รอบสองเดือน พบสถานการณ์เจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามประชาชน-แทรกแซงกิจกรรม อย่างน้อย 31 กรณี

ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567 สถานการณ์การติดตามคุกคามประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมือง ยังมีรายงานอยู่เป็นระยะ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลไม่น้อยกว่า 24 กรณี และ พบกรณีที่มีลักษณะเป็นการขัดขวาง-แทรกแซงการทำกิจกรรม-การแสดงออกสาธารณะต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 7 กรณี

รูปแบบการคุกคามที่พบมากที่สุด คือการไปพบหรือเข้าสอบถามข้อมูลถึงบ้านหรือพื้นที่ส่วนตัว พบไม่น้อยกว่า 14 กรณี นอกจากนั้นยังมีการติดตามสอดแนม พบไม่น้อยกว่า 7 กรณี และการติดต่อเพื่อหาข้อมูลทางโทรศัพท์ หรือกรณีเรียกมาพูดคุยด้วย รวมกันอีก 3 กรณี

สถานการณ์การคุกคามติดตามประชาชนเหล่านี้ ยังมีลักษณะสืบเนื่องมาจากช่วงรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน รูปแบบต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลก่อน ยังคงถูกใช้สืบเนื่องต่อมา

.

การคุกคามเกี่ยวเนื่องกับการเสด็จ/บุคคลสำคัญลงพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 12 กรณี

ในรอบสองเดือนที่ผ่านมา กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจไปติดตามนักกิจกรรมและประชาชนที่เคยจัดหรือร่วมชุมนุมทางการเมือง อันเนื่องมาจากมีสมาชิกราชวงศ์เสด็จไปในพื้นที่ ยังคงพบไม่น้อยกว่า 9 กรณี และยังมีการติดตามเพราะการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 3 กรณี

กรณีมีการเสด็จหรือบุคคลในรัฐบาลลงพื้นที่ และมีเจ้าหน้าที่ไปติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมือง เกิดขึ้นเป็นระยะในช่วงหลายปีหลัง และถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติในการใช้อำนาจ ทั้งที่ส่วนมากแล้ว ประชาชนที่ถูกติดตามก็ไม่ได้จะไปเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด  

ในช่วงเดือนมีนาคม พบว่าการเสด็จของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ไปเปิดสนามจักรยานที่จังหวัดพิจิตร ทำให้มีเจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามหรือสอดแนมนักกิจกรรมและประชาชนไม่ต่ำกว่า 5 กรณี

นักศึกษารายหนึ่งที่เคยทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยนเรศวร แต่มีภูมิลำเนาในจังหวัดพิจิตร ระบุว่าในช่วงก่อนการเสด็จ ได้มีตำรวจไปตามหาที่บ้าน พบกับญาติของตน อ้างว่าผู้บังคับบัญชาสั่งให้มาสอบถามข้อมูล โดยสอบถามรายละเอียดการทำงาน และสถานที่อยู่ 

นักกิจกรรมกลุ่มพิจิตรปลดแอกอีกราย ระบุว่ามีตำรวจไปหาแม่ของเขาที่บ้าน พยายามสอบถามว่าจะไปรับเสด็จหรือไม่ และจะมีกิจกรรมอะไรหรือไม่ รวมถึงมีบุคคลที่คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยมาเฝ้าอยู่หน้าบ้าน รวมทั้งมีรายงานการติดตามทีมงานของพรรคก้าวไกลในพื้นที่ด้วย

เช่นเดียวกับกรณีการเสด็จไปที่จังหวัดเชียงรายช่วงเดือนมีนาคม ทั้งกรณีที่เจ้าฟ้าสิริวัณณวลีเสด็จลงที่สนามบินเชียงราย และเดินทางไปที่อำเภอฝางต่อ และกรณีที่รัชกาลที่ 10 และพระราชินีเสด็จไปประกอบพิธีตัดหวายลูกนิมิตที่อำเภอเชียงแสน ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามและสอดแนมประชาชนไม่ต่ำกว่า 4 กรณี

อาทิเช่น ประชาชนที่เคยเคลื่อนไหวกับกลุ่มราษฎรเชียงราย ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปที่บ้าน แต่เขาไม่อยู่บ้าน จึงไปสอบถามจากเพื่อนบ้าน รวมทั้งยังมีตำรวจโทรไปสอบถามญาติของเขา ว่าจะมีการเคลื่อนไหวอะไรในช่วงที่มีเสด็จหรือไม่ ขณะที่สมาชิกของกลุ่มอีกราย ก็ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปคอยนั่งเฝ้าและแอบถ่ายรูปที่ร้านค้าที่ตนทำงานด้วย

.

.

หรือ กรณีของบัสบาส ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 พบว่าในช่วงก่อนการเสด็จปลายเดือนมีนาคม มีกลุ่มชายนอกเครื่องแบบประมาณ 4-5 คน ที่คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ไปติดตามหาพ่อของเขาที่บ้าน แต่พ่อไม่อยู่ จึงไปสอบถามกับเพื่อนบ้าน ถึงความเป็นอยู่ต่าง ๆ ของบ้านบัสบาสแทน ทั้งที่ตัวบัสบาสเองก็ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

นอกจากกรณีของสมาชิกราชวงศ์ ยังพบกรณีที่นายกรัฐมนตรีอย่าง เศรษฐา ทวีสิน ลงพื้นที่ตรวจราชการ และมีตำรวจไปติดตามชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นด้านทรัพยากรด้วย ได้แก่ กรณีพ่อหลวงสมชาติ หละแหลม สมาชิกเครือข่าย P-move ที่จังหวัดลำปาง ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ได้ถูกตำรวจไปหาที่บ้าน 3 วันติดต่อกัน ทั้งยังโทรหา พยายามสอบถามเรื่องการนำชาวย้านไปยื่นหนังสือ หากไป จะไปกันกี่คน ยื่นร้องเรียนประเด็นอะไร และพูดคุยในลักษณะราวกับไม่อยากให้มีชาวบ้านไป

นอกจากนั้น พบว่ายังมีกรณีที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับไปจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงกลางเดือนมีนาคมนั้น มีนักศึกษา-คนทำงานด้านการเมือง รวม 2 ราย รายงานว่าถูกตำรวจไปพบ หรือโทรติดต่อสอบถามข้อมูลว่าจะมีการเคลื่อนไหวใดหรือไม่ด้วย 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้แทบไม่พบกรณีที่มีการติดตามประชาชน ในช่วงที่บุคคลซึ่งไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองเดินทางลงพื้นที่ อย่างกรณีของทักษิณ มาก่อน

.

การติดตามไปบ้าน เพราะมีรายชื่อเป็นบุคคลเฝ้าระวัง แม้ไม่ได้เคลื่อนไหว

การติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐไปบ้านหรือพื้นที่ส่วนตัวของนักกิจกรรม ยังพบในอีกลักษณะหนึ่ง คือไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเสด็จหรือบุคคลสำคัญลงพื้นที่ แต่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่อ้างการติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลที่อยู่ในรายชื่อ “เฝ้าระวัง” หรืออ้างว่า “นาย” สั่งให้มาติดตาม เป็นการมาตามคำสั่ง โดยมากมักเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบถามความเคลื่อนไหว หรือบางกรณีก็เป็นการไปพบคนในครอบครัว โดยไม่ได้เจอบุคคลที่ติดตามแต่อย่างใด ทั้งที่หลายคนก็ไม่ได้เคลื่อนไหวเท่าใดแล้ว

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา นักกิจกรรม เปิดเผยว่ามีตำรวจไปพบกับแม่ที่บ้านต่างจังหวัด และตำรวจได้โทรศัพท์มาพูดคุยกับเธอ ระบุว่ามาหาและสอบถามตามคำสั่ง เพราะตี้เป็นบุคคลในรายชื่อเฝ้าระวัง แต่อ้างว่าไม่ใช่การมาคุกคามแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 ชาติชาย ไพรลิน อดีตนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า ที่ไปขายผลไม้อยู่ที่จังหวัดชลบุรี ระบุว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 4 นาย เดินทางมาหาที่บ้าน โดยสอบถามถึงอาชีพการงาน และสถานการณ์ของเขาในช่วงนี้ ทั้งยังสอบถามว่าได้ไปร่วมชุมนุมอะไรหรือไม่ด้วย

.

เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 นาย ไปบ้านของชาติชายที่จังหวัดชลบุรี ผู้เคยทำกิจกรรมกับกลุ่มทะลุฟ้า (ภาพจากเพจ เฮียหมา ค้าผลไม้)

.

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2567 นักศึกษาธรรมศาสตร์อีกรายหนึ่งที่ทำกิจกรรมทางการเมือง และเคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม ระบุว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัด ประมาณ 2-3 นาย มาถามหาเขาที่บ้านต่างจังหวัด โดยได้พบกับญาติของเขา จึงได้สอบถามความเป็นอยู่ของเขา และให้เบอร์ติดต่อไว้ บอกให้นักศึกษารายนี้โทรกลับไป เมื่อโทรศัพท์กลับไปแล้ว จึงทราบว่าเป็นตำรวจสันติบาล อ้างว่าไปติดตามอัปเดตถิ่นที่อยู่ของเขา ไม่ได้มีเรื่องอะไร

นอกจากนั้นยังมีกรณีของ เดฟ (A.K.A. 3bone) ศิลปินแร็ปเปอร์วง Rap Against Dictatorship (R.A.D.) ซึ่งเคยร่วมเวทีการชุมนุมในช่วงปี 2563-64 ระบุว่าในช่วงวันที่ 11 เม.ย. 2567 ได้มีตำรวจไม่ทราบสังกัดเดินทางไปที่บ้านใน จ.นครราชสีมา โดยแม่ของเดฟแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ได้นำรูปภาพเดฟตอนทำกิจกรรมทางการเมือง พร้อมกับรูปบัตรประชาชนมาให้ดู แล้วสอบถามว่าลูกยังเคลื่อนไหวทำกิจกรรมอยู่หรือไม่ พร้อมเตือนว่าอย่าไปทำแบบนี้อีก ทั้งที่เขาไม่ได้ไปเคลื่อนไหว มา 2-3 ปีแล้ว และก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้เคยมีตำรวจมาหาที่บ้านแบบนี้มาก่อน

นอกจากนักกิจกรรมหรือผู้เคยร่วมชุมนุมทางการเมือง ในช่วงปลายเดือนเมษายน พบว่ามีประชาชนที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ก็ถูกเจ้าหน้าที่ไปพบ โดยเป็นกรณีที่จังหวัดยะลา ประชาชนแกนนำเครือข่าย​ปะแตสีเขียว ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ปะแต กับ เจ้าหน้าที่ทหารพราน ฉก.กองร้อย 4716 มาหาที่บ้าน โดยอ้างว่ามาดูแลความปลอดภัยของประชาชน ก่อนพูดคุยเก็บข้อมูลของประชาชนรายนี้ 

.

อังคณา นีละไพจิตร เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนที่กระทรวงยุติธรรม กรณีถูกเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. คุกคามและสอดแนม ในกิจกรรมครบรอบ 20 ปี การถูกบังคับสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร (ภาพจากประชาไท)

.

การติดตามสอดแนมนักปกป้องสิทธิมนุษยชน-ผู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐ

นอกจากกรณีการไปหาถึงบ้าน ยังพบว่ามีกรณีการติดตามสอดแนมนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีของอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยแห่งชาติ หลังจากวันที่ 12 มี.ค. 2567 ได้มีการจัดงานรำลึก 20 ปี การบังคับสูญหายสมชาย นีละไพจิตร ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนถึงกระทรวงยุติธรรม ระบุว่าในวันงานดังกล่าว ปรากฏชายหญิงสองคนสวมหมวกอำพรางใบหน้า ไม่ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ได้ถ่ายภาพตน และผู้แทนจากองค์กร Protection International Thailand โดยมีผู้สังเกตว่าชายสวมหมวกได้ตัดต่อภาพส่งต่อไปยังผู้อื่น

เมื่ออังคณาได้เข้าไปสอบถามชายหญิงดังกล่าวจึงทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน. มาหาข่าว และรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ก่อนพบว่ามีการถ่ายภาพบุคคลในงาน และญาติผู้ถูกบังคับสูญหายไปด้วย จึงเห็นว่าเป็นการคุกคาม และสอดแนมเหยื่อโดยหน่วยงานของรัฐ ทำให้เกิดความหวาดกลัว และความรู้สึกไม่ปลอดภัย

นอกจากนั้นยังมีรายงานกรณีของ “แหวน” ณัฏฐธิดา มีวังปลา อดีตพยาบาลอาสาในกรณีการสังหารคนเสื้อแดงในวัดปทุมวนาราม เมื่อปี 2553 ซึ่งพยายามทวงถามของกลางคืนจาก สน.โชคชัย หลังจาก 2 คดีที่เธอถูกกล่าวหาในช่วง คสช. นั้น ศาลยกฟ้องและสิ้นสุดไปหมดแล้ว แต่กลับมีของกลางกว่า 15 รายการ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ และ ‘อินเทอร์นอล แอร์การ์ด ที่ตำรวจกลับยังไม่คืนให้ ทั้งที่ไม่ได้มีคำสั่งศาลให้ยึดไว้แต่อย่างใด

แหวนพยายามติดตามกรณีนี้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์เธอได้ร้องเรียนไปยังกรรมาธิการในสภา ทำให้ในช่วงเดือนมีนาคม เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งจาก สน.โชคชัย และกองปราบปราม พยายามโทรศัพท์ไปหาทุกวัน และพูดในลักษณะเชิงข่มขู่ให้มาเจรจาที่สถานี ให้ไกล่เกลี่ยค่าเสียหายต่าง ๆ  โดยกลุ่มตำรวจนี้ก็เป็นผู้จับกุมดำเนินคดีเธอในหลายปีก่อนหน้านี้ สร้างความรู้สึกกังวลต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วย

.

ตำรวจใช้รถตู้ปิดกั้นไม่ให้เห็นป้ายข้อความเรียกร้องทางการเมือง ระหว่างทักษิณ ชินวัตร เดินทางผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ภาพจาก Lannernews)

.

การปิดกั้น-แทรกแซง-สอดแนมกิจกรรมสาธารณะ ไม่น้อยกว่า 7 กรณี

สองเดือนที่ผ่านมา ยังพบกรณีที่เข้าข่ายเป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพการแสดงออกในกิจกรรมของประชาชน อาทิ การปิดบังหรือยึดป้ายข้อความแสดงออก, การติดตามสอดแนมกิจกรรม, การเซนเซอร์กิจกกรรม หรือการปิดกั้นการเรียนรู้ในพื้นที่มหาวิทยาลัย-โรงเรียน

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2567 มีกรณีกลุ่มประชาชนเสื้อแดงที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมตัวกันแสดงออกในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร ลงพื้นที่ โดยการถือป้ายทวงถามถึงเรื่องคนเสื้อแดงที่ถูกสังหาร และนักโทษทางการเมืองที่ไม่ได้รับความยุติธรรม บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่การแสดงออกดังกล่าว ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้รถตู้สองคัน เข้าจอดเทียบปิดหน้ากลุ่ม และพยายามใช้ตัวรถปิดบังป้ายต่าง ๆ จากขบวนรถของทักษิณที่เดินทางผ่าน 

หรือกรณีเศรษฐา ทวีสิน ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2567 รายงานข่าวระบุว่าได้มีประชาชนถือป้ายข้อความเกี่ยวกับความเดือดร้อนรอต้อนรับที่วัดพระมหาธาตุ แต่มีป้ายข้อความหนึ่งระบุว่า “เราต้องการเงิน 1 หมื่นบาท แต่ไม่ใช่เงินดิจิทัล” จึงได้มีเจ้าหน้าที่เข้าไป “ขอความร่วมมือ” ให้เก็บป้ายดังกล่าวออกไป

อีกกรณีหนึ่ง ได้แก่ กรณีทีมงานพรรคก้าวไกลที่จังหวัดนราธิวาส จัดฉายหนังสั้น “I’m Not Your F***ing Stereotype” และทอร์คพูดคุยกับเจ้าของผลงาน ที่ร้านกาแฟในจังหวัด ก่อนพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐถึง 3 กลุ่ม มาคอยติดตามกิจกรรม ทั้งในรูปแบบมาแจกใบปลิวรณรงค์ไม่เล่นประทัดในช่วงเดือนรอมฎอนของเจ้าหน้าที่ กอ.รมน., กรณีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาร่วมกิจกรรม แต่คอยแอบถ่ายรูป, กรณีกลุ่มนอกเครื่องแบบที่มาจอดรถหน้าร้าน และถ่ายรูปจากบนรถ

.

ภาพเจ้าหน้าที่ทหารเข้าติดตามสถานที่จัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ของพรรคก้าวไกลที่จังหวัดนราธิวาส (ภาพจาก ArfanWattana – Patani)

.

การติดตามสอดแนมและการเซนเซอร์กิจกรรม ยังพบในกรณีขบวนล้อการเมือง ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เมื่อช่วงวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา ทั้งกรณีที่กลุ่มล้อการเมือง ของธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มีบุคคลนอกเครื่องแบบพยายามเข้ามาถ่ายรูปการทำหุ่นล้อในพื้นที่ทำงานตอนกลางดึก และตอนกลางวัน ทั้งยังถูกเซนเซอร์ป้ายและบทภาคเสียง และเมื่อขบวนล้อการเมืองเข้าไปในสนาม สปอนเซอร์หลักก็ตัดการถ่ายทอดสดเข้าช่วงโฆษณาไปเสียดื้อ ๆ

ขณะที่ทางฝาก จุฬาฯ ก็ระบุว่า ถูกเซ็นเซอร์การนำเสนอประเด็นสำคัญในขบวนพาเหรด ตั้งแต่ศาลเจ้าแม่ทับทิม กฎหมายมาตรา 112 ไปจนถึงประเด็นปัญหาสงครามระดับโลก โดยคาดว่าเกี่ยวข้องกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย

ขณะเดียวกัน เมื่อช่วงเดือนมีนาคม ยังมีกรณีของครูโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ได้ออกข้อสอบวิชาสาระร่วมสมัย สำหรับนักเรียน ม.6  ให้นักเรียนเลือกคำที่เป็นคีย์เวิร์ดต่าง ๆ มาพูดนำเสนอในเวลา 3 นาที  โดยมีข้อความเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคมในไทย รวมทั้งเรื่องมาตรา 112 หรือขบวนเสด็จ แต่หลังการไปร้องเรียนของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ทางโรงเรียนได้สั่งระงับการสอบดังกล่าวแล้ว รวมทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 2 กทม. ได้เข้าตรวจสอบ พร้อมได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีนี้ด้วย แต่ยังไม่ทราบความคืบหน้าหลังจากนั้น

กรณีนี้ยังทำให้เกิดกระแสการออกแถลงการณ์ของเครือข่ายครู นักการศึกษา นักเรียน และคนทำงาน เพื่อปกป้องเสรีภาพทางวิชาการด้วย แต่พบว่ากลุ่มด้านการศึกษาที่ร่วมลงชื่อกลุ่มหนึ่งซึ่งทำงานในพื้นที่ภาคใต้ กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐโทรศัพท์ติดต่อบุคคลในกลุ่ม ขอให้เอาแถลงการณ์ดังกล่าวลงจากหน้าเพจ หรือให้ถอนชื่อออกจากแถลงการณ์นี้ด้วย

สถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพในพื้นที่มหาวิทยาลัยและโรงเรียน อันเป็นพื้นที่หนึ่งในการเรียนรู้สำหรับเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ยังเป็นสถานการณ์สำคัญที่ต้องจับตาต่อไป

.

ย้อนดูสถานกาณ์รอบสองเดือนก่อนหน้านี้

2 เดือนแรกของปี: สถานการณ์เจ้าหน้าที่รัฐติดตาม-คุกคามประชาชน ไม่น้อยกว่า 40 กรณี ไม่พบการเปลี่ยนแนวทางการใช้อำนาจภายใต้รัฐบาลใหม่

.

X