ศาลเลื่อนพิพากษาคดี ม.112 ของ “วุฒิ” ระบุไม่อนุญาตให้เปลี่ยนคำให้การเป็นปฏิเสธ แต่ให้รวบรวมพยานหลักฐาน-เหตุบรรเทาโทษประกอบก่อนนัดพิพากษา 14 ก.พ. 67

วันที่ 21 ธ.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญามีนบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “วุฒิ” (นามสมมติ) ชาวเพชรบูรณ์วัย 51 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ ในช่วงปี 2564 แต่ให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปในวันที่ 14 ก.พ. 2567 

คดีนี้มี สุรวัชร สังขฤกษ์ เป็นผู้กล่าวหา โดยในวันที่ 20 ธ.ค. 2564 วุฒิได้เดินทางไปที่ สน.นิมิตรใหม่ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะขอให้การในชั้นศาลต่อไป พนักงานสอบสวนจึงได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก่อนให้ปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ 

ต่อมาในวันที่ 27 มี.ค. 2566 รุ่งโรจน์ แดงสวัสดิ์ พนักงานอัยการ ฝ่ายคดีอาญามีนบุรี 2 ได้สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญามีนบุรี โดยขณะนั้นวุฒิได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท 

เวลา 16.55 น. สุรพันธ์ เจริญกิตติ ผู้พิพากษา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยอ้างเหตุเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ทำให้วุฒิถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2566 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 270 วันแล้ว หลังจากนั้นศาลอาญามีนบุรีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา

คดีนี้มีนัดสืบพยานในวันที่ 22 – 24 พ.ย. 2566 โดยในวันแรกของการสืบพยาน กรองแก้ว ถนอมรอด ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้อธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังและสอบถามว่ามีแนวทางการต่อสู้คดีอย่างไร วุฒิและทนายความได้แถลงต่อศาลว่าขอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว 

ต่อมาศาลได้แจ้งสิทธิให้แก่จำเลยว่า หากจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจะสามารถใช้ดุลยพินิจในการลงโทษสถานเบาได้ ภายหลังการปรึกษาหารือกับทนายความ วุฒิจึงตัดสินใจถอนคำให้การเดิมจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนพิพากษา

วันที่ 21 ธ.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 201 ญาติของวุฒิ ได้แก่ น้องสาว, ภรรยา และลูกชาย เดินทางมาเพื่อรอพบและให้กำลังใจวุฒิที่ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษมีนบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, เจ้าหน้าที่จาก iLaw, ผู้สื่อข่าวอิสระ และ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ พร้อมเพื่อนนักกิจกรรม เข้าร่วมสังเกตการณ์คดี

เวลา 10.30 น. หลังจากศาลเสร็จการพิจารณาในคดีอื่น ๆ วุฒิถูกนำตัวขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดีโดยถูกพันธนาการด้วยกุญแจข้อมือและข้อเท้า เขานั่งลงก่อนหันมาทักทายกลุ่มคนที่มาร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจ

ต่อมาเวลา 10.38 น. ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนออกนั่งพิจารณาคดี ก่อนแจ้งกับทนายความและวุฒิว่า หลังจากได้ไปปรึกษาแล้วเห็นว่า คดีนี้ไม่สามารถลงโทษสถานเบาได้ เนื่องจากข้อความเกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงสอบถามจำเลยอีกครั้งว่ายังคงจะให้การรับสารภาพเช่นเดิมหรือไม่ พร้อมระบุว่าจากรายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติ ไม่พบว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน และไม่ปรากฎว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมทางการเมือง

หลังจากที่ทนายความและวุฒิปรึกษาหารือกัน วุฒิตัดสินใจแถลงต่อศาลขอถอนคำให้การในวันที่ 22 พ.ย. 2566 จากรับสารภาพเป็นปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้องโจทก์ พร้อมยื่นคำให้การใหม่

ผู้พิพากษาระบุว่า จากคำให้การในวันที่ 22 พ.ย. 2566 เท่ากับว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงแล้วว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง หากจะเปลี่ยนไปให้การปฏิเสธ จะต้องยกข้อต่อสู้อื่นขึ้นมา เช่น ข้อความตามฟ้องไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112

ทนายความจึงแถลงต่อศาลว่า พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งเป็นภาพโพสต์ข้อความโดยไม่ระบุที่มา (ไม่ระบุ URL) และไม่ได้ตรวจสอบระบุตัวบุคคลที่เป็นผู้โพสต์ (ไม่มีการตรวจสอบ IP Address) จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ จึงยืนยันขอต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว โดยฝ่ายของจำเลยมีพยานผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2 คน ซึ่งตรวจสอบพิสูจน์ตัวตนของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมาให้ความเห็นในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาเห็นว่า จำเลยขอถอนคำให้การเป็นรับสารภาพแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ถอนคำให้การรับสารภาพเป็นปฏิเสธ ไม่อนุญาตให้จำเลยถอนคำให้การในวันที่ 22 พ.ย. 2566 แต่เห็นควรให้โอกาสจำเลยในการรวบรวมพยานหลักฐานและรวบรวมเหตุบรรเทาโทษมาเสนอต่อศาลเพื่อประกอบดุลยพินิจในการพิพากษาภายในวันที่ 2 ก.พ. 2567 และให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 ก.พ. 2567

นอกจากนี้ ทนายความยังพยายามสอบถามถึงเรื่องการประกันตัวของวุฒิ โดยหลังจากที่วุฒิตัดสินใจให้การรับสารภาพไปในวันที่ 22 พ.ย. 2566 ทนายความได้พยายามยื่นขอปล่อยชั่วคราวอีกครั้งเนื่องจากมีเหตุในคดีที่เปลี่ยนแปลงไป แต่วุฒิก็ยังคงไม่ได้รับการประกันตัว โดยผู้พิพากษาระบุว่า การสั่งประกันตัวไม่ได้ขึ้นกับผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน แต่ขึ้นอยู่กับผู้พิพากษาเวรที่มีหน้าที่สั่งประกันตัวในวันนั้น 

หลังจากนี้ทนายความจะเข้าเยี่ยมวุฒิที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีเพื่อปรึกษาหารือเรื่องแนวทางในคดี และจะดำเนินการใด ๆ ตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า ตามหลักสิทธิของจำเลยในคดีอาญา จำเลยมีสิทธิที่จะให้การปฏิเสธเพื่อให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่แม้เคยให้การรับสารภาพก่อนหน้านี้  แต่ในการถอนคำให้การในชั้นศาลนั้น มีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง วางหลักไว้ว่า เมื่อมีเหตุอันควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การก่อนศาลพิพากษาได้ ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาต กล่าวคือในการถอนคำให้การในชั้นศาล ศาลจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาว่ามี ‘เหตุอันควร’ หรือไม่ ก่อนมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาต

อย่างไรก็ตาม คดีนี้จำเลยมีข้อต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้โพสต์ พยานหลักฐานของโจทก์เป็นพยานหลักฐานปลอม ผ่านการตัดต่อ จึงไม่เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่อาจจะสามารถเปลี่ยนผลของคดีได้ จำเลยจึงควรมีสิทธิในการถอนคำให้การเดิมเพื่อต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป

X