ความมั่นคงปลอดภัย “ประชาชน” อยู่ตรงไหน?: ส่องสถานการณ์ติดตามคุกคามโดยรัฐเมื่อบุคคลสำคัญลงพื้นที่

“ผมอยู่ร้อยเอ็ด แต่ส่งตำรวจไปบ้านที่หนองบัวลำภู เพียงเพราะจะมีใครสักคนที่ผมไม่ได้มีเวลาว่างพอจะมาใส่ใจเดินทางไปอุดรฯ ถามหน่อย ผมเกี่ยวอะไรด้วย?”  “คิว” นักศึกษาในจังหวัดร้อยเอ็ด

“มันเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า การควบคุมของรัฐยังใช้วิธีการเก่า ๆ ถ้าย้อนไปก่อนรัฐประหาร 2557 ไม่เคยเป็นแบบนี้ มาสู่ยุคประยุทธ์จึงเริ่มเป็นมาตลอด น่าตกใจที่พอถึงรัฐบาลเพื่อไทยกระบวนการเหล่านี้ยังคงอยู่” ภานุภพ สื่อมวลชนท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี

“ผมอยากส่งเสียงในฐานะประชาชนว่ารัฐบาลเพื่อไทยช่วยยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐมาติดตามประชาชนหรือนักกิจกรรมได้แล้ว ประเด็นไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่มาแบบเป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตร แต่ประเด็นคือเจ้าหน้าที่รัฐยังคอยติดตามมอนิเตอร์สอดแนมประชาชนอยู่เหมือนเดิม การเข้ามารุกล้ำในพื้นที่ส่วนตัว มันทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกกระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนอยู่ดี ทำให้คนกลัวเมื่อเห็นว่ายังมีคนโดนแบบนี้ เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ทหารปกครองแล้วไม่ใช่เหรอ” ทองแสง นักกิจกรรมในจังหวัดอุตรดิตถ์

.

เสียงสะท้อนดังกล่าวเป็นเพียงบางส่วนของความเห็นจากนักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชน ที่ยังคงถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปติดตามตัวถึงที่พักอาศัย ไปหาที่ทำงาน คอยติดตามสอดแนม ตรวจเช็คความเคลื่อนไหว ในระหว่างที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั้งในส่วนของสมาชิกราชวงศ์ หรือบุคคลในคณะรัฐมนตรี ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา แม้ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้ว

ปฏิบัติการดังกล่าวของรัฐนับได้ว่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว แม้อาจมีระดับความเข้มข้นต่างจากสมัยคณะรัฐประหาร แต่ภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง นโยบายเช่นนี้ก็มีลักษณะสืบเนื่องส่งต่อกันมา ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเกิดขึ้น

ปฏิบัติการเช่นนี้ ควรถูกทำให้เป็นเรื่องปกติหรือไม่ เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายใดมาดำเนินการ ลักษณะการใช้อำนาจเช่นนี้ดำเนินไปอย่างไรตลอดทศวรรษที่ผ่านมา  รายงานพิเศษชิ้นนี้ พยายามสำรวจสถานการณ์ดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากให้ภาพสถานการณ์การคุกคามที่มีลักษณะสืบเนื่องมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน นำเสนอสถิติการคุกคามเท่าที่ทราบข้อมูล รวมทั้งประมวลข้อสังเกตต่าง ๆ ต่อปฏิบัติการนี้ของรัฐในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนพิจารณามิติด้านอำนาจตามกฎหมาย และมิติการละเมิดสิทธิของประชาชน ที่ปฏิบัติการถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทยไปแล้ว

.

.

นโยบายการติดตาม จากยุค คสช. ถึงรัฐบาลเลือกตั้ง

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชน นักศึกษา นักกิจกรรม และนักวิชาการจำนวนมาก ยังคงเผชิญกับการถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามไปถึงบ้าน ทั้งเพื่อซักถาม ถ่ายภาพ ห้ามปราม หรือยับยั้งการแสดงออกทางการเมือง ปรากฏการณ์เช่นนี้เริ่มขึ้นหลังรัฐประหารปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และยังดำเนินอยู่ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเจ้าหน้าที่ทหารมีบทบาทหลักในช่วงแรก 

ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีเจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามถึงบ้านประชาชน เพื่อตรวจเช็คความเคลื่อนไหวในช่วงที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่นั้น โดยมากพบว่าเป็นกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในขณะนั้น เดินทางไปในจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร  กลุ่มที่ถูกคุกคามหลักในช่วงนั้น คือ นักศึกษา-นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง นักวิชาการ แกนนำคนเสื้อแดง หรือชาวบ้านกลุ่มที่เคลื่อนไหวในประเด็นทรัพยากร ในพื้นที่ต่าง ๆ มักจะถูกเจ้าหน้าที่ทหารไปติดตาม สอดแนม หรือเข้าพูดคุยด้วย

ข้อน่าสังเกตในช่วงนั้น หลายกรณีมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจจำนวนมาก ไปติดตามถึงบ้าน บางกรณีเกินกว่าหลายสิบนาย แต่งกายในเครื่องแบบอย่างชัดเจน เป็นไปในลักษณะข่มขู่ให้เกิดความกลัวมากกว่าในช่วงหลัง และยังค่อนข้างติดตามอย่างใกล้ชิด มีการสะกดรอย เฝ้าอยู่หน้าบ้านอย่างเข้มข้น เช่น ช่วงปี 2561 มีกรณีทหารเข้าติดตามนักศึกษา-ประชาชน ในจังหวัดพะเยาและเชียงราย ช่วงก่อน ครม.สัญจร, กรณีทหาร-ตำรวจติดตามนักวิชาการและคนเสื้อแดง ที่จังหวัดอุบลราชธานี ห้ามปรามไม่ให้เคลื่อนไหวช่วงก่อน ครม.สัญจร หรือเจ้าหน้าที่หลายหน่วยเข้าติดตามแกนนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านที่ดินที่นครสวรรค์ ช่วง พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่

.

.

ขณะเดียวกันในช่วงนั้น การติดตามประชาชนก่อนจะมีสมาชิกราชวงศ์เสด็จไปยังจังหวัดต่าง ๆ ก็มีอยู่บ้าง แต่ยังไม่พบมากนัก ทั้งอาจเนื่องด้วยอยู่ในบริบทที่มีการเปลี่ยนรัชสมัยในปี 2559 และประเด็นข้อเรียกร้องเรื่องสถาบันกษัตริย์จากการเคลื่อนไหวยังไม่เกิดขึ้น โดยมากการติดตามมักเกิดขึ้นกับกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาต่าง ๆ และถูกเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้าน เพื่อตรวจเช็คการไปยื่นฎีการ้องเรียน เช่น ช่วงต้นปี 2562 มีกรณีชาวบ้านกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร ถูกทหาร-ฝ่ายปกครองเข้าไปหาถึงบ้าน ก่อนสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จ เพื่อสอบถามเรื่องการไปถวายฎีการ้องเรียนปัญหาของชาวบ้าน

จนกระทั่ง คสช. สิ้นสุดบทบาท แต่ยังอยู่ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ช่วงที่ 2 ในช่วงกลางปี 2562  พบว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าติดตามตัวประชาชนในลักษณะนี้ เปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ทหารมาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยต่าง ๆ มากกว่า และมีแนวโน้มที่จะไปในลักษณะเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ไปติดตามด้วยจำนวนที่ไม่ได้มากเท่าใด สูงสุดอาจราว 4-5 นาย

หลังเกิดการชุมนุม-เคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ในปี 2563 และเกิดประเด็นข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งการแสดงออกและเสียงสะท้อนต่อปัญหาเรื่องขบวนเสด็จ ทำให้สถานการณ์คุกคามติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐเข้มข้นขึ้นเช่นกัน โดยในช่วงการที่ชุมนุมยังเป็นไปอย่างกว้างขว้าง การติดตามแกนนำหรือผู้จัดชุมนุมในแต่ละจังหวัด ก็เกิดขึ้นในวงกว้าง รวมถึงการควบคุมการเคลื่อนไหวในสถานศึกษา  

นอกจากการคุกคามเพื่อปราบปรามการชุมนุมเคลื่อนไหวแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐยังเริ่มมีการติดตามมประชาชนด้วยเหตุที่มีการเสด็จไปในต่างจังหวัด เพื่อตรวจเช็คความเคลื่อนไหวและห้ามปรามการทำกิจกรรม ซึ่งเริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี 2563 พบกรณีทั้งที่จังหวัดอุบลราชธานี, อุดรธานี หรือปัตตานี

ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 ก่อนการเสด็จของรัชกาลที่ 10 และพระราชินีไปยังจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีกรณีที่นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย นักกิจกรรม นักแสดงละคร และประชาชน ถึงอย่างน้อย 30 ราย ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามถึงที่พัก นัดพบหรือติดต่อพูดคุยด้วย แทบทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่พูดคุยย้ำว่าไม่อยากให้ทำกิจกรรมใด ๆ ในช่วงที่มีการเสด็จ บางคนยังถูกติดตามอย่างต่อเนื่องหลายวันในช่วงที่มีเสด็จ แม้ไม่ได้มีใครเคลื่อนไหวทางการเมืองใดก็ตาม

หลังจากขวบปีนั้นมา การ “เฝ้าระวัง” โดยการไปติดตามประชาชนก่อนที่จะมีการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างคงเส้นคงวา นับได้ว่าเป็น “แนวนโยบาย” หนึ่งของรัฐที่มีความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะในรัฐบาลประยุทธ์ 2, รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จนกระทั่งรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ก็ยังมีรายงานกรณีการคุกคามประชาชนอยู่เรื่อยมา

.

.

สถิติการคุกคามรอบเกือบ 5 ปี พบอย่างน้อย 368 กรณี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนบันทึกข้อมูลสถิติ กรณีนักกิจกรรมหรือประชาชนที่ถูกติดตามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีที่ระบุสาเหตุได้ว่าเนื่องจากมีการเดินทางลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ ตั้งแต่ปี 2564 พบสถิติดังนี้

.

กรณีสมาชิกราชวงศ์ลงพื้นที่กรณีนายกฯ/รองนายกฯ ลงพื้นที่กรณีองคมนตรีลงพื้นที่กรณีทักษิณ ชินวัตร ลงพื้นที่รวมกรณี (เท่าที่ทราบ)
ปี 2564522678
ปี 256512332155
ปี 25666315 (แยกเป็นกรณีสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 6 กรณี และ สมัยรัฐบาลเศรษฐา 9 กรณี)785
ปี 25672511(กรณีในรัฐบาลเศรษฐาทั้งหมด)238
ปี 2568 (ถึงวันที่ 28 ก.พ. 2568)9312
รวม2728475368

.

สถิติดังกล่าวเป็นตัวเลขเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลเท่านั้น โดยคาดว่ามีกรณีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกบันทึก เนื่องจากนักกิจกรรมหรือประชาชนหลายคนถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตามต่อเนื่องจนกลายเป็น “ความเคยชิน” ไปแล้ว ทำให้ไม่ได้แจ้งเรื่องเข้ามา หรือนำเสนอให้สาธารณชนรับทราบเท่าใดนัก 

นอกจากนั้น ยังมีกรณีการคุกคามติดตามที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดอีกจำนวนหนึ่ง แต่เป็นไปได้ว่าบางกรณีก็เกี่ยวเนื่องกับการมีบุคคลสำคัญลงพื้นที่อีกด้วย ทำให้การบันทึกติดตามข้อมูลเชิงสถิติภาพรวมของสถานการณ์นี้ยังเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง

.

5 ข้อสังเกตจากสถานการณ์คุกคามประชาชน

สำหรับข้อสังเกตจากสถานการณ์การคุกคามดังกล่าวในช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา พอสะท้อนลักษณะได้ดังต่อไปนี้

1. บุคคลสำคัญที่เดินทางมา

สำหรับกรณีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามประชาชนเนื่องจากมีการเสด็จไปจังหวัดต่าง ๆ นั้น พบว่าเคยมีรายงานการติดตามเกิดขึ้นจากการเสด็จของสมาชิกราชวงศ์แทบทุกพระองค์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 10, พระราชินี, กรมสมเด็จพระเทพฯ, เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา, เจ้าฟ้าสิริวัณณวลี, เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ รวมไปถึงเจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ, พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ อีกด้วย

นอกจากนั้น ยังพบกรณีการติดตามประชาชน ในช่วงที่ประธานองคมนตรีลงพื้นที่ด้วย แต่พบในช่วงเดียว คือในเดือนธันวาคม 2566 ก่อน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี จะเดินทางไปมอบปริญญาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีนิสิตอย่างน้อย 7 คน ถูกตำรวจติดต่อสอบถามความเคลื่อนไหว พร้อมทั้งขอมาถ่ายรูปที่หอพักเพื่อส่งรายงานต่อผู้บังคับบัญชาและทหาร

ส่วนกรณีบุคคลในคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่นั้น ในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ จะพบกรณีที่ประชาชนถูกติดตามคุกคาม เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ โดยไม่มีรายงานการติดตามเนื่องจากบุคคลใน ครม. คนอื่นแต่อย่างใด

.

.

ประเด็นที่น่าสนใจคือในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ยังพบตำรวจไปบ้านนักกิจกรรมและประชาชน ไม่ต่ำกว่า 9 ราย ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ลงพื้นที่หาเสียงด้วย ทั้งที่ทั้งคู่ลงหาเสียงในสถานะของนักการเมืองแล้ว แต่ก็ยังมีการใช้อำนาจรัฐในลักษณะนี้

จนถึงในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยังคงพบการติดตามประชาชนในช่วงที่เศรษฐาลงพื้นที่ และยังเคยปรากฏกรณีกลุ่มชาวบ้านราชบุรีที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เปิดเผยเอกสาร “ประเมินภัยคุกคาม” ในภารกิจรักษาความปลอดภัยนายกฯ ของหน่วยงานรัฐไม่ทราบหน่วยด้วย เอกสารได้ระบุรายชื่อและข้อมูลส่วนตัวของแกนนำชาวบ้าน และจัดเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อการลงพื้นที่ของนายกฯ ทำให้ตำรวจต้องไปติดตามถึงบ้าน ก่อให้เกิดคำถามต่อทัศนคติต่อประชาชนของหน่วยงานรัฐ

รวมทั้งในช่วงหลัง ยังเริ่มพบกรณีเจ้าหน้าที่รัฐติดตามประชาชน ในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งภายหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ เดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ อีกด้วย โดยกรณีทักษิณก็ทำให้เกิดคำถามใหม่ว่าเขาไม่ได้มีตำแหน่งทางการใดในรัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยอำนาจใดดำเนินการ และปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คำสั่งของใคร

.

.

2. กลุ่มผู้ถูกติดตามคุกคาม

สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม พบว่าคือ นักกิจกรรมหรือประชาชนกลุ่มย่อยในจังหวัดต่าง ๆ ที่เคยมีบทบาทในการจัดการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563-64 รวมถึงนิสิตนักศึกษาที่ทำกิจกรรมภายในสถานศึกษาในช่วงนั้น แม้ต่อมาหลายคนจะไม่ได้มีบทบาทในการเคลื่อนไหว หรือจบการศึกษาไปแล้ว หากก็ยังตกเป็นเป้าหมายของการติดตามของเจ้าหน้าที่เป็นระยะ อยู่ซ้ำ ๆ 

ดังเช่นตัวอย่างของนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่แม้การเคลื่อนไหวผ่านไปแล้วเกือบ 4 ปี ยังถูกตำรวจติดตามไปหาถึงบ้านอยู่ และพบว่าเจ้าหน้าที่ยังมีการยื่นข้อเสนอให้ว่าจะนำรายชื่อออกจาก “กลุ่มเฝ้าระวัง” แต่ให้ลงชื่อในเอกสารข้อตกลงยืนยันว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีกด้วย จึงจะนำรายชื่อออกให้ ซึ่งผู้ถูกติดตามปฏิเสธ

การติดตามหลายกรณียังเกิดขึ้นในช่วงงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยที่ผู้ถูกติดตามหลายคนก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานรับปริญญาหรือจะเข้ารับปริญญาแต่อย่างใด เช่น ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยนครพนม, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น

.

.

ผู้ถูกติดตามบางส่วนยังเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เคยออกมาทำกิจกรรม-ชุมนุมทางการเมือง โดยพบกรณีที่เจ้าหน้าที่ไปติดตามเด็ก-เยาวชนมากในปี 2564-65 แต่มีแนวโน้มพบน้อยลงในปี 2566 เป็นต้นมา ทั้งเนื่องจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ลดระดับลงไป  รวมทั้งยังพบว่าผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการแสดงออกในโลกออนไลน์ แม้ไม่ได้เป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมมาก่อน ก็ตกเป็นผู้ถูกติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

กลุ่มถัดมาที่ถูกติดตาม พบว่าเป็นอดีตผู้สมัคร สส. หรือทีมงานของพรรคก้าวไกล/พรรคประชาชน ในจังหวัดต่าง ๆ พบว่าก่อนบุคคลสำคัญลงพื้นที่ มีผู้ถูกเจ้าหน้าที่ไปพบที่บ้าน เข้ามาถ่ายรูปบริเวณบ้าน หรือไปพบที่สำนักงานพรรค  เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มที่ถูกคุกคามอีกกลุ่ม คือประชาชนที่เคลื่อนไหวประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติ หรือโครงการพัฒนาของรัฐ ก็พบว่ามีตำรวจไปคอยติดตามความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเมื่อนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ด้วย เช่น สมาชิกเครือข่าย P-move หรือเครือข่ายชาวบ้านคัดค้านเหมืองแร่ เป็นต้น

รวมทั้งในช่วงก่อนหน้านี้ ยังพบกรณีนักวิชาการที่มีบทบาททางสังคมการเมืองในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ถูกเจ้าหน้าที่นัดหมายพูดคุยด้วย เช่น ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หรือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ได้รับรายงานสถานการณ์นี้น้อยลงในช่วงหลัง

.

.

3. หน่วยงานที่ติดตาม

ในส่วนหน่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐที่ติดตาม พบว่าเป็นหน่วยงานของตำรวจเป็นหลัก โดยมีทั้งตำรวจในส่วนฝ่ายสืบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่, ตำรวจสันติบาล, ตำรวจระดับภูธรจังหวัดหรือภูธรภาค รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ที่ระบุว่าเป็น กอ.รมน. ในบางกรณีอีกด้วย แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากรณีแบบไหนจะถูกดำเนินการโดยหน่วยงานใด 

สถานการณ์การติดตาม พบว่ายังเกิดขึ้นในขอบเขตกว้างกว่าในจังหวัดที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่ แต่พบว่ามีการติดตามประชาชนไปในจังหวัดใกล้เคียงด้วย ทำให้พอบอกได้ว่าหลายกรณีเป็นคำสั่งในระดับตำรวจภูธรภาค ทำให้เกิดการติดตามอย่างกว้างขวางหลายจังหวัดไปพร้อมกัน เช่น เมื่อมีเสด็จที่จังหวัดสงขลา พบการติดตามทั้งที่จังหวัดตรังและพัทลุง, เมื่อมีเสด็จไปยังจังหวัดพิษณุโลก พบการติดตามทั้งที่จังหวัดกำแพงเพชร อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์, เมื่อมีเสด็จไปยังจังหวัดหนองบัวลำภู แต่พบการติดตามที่จังหวัดอุดรธานีด้วย เป็นต้น

หากไม่ใช่เพียงในต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ เอง ก็พบว่ามีตำรวจไปติดตามถ่ายรูปบ้านของกลุ่มนักกิจกรรม หรือผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง เมื่อมีกำหนดการเสด็จในวันสำคัญต่าง ๆ ด้วย

หลายกรณี ผู้ถูกคุกคามระบุว่า ตำรวจพูดคุยด้วยว่าการมาติดตามนี้เป็น “คำสั่งของนาย” โดยมักอ้างว่าตนเองก็ไม่ได้อยากมาทำงานแบบนี้ แต่ก็ต้องทำตามคำสั่ง ทำให้เห็นว่านโยบายลักษณะนี้ ใช้กำลังเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากมาดำเนินการ และทำให้สูญเสียเวลาแทนที่จะไปปฏิบัติงานด้านอื่น ๆ ที่สำคัญกว่า

.

.

4. การจัดทำบัญชีรายชื่อ “บุคคลเฝ้าระวัง”

ลักษณะการคุกคามด้วยสาเหตุการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ ยังพบว่าจะมีรายงานการติดตามคุกคามหลายกรณีเกิดขึ้นพร้อมกัน หรือในเวลาไล่เลี่ยกัน ในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน หรือจังหวัดใกล้เคียง ทำให้บางกรณี แม้เจ้าหน้าที่จะไม่ได้บอกถึงสาเหตุการมาติดตาม แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีอื่น ๆ ก็ทำให้พอคาดเดาได้สาเหตุได้ว่ามาจากรูปแบบคำสั่งให้ติดตามประชาชนในบริบทเดียวกัน

รูปแบบดังกล่าว เกิดขึ้นได้จากสาเหตุที่เจ้าหน้าที่รัฐมีการจัดทำบัญชีรายชื่อของบุคคลหรือประชาชนที่ตกเป็น “เป้าหมาย” หรือที่เรียกกันว่า “รายชื่อบุคคลเฝ้าระวัง” (Watch list) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการติดตาม โดยมีการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลในด้านต่าง ๆ เอาไว้ อาทิ ภาพถ่าย สถานที่อยู่ ชื่อสกุลของครอบครัว บทบาทในการเคลื่อนไหว เป็นต้น 

แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีหน่วยงานใดเป็นผู้รวบรวมข้อมูลจัดทำรายชื่อนี้บ้าง รายชื่อลักษณะนี้มีกี่บัญชี มีการแบ่งระดับต่าง ๆ อย่างไรบ้าง แต่พบว่าไม่ใช่เพียงหน่วยงานของตำรวจเท่านั้นที่มีบทบาทในการติดตามและจัดทำรายชื่อ แต่หน่วยงานของทหารก็ยังคงมีบทบาทด้วย ดังบางกรณีตำรวจที่เข้าติดตามนักศึกษาระบุว่าได้รายชื่อมาจากทหาร

มีข้อสังเกตด้วยว่า ไม่ใช่ทุกครั้งที่มีบุคคลสำคัญเดินทางมาในจังหวัดแล้ว กลุ่มที่อยู่ในรายชื่อติดตามของเจ้าหน้าที่ จะถูกเจ้าหน้าที่มาพบ เช่น กรณีของ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ ผู้ออกมาร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังอย่างสม่ำเสมอ เขาระบุว่าเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่อยู่อาศัยมาหาที่บ้าน ในช่วงที่มีเสด็จมาเชียงใหม่ในเดือนตุลาคม 2566  ต่อมาตำรวจมาติดตามที่บ้านอีกครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เนื่องจากมีเสด็จเช่นกัน แต่พิภพไม่ได้ถูกติดตามในช่วงที่มีเสด็จครั้งต่าง ๆ ในช่วงปี 2567 ทำให้ไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าการเข้าติดตามจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าแม้เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการไปติดตามบุคคลเป้าหมาย แต่การเดินทางลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญนั้น ก็ไม่ได้รับผลกระทบใด

.

.

5. รูปแบบการติดตามคุกคาม

สำหรับรูปแบบการติดตามคุกคามนั้น มีตั้งแต่ระดับการโทรศัพท์ติดต่อ เพื่อสอบถามความเคลื่อนไหว สถานที่อยู่ สถานที่ทำงานของผู้ถูกติดตาม, การติดต่อผ่านไลน์พูดคุยสอบถาม และให้ส่งภาพถ่ายของผู้ถูกติดตามมาให้ เพื่อยืนยันที่อยู่ ไปจนถึงการเดินทางมาที่พักอาศัย ในแบบคอยสอดแนมถ่ายภาพ โดยไม่ได้แสดงตัว หรือแบบเข้าแสดงตัว พูดคุยสอบถามข้อมูล พร้อมขอถ่ายภาพ

การเข้ามาติดตามโดยมาก เจ้าหน้าที่ต้องการภาพถ่ายไปเป็นหลักฐานรายงานผู้บังคับบัญชาว่าได้มาทำหน้าที่แล้ว โดยมีการขอถ่ายภาพผู้ถูกติดตามร่วมกับเจ้าหน้าที่ และอนุญาตให้ถ่ายภาพกลับ แต่บางกรณีก็ขอไม่ให้ผู้ถูกติดตามถ่ายภาพเจ้าหน้าที่ไว้ รวมทั้งในบางกรณีก็มีการถ่ายภาพที่พักอาศัยไปด้วย หรือบางกรณีเป็นการนัดหมายให้มาพบพูดคุยที่ร้านกาแฟ ก็เคยเกิดขึ้น

บางกรณีเจ้าหน้าที่เมื่อไม่พบบุคคลที่มาติดตาม เจ้าหน้าที่อาจไปพูดคุยสอบถามข้อมูลกับญาติ กับเพื่อนบ้าน หรือกับเจ้าหน้าที่ของหอพัก แสดงตนให้รู้ว่ามาติดตาม 

บางกรณีพบว่าการติดตามอาจมีลักษณะต่อเนื่อง เช่น การคอยตามสอดแนมตลอดทั้งวันที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่ เพื่อคอยเช็คความเคลื่อนไหว, การนั่งเฝ้าอยู่หน้าร้าน-หน้าบ้านของผู้ถูกติดตามเอาไว้ หรือการมาที่บ้านหลายครั้งต่อเนื่องในช่วงเดียวกัน

นอกจากนั้น ยังพบว่ามีกรณีที่เข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน ได้แก่ พบกรณีการกักตัวหรือควบคุมตัวมิชอบ เช่น กรณีของ “เบลล์” นักศึกษาที่จะไปยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องการสร้างเขื่อน ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ในจังหวัดพัทลุง ได้ถูกตำรวจรวบตัว และนำตัวไปกักไว้ในร้านกาแฟ ไม่ให้ออกไปไหน โดยมีตำรวจเฝ้าไว้เกือบ 2 ชั่วโมง โดยที่ไม่ได้มีการแจ้งข้อหาใด ก่อนปล่อยตัวกลับเมื่อประยุทธ์กลับแล้ว หรือกรณีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ถูกตำรวจกักตัวไว้ในระหว่างรับปริญญา แม้จะไม่ได้เข้ารับปริญญาหรือไปแสดงออกทางการเมืองใด

อีกทั้ง ยังพบกรณีที่ จ.อุบลราธานี ระหว่างกำหนดการเสด็จของเจ้าฟ้าทีปังกรฯ ช่วงปลายปี 2566 ไรเดอร์ที่เคยทำกิจกรรมทางการเมือง พบว่าเขาถูกแอบติดอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งยานพาหนะ (GPS Tracker) ไว้ที่รถจักรยานยนต์ โดยช่วงนั้นเขายังถูกตำรวจพยายามโทรหาหลายครั้งด้วย โดยตำรวจปฏิเสธไม่ทราบเรื่องการติด GPS ดังกล่าว พร้อมระบุด้วยว่าอาจเป็นทหารเอามาติด

.

.

ใต้เงาอำนาจ: การติดตามประชาชนโดยรัฐ กับเส้นบาง ๆ ระหว่างการรักษาความปลอดภัย กับการละเมิดสิทธิ

เมื่อบุคคลสำคัญ เช่น พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรี หรือบุคคลในรัฐบาลลงพื้นที่ เจ้าหน้าที่รัฐมักจะดำเนินมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ซึ่งรวมถึงการติดตามประชาชนบางกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็น “ภัยคุกคาม” เพียงเพราะเคยออกมาชุมนุม-แสดงออกทางการเมือง หรือเรียกร้องประเด็นปัญหาของตน แม้จะมีกฎหมายที่ให้อำนาจอย่างกว้าง ๆ ได้แก่ พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยสมาชิกราชวงศ์ และ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 6 ที่ให้อำนาจตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อย และดูแลความปลอดภัยของพระบรมวงศานุวงศ์ อย่างไรก็ตาม กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังและติดตามประชาชนในลักษณะที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล 

ปรากฏการณ์การติดตามประชาชนในลักษณะดังกล่าว มักเกินขอบเขตของมาตรการรักษาความปลอดภัยไปมาก จากการป้องกันภัยคุกคาม กลับกลายเป็นการตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล และติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทั้งนักเรียน นักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชนทั่วไปที่ถูกติดตามมักจะไม่รู้ล่วงหน้าถึงการมาเยือนของบุคคลสำคัญ และไม่ได้จะไปแสดงออกทางการเมืองใด การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในลักษณะนี้จึงเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และเกินขอบเขตของกฎหมาย 

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้มข้น เช่น ช่วงปี 2563-2565 แม้ว่าจะมีนักกิจกรรมออกมาแสดงออกระหว่างที่บุคคลสำคัญลงพื้นที่ แต่หากการแสดงออกนั้นยังอยู่ในกรอบของสันติวิธี เช่น การถือป้าย หรือการยื่นหนังสือร้องเรียน ซึ่งเป็นช่องทางสะท้อนเสียงของประชาชนไปยังผู้มีอำนาจ รัฐก็ควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนใช้เสรีภาพของตนเอง ไม่ใช่เพียงแต่การใช้มาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวดจนเกินไป จนกลายเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

การติดตามประชาชนโดยรัฐไม่ได้มีผลแค่ต่อตัวบุคคลที่ถูกจับตาเท่านั้น แต่ยังสร้าง “บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว” (Chilling effect) ในสังคม เมื่อประชาชนคนอื่น ๆ รู้สึกว่าตนเองก็สามารถตกเป็นเป้าการติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐจากการเคยไปแสดงออกทางการเมืองได้เช่นกัน พวกเขาอาจลังเลที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ อีก ผลกระทบนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่ยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐ รวมทั้งส่งผลต่อมุมมองของผู้ถูกติดตามคุกคามต่อผู้ใช้อำนาจเช่นนี้เองอีกด้วย

.

.

ว่าด้วยกฎหมาย หลักนิติรัฐ และความได้สัดส่วนแห่งการใช้อำนาจ 

การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐควรอยู่ภายใต้ของกรอบของ “หลักนิติรัฐ” (Rule of Law) และ “หลักความได้สัดส่วน” (Principle of Proportionality) ซึ่งเป็นหลักสากลที่กำหนดให้การใช้อำนาจรัฐต้องมีกฎหมายรับรอง และจะต้องไม่เกินกว่าความจำเป็น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ให้ความสำคัญกับสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ก็ห้ามมิให้รัฐละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนเช่นกัน

การดำเนินมาตรการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องอยู่ภายใต้หลักความได้สัดส่วนในการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวคือ หากเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องมีความจำเป็นอันเหมาะสม ในการใช้อำนาจละเมิดสิทธิของประชาชน หากการละเมิดสิทธิเกินสมควรกว่าวัตถุประสงค์ จะถือเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าขอบเขต และการใช้อำนาจจะต้องสัมพันธ์และได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และจะต้องถูกตรวจสอบการใช้อำนาจได้ เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายปกครองหน้าเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเกินกว่าขอบเขตเพื่อแทรกแซงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามอำเภอใจ

กล่าวได้ว่า ยุทธวิธีของเจ้าหน้าที่รัฐในการเฝ้าระวัง และจัดการทำรายชื่อ Watch list โดยใช้รายชื่อดังกล่าวติดตามบุคคลในช่วงที่มีบุคคลสำคัญเยือนพื้นที่ ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ และยังเป็นการกระทำเพื่อขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย 

.

.

นอกจากนี้ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังกำหนดให้การเข้าไปค้นบ้านของบุคคลอื่นจะต้องมีหมายศาล แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการเรียกเจ้าของบ้าน เพื่อให้เชิญเข้าไปพูดคุย ถ่ายภาพ  และบันทึกข้อมูลนั้นไว้รายงาน ในลักษณะเช่นนี้เข้าข่ายการสอบปากคำบุคคลโดยไม่ผ่านขั้นตอนตามกฎหมายที่กำหนด 

กล่าวได้ว่ากรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวอ้างถึงจุดประสงค์ “เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย” หรือ “รักษาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญ” แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐดังที่กล่าวมานี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายระหว่างประเทศ และหลักการใช้อำนาจรัฐภายใต้ “หลักนิติรัฐ” และ “หลักการได้สัดส่วน” อย่างชัดเจน เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจในการติดตามในลักษณะ การไปหาที่บ้าน ติดตามสอดแนม หรือแม้แต่การบันทึกชื่อไว้ใน Watch list ดังนี้จึงเป็นการ “ใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต” เสียมากกว่า

แม้ว่าการรักษาความปลอดภัยของบุคคลจะมีความสำคัญ แต่แนวทางที่รัฐใช้ติดตามประชาชนโดยไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง รัฐบาลควรยุติการดำเนินการไปติดตามประชาชนเช่นนี้ และออกแบบมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของบุคคลสำคัญ โดยให้ความสำคัญกับความรักษามั่นคงปลอดภัยของประชาชนทั่วไปด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้มาตรการเหล่านี้ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองแทนที่จะรักษาความปลอดภัยอย่างแท้จริง

.

X