ภาพรวมสถานการณ์ใช้อำนาจรัฐติดตามคุกคาม ‘ประชาชน-นักกิจกรรม-ผู้สมัคร ส.ส.’ ช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2566

ท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2566 นับแต่ช่วงเดือนมีนาคม เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน (10 พ.ค. 2566) จากการติดตามสถานการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบกรณีการติดตามคุกคามและละเมิดสิทธิประชาชน นักกิจกรรม ตลอดจนผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมืองต่าง ๆ เกิดขึ้นหลายกรณี ซึ่งมีแนวโน้มจะกระทบต่อการจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

ประชาชนและนักกิจกรรมจำนวนอย่างน้อย 9 ราย ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามไปหาถึงที่บ้าน เพื่อถ่ายรูปรายงานผู้เป็นนาย และสอบถามข้อมูลเนื่องจากถูกระแวงว่าจะมีการทำกิจกรรมใดๆ ในระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่หาเสียง อาจเข้าข่ายเป็นกรณีใช้อำนาจรัฐสนับสนุนการหาเสียงของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

ขณะเดียวกันพบกรณีการที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตาม ห้ามปราม และเข้าสอบถามข้อมูลระหว่างที่ผู้สมัคร ส.ส. และสมาชิกจากพรรคการเมืองต่างๆ ลงพื้นที่หาเสียง โดยมีกรณีในลักษณะดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนอย่างน้อย 13 กรณี

ในทางกลับกันยังปรากฏว่ามีกรณีที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐบางหน่วยงาน สนับสนุนการหาเสียงของบางพรรคการเมืองโดยเปิดเผย ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์พบว่ามีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 กรณี

.

ตำรวจไปบ้านประชาชน-นักกิจกรรม-คนทำงานประชาสังคม อย่างน้อย 9 ราย ระหว่างแคนดิเดตนายกฯ ลงพื้นที่หาเสียงทั้งในภาคเหนือและใต้ 

สืบเนื่องจากการลงพื้นที่หาเสียงแบบขึ้นเหนือล่องใต้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ

พรรค ในช่วงระหว่างวันที่ 21 – 30 เม.ย. 2566 ส่งผลทำให้ประชาชน และนักกิจกรรม ทั้งในภาคเหนือและใต้ถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีเท่าที่ทราบข้อมูลอย่างน้อย 9 ราย

ในภาคเหนือปรากฏว่ามีผู้ถูกเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ และ จ.แพร่ 

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการลงพื้นที่หาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ปรากฏว่ามีประชาชน นักกิจกรรม และคนทำงานภาคประชาสังคม จำนวนอย่างน้อย 4 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไม่ระบุสังกัดไปหาที่บ้าน เพื่อติดตามสอบถามข้อมูลว่าจะมีการทำกิจกรรมหรือการแสดงใด ๆ ในระหว่างการลงพื้นที่หาเสียงหรือไม่ หลายคนเคยออกมาร่วมชุมนุมในช่วงปี 2563 แต่ในช่วงหลังก็ไม่ได้เคลื่อนไหวแล้ว แต่กลับยังอยู่ในรายชื่อที่เจ้าหน้าที่ติดตาม

ที่อุตรดิตถ์ ประชาชนรายหนึ่งได้ถูกตำรวจขอไม่ให้ออกจากบ้านไปไหนในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ มาลงพื้นที่ โดยอ้างว่าเกรงจะมีการเคลื่อนไหวหรือก่อเหตุรุนแรง อีกรายถูกเจ้าหน้าที่พยายามขอข้อมูลส่วนบุคคล และพยายามให้รายงานความเคลื่อนไหวกับเจ้าหน้าที่ 

.

.

ขณะที่ในพื้นที่ จ.แพร่ มีกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบสังกัดไปเฝ้าระวังที่หน้าบ้านของโฆษกพรรคสามัญชน และสมาชิกทีมงานเครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์ติดต่อเพื่อสอบถามความเคลื่อนไหวว่าจะทำกิจกรรมใดหรือไม่ในระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางลงพื้นที่ และกำชับไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหวในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปเป็นประธานในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพมารดาของศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค

ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ มีรายงานกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามนักกิจกรรมในพื้นที่ จ.ตรัง อย่างน้อย 3 ราย ช่วงก่อนการลงพื้นที่หาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2566 โดยประชาชนรายหนึ่งเป็นอดีตนักกิจกรรมซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ต่างประเทศ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไปหาพ่อและแม่ที่บ้านในจังหวัดตรัง  เพราะต้องการทราบข้อมูลว่าลูกจะทำกิจกรรมหรือมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ และอย่างไร

ขณะที่อีก 2 ราย เปิดเผยว่า 2 – 3 วัน ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลงพื้นที่หาเสียง ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวนหลายนายมาหาที่บ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่บางนายได้พกอาวุธปืนติดตัวมาด้วย และเมื่อมาถึงที่บ้าน ก็พากันถ่ายรูปบ้านเพื่อนำไปรายงาน “นาย” พร้อมทั้งสอบถามว่าจะทำกิจกรรมอะไรในช่วงที่มีการลงพื้นที่หาเสียงหรือไม่ 

ผู้ถูกคุกคามรายหนึ่งเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาบ้านอ้างว่าพวกเขาไม่ได้มาคุกคาม เพียงแต่ได้รับคำสั่งให้มาดูแลความปลอดภัยในช่วงที่มีการลงพื้นที่หาเสียงของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะยังถือว่าเขาเป็นนายกฯ อยู่

นอกจากนี้ ผู้ถูกคุกคามที่จังหวัดตรังยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าช่วง 2 – 3 วัน ก่อนการลงพื้นที่หาเสียงที่จ.ตรัง ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2566 ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไปหาที่บ้าน เพื่อสอบถามความเคลื่อนไหวและถ่ายรูปบ้าน ต่างกันตรงที่ในครั้งหลังนี้ เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการพกอาวุธมาด้วย

.

จนท.รัฐติดตามคุกคาม-ปิดกั้นการหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. อ้างเหตุผลสำคัญ “นาย” สั่งมา ขณะมีกรณีหน่วยงานรัฐเผยแพร่ข้อมูลสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล 

ตลอดระยะเวลาช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2566 ได้ปรากฏกรณีเจ้าหน้าที่รัฐ อาทิ ตำรวจ ทหาร ดำเนินการที่กระทบต่อการหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. อย่างน้อย 14 กรณี  โดยสามารถแบ่งตามลักษณะที่พบได้ดังต่อไปนี้

  • เจ้าหน้าที่รัฐติดตามการหาเสียงพรรคฝ่ายค้านในลักษณะคุกคาม

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 กรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่ จ.น่าน เพื่อช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครของพรรคทั้ง 3 เขต และได้ถูกเจ้าหน้าที่สายสืบติดตามถ่ายภาพโดยตลอด โดยสำนักข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่าการติดตามนี้เนื่องมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่อ้างเรื่องเกรงว่าการหาเสียงของพรรคก้าวไกลจะกล่าวถึงมาตรา 112 ภายนอกสภา ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายเห็นต่างเกิดความไม่พอใจ จึงมาติดตามเพื่อดูแล “ความปลอดภัย”

เช่นเดียวกับกรณีของ อมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่ อ.ภูซาง จ.พะเยา ในวันที่ 22 เม.ย. 2566 เพื่อช่วยผู้สมัครหาเสียงที่ตลาดสบปง แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 7- 8 นาย ติดตามถ่ายภาพอย่างเปิดเผยอยู่ตลอดระยะเวลาที่ทำการหาเสียง ลักษณะเป็นการคุกคามการหาเสียง มากกว่าการติดตามดูแลความปลอดภัย

และในวันที่ 8 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นการปราศรัยของพรรคสามัญชน ที่สวนครูองุ่น กรุงเทพฯ โดยระหว่างมีการดำเนินกิจกรรม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบจำนวน 2-3 นาย เข้ามาในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ามาเพื่อดูแลความปลอดภัย ไม่เกี่ยวกับการปราศรัยหรือการหาเสียง และยังอ้างอีกด้วยว่าเห็นมีการทำกิจกรรมจึงเป็นห่วงเพราะว่าเป็นช่วงเลือกตั้ง

.

ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสอบถามข้อมูลการปราศรัยของพรรคสามัญชน

.

นอกเหนือจากนี้ ยังมีรายงานกรณีที่หน่วยงานรัฐเฝ้าจับตาและติดตามการทำกิจกรรมหาเสียงโดยเฉพาะเจาะจงที่พรรคก้าวไกล อีกอย่างน้อย 2 กรณี ในพื้นที่ จ.ลำปาง และ จ.สงขลา

สำหรับใน จ.ลำปาง ทีมงานพรรคก้าวไกลได้ทราบข้อมูลจากเอกสารของหน่วยงานรัฐที่ติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงของรัฐ ได้จัดทำรายงานความเคลื่อนไหวในพื้นที่เรื่อง “ภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งรัฐ” และมีการจัดการประชาสัมพันธ์เรื่องการปราศรัยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ในอำเภอแม่ทะ จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 เป็นกิจกรรมที่อยู่ในสถานะดังกล่าว

ขณะที่กรณีของ จ.สงขลา ปรากฏว่าเว็บไซต์ กอ.รมน. จ.สงขลา นำภาพการลงพื้นที่หาเสียงของพรรคก้าวไกล ในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ โดยเป็นการนำภาพนิ่งของกิจกรรมการหาเสียงของทางพรรคขึ้นบนเว็บไซต์ โดยมีไม่เนื้อความหรือคำอธิบายใดๆ หากแต่ว่าปรากฏข้อมูลเผยแพร่จากแหล่งอื่นๆ ซึ่งระบุว่า พ.อ.พิชิต โชติแก้ว รอง ผอ.รมน. จังหวัดสงขลาได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ชรต.กอ.รมน. จ.สงขลา ลงพื้นที่ติดตามกลุ่มพรรคก้าวไกล ขณะทำกิจกรรมลงพื้นที่แนะนำตัวกับประชาชนที่ตลาดศรีตรังและมหาิวทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่

.

ภาพการหาเสียงของพรรคก้าวไกลที่ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ กอ.รมน.

.

  • หน่วยงานรัฐเผยแพร่ข้อมูลสนับสนุนการหาเสียงของพรรคการเมืองโดยเปิดเผย

ในทางกลับกัน ปรากฏว่ามีกรณีที่หน่วยงานภาครัฐดำเนินการสนับสนุนการหาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ จ.พัทลุง โดยเปิดเผย กล่าวคือ เมื่อ 29 เม.ย. 2566 เฟซบุ๊กเพจ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง ได้โพสต์ภาพลงพื้นที่หาเสียงของประยุทธ์และเอ่ยถึงชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติบนเพจเฟซบุ๊กของสำนักงานฯ ซึ่งปัจจุบันได้ลบโพสต์ดังกล่าวไปแล้ว

จากนั้นทางเพจเฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกลจังหวัดพัทลุง ได้นำเรื่องดังกล่าวมารายงาน พร้อมตั้งคำถามว่า การกระทำลักษณะนี้เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ โดยระบุว่าตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (9) กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

.

.

  • เจ้าหน้าที่รัฐเข้าห้ามหรือขัดขวางการทำกิจกรรมระหว่างหาเสียง

ขณะเดียวกันยังมีรายงานกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการห้ามหรือขัดขวางผู้สมัคร ส.ส. ระหว่างลงพื้นที่ทำกิจกรรมหาเสียง โดยเฉพาะกรณีหาเสียงในช่วงการคัดเลือกการเกณฑ์ทหารในช่วงต้นเดือนเมษายน โดยลักษณะเป็นการพยายามไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส. หรือทีมงานพรรคหาเสียงในนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

กรณีเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2566 ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล จ.ปทุมธานี เขต 6 ลงพื้นที่หาเสียงที่สำนักงานเทศบาลตำบลลำลูกกา ซึ่งเป็นสถานีตรวจเลือกทหารกองเกิน โดยขออนุญาตสารวัตรทหาร (สห.) ว่าจะแจกแผ่นพับแนะนำตัวกับประชาชนที่เต้นท์โดยรอบ แต่ถูกปฏิเสธ โดยเจ้าหน้าที่ สห. อ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา 

ต่อมาในวันที่ 5 เม.ย. ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล จ.พัทลุง เขต 3 ลงพื้นที่ทำโพลสำรวจความเห็นเรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหาร ณ ที่ทำการอำเภอกงหรา แต่มีทหารมาแจ้งว่าไม่สะดวกใจให้ทีมงานเข้าไปในพื้นที่ โดยหลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ อส. อีกคนหนึ่ง ซึ่งมีอาวุธปืนเหน็บอยู่ที่เอวเดินตามาข่มขู่จะทำร้ายร่างกายทีมงานอีกด้วย

เช่นเดียวกับกรณีผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล จ.ฉะเชิงเทรา เขต 3 ที่ลงพื้นที่ทำกิจกรรมสอบถามความเห็นเรื่องการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ณ ศาลาประชาคม ซึ่งเป็นสถานที่จับใบดำ-ใบแดง โดยตั้งจุดทำกิจกรรมอยู่บริเวณด้านนอกของศาลาดังกล่าว แต่ถูกเจ้าหน้าที่ สห. เชิญออก โดยอ้างว่า “นาย” ไม่พอใจที่พรรคก้าวไกลเข้าไปทำกิจกรรม อีกทั้งมีการขอทราบชื่อและถ่ายรูปการทำกิจกรรมไปรายงานด้วย

6 เม.ย. 2566 เป็นกรณีของผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล กรุงเทพฯ เขตสายไหม ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามไม่ให้ชูสามนิ้วขณะทำการหาเสียง ทั้งที่เป็นหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครคนดังกล่าว โดยทางตำรวจอ้างว่าเป็นเขตทหารและเขตพระราชฐาน 

วันที่ 7 เม.ย. 2566 มีกรณีผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล จ.นนทบุรี เขต 2 ลงพื้นที่รับฟังความเห็นเรื่องการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ณ วัดโบสถ์ดอนพรหม ซึ่งเป็นสถานที่จับใบดำ-ใบแดง และถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจเข้าห้ามและขัดขวางการทำกิจกรรม โดยการไม่อนุญาตให้เข้าไปภายในบริเวณดังกล่าว

12 เม.ย. 2566 มีกรณีผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล จ.นครราชสีมา เขต 1 ลงพื้นที่หาเสียงในตลาดแห่งหนึ่ง จ.นครราชสีมา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ สห. เข้ามาห้ามแม้จะมีการปฏิบัติตามระเบียบของตลาดอย่างชัดเจน กล่าวคือ ไม่มีการชูป้าย หรือกระทำการเกะกะทางคนซื้อของ ทั้งไม่ได้ใช้โทรโข่งเสียงดัง เพียงแต่ใช้ปากเปล่าและแจกใบปลิวเท่านั้น โดยทหารที่เข้ามาห้ามนั้นอ้างว่าเป็นคำสั่งจาก “นาย” 

.

  • การใช้อำนาจรัฐที่เกี่ยวเนื่องกับป้ายหาเสียง

สำหรับการละเมิดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. ช่วงก่อนเลือกตั้งในลักษณะที่เป็นการกระทำต่อป้ายหาเสียง โดยเจ้าหน้าที่รัฐ พบว่ามีอย่างน้อย 2 กรณี ได้แก่ กรณีเจ้าหน้าที่เทศบาล จ.ระยอง ดำเนินการถอดป้ายหาเสียงผู้สมัคร ส.ส. ในพื้นที่เขต 2 ออกจากบริเวณที่ติดตั้งไว้ ซึ่งทราบในเวลาต่อมาว่ากรณีนี้เป็นการถอดเก็บป้ายของผู้สมัคร ส.ส. ของทุกพรรคการเมือง โดยป้ายดังกล่าวถูกนำไปเก็บที่อาคารของเทศบาล และเมื่อทางผู้สมัครของพรรคก้าวไกลติดต่อไปสอบถามสาเหตุ ทางเจ้าหน้าที่ได้อ้างเรื่องขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ ที่จะไป จ.ระยอง ในวันที่ 20 เม.ย. 2566

อีกกรณีหนึ่งคือเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 กกต. จ.นราธิวาส สั่งให้มีการแก้ไขป้ายหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. จาก พรรคเป็นธรรม จ.นราธิวาส เขต 3 เนื่องจากมีข้อความ “ปาตานีจัดการตนเอง” ซึ่ง กกต.มองว่าเป็นข้อความที่หมิ่นเหม่ต่อหน่วยงานความมั่นคง หากแต่ทางฝ่ายผู้สมัครก็ได้ชี้แจงโดยยืนยันว่า เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ภัยความมั่นคง

.

สถานการณ์การกล่าวหาดำเนินคดี-ใช้กฎหมายที่มีแนวโน้มกระทบต่อเสรีภาพการแสดงออก ช่วงก่อนเลือกตั้ง 2566

นอกเหนือไปจากสถานการณ์การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทบต่อการเลือกตั้ง ยังมีสถานการณ์การใช้กฎหมายและกล่าวหาดำเนินคดีที่มีแนวโน้มจะกระทบต่อเสรีภาพการแสดงออก

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 พรรคภูมิใจไทยได้ยื่นฟ้องชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ต่อศาลแพ่ง ฐานกระทำละเมิดต่อพรรคในการแพร่ข่าว ไขข่าว ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงทำให้พรรคเสียหาย โดยเป็นการฟ้องละเมิดและเรียกค่าเสียหาย พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและไต่สวนฉุกเฉิน กรณีชูวิทย์พยายามเคลื่อนไหวแสดงออกในทางคัดค้านนโยบายของพรรค โดยเฉพาะในเรื่องกัญชา

ต่อมาหลังการไต่สวนขอคุ้มครองชั่วคราว ศาลแพ่งได้มีคําสั่งห้ามจําเลยกล่าวหรือแสดงการกระทําด้วยวิธีใดๆ เฉพาะเรื่องกัญชาที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ แต่เห็นว่าไม่จำต้องคุ้มครองกรณีเรื่องการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

แต่หลังจากนั้นเพียง 2 วัน วันที่ 7 เม.ย. 2566 หลังชูวิทย์ไปยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และศาลมีการไต่สวนใหม่ ก็ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งเมื่อสองวันก่อนหน้านั้น โดยเห็นว่าจำเลยไม่ได้กล่าว หรือแสดงความคิดเห็นถึงโจทก์เป็นการเฉพาะแต่เพียงอย่างเดียว และการแสดงความเห็นของจำเลยทำให้ประชาชนได้รับทราบถึงประโยชน์และโทษของกัญชา จึงถือได้ว่าเป็นประโยชน์แก่สุขภาพของประชาชนเป็นส่วนมาก 

กรณีของพรรคภูมิใจไทยและชูวิทย์ยังดำเนินต่อไป โดยในวันที่ 9 พ.ค. 2566 ทางพรรคภูมิใจไทยได้มอบหมายให้ทนายความฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้แทนราษฎร มาตรา 73 ซึ่งว่าด้วยการห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร

อีกด้านหนึ่งคือเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 ผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย จ.นครพนม เขต 2 ได้เข้าแจ้งความ 4 ผู้ปราศรัยจากพรรคเพื่อไทย ทั้งเศรษฐา ทวีสิน, จาตุรนต์ ฉายแสง, อดิศร เพียงเกษ และณัฐวุฒิ ใสเกื้อ ในข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยระบุว่าในการปราศรัยของแกนนำพรรคเพื่อไทยดังกล่าวเป็นการใส่ความตนและพรรคภูมิใจไทยด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ พร้อมทั้งได้ร้องเรียนต่อ กกต. จังหวัดนครพนม ให้ดำเนินการกับผู้สมัครและพรรคเพื่อไทยตามกฎหมายเลือกตั้งด้วย

ส่วนกรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2556 สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองระยอง จากเหตุการปราศรัยของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แกนนำพรรคก้าวไกล โดยระบุว่าการปราศรัยดังกล่าวเข้าข่ายใส่ร้ายความเท็จ หรือจูงใจให้เกิดความเข้าใจผิดต่อตนและ ส.ส. ระยอง ของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าพวกตนไม่สนใจทำหน้าที่ใดๆ ใน 3 เหตุการณ์ คือ 1. การระบาดของเชื้อโควิด-19 จากบ่อนการพนันแห่งหนึ่งใน จ.ระยอง 2. เหตุการณ์ทหารอียิปต์ที่ติดเชื้อโควิด-19 เข้ามาใน จ.ระยอง และ และ 3. เหตุการณ์น้ำมันรั่วในทะเล จ.ระยอง

ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีของปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้าและผู้ช่วงหาเสียงพรรคก้าวไกล ที่ถูกตำรวจ สน.นางเลิ้ง ออกหมายเรียกมาแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จากกรณีที่มี ณฐพร โตประยูร เป็นผู้กล่าวหาเอาไว้ จากการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์เผาพระบรมฉายาลักษณ์ในห้อง Club House ตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2564 โดยหลังเหตุการณ์มา 1 ปีกว่า ตำรวจกลับเพิ่งมีการออกหมายเรียกมาดำเนินคดีนี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งพอดี

สถานการณ์การใช้กฎหมายและกระบวนการดำเนินคดีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตาต่อไปในช่วงหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. นี้

.
หมายเหตุ สรุปสถานการณ์ช่วงการเลือกตั้งดังกล่าวในข้างต้น เป็นสถานการณ์เฉพาะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับทราบข้อมูลหรือติดตามพบข่าวสารในสื่อมวลชน อาจมีสถานการณ์การละเมิดอื่นๆ ที่ไม่ทราบข้อมูลนอกเหนือจากนี้อีกด้วย

.

X