ศาลพัทลุงยกฟ้องคดี ม.112-116 “สามราษฎรใต้” ชี้พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

13 ก.พ. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดพัทลุงนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “สามราษฎรใต้” ได้แก่ ชมพูนุท (สงวนนามสกุล) นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , อลิสา บินดุส๊ะ สมาชิกกลุ่มนักกฎหมายอาสา Law Long Beach และ ศุภกร ขุนชิต บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ถูกฟ้องในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112, “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามมาตรา 116 (2) (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันขับขี่รถไปถ่ายภาพสถานที่ต่าง ๆ ในตัวเมืองพัทลุง เมื่อช่วงกลางดึกวันที่ 24 พ.ย. 2563 และนำภาพถ่ายไปใส่ข้อความทางการเมืองประกอบ ก่อนโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” จำนวนรวม 20 ภาพ

.

จำเลยต่อสู้ข้อความไม่เข้าข่าย ม.112-ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถ่ายและโพสต์ภาพตามฟ้อง

คดีนี้มี ร.ต.อ.รณกร หุ้มขาว ตำรวจฝ่ายสืบสวนของ สภ.เมืองพัทลุง เป็นผู้กล่าวหา อัยการได้สั่งฟ้องคดีโดยแยกเป็น 2 กระทง ได้แก่ กรณีการโพสต์ภาพในเพจ “พัทลุงปลดแอก” จำนวน 5 ภาพ และกรณีการโพสต์ภาพในเพจ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” จำนวน 15 ภาพ โดยบรรยายฟ้องกล่าวหาว่า ภาพและข้อความทั้งหมดมีเจตนาพาดพิงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความ และแสดงความอาฆาตมาดร้าย โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์

จำเลยทั้งสามได้ให้การปฏิเสธ ยืนยันต่อสู้คดีเรื่อยมา ศาลได้นัดหมายสืบพยานไปในสองช่วง ได้แก่ ช่วงวันที่ 7-9 มิ.ย. และ 7-10 พ.ย. 2566 โดยภาพรวม ข้อความในหลายภาพ พยานโจทก์เองก็ระบุว่าไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร สื่อไม่ได้ว่าหมายถึงถึงบุคคลใด หรือแม้เห็นว่าบางข้อความไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้เข้าข่ายมาตรา 112 รวมทั้งไม่ได้มีความวุ่นวายหรือไม่สงบเกิดขึ้นหลังจากการเผยแพร่ภาพข้อความดังกล่าว

แต่มีภาพข้อความบางส่วน ที่ปรากฏว่าถูกใส่บนภาพถ่ายที่มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พยานบางปากเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 และพระราชินี แต่ก็มีพยานที่รับในการตอบคำถามค้านว่า ข้อความเป็นสุภาษิตทั่วไป มีการใช้กันมาก่อนแล้ว

พยานโจทก์บางปากยังเชื่อมโยงภาพสถานที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะศาลหลักเมืองพัทลุง ว่าจะเป็นสถานที่ซึ่งรัชกาลที่ 10 จะเสด็จมาในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว การนำภาพสถานที่ พร้อมใส่ข้อความ ไปเผยแพร่ จึงเป็นการกระทำไม่เหมาะสม

ขณะที่ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโพสต์ภาพดังกล่าว และข้อความไม่ได้เข้าข่ายมาตรา 112 โดยจากพยานหลักฐานที่มีไม่สามารถบอกได้ว่าเพจตามฟ้องเกี่ยวข้องกับจำเลย หรือใครเป็นผู้โพสต์ถ่ายภาพและโพสต์ข้อความ ขณะที่เอกสารหลักฐานของตำรวจ ก็ไม่มี URL ของเพจประกอบ อาจมีการตัดต่อและใส่ข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยที่ฝ่ายจำเลยยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาเข้าเบิกความ เห็นว่าข้อความตามภาพต่าง ๆ ไม่เข้าข่ายมาตรา 112 ทั้งการนำกฎหมายมาใช้กล่าวหาลักษณะนี้ ไม่เป็นคุณต่อสถาบันฯ

ย้อนอ่านสรุปประมวลการต่อสู้คดีนี้ จับตาฟังคำพิพากษาคดี ม.112-116 “3 ราษฎรใต้” กรณีโพสต์ภาพสถานที่ในพัทลุง พร้อมใส่ข้อความการเมืองปี 2563

.

ศาลยกฟ้อง เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ ทั้งประจักษ์พยาน-กล้องวงจรปิด-สัญญาณมือถือ ยังไม่มีน้ำหนัก

การฟังคำพิพากษาในวันนี้ มีอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเพื่อนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เดินทางไปร่วมติดตามฟังคำพิพากษากว่า 20 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจของศาลมาติดตามควบคุมการพิจารณา ขณะที่จำเลยทั้งสามคนได้สวมเสื้อรณรงค์เรื่อง “นิรโทษกรรมประชาชน” มาฟังคำพิพากษาด้วย

ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ในคดีนี้ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ได้แก่ ประเด็นประจักษ์พยาน ซึ่งมีพยานโจทก์ 1 คน อ้างว่าเห็นรถยนต์ที่นำไปก่อเหตุถ่ายภาพในเมืองพัทลุง แต่พยานจำได้แค่เพียงสีรถกับป้ายทะเบียนยาว และในชั้นสอบสวนตำรวจไม่ได้เรียกพยานปากนี้มาสอบสวน ว่ารถที่พยานเห็น คือรถที่ใช้กระทำความผิดหรือไม่

ส่วนประเด็นภาพจากกล้องวงจรปิด ก็พบว่าไม่ชัดเจนเพียงพอจะระบุว่าเป็นรถของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยภาพสีของรถไม่ชัดเจน และยืนยันไม่ได้ว่ารถคันดังกล่าวคือรถที่ใช้กระทำความผิด

และประเด็นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ แม้เจ้าพนักงานตำรวจอ้างว่าตรวจสอบพบอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ แต่ก็ยืนยันไม่ได้ว่าคุยอะไรกัน และจำเลยอยู่ที่เดียวกับสัญญาณโทรศัพท์จริงหรือไม่

เมื่อจำเลยทั้งสามปฏิเสธตลอดมา และพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ คดีนี้เป็นคดีมีอัตราโทษสูง จึงต้องยกประโยชน์แห่งเหตุอันควรสงสัยให้แก่จำเลย พิพากษายกฟ้อง

แต่ศาลได้มีคำสั่งให้ออกหมายขังจำเลยทั้งสามระหว่างอุทธรณ์คดี เนื่องจากเห็นว่าแม้พิพากษายกฟ้อง แต่ยังอยู่ในระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 72 (6) ที่ให้อำนาจศาลสั่งขังจําเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดได้ ทำให้จำเลยทั้งสามคนต้องทำการประกันตัวในชั้นนี้ต่อไป

จนเวลาประมาณ 12.50 น. ศาลจังหวัดพัทลุงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสามคน โดยใช้ตำแหน่งนักวิชาการของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จำนวน 2 คน เช่นเดียวกับในชั้นสั่งฟ้องคดีก่อนหน้านี้ ตีราคาประกันจำเลยทั้งสามคน รวม 600,000 บาท โดยหลังจากนี้ ยังต้องรอว่าฝ่ายอัยการโจทก์จะอุทธรณ์คดีหรือไม่ต่อไป

.

* บันทึกการสังเกตการณ์โดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”

.

X