิดความวุ่นวายและกระทบต่อความมั่นคง ซึ่งไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญนั้น 

พิเคราะห์แล้วได้ความว่า จำเลยเบิกความยืนยันว่าได้เข้าร่วมการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์จริง และ พ.ต.อ.วิบูลย์ นนทะแสง เจ้าหน้าที่หน่วยสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท เบิกความว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น เป็นเพียงการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

และตามฟ้องที่กล่าวหาว่าในวันเดียวกันจำเลยได้เข้าร่วมการชุมนุมที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ ซึ่งผู้ชุมนุมมีการรื้อลวดหนาม จำเลยเบิกความว่าไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมที่บริเวณดังกล่าว และศาลเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บริเวณแยกอุรุพงษ์นั้นเป็นเหตุการณ์ส่วนน้อยเท่านั้น ในการชุมนุมทั้งหมด

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ประกอบกับอัยการโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงไม่สามารถเอาผิดจำเลยตามฟ้องได้ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา ศาลแขวงดุสิตจึงมีพิพากษา “ยกฟ้อง” จำเลย ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง   

.

วีรวิชญ์เผย เหตุลงถนนร่วมชุมนุมไล่นายกฯ เพราะประยุทธ์จัดการโควิดล้มเหลว ทำเศรษฐกิจพัง ทำธุรกิจส่งออกเสื้อผ้าของตัวเองถูกฟ้องล้มละลายเสียหายกว่า 30 ล้าน  

หลังศาลพิพากษายกฟ้อง วีรวิชญ์เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ประกอบอาชีพเป็นดีไซเนอร์ ทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าและส่งออกไปยังต่างประเทศ ด้านการเงินถือว่ามีฐานะมั่นคง แต่เมื่อประเทศเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การบริหารภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่สามารถจัดการกับโรคระบาดโควิด-19 ได้ดีเท่าที่ควรเป็น และไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาดีดังเดิมได้ จากการบริหารงานที่ล้มเหลวดังกล่าวทำให้ธุรกิจส่วนตัวของเขาได้รับผลกระทบขนาดหนัก ถึงขนาดกับถูกฟ้องล้มละลาย โดยประเมินเป็นความเสียหายมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท 

จากเหตุผลข้างผลจึงทำให้วีรวิชญ์ในวัย 60 กว่าปี อดีตเสื้อแดงที่ออกมาต่อสู้ทางการเมืองตั้งแต่ ปี 2549 ตัดสินใจถนนอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก รวมถึงเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาปากท้องและปัญหาอื่นๆ อีกหลายข้อด้วยกัน จนนำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีมากกว่าทางการเมืองรวมทั้งสิ้น 13 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาทิ คดีจากการชุมนุม #ม็อบ17พฤศจิกา63 “กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ”, #ม็อบ14พฤศจิกา64 ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และ#ม็อบ9กุมภา64 เรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎร เป็นต้น

วีรวิชญ์ยังเล่าอีกว่า จากคำพิพากษายกฟ้องวันนี้ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วนก่อนจะดำเนินคดีกับประชาชน การทำงานของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในคดีการเมืองนั้นมีปัญหา เป็นเพียงการกลั่นแกล้งทางการเมืองกับผู้ซึ่งเป็นศัตรูของรัฐบาลเพื่อบั่นทอนทรัพยากรให้อ่อนล้าไปในวังวนของกระบวนการยุติธรรม ทำให้ประชาชนอย่างเขาเสียเวลาไปนานกว่า 2 ปีโดยไร้ค่า 

วีรวิชญ์ยังระบุว่า ตลอดเส้นทางของการต่อสู้คดี ยังต้องประสบปัญหาอีกไม่ถ้วน อาทิ ปัญหาความไม่เข้าใจกันในครอบครัว สูญเสียรายได้ ฯลฯ ซึ่งแม้ศาลจะยกฟ้องไปแล้ว แต่รัฐก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบและมีมาตรการเยียวยาใดๆ เลยกับสิ่งที่เขาถูกกระทำ  

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ประชาชน 12 คน รับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย
สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

X