สองเดือนแรกปี 66 มีผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามอย่างน้อย 30 ราย เป็นกรณีถูกติดตามเหตุแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ 5 ราย

ตลอดปี 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบกรณีการคุกคามนักกิจกรรมและประชาชนทั่วไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จากการชุมนุมหรือเกี่ยวโยงกับการแสดงออกทางการเมือง อย่างน้อย 349 ราย โดยเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 24 ราย โดยพบว่าสาเหตุสำคัญมาจากการลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ของบุคคลสำคัญ 

จนถึงต้นปี 2566 ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์นี้ ศูนย์ทนายฯ ยังได้รับรายงานกรณีผู้ถูกละเมิดสิทธิ-คุกคามอย่างน้อย 30 ราย ในจำนวนดังกล่าวเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 3 ราย โดยจำนวนดังกล่าวไม่รวมกรณีที่เจ้าหน้าที่นำหมายเรียกไปส่งที่บ้าน หรือการเข้าจับกุมตามหมายเพื่อดำเนินคดี

เมื่อพิจารณาตามภูมิภาคแล้วพบว่ามีผู้ถูกละเมิดสิทธิ-คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ภาคกลางจำนวน 18 ราย, ภาคเหนือ 9 ราย, ภาคใต้ 2 ราย และภาคอีสาน 1 ราย

.

.

มูลเหตุแห่งการละเมิดสิทธิ-คุกคาม

จากข้อมูลการถูกติดตาม คุกคาม ละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งได้รับแจ้งช่วงระหว่าง 2 เดือนแรกของปี 2566 พบว่ามีสาเหตุสำคัญที่สามารถจำแนกได้ดังนี้

1. ละเมิดสิทธิ-คุกคาม เนื่องจากการแสดงออกที่มิใช่การชุมนุม

ช่วงระหว่าง ม.ค. – ก.พ. 2566 ได้รับแจ้งกรณีมีผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิและคุกคามโดยเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก เช่น การแสดง Performance Art, การชู ถือ และเขียนป้าย อย่างน้อย 11 กรณี และในจำนวนนี้มีผู้ถูกละเมิดสิทธิที่เป็นเยาวชนอย่างน้อย 3 กรณี ดังตัวอย่างต่อไปนี้

เมื่อ 18 ม.ค. 2566 มีผู้รายงานว่าพบเห็นร้านก๋วยเตี๋ยวรถเข็นแห่งหนึ่งย่านบางนา-ตราด ติดป้ายข้อความแสดงความเห็นทางการเมือง เช่น  “ปล่อยเพื่อนเรา ไปไหนก็เป็นภาระ” และ “112 ปกป้องคอรัปชั่น พอเพียงพ่อมึงสิผลาญงบปีละหลายแสนล้าน ยกเลิก 112 คืนอนาคตคนไท”  โดยระบุว่าเมื่อเข้าไปสอบถามจากเจ้าของร้านก็ทราบมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเตือนให้นำป้ายลง 

สำหรับกรณีนี้ ปรากฎข่าวในภายหลังว่าสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และ ทรงชัย เนียมหอม กลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) เดินทางไปยังศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวกับสถาบันฯ ด้วย แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ เกิดขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อ 23 ม.ค. 2566 ศูนย์ทนายฯ ยังได้รับแจ้งกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าห้ามปรามการทำกิจกรรม Performance Art ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2 ราย ซึ่งแต่งกายด้วยชุดนักโทษแล้วเดินอยู่ภายในบริเวณพื้นที่จัดงานรับปริญญามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีทางเจ้าหน้าที่อธิบายว่ามีความเข้าใจผิดว่านักศึกษาทั้งสองเป็นนักโทษที่ทางราชทัณฑ์ควบคุมตัวมารับการรักษาที่โรงพยาบาล จากนั้นก็ได้ปล่อยตัวทั้งสองนักศึกษาไปโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาใด

หรืออีกกรณีหนึ่งคือเมื่อ 26 ม.ค. 2566 มีรายงานสถานการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ากดดันประชาชน-นักกิจกรรมซึ่งทำกิจกรรมยืนหยุดขังที่จังหวัดน่าน เป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน ทั้งที่เป็นการทำกิจกรรมโดยสงบ

  • จนท. ห้าม-ขัดขวางเยาวชน-นักกิจกรรมเข้าร่วมหรือทำกิจกรรมเนื่องในงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2566

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2566 หรือเมื่อวันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา มีกรณีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าห้ามปรามการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของเยาวชนออกอย่างน้อย 3 กรณี ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

กรณีแรกคือ เยาวชน 3 ราย คือ “อันนา, อ๊อกฟอร์ด และเพชร ธนกร” ร่วมกันทำกิจกรรมแจกหนังสือคู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียนที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ และต้องการเข้าไปแจกคู่มือดังกล่าวภายในงานวันเด็กที่ทางกระทรวงจัดขึ้น แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขวางไว้ที่หน้าประตูกระทรวง เพื่อกันไม่ให้ทั้งสามคนเข้าไปด้านใน

ต่อมาคือกรณีของ “เอีย” นักกิจกรรมเยาวชนวัย 14 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กองร้อยน้ำหวานอีกจำนวนหนึ่งห้ามไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมวันเด็กซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเอียให้ข้อมูลว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังฉุดกระชากอยู่พักหนึ่งจนได้รับบาดเจ็บที่บริเวณชายโครงข้างขวา จากนั้นเมื่อเห็นว่าไม่สามารถเข้าร่วมงานได้จึงเดินทางกลับ

ภาพขณะเอียถูกเจ้าหน้าที่กีดกันไม่ให้เข้าร่วมงานวันเด็กที่ทำเนียบรัฐบาล

อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นที่เชียงใหม่ “แยม” เยาวชนวัย 18 ปี พร้อมเพื่อนอีกคนหนึ่งไปร่วมงานกิจกรรมวันเด็กที่จัดโดยกองบิน 41 เชียงใหม่ และได้ทำกิจกรรมเขียนป้ายผ้าแสดงความเห็นภายใต้โจทย์ว่า “เด็กๆ อยากบอกอะไรกับผู้ใหญ่?” โดยบนป้ายผ้าดังกล่าวมีข้อความจำนวนหนึ่ง เช่น “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย ไม่อยากกวาดบ้าน” และ “เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในอนาคต” 

หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที ก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดเข้ามาขัดขวางการทำกิจกรรม ซึ่งแยมได้เปิดเผยกับสำนักข่าวประชาไทว่าเจ้าหน้าที่เข้ามาบอกว่า ข้อความ “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย” เป็นคำที่ดูแย่ เขียนทำไม

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แยมและเพื่อนตัดสินใจกลับ แต่ระหว่างกำลังเดินอยู่ก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามายึดป้ายโดยการยื้อแย่ง จนทำให้แยมล้มลงและได้รับบาดเจ็บเป็นแผลถลอกที่บริเวณหัวเข่า ซึ่งเธอและเพื่อนได้เปิดเผยความรู้สึกต่อเหตุการณ์นี้ไว้กับสำนักข่าว LANNER ทำนองว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่แม้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะบอกว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติ แต่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้มองแบบนั้นเลย เขาพยายามปิดกั้นความเห็นของเราทุกช่องทาง

หลังจากนั้น เหตุการณ์ดังกล่าว ยังมีรายงานว่าแยมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปติดตามพบที่โรงเรียนอีกด้วย

.

2. ละเมิดสิทธิ-คุกคาม โดยไม่ทราบสาเหตุ

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ยังปรากฎว่ามีละเมิดสิทธิ-คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เป็นจำนวนอย่างน้อย 5 กรณี โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมและ/หรือบุคคลซึ่งเป็นผู้ถูกดำเนินคดีการเมือง อาทิ “เพนกวิน” พิรษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 จำนวน 2 ข้อความ ระบุว่ามีเจ้าหน้าตำรวจขับรถวนและสอบถามถึงเจ้าตัวอยู่บริเวณหมู่บ้านที่พักอาศัย มีการเช็คสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และยังมีประชาชนจิตอาสาขับรถมาที่หน้าบ้านด้วย

.

3. ละเมิดสิทธิ-คุกคาม เนื่องมาจากแสดงออกออนไลน์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

สำหรับการละเมิดสิทธิ-คุกคามเนื่องมาจากการโพสต์หรือแชร์เนื้อหาบนพื้นที่ออนไลน์ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 นี้ ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งข้อมูลอย่างน้อย 5 กรณี ที่ไม่ใช่เป็นการดำเนินคดีโดยตรง ตัวอย่างเช่นกรณีของ “กานต์”  (นามสมมติ) ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 4 นาย ไปรอพบหน้าที่พักอาศัย ก่อนจะนำตัวไปควบคุมไว้เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง โดยไม่มีหมายจับหรือเอกสารใด 

ทั้งยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขอทราบถึงรหัสเข้าใช้อีเมลและสื่อออนไลน์ต่างๆ พร้อมกับให้ลงนามในเอกสาร MOU โดยอ้างเหตุการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเรื่องการแต่งงานกันเองภายในเชื้อสายราชวงศ์บนทวิตเตอร์ ว่าอาจมีเนื้อหาเป็นไปในลักษณะหมิ่นสถาบันกษัตริย์

หรืออีกกรณีหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้มีผู้ถูกบุคคลอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อมาทางโทรศัพท์ และแจ้งว่าต้องการขอพบเพื่อพูดคุยเรื่องการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในเฟซบุ๊กกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ทั้งระบุด้วยว่าต้องการนำภาพแคปหน้าจอจากเฟซบุ๊กกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเป็นภาพข้อความที่ได้โพสต์ไว้มาให้ดูด้วย แต่เจ้าตัวไม่ได้ไปพบ

.

4. ละเมิดสิทธิ-คุกคาม เนื่องจากการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ

ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ศูนย์ทนายฯ ยังได้รับรายงานการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องมาจากการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญอย่างน้อย 3 กรณี อาทิ กรณีที่ จ.มหาสารคาม ที่มีการรายงานว่าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดวางกำลังรอบหอพักนักศึกษา ช่วงก่อนการเสด็จของเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์  โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัย หากแต่ได้ขับรถติดตามนักศึกษาซึ่งมีบทบาทเป็นนักกิจกรรมไปจนถึงอาคารเรียนภายในมหาวิทยาลัยด้วย

อีกกรณีหนึ่งที่ จ.ลำปาง เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงลำปางใช้กำลังเข้าห้ามปรามการทำกิจกรรมชูป้ายข้อความของนักกิจกรรมกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน พร้อมกับห้ามไม่ให้สื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ลำปาง และ จ.พะเยา

.

5. ละเมิดสิทธิ-คุกคาม เนื่องจากเป็นญาติหรือผู้เกี่ยวข้องกับบุคคลเป้าหมาย

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 สำนักข่าวประชาไทรายงานกรณีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจากสันติบาล และ สภ.ในท้องที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าละเมิดและคุกคามครอบครัวของ 2 นักกิจกรรม “แบม-ตะวัน” ถึงที่โรงพยาบาล โดยมีการสอบถามพ่อของแบมว่าลูกสาวแอบทานอาหารบ้างหรือไม่ และจะย้ายห้องพักหรือไม่ 

โดยเหตุที่ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ได้แสดงบัตรอย่างชัดเจน แต่ไม่สามารถถ่ายภาพไว้ได้ โดยนอกจากจะเข้ามาพูดคุยกับครอบครัวของแบมและตะวันแล้ว เจ้าหน้าที่ยังมีความพยายามจะเดินตามเข้าไปในห้องพักของทั้งสองนักกิจกรรมด้วย

.

6. พยายามปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์มออน์ไลน์ 3 กรณี

นอกเหนือจากนี้ ยังมีรายงานกรณีการพยายามปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ และ/หรือ แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างน้อยอีก 3 กรณี ได้แก่ กรณีปิดกั้นเฟซบุ๊กกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ไปช่วงเวลาระยะหนึ่ง, กรณีปิดกั้นการเข้าถึงเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ซึ่งเผยแพร่อยู่ในช่องยูทูปของกลุ่มไฟเย็น 

อีกกรณีหนึ่งคือ กระทรวงสาธารณสุขแจ้งให้ปิดเพจ “ชมรมแพทย์ชนบท” โดยอ้างว่าเป็นเพียงเพจปลุกปั่นสังคม สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน ส่งผลกระทบกับการให้บริการด้านสาธารณสุข แต่ยังไม่มีรายงานการปิดเพจดังกล่าวในปัจจุบัน 

ทั้งนี้ ทางกระทรวงยังได้การแจ้งความให้ดำเนินคดีกับนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้วิจารณ์นโยบายของกระทรวงฯ อย่างสม่ำเสมอ อาทิ นโยบายกัญชาเสรี การจัดหาวัคซีน ตลอดจนการโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรมด้วย

อนึ่ง นอกเหนือจากการละเมิดสิทธิ-คุกคามทั้งหมดในข้างต้นแล้ว ยังพบว่าช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมานี้มีการละเมิดสิทธิ-คุกคามที่เนื่องมาจากการเคลื่อนไหวประเด็นทรัพยากร, การแสดงออกออนไลน์ในประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับสถาบัน และ อื่นๆ อย่างน้อยประเด็นละ 1 กรณี 

และมีกรณีผู้ถูกำดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 รายหนึ่ง พบปัญหาเรื่องการเดินทางออกนอกประเทศ คือไม่สามารถต่ออายุหนังสือเดินทางได้เพราะหนังสือถูกล็อกไว้ ซึ่งทางกงสุลแจ้งว่าเหตุที่ล็อกเพราะมีหนังสือส่งมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางเขน สั่งให้ระงับการต่ออายุหนังสือเดินทางไว้

.

X