มี.ค.-เม.ย. 66: พบกรณีประชาชนถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างน้อย 45 ราย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในช่วงระหว่าง มี.ค. – เม.ย. 2566 พบว่ามีประชาชน และนักกิจกรรม ถูกติดตามและคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้นจากช่วง 2 เดือนแรกของปี อย่างน้อย 45 ราย 

เมื่อพิจารณาแยกตามภูมิภาค พบว่ามีจำนวนผู้ถูกละเมิดสิทธิในพื้นที่ภาคกลางอย่างน้อย 28 ราย, ภาคเหนือ 8 ราย, ภาคใต้ 5 ราย, และภาคอีสาน 4 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 17 พ.ค. 2566)

.

.

การติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐอันเนื่องมาจากการลงพื้นที่ของ “บุคคลสำคัญ”

การลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ ซึ่งหมายรวมถึงสมาชิกราชวงศ์, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรณ ยังเป็นสาเหตุสำคัญในการละเมิดสิทธิและคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญในช่วงระหว่างเดือน มี.ค. – เม.ย. นี้ มีรายงานว่าประชาชนอย่างน้อย 11 กรณี ถูกติดตามและเข้าสอบถามข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ ดังต่อไปนี้

การติดตามคุกคาม เนื่องจากการเสด็จของสมาชิกราชวงศ์

พบว่ามีกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปนั่งเฝ้าและสอดแนมความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการร้านแห่งหนึ่ง ใน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตสติกเกอร์ “ไล่ประยุทธ์” โดยเจ้าหน้าที่ติดตามสอดแนมอยู่เป็นเวลา 3 วัน ทั้งนี้ คาดว่าเกี่ยวเนื่องกับการเสด็จของในหลวงและพระราชินี

อีกทั้งมีกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไปเฝ้าบ้าน ติดตาม และเข้าห้ามขัดขวางนักกิจกรรม ในอีกหลายกรณี เป็นต้นว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.วังทองหลาง ไปบ้าน “แก๊ป” จิรภาส โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่คาดว่าคงจะเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมในช่วงวันจักรี (6 เม.ย. 2566)

.

ภาพเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปบ้าน “แก๊ป”

.

โดยในวันที่ 14 เม.ย. 2566 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัด 2 นาย มาติดตั้งกล้องวงจรปิดที่บริเวณหน้าบ้านของเขาอีกด้วย

อีกกรณีหนึ่ง เมื่อที่ 6 เม.ย. 2566 “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง, “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์  และเพื่อนนักกิจกรรมอีกจำนวนหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่เครื่องแบบไม่ทราบสังกัดจำนวนหลายนาย เข้าขัดขวางไม่ให้เดินทางไปยังห้างดิโอลด์ สยาม เนื่องจากอยู่ในเส้นทางขบวนเสด็จเนื่องในวันจักรีของในหลวง รัชกาลที่ 10 

โดยในช่วงเวลาเดียวกันได้ปรากฏว่ามีสมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้ามาสมทบกับเจ้าหน้าที่ด้วยอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดมีปากเสียงกันเล็กน้อยก่อนแยกย้าย

.

การคุกคามเนื่องมาจากการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พบว่ามีกรณี “ป้านา” หรือวันทนา โอทอง หญิงวัย 61 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงเข้ารวบตัว เอามือปิดปาก ระหว่างที่เตรียมเข้าร้องเรียนปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ขณะ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะลงพื้นที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งขณะเกิดเหตุการณ์ ฝ่ายเจ้าหน้าที่พยายามขัดขวางไม่ให้ผู้สื่อข่าวบันทึกภาพเหตุการณ์โดยใช้ร่มกางปิด และต่อมาได้ดำเนินคดีกับป้านาในข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง-ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานด้วย

อีกกรณีหนึ่งในช่วงก่อนการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย เดินทางมาถ่ายภาพหน้าบ้านนักกิจกรรมกลุ่ม “Crewbar Multitude”  และในวันเดียวกันนี้ มีนักกิจกรรมและนักศึกษาจำนวนหนึ่งยืนชูป้ายผ้าเขียนข้อความ ‘มาหาป้อคิงหยัง’ รอต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเฝ้าติดตามและคุมเข้มอยู่ตลอดการทำกิจกรรม

.

เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหน้าบ้านพักของนักกิจกรรม ‘Crewbar Multitude’ จากประชาไท

.

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ประชาชนรายหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามสืบเรื่องราวส่วนตัว อันเนื่องมาจากได้พ่นสีรถยนต์เป็นข้อความ “112 มีเครื่องหมายขีดฆ่า” และ “#รบสตอตอห” ซึ่งชายคนดังกล่าวเปิดเผยว่าได้พ่นสีไว้เป็นเวลาปีกว่าแล้ว และไม่เคยเจอเหตุการณ์ถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งคาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาลงพื้นที่

.

การคุกคามเนื่องมาจากการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

พบว่ามีกรณีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย ไปบ้านนักกิจกรรมหญิงใน จ.กระบี่ ระหว่างที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่ อ.เขาพนม จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566

.

การละเมิดสิทธิผู้แสดงความเห็นบนโลกออนไลน์โดยเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนกลุ่ม “กองทัพมินเนี่ยน”

ในช่วงระหว่าง มี.ค. – เม.ย. 2566 พบว่ามีผู้ถูกละเมิดด้วยอย่างน้อย 5 กรณี ที่เนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์

ตัวอย่างเช่น กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีรายหนึ่งเปิดเผยว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลมาหาที่บ้าน เพื่อบอกให้ไปเซ็นเอกสาร MOU เนื่องจากเคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไว้ในสื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าต้องการให้เซ็นเอกสารนั้นเพื่อยืนยันว่าจะไม่กระทำการในลักษณะดังกล่าวอีก เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีกรณีการข่มขู่คุกคามผู้แสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ที่ทำโดยกลุ่ม “ประชาชน” ในนาม “กองทัพมินเนี่ยน” ผ่านการใช้แอคเคาท์เฟซบุ๊กปลอมส่งข้อความมาข่มขู่ว่า “กองทัพมินเนี่ยนรวบรวมเอกสาร พร้อมแจ้งความดำเนินคดีคุณแล้ว” พร้อมกับมีการแนบไฟล์ที่รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลดังกล่าวส่งมาให้ดูด้วย

.

 

ภาพตัวอย่างการข่มขู่โดยกองทัพมินเนี่ยน

.

การดำเนินการลักษณะนี้พบรายงานว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 และพบเป็นระยะต่อเนื่องมาถึงปี 2566 โดยในปีนี้ มีผู้แจ้งข้อมูลว่าได้รับข้อความข่มขู่ลักษณะนี้อย่างน้อย 7 ราย เช่น กรณีของ “บาส” มงคล ถิระโคตร จำเลยในคดีมาตรา 112 และกรณีของบุรินทร์ อินติน อดีตผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่ต่างได้รับไฟล์เอกสารและถูกข่มขู่จากกองทัพมินเนี่ยนเช่นเดียวกัน

.

นอกเหนือไปจากกรณีข้างต้นแล้ว ยังพบการละเมิดสิทธิและการคุกคามในอีกหลายกรณีและหลายรูปแบบ ดังนี้

  • กรณีถูกละเมิดเนื่องจากการแสดงออกผ่านการติดป้าย ชูป้าย และการชุมนุมอย่างน้อย 6 กรณี เช่น เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2566 ซึ่งมีกลุ่มนักกิจกรรมการเมืองหลากหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ทะลุวัง ทะลุแก๊ส กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ทำกิจกรรมรณรงค์เสนอนโยบายประเทศ ภายใต้ชื่อ “ฝากถึงรัฐบาลใหม่ จากประชาชนผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน” โดยระหว่างทำกิจกรรมได้มีเจ้าหน้าที่จากสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ-เจ้าของสถานที่-ตร. มาเจรจาไม่ให้ทำกิจกรรมภายในพื้นที่ศูนย์ฯ เนื่องจากนักกิจกรรมไม่ได้ขอใช้สถานที่มาก่อน 
  • กรณีพินิจ ทองคำ สมาชิกกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน ติดปัญหาเรื่องการเดินทางออกนอกประเทศ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นเพราะมีคดีการเมืองติดตัว
  • กรณีแรงงานข้ามชาติถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรหาและติดตามรังควาน เพราะเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในวันแรงงานสากล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

สองเดือนแรกปี 66 มีผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามอย่างน้อย 30 ราย เป็นกรณีถูกติดตามเหตุแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ 5 ราย

.

X