วันที่ 26 ก.ย. 2567 เวลา 13.00 – 16.00 น. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โครงการฟรีดอมบริดจ์ (Freedom Brridge) ได้จัดงานเปิดตัวโครงการช่วยเหลือคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดเพื่อรณรงค์ให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมด
งานแถลงข่าวและงานเสวนาเปิดตัวโครงการในวันนี้ มีศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์พิเศษ
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษ
ปฐมพร แก้วหนู เจ้าหน้าที่โครงการ Freedom Bridge เล่าถึงจุดเริ่มต้นโครงการช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมืองว่า การให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมืองเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ที่อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ต้องเข้าเรือนจำและไม่ได้สิทธิประกันตัว ในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ครอบครัวได้ทราบถึงปัญหาของคุณภาพอาหารและน้ำดื่มในเรือนจำ นำมาสู่การจัดตั้งกองทุนชั่วคราวเพื่อให้ความช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองในนามบัญชี อานนท์ นำภา ที่มีครอบครัวของอานนท์ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเปิดระดมทุนและให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ในเรือนจำ
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2566 สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพยังคงถูกดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะยุติโดยเร็ว จนถึงวันนี้ มีผู้ถูกคุมขังและเข้าเรือนจำในฐานะนักโทษทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 52 คน
.
.
Freedom bridge ประกาศภารกิจช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมืองและครอบครัว เพื่อเป็นหลักประกันให้สามารถเข้าถึงหลักการดูแลขั้นพื้นฐานได้อย่างมีคุณภาพ
โครงการ Freedom bridge ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2567 เพื่อช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองและครอบครัวของพวกเขา โดยมีเป้าหมายระยะยาวในการรณรงค์เพื่อให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด ซึ่งมีภารกิจแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้
1. ให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นกับนักโทษทางการเมืองและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้ออาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงของใช้ที่จำเป็น และการฝากเงินเข้าเรือนจำรายเดือนให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือครอบครัวของผู้ต้องขัง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการถูกควบคุมตัวในเรือนจำของสมาชิกที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ตั้งแต่การช่วยเหลือเงินค่าเทอมบุตรหลาน และความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อเป็นหลักประกันว่าพวกเขาจะสามารถเข้าถึงการดูแลขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระหว่างการต่อสู้คดี
2. บันทึกข้อมูลของนักโทษทางการเมืองในปัจจุบันและมิติต่าง ๆ ในชีวิตของผู้ต้องขังทางการเมือง และผลกระทบที่เกิดขึ้นในครอบครัวของพวกเขา เพื่อทำการสื่อสารไปยังสังคมในวงกว้าง ให้เข้าใจความหมายและการเผชิญหน้าของกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีทางการเมือง ซึ่งการจัดทำข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในรูปแบบของรายงาน บทความ บทสัมภาษณ์ และสถิติข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ต้องขังทางการเมือง โดยทำการเผยแพร่บนเว็บไซต์ freedombridge.network และช่องทางโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อใช้สื่อสารถึงความต้องการและข้อเรียกร้องของผู้ต้องขังทางการเมือง ตลอดจนผลักดันการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด
3. ทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตร ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และนานาชาติเพื่อผลักดันให้มีการยุติการคุมขังทางการเมือง และเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในประเทศไทย
.
อดีตผู้ต้องขังหญิง – ทนายความอาสา เล่าประสบการณ์และปัญหาที่เจอในเรือนจำ
ปฏิมา อดีตผู้ต้องขังทางการเมือง เล่าประสบการณ์การถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลางฯ ปัญหาใหญ่ที่เธอเจอคือเรื่องอาหารการกิน โดยเฉพาะการรับประทานอาหารในโรงเลี้ยง ซึ่งจะมีการตรวจบัตรประจำตัวผู้ต้องขัง ถ้าเธอไม่มีบัตรติดตัวไปกินข้าวในโรงเลี้ยงก็จะไม่สามารถเข้าไปกินได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เธอไม่เข้าใจว่าในเมื่อตัวเองถูกคุมขังอยู่แล้ว ทำไมต้องมีการตรวจอะไรซ้ำอีก
ส่วนเรื่องน้ำดื่มก็เป็นน้ำประปาที่เป็นท่อเดียวกันกับที่ใช้ล้างมือ อาบน้ำ ซึ่งจะมีกลิ่นคลอรีนและเราเลือกไม่ได้ว่าจะไม่ดื่ม นอกจากว่าจะให้ครอบครัวหรือญาติซื้อน้ำดื่มสะอาดฝากเข้ามา แต่ถ้าใครไม่มีญาติก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องกินไปเพื่อความอยู่รอด
ส่วนเสื้อผ้า ชุดชั้นในที่ผู้ต้องขังหญิงจะได้รับก็จะเป็นของเก่าที่ใช้ต่อทอดกันมา บางคนได้ไม่ตรงไซส์ตัวเอง ใส่ได้ไม่พอดี ก็จะเกิดบาดแผล รวมถึงผ้าอนามัยของผู้ต้องขังหญิงที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปกติประจำเดือนจะมาทีก็ 3 – 4 วัน เรือนจำจะแจกให้แค่เดือนละ 1 ห่อเท่านั้น โดยผู้ต้องขังจะต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยวันละ 2 รอบ หรือบางคนมาน้อยมามากไม่เท่ากันอีก ทำให้ต้องไปยืมนักโทษด้วยกัน ถ้าใครไม่มีญาติก็ต้องรอใช้ของเรือนจำ ซึ่งคุณภาพมันไม่เทียบเท่ากับผ้าอนามัยที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป
นอกจากนี้ ปฏิมายังพบว่าเรื่องยาปวดประจำเดือนก็มีปัญหา ซึ่งไม่ได้ถูกแจกให้อย่างเพียงพอ ได้เพียงแค่ 3 – 5 คนเท่านั้น และจะไม่สามารถขอเพิ่มได้สำหรับทุกคน ซึ่งมันไม่เพียงพอต่อการบรรเทาอาการปวดของผู้ต้องขังที่ต้องการยาด้วย เช่น ถ้ามีผู้ต้องขังในห้องเดียวกันต้องการยามากกว่า 10 คนเพื่อบรรเทาอาการปวด ทางเรือนจำก็จะมีการจำกัดให้ผู้ต้องขังรับยาเพียงพอต่อความต้องการของผู้ต้องขัง โดยถ้าใครที่ไม่ได้ยา คนที่ได้รับก็จะต้องทำการแบ่งครึ่งยาให้ทุกคนได้รับประทานด้วยเช่นเดียวกัน
ทางด้าน แพรวพรรณ ทนายความอาสาของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เริ่มต้นเล่าว่าสิ่งที่ตัวเองได้พบเจอในฐานะทนายความที่เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมือง คืออาหารและของใช้ในเรือนจำค่อนข้างจะมีราคาแพงมากกว่าข้างนอก และถ้าไม่ซื้อกิน ก็จะต้องรับประทานในโรงเลี้ยง ซึ่งก็ไม่มีคุณภาพที่ดีเท่ากับการซื้อกิน โดยผู้ต้องขังมักเล่าให้ฟังว่า ข้าวที่ได้กินบางทีก็ไม่สุก ไม่ถูกหลักโภชนาการ และบางทีก็ซื้อข้าวกินก็แพงมาก และต้องแย่งกันซื้ออีกด้วย
นอกจากนั้น แพรวพรรณยังได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องสิทธิประกันตัว ซึ่งค่อนข้างจะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเงื่อนไขแบบไหนที่จะได้ประกันตัว แต่ในคดีการเมืองไม่ได้เป็นตามหลักการดังกล่าว ผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคนไม่ได้รับสิทธิประกันตัวขั้นพื้นฐานอย่างที่ควรจะเป็น ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และต้องการที่จะต่อสู้คดีอย่างถึงที่สุด
และยังพบว่าในเรือนจำ ผู้ต้องขังไม่สามารถพบกับทนายความได้อย่างสะดวก เพราะจังหวะเวลาที่ทางเรือนจำกำหนดไว้ เช่น ถ้าเข้าไปเยี่ยมรอบที่ผู้ต้องขังจะต้องไปอาบน้ำ เช่นจากเดิมที่มีโควต้าอาบน้ำได้ครั้งละ 10 ขัน แต่ถ้าเลือกออกมาพบทนายในเวลาอาบน้ำ แล้วต้องกลับเข้าไปอาบน้ำ โควต้าจะลดน้อยลงเหลือแค่ประมาณ 5 ขัน
ทางด้านของปฐมพร เจ้าหน้าที่ Freedom bridge ได้สรุปปัญหาในฐานะผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมืองว่า ปัจจุบันเงินสำหรับความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ผ่านมาก็เป็นเงินบริจาค 100 % จากประชาชนที่ช่วยกันระดมทุนเรื่อยมา โดยเงินทั้งหมดได้นำไปสนับสนุนเป็นเงินช่วยเหลือรายเดือนของผู้ต้องขังรายคนเป็นจำนวน เดือนละ 3,000 บาท โดยถ้าบางครอบครัวมีเด็กเล็กก็จะมีการส่งแพมเพิร์ส และนมกล่องให้ทุกเดือนแทนเงิน โดยหากสรุปเป็นยอดความช่วยเหลือต่อเดือน พบว่ามีค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 300,000 – 600,000 บาท
ปฐมพรกล่าวต่อในส่วนการระดมทุนต่อจากนี้ โดยโครงการจะระดมทุนผ่านบัญชีในนาม “มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม” ซึ่งเดิมทีเคยทำผ่านบัญชีชั่วคราวของอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อกระจายความช่วยเหลือให้แก่ผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่น ๆ แต่การทำในรูปแบบโครงการแทนใช้บัญชีส่วนตัวก็เพราะต้องการให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น โปร่งใสมากขึ้นกว่าการทำผ่านบัญชีส่วนตัวที่อาจทำให้คนกังวลกัน
“อยากให้มีคนมาร่วมแบบสบายใจมากขึ้น เลยนำไปสู่การขยับขยายการทำงานให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น อยากได้ความร่วมมือเพิ่ม อยากได้คนมาช่วยกันเพิ่ม ทั้งด้านการเงินด้วย” ปฐมพรกล่าว
.
ปัจจุบัน Freedom bridge มีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ได้แก่ เว็บไซต์ https://freedombridge.network/ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตราแกรมในชื่อ “Freedom Bridge” หรือสามารถบริจาคเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวและความช่วยเหลือได้ที่บัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา เลขบัญชี 800-9-71446-2 ชื่อบัญชี มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม
.
ขอบคุณภาพถ่ายจาก Freedom bridge