ช่วงสองเดือน พบ จนท.รัฐติดตามไปบ้านประชาชนไม่น้อยกว่า 8 กรณี ขณะผู้ใช้ X กว่า 11 ราย ได้รับอีเมลแจ้ง ทางการไทยขอให้ปิดกั้นทวีต

ระหว่างเดือนกรกฎาคมจนถึงต้นเดือนกันยายน 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามพบว่ายังมีสถานการณ์ที่นักกิจกรรม และประชาชนทั่วไปถูกเจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามถึงบ้าน เนื่องจากประเด็นทางการเมือง รวมทั้งถูกติดตามสอดแนมโดยบุคคลที่คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ รวมกันไม่น้อยกว่า 8 กรณี โดยมีทั้งการติดตามเนื่องจากเคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในโลกออนไลน์, ติดตามผู้เคยทำกิจกรรมทางการเมืองหรือถูกดำเนินคดีมาตรา 112 โดยไม่ทราบเหตุแน่ชัด

ขณะเดียวกันยังมีสถานการณ์ที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ หรือ X ไม่ต่ำกว่า 11 ราย ได้รับอีเมลแจ้งเตือนจากแพลตฟอร์มว่าได้รับคำขอจากทางการไทยให้ปิดกั้นการเข้าถึงข้อความของผู้ใช้ ที่ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กรณีนี้มีลักษณะสืบเนื่องพบทั้งในช่วงปลายรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และแม้แต่หลังเปลี่ยนเป็นรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร แล้วก็ตาม

.

ผู้เคยโพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ถูกจนท.ไปบ้าน-เรียกไปสถานีตำรวจ ไม่น้อยกว่า 2 ราย

ในรอบสองเดือนนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากประชาชนทั่วไปอย่างน้อย 2 ราย จาก 2 ภูมิภาค ว่าได้เกิดสถานการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ โดยคาดว่าเดินทางมาจากส่วนกลาง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เข้าไปติดตามหาพวกเขาถึงบ้านหรือที่ทำงาน พร้อมกับเชิญตัวไปพูดคุยที่สถานีตำรวจในพื้นที่ดังกล่าว โดยไม่มีหมายใด ๆ  โดยพบว่าสาเหตุมาจากการเคยโพสต์หรือแชร์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง 2-3 ปีก่อน และเจ้าหน้าที่ได้พิมพ์ข้อความต่าง ๆ นั้นนำมาให้ดู 

รูปแบบการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น คือ ประชาชนที่ถูกนำตัวหรือเดินทางไปเองที่สถานีตำรวจดังกล่าว จะถูกชุดเจ้าหน้าที่หลายสิบคน เข้ามาสอบปากคำ สอบถามข้อมูลส่วนตัว หรือความคิดเห็นทางการเมืองต่าง ๆ รวมทั้งความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ จากนั้นยังมีการขอตรวจสอบเครื่องมือสื่อสาร และให้ลงชื่อในเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งเอกสารให้ยอมรับว่าได้เผยแพร่ข้อมูลที่พาดพิงสถาบันหลักของชาติจริง ในลักษณะที่ไม่เหมาะสมและมิบังควร พร้อมให้สัญญาว่าจะไม่กระทำการในลักษณะเช่นนี้อีกต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาใด แต่มีการข่มขู่ว่าถ้ามีอีก จะดำเนินคดี

สถานการณ์ดังกล่าว นับเป็นปฏิบัติการที่พบอยู่เป็นระยะ แต่ทราบข้อมูลเพียงบางส่วน โดยอาจมีประชาชนอีกหลายรายถูกดำเนินการในลักษณะนี้ ทั้งที่เป็นกระบวนการที่ไม่ได้มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการได้ ทั้งเอกสารบันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้มีสถานะทางกฎหมาย และอาจเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย

.

ภาพของ “ฟ้า” อดีตนักกิจกรรมกลุ่ม Korat Movement ที่พบว่าบุคคลที่คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปสอบถามหาในมหาวิทยาลัย

.

นักศึกษา-ประชาชนที่เคยทำกิจกรรมทางการเมือง หรือแม้แต่อาสาจับตาเลือกตั้ง ถูกจนท.ติดตาม ไม่ทราบเหตุ 3 ราย

นอกจากประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ยังมีนักศึกษาและประชาชนอีกอย่างน้อย 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ไปติดตามถึงบ้านหรือสถานศึกษา โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่คาดเดาว่าเกี่ยวข้องกับการแสดงออกหรือบทบาททางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา หรืออาจเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การยุบพรรคก้าวไกล

ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม มีกรณีนักศึกษาในจังหวัดทางภาคเหนือ ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมไว้อาลัยการเสียชีวิตของ “บุ้ง เนติพร” ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบถามข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ของเขาถึงบ้านผู้ใหญ่บ้าน โดยไม่ทราบวัตถุประสงค์แน่ชัด และไม่ทราบว่ามีการมาหาถึงบ้านเขาหรือไม่

ในภาคอีสาน ช่วงวันที่ 6 ส.ค. 2567 ระหว่างที่ “ฟ้า” นิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และอดีตนักกิจกรรมกลุ่ม Korat Movement กำลังเข้าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย พบว่ามีชายแปลกหน้าลักษณะคล้ายตำรวจนอกเครื่องแบบนั่งอยู่ด้านหลังห้อง และจำได้ว่าชายคนดังกล่าวเคยมาถามหาเขามาก่อนแล้ว  จึงคาดว่าถูกติดตามตัวอีกครั้ง

หลังเลิกเรียน ที่ด้านหน้าคณะยังพบชายแปลกหน้าอีกคนที่ดักอยู่ เข้ามาสอบถามถึงชั้นปีที่เรียนอยู่ และให้ดูภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊กของเขาเอง พร้อมสอบถามว่าอยากพูดคุยกับคนในภาพ แต่เขาปฏิเสธว่าไม่รู้จัก ก่อนชายคนดังกล่าวไปสอบถามคนอื่น ๆ ต่อ โดยไม่ทราบวัตถุประสงค์แน่ชัด

ในวันเดียวกันนั้น ยังพบว่ามีกรณีอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งใน จ.มหาสารคาม ถูกชายอ้างตัวเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย ต่อมาทราบว่าเป็นตำรวจฝ่ายสืบสวนของจังหวัดมหาสารคาม และ สภ.เขวาใหญ่ เข้าไปที่บ้านพัก อ้างว่ามาสอบถามถึงนักกิจกรรมคนหนึ่ง ก่อนตำรวจพยายามสอบถามว่า บ้านนี้มีใครอาศัยอยู่บ้าง เรียนอยู่หรือทำงานแล้ว และช่วงนี้ทำอะไร อ้างว่าเป็นการมาตามปกติเพื่อสอดส่องดูแลประชาชน ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่คาดเดาว่าอาจเกี่ยวข้องกับการจับตากลุ่มเคลื่อนไหวในช่วงการอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ

สถานการณ์ดังกล่าว ได้สร้างความกังวลให้กับนักศึกษาหรือคนทำงานด้านการเลือกตั้ง ถึงเป้าประสงค์ของเจ้าหน้าที่รัฐ และพฤติการณ์ติดตามประชาชนถึงสถานศึกษาหรือที่พักส่วนตัว

.

ภาพบุคคลนอกเครื่องแบบมาถ่ายภาพหน้าร้านของ “นิว จตุพร”

.

ผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 ถูกสอดแนม-ติดตาม ไม่น้อยกว่า 3 ราย

ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 3 ราย ที่พบว่ามีบุคคลนอกเครื่องแบบเข้าไปสอดส่องบริเวณที่พักอาศัย โดยไม่แสดงตัวและไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน ได้แก่ กรณีของนิว จตุพร นักกิจกรรมจากจังหวัดบุรีรัมย์ที่ถูกดำเนินคดีกรณีแต่งกายชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์ พบว่าเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2567 มีชายหญิงคู่หนึ่งขับรถจักรยานยนต์มาวนที่หน้าร้านของนิว ก่อนวนกลับมารอบที่ 2 และจอดถ่ายรูป โดยไม่ทราบว่าเป็นบุคคลฝ่ายใด 

หรือกรณีเก็ท โสภณ แม้ตัวจะถูกคุมขังในเรือนจำ แต่ครอบครัวพบว่าเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2567 มีชายนอกเครื่องแบบขับรถจักรยานยนต์มาจอดถ่ายภาพหน้าบ้านพัก

หรือมีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีกรายหนึ่ง แจ้งว่าช่วงกลางเดือนกรกฎาคมมีบุคคลนอกเครื่องแบบ 3 คน ไปพบแม่ที่บ้าน ระหว่างที่เขาไม่อยู่ โดยพยายามสอบถามหาเขาว่าอยู่บ้านหรือไม่ และเดินทางไปไหน โดยไม่ระบุเป้าประสงค์ที่ติดตามหา เมื่อไม่พบ จึงเดินทางกันออกไป 

.

.

ผู้ใช้ X อย่างน้อย 11 แอคเคาท์ ได้อีเมลแจ้ง “ทางการไทย” ขอให้แพลตฟอร์มปิดกั้นโพสต์

สถานการณ์บนโลกออนไลน์อีกประการหนึ่ง ที่พบเป็นระยะตลอดสองเดือนเศษที่ผ่านมา คือกรณีที่ผู้ใช้แพลตฟอร์ม X (หรือทวิตเตอร์เดิม) ได้รับอีเมลแจ้งจากแพลตฟอร์มว่าได้รับคำขอจากทางการไทย อ้างว่าผู้ใช้ได้เผยแพร่เนื้อหา “ละเมิดต่อกฎหมาย” ในประเทศไทย แต่ X ไม่ได้ปฏิบัติตามคำขอดังกล่าว จึงแจ้งมาให้ผู้ใช้ทราบตามนโยบายของแพลตฟอร์ม โดยพบว่าข้อความส่วนใหญ่ที่ถูกขอให้ปิดกั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเสนอรายงานว่าพบกรณีลักษณะนี้ไม่ต่ำกว่า 8 กรณี แต่ในภายหลังก็มีการพบเพิ่มเติมเป็นผู้ใช้ X อีก 3 ราย ที่ได้รับอีเมล์ดังกล่าว รวมเป็นไม่น้อยกว่า 11 กรณีแล้ว (แต่คิดเป็นรวมจำนวนอย่างน้อย 18 ทวีตข้อความ เพราะผู้ใช้บางรายถูกขอให้ปิดกั้นในหลายทวีตข้อความ)

สถานการณ์นี้ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มาจนถึงช่วงเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของแพทองธาร ชินวัตร โดยพบในช่วงหลังนี้อย่างน้อย 2 กรณี ได้แก่ กรณีผู้ใช้ @talkingpen88 โพสต์ภาพโควทข้อความคำแถลงของแพทองธาร ชินวัตร หลังได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมเขียนแคปชั่น “นี่คือ สปีชแรกหรอเนี่ย???” แต่กลับได้รับอีเมลว่าทาง X ได้รับคำขอจากทางการไทยว่าเนื้อหาละเมิดต่อกฎหมาย

หรือกรณีผู้ใช้ @oonginlavender โพสต์ภาพและข้อความเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2567 ให้ช่วยกันกระจายข่าวเรื่องที่คณะรัฐมนตรีฉวยโอกาสชุลมุนอนุมัติ พ.ร.ฏ.กำหนดจริยธรรมการวิจัย ที่กระทบเสรีภาพการทำงานวิจัย แทนที่จะเร่งช่วยน้ำท่วม ก็ถูกขอให้ปิดกั้นทวีตนี้เช่นกัน

สถานการณ์ดังกล่าวที่ยังเกิดขึ้นเป็นระยะ แม้ภายใต้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ทำให้เป็นที่น่ากังวลถึงการใช้อำนาจรัฐขอให้แพลตฟอร์มปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้จนเกินขอบเขต และนำไปสู่การพยายามปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์

.

X