ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบ สถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามประชาชนที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง แม้จะในจำนวนไม่มากนัก คือมีรายงานกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปติดตามถึงบ้านนักศึกษาที่เคยร่วมชุมนุมทางการเมืองอย่างน้อย 3 ราย ทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ โดยคาดว่าเกี่ยวข้องกับการเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ในพื้นที่ และมีนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอีก 1 ราย ระบุว่าถูกชายนอกเครื่องแบบที่คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐคอยติดตามสอดแนมระหว่างการเดินทาง
นอกจากนั้น ยังพบว่ามีสถานการณ์การปิดกั้น-แทรกแซงกิจกรรมสาธารณะ หรือการชุมนุม เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 4 กรณี ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยไทยที่ถูกอุ้มหาย, กิจกรรมเสวนาวิชาการในประเด็นเกี่ยวกับกองทัพ, กิจกรรมทางวัฒนธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการชุมนุมในประเด็นที่ดินป่าไม้และสิทธิชุมชน
.
สถานการณ์ตำรวจบุกไปบ้านนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรม ยังมีต่อเนื่อง อย่างน้อย 3 ราย รายหนึ่งตำรวจระบุชัดมาเพราะมีเสด็จ
ในรอบสองเดือนนี้ พบกรณีนักศึกษาที่เคยร่วมกิจกรรมทางการเมืองในช่วงปี 2563-64 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปติดตามหาตัวถึงบ้านอย่างน้อย 3 ราย
กรณีแรก ได้แก่ “เบลล์” นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงจากจังหวัดพัทลุง และเป็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากกรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ภาพในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” เมื่อช่วงปี 2563 ระบุว่า เมื่อช่วงวันที่ 21 ก.ย. 2567 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดนอกเครื่องแบบ ทราบว่าเป็นฝ่ายสืบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่พัทลุง จำนวน 5 นาย เดินทางมาที่บ้านของเขา
ตำรวจระบุว่ามาหาเนื่องจากกรมสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จมางานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ในวันที่ 23 ก.ย. 2567 ทำให้มีคำสั่งให้มาติดตามความเคลื่อนไหว ตำรวจได้ขอถ่ายรูปเบลล์ และสอบถามว่ากำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน ทำกิจกรรมใดหรือไม่ เขาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำกิจกรรม ทำให้ตำรวจเดินทางกลับไป
อีกกรณีหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2567 นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เคยทำกิจกรรมกับกลุ่ม NU-Movement ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย เดินทางไปหาที่บ้านของเธอในจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่าง โดยพบกับแม่ของเธอ และได้สอบถามความเคลื่อนไหวของนิสิตรายนี้ แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเหตุใดจึงต้องมาติดตามในช่วงนี้ แต่ระบุว่านิสิตรายนี้เคยทำกิจกรรมทางการเมือง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จึงมาติดตามถามข้อมูลว่าในช่วงนี้ทำอะไรอยู่บ้าง และขอให้คุณแม่ดูแลไม่ให้ทำกิจกรรมอีก
นอกจากนั้นยังมีนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรอีกรายหนึ่ง ก็ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปบ้านในลักษณะเดียวกัน โดยคาดว่าเหตุทั้งสองกรณีเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ จะเสด็จมาถวายผ้าพระกฐินที่จังหวัดพิษณุโลกในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ทำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้รับคำสั่งให้ติดตามนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมทางการเมือง
ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีของผู้ถูกดำเนินคดีในช่วงการชุมนุมบริเวณดินแดงปี 2564 อีกรายหนึ่ง เมื่อช่วงเดือนกันยายน หลังจากเธอเข้าร่วมเวทีเสวนาเกี่ยวกับผู้ต้องขังทางการเมือง และเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้พบว่ามีชายนอกเครื่องแบบคอยขับรถติดตาม โดยตามตั้งแต่ร้านอาหารจนกลับถึงบ้าน จึงคาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการอื่นอีก
.
กิจกรรมสาธารณะยังถูกแทรกแซงปิดกั้น อย่างน้อย 4 กิจกรรม
ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ยังพบสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการปิดกั้นหรือแทรกแซงการทำกิจกรรมสาธารณะ โดยมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐ ซึ่งส่งผลต่อเสรีภาพการแสดงออก พบอย่างน้อย 4 กรณี
ในช่วงต้นเดือนกันยายน ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ร่วมจัดงานเสวนาเรื่อง “แล้วเธอจะปลอดภัยที่ปลายทาง: ยุติการอุ้มหาย รับมือภัยปราบปรามข้ามชาติ” พร้อมเปิดตัวหนังสือ “ราคาของความจริง: บันทึกการตามหาน้องชายและเส้นทางรณรงค์ยุติการบังคับสูญหายของสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ที่สมาคมฝรั่งเศส แต่ต่อมาทางสถานที่จัดงานได้ขอให้ไม่มีการจัดแสดงรูปภาพ หรือสิ่งของใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “วันเฉลิม” ผู้ลี้ภัยไทยที่ถูกบังคับสูญหาย ทำให้ต้องนำรูปวันเฉลิมออก และยกเลิกการจัดงานเกี่ยวกับการเปิดตัวหนังสือ
ทางมูลนิธิผสานวัฒธรรมระบุว่า ได้รับแจ้งจากหนึ่งในองค์กรผู้ร่วมจัดงานด้วยว่า ได้ถูกข่มขู่และตักเตือนจากกรรมการขององค์กร ในทำนองว่าให้ระวังการกล่าวถึงกรณีวันเฉลิม ทั้งนี้มีการประเมินว่าอาจเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันขององค์กรร่วมจัดดังกล่าว และหน่วยงานด้านความมั่นคงหน่วยงานหนึ่ง
.
ประชาสัมพันธ์งานเปิดตัวหนังสือเกี่ยวกับการบังคับสูญหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องยกเลิกเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด
.
อีกกรณีหนึ่ง ได้แก่ กรณีสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ความมั่นคงภายใน: อำนาจของทหาร ภารกิจของประชาชน“ ของพวงทอง ภวัครพันธุ์ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงวันที่ 27 ก.ย. 2567 ก่อนถึงวันเสวนา ทางคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้แจ้งผู้จัดว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ของจุฬาฯ โดยไม่ได้ระบุสาเหตุชัดเจน ต่อมาหลังจากเรื่องนี้เป็นข่าว ทางอธิการบดีของจุฬาฯ ได้ติดต่อทางผู้จัดว่าไม่ทราบเรื่องไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ดังกล่าวแต่อย่างใด ผู้จัดจึงกลับมาจัดที่เดิมได้ โดยคาดว่าก่อนหน้านี้ น่าจะเป็นคำสั่งมาจากระดับรองอธิการบดีบางคน
กรณีหนังสือของพวงทอง ยังเกิดสถานการณ์ที่ทาง โฆษก กอ.รมน. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าว อ้างว่าหนังสือมีข้อมูลเท็จ ทำให้สังคมเข้าใจผิด และกระทบภาพลักษณ์ขององค์กร จึงขอความร่วมมือในการระงับการจำหน่ายหนังสือฯ แม้ไม่มีอำนาจตามกฎหมายใด เนื่องจากหนังสือดังกล่าวไม่ได้ถูกประกาศเป็นหนังสือต้องห้าม และทาง กอ.รมน. อ้างว่าจะประสานทางมหาวิทยาลัย พิจารณาในเรื่องของจริยธรรมของผู้เขียนด้วย กระบวนการดังกล่าว นับเป็นกาพยายามกดดันแทรกแซงการทำงานทางวิชาการของนักวิชาการเป็นอย่างยิ่งด้วย
.
งานเปิดตัวหนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ต้องย้ายที่จัดงานถึง 2 ครั้ง หลังทางจุฬาฯ จะไม่อนุญาตให้จัด แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง
.
นอกจากนั้น ยังมีสถานการณ์กิจกรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปรากฏเป็นข่าว ได้แก่ กรณีขบวนพาเหรดเยาวชนในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ทำกิจกรรมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2567 ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารพราน นำกำลังทหารไปดักขบวนพาเหรด ซึ่งถือภาพของอูละมาอ์ (นักวิชาการมุสลิม หรือผู้รู้ทางศาสนา) ที่ล่วงลับไปแล้ว และถือธงชาติปาเลสไตน์เพื่อรณรงค์ให้ยุติสงครามและการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทหารพรานได้ยึดภาพและธงจากขบวนพาเหรดทั้งหมด โดยอ้างว่าเป็นการรักษาความปลอดภัย และนายสั่งมา ทั้งยังแจ้งให้กลุ่มเยาวชนไปรับภาพที่ถูกยึดคืนได้หลังจบกิจกรรม ที่กองร้อยทหารพรานในพื้นที่ นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน รวมทั้งหน่วยงานอื่นในพื้นที่
ส่วนกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ซึ่งมีเครือช่ายประชาชนหลายพื้นที่เดินทางมาชุมนุม #พีมูฟทวงสิทธิ์ บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาลในช่วงเดือนตุลาคม เพื่อติดตามความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินทำกิน การชุมนุมเผชิญกับอุปสรรคจากเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่องแม้จะมีการแจ้งการชุมนุมแล้ว ทั้งตำรวจออกประกาศห้ามชุมนุมใกล้ทำเนียบฯ ในรัศมี 50 เมตร อ้างเป็น “แนวรั้งหน่วงมั่นคง” ตามแผนรักษาความสงบเรียบร้อยการจัดการชุมนุมสาธารณะและจัดการจราจรในกลุ่มพื้นที่เขตพระราชวังดุสิตและทำเนียบรัฐบาล ให้ไปชุมนุมบริเวณหน้า UN แทน
นอกจากนั้น ระหว่างการชุมนุมต่อเนื่อง วันที่ 14 ต.ค. 2567 ขบวนพีมูฟยังถูกตำรวจควบคุมฝูงชนนำแผงเหล็ก และรถตู้มาปิดทางเข้าออกพื้นที่ชุมนุม ไม่ให้ประชาชนผู้ชุมนุมเข้าออก อ้างว่าเป็นการดูแลความเรียบร้อยสถานที่ราชการตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งผู้บัญชาเหตุการณ์ ไม่สามารถอธิบายรายละเอียดได้ ต่อมาตำรวจอนุญาตให้คนเข้าออกได้ แต่ยังปิดด่านไม่ให้รถเข้า-ออก ทำให้ไม่สามารถนำรถเสบียงเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมได ้ จนในช่วงดึก จึงอนุญาตให้รถเสบียงเข้าไปได้ แต่ในเช้าวันถัดมา สถานการณ์การปิดกั้นดังกล่าว ก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องซ้ำอีก
.
ภาพตำรวจพยายามปิดล้อมการชุมนุมของ P-move (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)
.
ในรอบสองเดือนที่ผ่านมา ยังควรบันทึกถึงกรณีเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2567 ตัวแทนจากบริษัทวอร์นเนอร์มิวสิค ต้องเข้าพบเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงความเสียใจและขออภัยต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงในการเผยแพร่ภาพในเฟซบุ๊กแฟนเพจของบริษัท โดยเป็นภาพตัดต่อของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 เป็นภาพแอปเปิลเขียวในลักษณะเน่าแทนคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั่งที่พิจารณาบนนั่งบัลลังก์ โดยเป็นการทำการตลาดให้กับเพลงสากลที่ชื่อว่า Apple ของ Charli XCX (ชาร์ลี เอ็กซ์ซีเอ็กซ์) ศิลปินและนักแต่งเพลงชาวอังกฤษ ทางบริษัทฯ รับปากกับศาลว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก
.