เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2567 ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ “พยาบาลแหวน” เปิดเผยข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ในช่วงวันที่ 11 มี.ค. 2567 จนถึงปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.โชคชัย และตำรวจจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม โทรมาหาเธอเพื่อให้ไปพบและเจรจาเป็นการส่วนตัว
สาเหตุสืบเนื่องมาจากแหวนได้ไปทวงของกลางคืนจาก สน.โชคชัย หลังจากที่คดี 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์รัชกาล 9 ลงในกลุ่มไลน์ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2558 และคดีจ้างวานปาระเบิดศาลอาญา เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2558 ถูกยกฟ้องไปในปี 2564 และ 2565
ณัฏฐธิดาเปิดเผยว่า หลังจากที่เธอสู้จนชนะคดีทั้งสองคดีแล้ว ศาลมีคำสั่งให้ไปรับของกลางคืน ขณะที่จำเลยคนอื่น ๆ ไปรับของกลางและได้คืนทั้งหมด แต่ของเธอกลับไม่ได้คืน ซี่งเธอได้ไปตามหาของกลางที่ สน.พหลโยธิน แต่ทาง สน.พหลโยธิน ก็ปฏิเสธว่าไม่มีของกลางดังกล่าว เธอจึงไปตามหาที่ สน.โชคชัย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับเช่นกัน
“ตอนปี 62 พี่เคยไปขอคืนแล้วแต่ไม่ได้ และก็ไม่ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ จนมาปี 64-65 ก็ไม่เคยได้คืน สน.โชคชัย รับเรื่องไว้ แต่เขาเพิกเฉยต่อการร้องขอของเรา”
สำหรับของกลางที่แหวนไปทวงคืนนั้นมีทั้งหมด 15 รายการ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า กระเป๋า ทองคำขาว เงินสด พระเครื่อง โทรศัพท์ 2 เครื่อง และอื่น ๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เธออยากได้คืนคือ ‘อินเทอร์นอล แอร์การ์ด’ เพราะมีข้อมูลสำคัญเรื่องคดี 99 ศพ จากการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ซึ่งรวมถึงคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม
“ในอินเทอร์นอลแอร์การ์ดมันมีเอกสารสำคัญ เป็นข้อมูลที่รวบรวมคดี 99 ศพ และก็ข้อมูล 6 ศพวัดปทุมฯ ที่สมบูรณ์ที่สุด มันเป็นหลักฐานที่เราถ่ายเองจากกล้องมือถือของเรา แล้วมันไม่เคยได้คืนเลย ตำรวจเขาก็มีหลักฐานที่เราไปขอของกลางคืน แต่ก็เพิกเฉย”
ต่อมา เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 แหวนจึงตัดสินใจไปยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคืนของกลางให้ตน โดยมีการโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วย
แหวนเล่าว่า หลังการไปร้องเรียนดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.โชคชัย และกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามก็โทรหาและพูดเชิงข่มขู่เธอทุกวัน โดยบอกให้เธอมาที่สถานีตำรวจและเจรจาเป็นการส่วนตัว
“เจ้าหน้าที่โทรมาหาเรา หลังจากเราไปร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบที่รัฐสภา พี่ไปยื่นเรื่องเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 จากนั้นวันที่ 11 มีนา ตำรวจก็โทรมา โทรมาทุกวันเลย ทุกวันนี้พี่ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ อยู่ไม่เป็นที่เลย แล้วก็ถ้าไม่ใช่เบอร์ตำรวจที่พี่เมมไว้ก็จะไม่รับ พี่จะไม่ไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจตามลำพังจนกว่าทางกรรมาธิการฯ จะเรียกเราเข้าไปสอบคำให้การเพิ่ม
“พี่ตอบปฏิเสธทั้งตำรวจ สน.โชคชัย ทั้งกองปราบ บอกว่า ขอให้ไปให้การต่อหน้าคณะกรรมาธิการฯ ที่สภาได้มั้ย มีอะไรก็ไปคุยกันที่สภา ตำรวจ สน.โชคชัย บอกขอถามนายก่อน เพราะเขาเป็นแค่สารวัตรสอบสวน หลังจากนั้นเราก็เลยบอกว่า ไม่เป็นไร เราไม่ไป สน.
“เราเป็นห่วงในเรื่องของความปลอดภัย ทั้งสองที่คือคู่กรณีเรา เคยอุ้มเราเข้าค่ายทหาร ทำอนาจารเรา แล้วมาวันนี้เขาหาของกลางคืนเราไม่ได้ ก็เรียกเราเข้าไปคุยกันก่อน เคลียร์กันก่อน เขาบอกว่า ‘พี่จะหาของกลางให้ ถ้าหาไม่เจอก็จะชดเชยให้’ เราก็ไม่กล้าไป เพราะคนกลุ่มนี้เคยอุ้มเรามาก่อน
“และเมื่อวันที่ 14 มีนา ตำรวจอีกนายก็โทรมาบอกว่า ‘ผมใหญ่กว่า สน.โชคชัยนะ ผมอยู่ บชน. 4 อยากให้คุณเข้ามาคุยส่วนตัว’ เราก็ตอบปฏิเสธ เพราะเราต้องทำงาน ไปนู่นมานี่ เขาก็บอกว่าสะดวกเมื่อไหร่ก็ให้มา เขาก็โทรมาเรื่อย ๆ ให้ไอดีไลน์มา ให้เราไปคุย เรากลัว เราก็ปฏิเสธไป”
ณัฏฐธิดาเล่าว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะโทรมาทุกวัน วันละครั้งสองครั้ง แต่ตนไม่กล้ารับ เพราะเคยรับโทรศัพท์แล้วถูกเจ้าหน้าที่อุ้มจากหน้าบ้านเมื่อตอนปี 58 เหตุการณ์ในอดีตทำให้เธอกังวลเป็นอย่างมากและหวาดกลัวว่าจะถูกอุ้มไปอีก
“ทุกวันนี้ถ้าเกิดเขาจะทำร้ายเรา เขาอาจจะทำแบบเดียวกันก็ได้ เราเลยไม่กล้ารับโทรศัพท์ บอกตรง ๆ ว่ากังวลไปหมด เราไม่รู้ว่าตำรวจหน่วยไหนจะคุ้มครองเรา ถ้าเราไปร้องเรียน กสม. (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) เราก็ไม่รู้เขาจะช่วยอะไรเรา และเขาจะช่วยยังไง เพราะวันที่ 11 มี.ค. 2558 พี่อยู่ในการคุ้มครองพยานคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ก็ยังโดนอุ้ม แล้วพอโดนอุ้มไป ทาง กสม.ไม่มีแอคชั่นอะไรเลย ไม่ช่วยเหลืออะไรเลย พอมันเกิดอย่างนี้ซ้ำสอง เราไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือใครดี”
“เจ้าหน้าที่ตำรวจโทรมาบังคับให้เราไปคุย ไปหาเรื่อย ๆ ไปเจรจาไกล่เกลี่ยค่าเสียหาย ซึ่งพี่ก็ยืนยันว่า ข้อมูลที่เขายึดไปมันคือทรัพย์สินทางปัญญาที่ประเมินค่าไม่ได้ เขาต้องเอามาคืนอย่างสมบูรณ์แบบเหมือนตอนที่เขายึดไปเท่านั้น”
สุดท้ายแหวนอยากจะขอร้องตำรวจให้ทำตามกระบวนการยุติธรรม ไม่มาข่มขู่ประชาชน เพราะการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่าจะมาพบตัวเธอ หรือตามตัวเธอไปให้ได้นั้น ทำให้เธอรู้สึกไม่ปลอดภัย
“คือถ้าเราเดินทางไปพบเขา หรือให้เขามาพบเรา มันก็เป็นความชอบทางกฎหมายที่เขาสามารถทำได้ แต่มันไม่ถูกต้อง มันต้องไปอธิบายต่อหน้ากรรมาธิการฯ เท่านั้น อธิบายต่อหน้าประธานให้หมดเลยว่า ของกลางเรามันหายไปไหน และเราตามหามันมากี่ปีแล้ว” ณัฏฐธิดากล่าว
.
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
แหวน : จากพยาบาลอาสา พยานคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ สู่จำเลยคดีความมั่นคง 2 คดี