ตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามถึงที่พัก ก่อนคุมตัวมิชอบนานกว่า 2 ชม. บังคับเซ็นเอกสารข้อตกลง อ้างทวีตข้อความอาจหมิ่นสถาบันฯ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจาก “กานต์” (นามสมมติ) ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 4 นาย ไปรอพบหน้าที่พักอาศัย ก่อนจะนำตัวไปควบคุมไว้โดยไม่มีหมายจับ เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง ตำรวจได้ขอทราบรหัสเข้าใช้อีเมลและสื่อออนไลน์ต่างๆ พร้อมกับให้ลงนามในเอกสาร MOU โดยอ้างเหตุการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเรื่องการแต่งงานกันเองภายในเชื้อสายราชวงศ์บนทวิตเตอร์ ว่าอาจมีเนื้อหาเป็นไปในลักษณะหมิ่นสถาบันกษัตริย์

กานต์เล่าว่า ในเวลาประมาณ 09:00 น. เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 4 นาย ไม่ทราบชื่อและยศ ระบุเพียงว่ามาจาก สภ.แห่งหนึ่งย่านปริมณฑล มารอพบที่ด้านหน้าที่พัก พร้อมกับแสดงเอกสารที่เป็นภาพแคปหน้าจอข้อความหนึ่งในทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยตั้งค่าไว้เป็นสาธารณะและมียอดรีทวีตมากกว่าสามหมื่นครั้ง

เจ้าหน้าที่อ้างว่าข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมาพบเพื่อจะพาตัวไปพูดคุยที่ สภ. ทั้งนี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงเอกสารหมายใดๆ เพียงแต่บอกให้กานต์โทรแจ้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่ไว้วางใจได้ แต่สั่งห้ามมิให้บอกเหตุผลว่าถูกควบคุมตัวเพราะเหตุใด

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พาตัวกานต์นั่งรถยนต์ไปด้วยกัน และได้ยึดอุปกรณ์สื่อสารไว้ตลอดทาง โดยไม่มีหมายค้นใด เมื่อถึงที่ สภ. ก็ได้นำตัวไปยังห้องที่กานต์เล่าว่ามีลักษณะคล้ายห้องประชุม โดยภายในห้องมีโต๊ะอย่างที่เห็นได้เวลามีการแถลงข่าว มีกล้องจำนวน 3 ตัว และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก 

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจให้กานต์ไปนั่งโต๊ะแล้วถามคำถามเรื่องต่าง ๆ นับแต่เรื่องทั่วไป ประวัติส่วนตัว ก่อนจะถามเกี่ยวกับเรื่องข้อความในทวิตเตอร์ ถามความเห็นเกี่ยวกับสถาบันฯ และพยายามถามว่ามีใครเป็นผู้ชักจูงให้ทวีตข้อความหรือไม่ หรือรู้จักแกนนำที่เคลื่อนไหวทางการเมืองคนใดบ้างหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กล้องทั้ง 3 ตัว บันทึกภาพเหตุการณ์ไว้โดยตลอด

อย่างไรก็ดี ตัวกานต์เองมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งระหว่างที่ถูกซักถามคือ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทราบข้อมูลทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ข้อมูลการศึกษา การทำงาน สถานะบัญชีธนาคารของเขา ตลอดจนฐานเงินเดือนของมารดา ซึ่งในส่วนนี้เองที่ทำให้เขามีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและความไม่ปลอดภัย

นอกจากจะไต่ถามข้อมูลต่างๆ แล้ว เจ้าหน้าที่ยังขอทราบรหัสเช้าใช้งานอีเมลและสื่อออนไลน์ทั้งหมด โดยไม่มีหมายศาลแต่อย่างใด เมื่อทราบแล้วเจ้าหน้าที่ก็เข้าไปดู พร้อมกับทำการเปลี่ยนแปลงรหัสผ่าน ซึ่งกานต์ก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดต้องทำเช่นนั้น และค่อนข้างที่จะมีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวกับวิธีการดังกล่าวของฝ่ายเจ้าหน้าที่

ในตอนท้าย กานต์ล่าว่าเจ้าหน้าที่ได้นำเอกสารมาให้ลงนาม โดยเนื้อหาของเอกสารมีใจความสำคัญ 3 ข้อคือ

  1. ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง
  2. ยอมรับว่าคำให้การทั้งหมดที่ตอบเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นความจริง
  3. ยอมรับว่าจะไม่กระทำการในลักษณะเดียวกันซ้ำอีก

ทั้งนี้ ผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าวระบุว่า เขาจำเป็นต้องทำตามที่เจ้าหน้าที่บอกให้ทำทั้งหมด นับตั้งแต่ขึ้นรถไปยังสถานีตำรวจ ให้การในเรื่องต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่สอบถาม จนกระทั่งลงนามในเอกสาร เพราะ ณ เวลานั้นเขาอยู่ตัวคนเดียว จึงทำให้เกรงว่าถ้าไม่ยินยอมหรือขัดขืนใดๆ อาจทำให้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาได้ในทันที

อย่างไรก็ดี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการควบคุมตัวและสอบสวนในลักษณะดังกล่าว เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีหมายศาลที่ให้อำนาจในการจับกุมควบคุมตัว หมายสำหรับการยึดหรือเข้าถึงข้อมูลในเครื่องมือสื่อสาร

ปฏิบัติการนอกกฎหมายในลักษณะดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐมีรายงานว่าดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ควบคุมกับการใช้กฎหมายมาตรา 112 เพื่อควบคุมการแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์  จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในปี 2565 ซึ่งมีรายงานผู้ถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 349 ราย ในจำนวนนี้แยกเป็นกรณีทราบว่าถูกติดตามโดยมีสาเหตุจากการแสดงออกออนไลน์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างน้อย 23 กรณี

สำหรับเดือน ม.ค. 2566 นี้ มีรายงานผู้ถูกติดตามคุกคามเท่าที่ทราบแล้วอย่างน้อย 24 ราย โดยในจำนวนดังกล่าว เป็นการถูกคุกคามที่เนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ผ่านสื่อออนไลน์เช่นเดียวกับกรณีของกานต์นี้ อย่างน้อย 2 ราย 

.

X