ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คดี ม.112-116 ของ “เบลล์” เยาวชนพัทลุง เห็นว่าผิด 1 กระทง ยกฟ้องอีก 1 กระทง โทษจำคุกให้รอลงอาญา

24 ก.ค. 2567 ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุงนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ในคดีของ “เบลล์” นักศึกษาอายุ 20 ปี ที่ถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 (2) (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากข้อกล่าวหาว่าได้ไปร่วมถ่ายภาพจุดต่าง ๆ ในพัทลุง และนำไปใส่ข้อความทางการเมืองประกอบการโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2563  

ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น จากเดิมที่เห็นว่ามีความผิดใน 2 กระทง เป็นเห็นว่าจำเลยมีความผิดใน 1 กระทง ยกฟ้องอีก 1 กระทง ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี พร้อมกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติต่าง ๆ

.

ศาลชั้นต้นเห็นว่าผิดทั้ง 2 กระทง เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นให้คุมตัวที่ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนฯ 2 ปี แต่ในคดีผู้ใหญ่ ศาลพัทลุงยกฟ้อง

คดีนี้มี ร.ต.อ.รณกร หุ้มขาว เป็นผู้กล่าวหา มีการดำเนินการแยกเป็นสองส่วน ได้แก่ คดีของนักศึกษาและนักกฎหมายอาสา รวมจำนวน 3 ราย ที่ถูกสั่งฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดพัทลุง โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหาไปแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างรอว่ามีการอุทธรณ์คดีหรือไม่ และในส่วนคดีของ “เบลล์” ที่ขณะเกิดเหตุนั้นมีอายุ 17 ปี ทำให้ถูกแยกดำเนินคดีในศาลเยาวชน 

ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 เวลากลางคืน จนถึงวันที่ 25 พ.ย. 2563 เวลากลางวัน กลุ่มจำเลยได้ร่วมกันถ่ายรูปสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ อนุสรณ์สถาน พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ในท้องที่อำเภอเมืองพัทลุง แล้วนำไปตัดต่อพิมพ์ประกอบข้อความที่จัดทำขึ้น แล้วนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “พัทลุงปลดแอก” จำนวน 5 ภาพ และเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” จำนวน 15 ภาพ

อัยการโจทก์บรรยายแยกฟ้องเป็น 2 กระทง จากข้อความของสองเพจ โดยกล่าวหาว่าภาพและข้อความทั้งหมดมีเจตนาพาดพิงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความ และแสดงความอาฆาตมาดร้ายและทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

คดีนี้เบลล์ต่อสู้คดีเรื่อยมา ก่อนเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 ศาลชั้นต้นพิพากษาเห็นว่ามีความผิดตามมาตรา 112, มาตรา 116 (2) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ในทั้ง 2 กระทง โดยให้ยกฟ้องเฉพาะข้อหาตามมาตรา 116 (3) 

ศาลเชื่อว่าจากพยานหลักฐาน จำเลยเป็นแอดมินเพจ “พัทลุงปลดแอก” เกี่ยวข้องกับการโพสต์ภาพข้อความ โดยเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวเคยโพสต์ข้อความอ้างชื่อของจำเลย ให้ติดต่อร้องเรียนกรณีมีเรื่องถูกคุกคามได้ ส่วนภาพจากเพจ “ประชาธิปไตยที่ปลายด้ามขวาน” ศาลชั้นต้นระบุมีภาพและข้อความลักษณะเดียวกับเพจ “พัทลุงปลดแอก” จึงเชื่อว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นหรือสมคบกับเพจดังกล่าวด้วย  ส่วนตัวข้อความนั้น ศาลเชื่อตามพยานโจทก์ที่มาให้ความเห็นจำนวน 5 ปาก ที่เห็นว่าข้อความเป็นการหมิ่นประมาทและอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 ว่าประพฤติตนไม่เหมาะสม 

ศาลลงโทษจำเลยตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากขณะเกิดเหตุจำเลยอายุต่ำกว่า 18 ปี คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมโทษจำคุก 2 ปี 12 เดือน แต่เห็นว่าเพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของจำเลย จึงให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี 

ในวันดังกล่าว เบลล์ยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์ 7,500 บาท และได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา

.

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หลักฐานโจทก์ชี้ได้เพียงว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊กเดียว แก้เป็นผิด 1 กระทง และให้รอลงอาญา

วันนี้ เบลล์ ครอบครัว และที่ปรึกษากฎหมาย เดินทางไปที่ศาลเยาวชนฯ พัทลุง ศาลได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยสรุปเห็นว่า คดีนี้โจทก์คงนำสืบข้อเท็จจริงให้รับฟังได้เพียงว่า จำเลยร่วมกับพวกโพสต์ข้อความและภาพบนเพจเฟซบุ๊กชื่อ “พัทลุงปลดแอก” จำนวน 5 ภาพ ตามฟ้องในข้อที่ 1 เท่านั้น 

กรณีนี้จึงไม่อาจลงโทษจำเลยเป็น 2 กระทง ดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง และคดีนี้มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอที่จะใช้วิธีการรอการลงโทษจำเลยไว้ แทนที่จะส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน 

พิพากษาแก้เป็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีมีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 และขณะเกิดเหตุ จำเลยมีอายุมากกว่า 15 ปี แต่ต่ำกว่า 18 ปี จึงลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 75 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน

อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลย มีกำหนด 3 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยภายในเวลาดังกล่าว โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อควบคุมความประพฤติของจำเลยดังนี้

(1) ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง และทุกครั้งที่รายงานตัวให้ตรวจปัสสาวะ หากพบสารเสพติดให้โทษให้รายงานต่อศาลชั้นต้น

(2) ให้จำเลยศึกษาเล่าเรียนหรือประกอบอาชีพที่เป็นกิจลักษณะ

(3) ห้ามจำเลยคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี ห้ามเที่ยวในเวลากลางคืนและสถานเริงรมย์ทุกแห่ง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง

(4) ให้จำเลยทำงานบริการสังคม หรือบริการสาธารณะประโยชน์ หรือกิจกรรมอื่นใดเพื่อพัฒนาและส่งเสริมความประพฤติของจำเลย ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กำหนดระยะเวลา 24 ชั่วโมง ภายในระยะเวลา 2 ปี ให้พนักงานคุมประพฤติสอดส่องและรายงานผลการปฏิบัติข้างต้นต่อศาลชั้นต้นทุก 6 เดือน 

นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น


สำหรับเบลล์ พื้นเพเป็นคนจังหวัดพัทลุง ปัจจุบันเป็นนักศึกษานิติศาสตร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในศูนย์ที่หาดใหญ่ เขาเริ่มสนใจปัญหาเสรีภาพของนักเรียนในโรงเรียนตั้งแต่ช่วงปี 2563 โดยเริ่มทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องทรงผมและการใช้อำนาจในโรงเรียน ก่อนเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้เรื่อยมา ทำให้เคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้งตลอดสามปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวทางการเมืองยังทำให้เกิดความสนใจด้านกฎหมาย จนเลือกเรียนต่อในด้านนี้อีกด้วย

.

ย้อนอ่านเรื่องราวของเบลล์

“นี่คือยุคสมัยที่เราสร้างการเปลี่ยนแปลง”: คุยกับ ‘เบลล์’ เยาวชนพัทลุงผู้ต่อสู้คดี ม.112

ดูฐานข้อมูลคดีนี้

.

X