ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน จำคุก 12 ปี คดี ม.112-116 ของ “พรชัย” ถูกคุมตัวไปเรือนจำ ศาลฎีกาไม่ให้ประกัน

4 เม.ย. 2567 เวลา 9.30 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีของ พรชัย วิมลศุภวงศ์ ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอวัย 40 ปี ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) สืบเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ ในช่วงระหว่างวันที่ 18 ต.ค. ถึง 19 พ.ย. 2563 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 12 ปี และศาลจังหวัดเชียงใหม่ให้ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ทำให้พรชัยต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่

.

ศาลชั้นต้นเห็นว่าผิดทั้ง 4 ข้อความ จำคุก 12 ปี แต่ได้ประกันระหว่างอุทธรณ์ เหตุไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

คดีนี้มี เจษฎา ทันแก้ว อดีตการ์ดของกลุ่ม กปปส. เป็นผู้กล่าวหาเอาไว้ที่ สภ.แม่โจ้ โพสต์ข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาสื่อถึงพระมหากษัตริย์ที่วางตนไม่เป็นกลาง เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง และเชิญชวนให้ไปร่วมการชุมนุมทางการเมืองในช่วงดังกล่าว 

จำเลยต่อสู้คดีว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง เนื่องจากเฟซบุ๊กของตนถูกแฮ็กในช่วงดังกล่าว และพยานหลักฐานที่ผู้กล่าวหานำมากล่าวหา เป็นการบันทึกมาจากหน้าจอโทรศัพท์ ไม่ได้เป็นการพิมพ์ URL หรือที่อยู่ของโพสต์ เพื่อบ่งบอกว่าเว็บไซต์อยู่ตำแหน่งไหนในอินเตอร์เน็ต ทำให้อาจมีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงได้ง่าย 

จนวันที่ 13 มี.ค 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง เห็นว่าจำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ ว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวถูกโจรกรรม ทั้งเชื่อว่าโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เมื่อจำเลยรับว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว และมีคลิปวิดีโอที่จำเลยไลฟ์แนะนำตนเองเผยแพร่ในเฟซบุ๊กดังกล่าวมาก่อน จึงเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้เผยแพร่ข้อความตามฟ้อง ศาลให้ลงโทษตามมาตรา 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 4 กระทง เป็นโทษจำคุก 12 ปี

หลังศาลพิพากษา พรชัยถูกคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่อยู่ 6 วัน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยเห็นว่าระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญาประกัน หรือมีพฤติการณ์หลบหนี ให้วางหลักทรัพย์ 3 แสนบาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนดา ตอร์ปิโด

.

จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษา ท้วงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานของโจทก์-เหตุที่ผู้กล่าวหามีสาเหตุโกรธเคือง

จากนั้น พรชัยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยมีประเด็นสำคัญเรื่องความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน เนื่องจากคำเบิกความของพยานโจทก์มีข้อพิรุธหลายประการที่ไม่อาจรับฟังได้ ทั้งข้อพิรุธสงสัยว่าผู้กล่าวหาไม่ได้เป็นผู้เข้าไปดูเฟซบุ๊กตามฟ้องแล้วบันทึกภาพมาโดยตรงด้วยตนเอง, ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าเอกสารรูปภาพและข้อความ ที่ผู้กล่าวหานำมามอบให้พนักงานสอบสวน จะเป็นรูปภาพและข้อความที่โพสต์ในบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องจริงหรือไม่

อุทธรณ์ของจำเลยยืนยันว่า การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อนำสู่การลงโทษจำเลยทางอาญา จะต้องเป็นพยานหลักฐานที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจนสิ้นสงสัย แต่เอกสารของฝ่ายโจทก์ที่ผู้กล่าวหานำมา เป็นเอกสารที่ไม่มีการพิสูจน์ ว่าเป็นภาพและข้อความที่มาจากการโพสต์ในเฟซบุ๊กตามฟ้องจริงหรือไม่ ไม่ใช่ภาพต้นฉบับและไม่อาจตรวจสอบซ้ำได้ว่าโพสต์ข้อความต่าง ๆ ที่ปรากฏในเอกสารจะมีอยู่จริงหรือไม่อย่างไร

ทั้งการพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าผู้กล่าวหาไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ยังขัดแย้งคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาคดี ซึ่งปรากฏชัดว่าผู้กล่าวหามีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง มุ่งจะให้จำเลยต้องได้รับโทษอาญาร้ายแรงแม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

.

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน เห็นว่าผู้กล่าวหาเบิกความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย แต่ไม่ได้มีพิรุธ

วันนี้ พรชัย พร้อมทนายความและนายประกัน เดินทางมาฟังคำพิพากษา ศาลจังหวัดเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

เนื้อหาโดยสรุประบุว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า มีบัญชีเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความจำนวน 4 ข้อความ โจทก์มีผู้กล่าวหา เจษฎา ทันแก้ว เบิกความว่าเปิดดูเฟซบุ๊กและเห็นข้อความดังกล่าว จึงนำไปพิมพ์ที่ร้านและนำไปมอบให้แก่พนักงานสอบสวน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาที่เห็นข้อความตรงกันและเห็นจำเลยพูดในคลิปวิดีโอแนะนำตัวในเฟซบุ๊กดังกล่าว จำเลยให้การปฏิเสธ โดยรับว่าเป็นเฟซบุ๊กตัวเอง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้โพสต์ข้อความดังกล่าว 

เห็นว่าพยานโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย เบิกความสอดคล้องตรงกัน ไม่มีข้อพิรุธ อีกทั้งไม่มีสาเหตุที่พยานโจทก์จะเบิกความเพื่อกลั่นแกล้งจำเลย และมีหนังสือขอตรวจสอบคลิปวิดีโอแนะนำตัวของจำเลยว่าผ่านการตัดต่อมาหรือไม่ ซึ่งคลิปวิดีโอไม่ผ่านการตัดต่อมา ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่ข้อความดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ

การพิจารณาว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าข้อความเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายฯ หรือไม่ เมื่อข้อความที่จำเลยโพสต์ตามดังที่ปรากฏเป็นรูปภาพจำเลยชูสามนิ้ว และรูปภาพรัชกาลที่ 10 เนื้อหาข้อความทำให้เข้าใจได้ว่ารัชกาลที่ 10 อยู่เบื้องหลังการเมือง และชักชวนบุคคลมาร่วมการชุมนุม เป็นการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ไม่วางตนเป็นกลางทางการเมือง และการชักชวนให้บุคคลทั่วไปออกมาชุมนุม เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ตามมาตรา 116 เพื่อให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อพระมหากษัตริย์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยคิดเป็น 4 กรรม ไม่ใช่กรรมเดียว อีกทั้งแม้ผู้กล่าวหาเบิกความคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย แต่ก็ไม่มีข้อพิรุธ อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

หลังฟังคำพิพากษา พรชัยได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังห้องขังใต้ถุนศาล ทนายความและนายประกันได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างฎีกา

ต่อมาเวลา 14.25 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลฎีกาพิจารณา ทำให้ในวันนี้พรชัย ต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่

นับเป็นการถูกคุมขังระหว่างพิจารณาของพรชัยเป็นรอบที่ 3 แล้ว หลังถูกคุมขัง 44 วัน ในช่วงที่ถูกจับกุมและฝากขังชั้นสอบสวน และมาถูกคุมขัง 6 วัน หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา

.

ข้อสังเกตคดีที่ยะลา ศาลยกฟ้องกรณีโพสต์ในช่วงเดียวกับคดีเชียงใหม่ เหตุพยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธสงสัย

สำหรับพรชัย พื้นเพเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ปัจจุบันประกอบอาชีพค้าขาย และได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ทำให้เขาถูกอดีตกลุ่ม กปปส. ไปกล่าวหาคดีมาตรา 112 ไว้ถึง 2 คดี ที่จังหวัดยะลา และจังหวัดเชียงใหม่ สร้างความลำบากในการเดินทางและค่าใช้จ่ายของเขาเป็นอย่างยิ่ง

น่าสังเกตว่าในคดีที่ศาลจังหวัดยะลานั้น มี วัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ สมาชิกกลุ่มพิทักษ์สถาบันฯ เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.บันนังสตา เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่ามีความผิดใน 1 กระทง ที่เป็นการไลฟ์สดคลิปวิดีโอ แต่ยกฟ้องในอีก 2 กระทง ที่เป็นการโพสต์ภาพและข้อความในช่วงเดียวกับคดีที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธสงสัยว่ามีโพสต์ดังกล่าวอยู่ในเฟซบุ๊กจริงหรือไม่ ทั้งพยานโจทก์ยังไม่อาจนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความ แตกต่างจากการวินิจฉัยในคดีที่จังหวัดเชียงใหม่

คดีนั้น พรชัยถูกพิพากษาจำคุก 3 ปี แต่เห็นว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่ศาลจังหวัดยะลา อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างฎีกา โดยไม่ได้ส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่ง และจำเลยได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาต่อมา 

.

ศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัว อ้างเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี

(เพิ่มเติมผลการประกันตัว) วันที่ 6 เม.ย. 2567 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ให้ลงโทษจำคุก 12 ปี หากปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี เหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วย จำเลยมีสิทธิ์ได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างฎีกา

.

อ่านบันทึกการสืบพยานในคดีพรชัยที่จังหวัดเชียงใหม่ และ ดูฐานข้อมูลคดีนี้ 

อ่านเรื่องราวชีวิตของพรชัย การต่อสู้ของ “พรชัย”: จากคนบนดอย คนจร พ่อค้า ผู้ชุมนุม และผู้ถูกดำเนินคดี ม.112

.

X