การเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นมาตรการป้องกันสำคัญที่เกิดในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทว่าในเรือนจำที่มีความหนาแน่นของผู้ต้องขังทั่วประเทศราว 380,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขของผู้ต้องขังที่เกินความจุที่เรือนจำทั้งหมดในไทยรองรับได้ ราว 175% มาตรการนี้อาจทำได้ไม่มากนักในพื้นที่ที่มีสภาพแออัดเช่นเรือนจำและหากเกิดการระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัสขึ้นมา สถานการณ์ก็จะยากเกินควบคุมได้
เป็นที่น่ายินดีว่า ทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้เปิดเผยว่า เร่งการพิจารณาการพักโทษและลดวันต้องโทษผู้ต้องขังที่ผ่านเกณฑ์แล้วหลายพันราย แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อเท็จจริงว่าในช่วงของการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานีก็รับตัวผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ รายใหม่ เพิ่มเข้าไปถึงกว่า 450 ราย การจัดการการเข้าออกรายใหม่ผสมกับการจัดการคนเดิมให้ปลอดภัย จึงยังไม่อาจวางใจนัก
ข้อเสนอต่อการลดความแออัดในเรือนจำขององค์กรภาคประชาสังคม กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมจึงยังควรนำมาพิจารณาปรับเป็นนโยบายเพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่ในเรือนจำ, สวัสดิภาพของตัวเจ้าหน้าที่เอง และผู้ที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคนในเรือนจำ
กล่าวโดยย่อ ในกลุ่มผู้ต้องขังที่มีสภาพความเปราะบาง ควรได้รับการปล่อยตัวโดยมีการจัดลำดับก่อนหลัง ได้แก่ ควรให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังที่สูงอายุหรือมีปัญหาสุขภาพเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยผู้ต้องขังที่เป็นเยาวชนหรือมีความผิดเล็กน้อย นอกจากนั้นยังควรปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดีหรือถูกกักขังแทนค่าปรับ โดยรัฐอาจพิจารณาทั้งการให้ประกันตัวในกลุ่มผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และการให้ปล่อยตัวก่อนกำหนด หรือให้พักการลงโทษ หรือใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขังแล้วแต่กรณี สำหรับกลุ่มผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดลง นอกจากนี้ ในกลุ่มคดีของผู้ต้องขังทางความคิด ซึ่งถูกกล่าวหาและลงโทษจากการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก หากกล่าวตามหลักการสิทธิมนุษยชนคนกลุ่มนี้ไม่ควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรก พวกเขาก็ควรได้รับการพิจารณาปล่อยตัวเช่นกัน
> We are all Human ข้อเสนอเร่งด่วนยับยั้งการระบาดของโควิด19 ในเรือนจำ
> 11 องค์กรสิทธิฯ ร้องอธิบดีกรมกรมราชทัณฑ์ขอปล่อยผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยง หวั่นปัญหาสุขภาพจากไข้หวัดโควิด
หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาจวนครบ 6 ปี ท่ามกลางการจับกุมดำเนินคดีและคุมขังประชาชนอันเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็นต่อคณะรัฐประหาร และสถาบันกษัตริย์ แม้ผู้ถูกดำเนินคดีหลายคนจะทยอยได้รับการปล่อยตัวในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังมีนักโทษและผู้คนที่ต้องขังอยู่ในเรือนจำในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 รวมจำนวนอย่างน้อย 28 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 14 เมษายน 2563)
ในจำนวนนี้สามารถแยกได้เป็น 3 กลุ่มคดี ได้แก่ 1) กลุ่มผู้คนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่คดีสิ้นสุดแล้ว แต่ได้ถูกศาลทหารพิพากษาลงโทษอย่างรุนแรงในบริบทหลังการรัฐประหาร และผู้ต้องขังที่ยืนหยัดต่อสู้คดี แต่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากหากต้องประกันตัวต้องใช้หลักทรัพย์ที่สูง รวมกลุ่มนี้ได้จำนวน 17 คน 2) กลุ่มผู้คนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลทหารและแสดงออกเรื่องระบอบการปกครอง รวมกลุ่มนี้ได้จำนวน 3 คน และ 3) กลุ่มผู้คนที่รับโทษและผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างต่อสู้คดีในข้อหาเกี่ยวกับอาวุธ รวมกลุ่มนี้ได้จำนวน 8 คน
กลุ่มนักโทษและจำเลยคดี 112 ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
กลุ่มบุคคลที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 112 ลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีบางส่วนได้รับการปล่อยตัวเมื่อถูกคุมขังครบกำหนดโทษ โดยปัจจุบันเหลือผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบอย่างน้อย 17 คน ในจำนวนเหล่านี้มีนักโทษที่มีอายุมากกว่า 50 ปีถึง 6 คน คนหนุ่มอายุระหว่าง 21-23 ปี ถึง 4 คน และผู้ป่วยจิตเภทอีก 1 คน โดยที่สถิตินี้ไม่รวมผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงหรือหาประโยชน์ส่วนบุคคล ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด
> ดูสถิติปี 2562 นักโทษมาตรา 112 อีกอย่างน้อย 25 ราย ยังถูกคุมขังในเรือนจำ
ใคร | ข้อกล่าวหา/ โทษ | ความเปราะบาง | สถานะ |
1. วิชัย พนักงานขายของบริษัทเอกชน, อายุปัจจุบัน 37 ปี | โพสต์เฟซบุ๊ก 10 ข้อความ จำคุก 30 ปี 60 เดือน | * เสาหลักครอบครัว มารดาและทวดอายุกว่า 90 ปี, ครอบครัวไม่เคยสามารถเตรียมเงินมาประกันตัวทุกชั้นศาล | รับโทษมากว่า 4 ปี |
2. พงษ์ศักดิ์ อดีตมัคคุเทศก์ในกาญจนบุรี อายุปัจจุบัน 51 ปี | โพสต์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความ จำคุก 30 ปี คณะทำงาน UN มีมติในปี 59 ชี้ว่า เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ | * อายุมากกว่า 50 ปี * เสาหลักครอบครัว มารดาอัมพาต | รับโทษมากว่า 5 ปี |
3. ศศิพิมล อดีตพนักงานโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ และแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสอง อายุปัจจุบัน 34 ปี | เผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊ก 7 ข้อความ จำคุก 28 ปี คณะทำงาน UN มีมติในปี 60 ชี้ว่า เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ | * เสาหลักครอบครัว มารดารับภาระเลี้ยงบุตรทั้งสองแทน | รับโทษมากว่า 5 ปี เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาให้พักการลงโทษแต่ไม่ได้รับการอนุมัติ |
4. ธารา ผู้ทำเว็บไซต์ด้านสุขภาพ อายุปัจจุบัน 64 ปี
| เผยแพร่คลิปเสียงของ ‘บรรพต’ ลงในเว็บไซด์ จำคุก 18 ปี 24 เดือน | * ผู้สูงอายุ | รับโทษมากว่า 5 ปี |
5. บุรินทร์ ช่างเชื่อมเหล็ก และนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมหลังร่วมชุมนุม “ยืนเฉยๆ” เมื่อปี 59 ต่อมาถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากคดีทักแชท อายุปัจจุบัน 31 ปี | ส่งข้อความแชทที่ส่งถึงแม่จ่านิว นักกิจกรรมด้านประชาธิปไตย และโพสต์เฟซบุ๊ก 1 ข้อความ จำคุก 10 ปี 16 เดือน | – | รับโทษมาเกือบ 4 ปี |
6. ปิยะ อดีตโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น อายุปัจจุบัน 51 ปี
| โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก, โพสต์ข้อความและส่งเมล โทษจำคุก 2 คดี รวม 14 ปี | * อายุมากกว่า 50 ปี | รับโทษมากว่า 5 ปี เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาให้พักการลงโทษ แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติ |
7. เอกฤทธิ์ อายุปัจจุบัน 56 ปี
| โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก 1 ข้อความ จำคุก 4 ปี | * อายุมากกว่า 50 ปี | รับโทษมาเกือบ 3 ปี |
8. ไม่เปิดเผยชื่อ-สกุล | โพสต์รูปและข้อความในเฟซบุ๊ก ลงโทษในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำคุก 1 ปี 4 เดือน | – | รับโทษมากว่า 1 ปี |
9. ไม่เปิดเผยชื่อ-สกุล | โพสต์รูปพร้อมข้อความในเฟซบุ๊ก จำคุก 3 ปี 18 เดือน | * ผู้ป่วยจิตเภท | รับโทษมากว่า 2 ปี |
10. ไม่เปิดเผยชื่อ-สกุล | ส่งรูปภาพและข้อความในแชท จำคุก 9 ปี | * ผู้สูงอายุ | รับโทษมากว่า 5 ปี |
วัยรุ่น 4 คน | คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ยกฟ้องข้อหา ม. 112 ทั้ง 2 คดี แต่ลงโทษในความผิดข้อหาอื่น รวมจำคุกตั้งแต่ 6 ปี – 9 ปี | * วัยรุ่น อายุระหว่าง 21 -23 ปี | รับโทษมาเกือบ 3 ปี |
15. ปรีชา อายุปัจจุบัน 47 ปี | คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ยกฟ้องข้อหา ม. 112 ทั้ง 3 คดี แต่ลงโทษในความผิดข้อหาอื่น รวมจำคุกคนละ 12 ปี 6 เดือน | * เสาหลักครอบครัว * มารดาอายุกว่า 70 ปี | รับโทษมากว่า 2 ปี |
16. สาโรจน์ อายุปัจจุบัน 46 ปี | * เสาหลักครอบครัว * บิดามารดาอยู่ในวัยชรา | รับโทษมากว่า 2 ปี | |
17. จ.ส.ต. ประธิน อดีต รปภ. อายุปัจจุบัน 64 ปี | ผู้ต่อสู้คดีหนึ่งเดียวจากคดีที่มีการแถลงข่าวอ้างว่าเตรียมป่วนงาน Bike for Dad แต่กลับฟ้องจากการคุยในเรือนจำ รวมทั้งส่งไลน์และเขียนบันทึก | * ผู้สูงอายุ * ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากต้องยื่นประกันตัวถึง 3 คดี ซึ่งต้องใช้หลักทรัพย์ประกันที่มูลค่าสูงมาก | คุมขังระหว่างพิจารณาคดีมากว่า 5 ปี |
กลุ่มนักโทษและผู้ต้องหาข้อหายุยงปลุกปั่น อั้งยี่ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ผู้ต้องขังกลุ่มนี้มีจำนวน 3 คน ในจำนวนนี้มีนักโทษที่มีอายุมากกว่า 50 ปี 2 คน และผู้ต้องขังที่บิดาเสียชีวิตระหว่างที่เขาถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีที่เรือนจำ ทั้งหมดถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริตต่อรูปแบบการเมืองการปกครองของประเทศไทย และการทำงานของรัฐบาล คสช.
> อ่าน การเปลี่ยนแปลงของแนวทางการบังคับใช้มาตรา 112 ในรอบปี 2561
ใคร | ข้อกล่าวหา/ โทษ | ความเปราะบาง | สถานะ |
1. ประพันธ์ หมอนวดแผนโบราณ อายุปัจจุบัน 59 ปี | แจกใบปลิวและมีเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไท ถูกกล่าวหาข้อหา ยุยงปลุกปั่น และอั้งยี่ ลงโทษฐานอั้งยี่ จำคุก 2 ปี | * อายุมากกว่า 50 ปี | รับโทษมาเกือบ 1 ปี |
2. ไม่เปิดเผยชื่อ-สกุล | ส่งข้อความในกลุ่มไลน์สหพันธรัฐไท ข้อหาอั้งยี่ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำคุก 1 ปี | * อายุมากกว่า 50 ปี | รับโทษมาเกือบ 1 ปี |
3. ธเนตร อนันตวงษ์ รับจ้างงานช่าง, ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อายุปัจจุบัน 30 ปี | โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 5 ข้อความ วิจารณ์กองทัพและ คสช. ข้อหา ยุยงปลุกปั่น และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ | *เคยมีอาการลำไส้อักเสบและอยู่ระหว่างรอเข้ารับการผ่าตัด | คุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาเกือบ 4 ปี |
กลุ่มนักโทษและจำเลยคดีเกี่ยวกับอาวุธ
กลุ่มนี้มีจำนวน 8 คน ในจำนวนนี้มีนักโทษและจำเลยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี จำนวน 3 คน และมีบุคคลที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 1 คน กลุ่มคดีนี้ พวกเขาร้องเรียนว่า ระหว่างที่อยู่ในการควบคุมตัวของทหารตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วัน เพื่อสอบสวนในค่ายทหาร ช่วงปี 2557 – 2558 มีการทำร้ายร่างกายเพื่อให้พวกเขายอมรับสารภาพอีกด้วย
ใคร | ข้อกล่าวหา/ โทษ | ความเปราะบาง | สถานะ |
1. ชัชวาล เจ้าของกิจการซ่อมแอร์ อายุปัจจุบัน 51 ปี | ยิง M79 ที่ชุมนุม กปปส. หน้าบิ๊กซี ราชดำริ เมื่อ ก.พ. 57 ประหารชีวิต รับสารภาพในชั้นสอบสวนเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต | * อายุมากกว่า 50 ปี | รับโทษมาเกือบ 6 ปี |
2. สมศรี ค้าขายอาหาร อายุปัจจุบัน 45 ปี | *มีบัตรประจำตัวคนพิการ *มีบุตร 3 คนที่อยู่ในความดูแล | ||
3. สุนทร เปิดร้านซ่อมจักรยานยนต์ อายุปัจจุบัน 57 ปี | * อายุมากกว่า 50 ปี | ||
4. ทวีชัย รับเหมาก่อสร้าง อายุปัจจุบัน 50 ปี | – | ||
5. มหาหิน ค้าขาย อายุปัจจุบัน 39 ปี | ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปาระเบิดบริเวณลานจอดรถศาลอาญา เมื่อ มี.ค. 58 ข้อหาร่วมกันก่อการร้าย, เป็นอั้งยี่, ร่วมกันพยายามฆ่า, ร่วมกันก่อเหตุระเบิด | *มีหลักทรัพย์ประกันตัวไม่พอ | คุมขังระหว่างพิจารณาคดีมากว่า 5 ปี |
6. ยุทธนา รับจ้าง อายุปัจจุบัน 39 ปี | *มีหลักทรัพย์ประกันตัวไม่พอ | ||
7. สุภาพร รับจ้าง อายุปัจจุบัน 53 ปี | * อายุมากกว่า 50 ปี * มีหลักทรัพย์ประกันตัวไม่พอ | ||
8. จันทนา รับเหมาเดินสายไฟ อายุปัจจุบัน 50 ปี | ครอบครองอาวุธและยุทธภัณฑ์ จำคุก 17 ปี 18 เดือน | *อายุเข้า 50 ปี | รับโทษมาเกือบ 6 ปี |
นักโทษและผู้คนที่ต้องขังที่ถูกดำเนินคดีในช่วง คสช. เหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ควรถูกคุมขังมาแต่ต้น ด้วยเหตุเพียงพวกเขาใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อความเป็นไปในบ้านเมือง โดยมี 2 คน คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ได้เคยมีมติในปี 2559 และ 2560 ว่า การควบคุมตัวทั้งสองคนเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวทั้งสองคนโดยทันที
ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่ผ่านกระบวนการควบคุมตัวและค้นหาพยานหลักฐานโดยเจ้าหน้าที่ทหารภายใต้กฎอัยการศึก ในช่วงหลังรัฐประหาร ซึ่งมิใช่กระบวนการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องสงสัยตามปกติในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และยังมีรายงานเรื่องการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวอีกด้วย
ทั้งหมดยังมีความเปราะบางของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันออกไป ทั้งเป็นผู้สูงอายุ ส่วนหนึ่งอายุมากกว่า 50 ปี และได้รับโทษมาพอสมควรแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นวัยรุ่นที่อาจเป็นกำลังสำคัญต่อเศรษฐกิจของครัวเรือน บางคนมีโรคประจำตัว, เป็นผู้ป่วยจิตเภท และบางคนมีบัตรผู้พิการ อีกทั้งเหตุผลเชิงเศรษฐกิจที่ส่วนมากมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว จนบางส่วนหาหลักทรัพย์มาประกันตัวไม่ได้ จึงจำยอมต้องอยู่ในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี
อีกทั้งมีนักโทษอย่างน้อย 2 คน มีคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์ได้รับการพิจารณาให้พักการลงโทษแล้ว เนื่องจากเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมและเหลือโทษจำคุกไม่ถึง 1 ใน 3 ของโทษที่ได้รับการลดจากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ และมีนักโทษอีก 2 คน ที่เหลือโทษจำคุกเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น
ดังนั้น เพื่อลดสภาพความแออัดในเรือนจำ กระบวนการยุติธรรมควรคืนอิสรภาพให้ผู้คนหลังลูกกรงเหล่านี้ โดยพิจารณามาตรการให้เหมาะสมกับตัวบุคคลนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยตัวชั่วคราว, ปล่อยตัวก่อนกำหนดเนื่องจากได้รับโทษพอสมควรแล้ว, พักโทษในรายที่เข้าเกณฑ์, พักโทษกรณีพิเศษ หรือใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขังแล้วแต่กรณี