จับตาฟังคำพิพากษาคดี ม.112-116 “3 ราษฎรใต้” กรณีโพสต์ภาพสถานที่ในพัทลุง พร้อมใส่ข้อความการเมืองปี 2563

ในวันที่ 13 ก.พ. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดพัทลุงนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “สามราษฎรใต้” ได้แก่ ชมพูนุท (สงวนนามสกุล) นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (จำเลยที่ 1), อลิสา บินดุส๊ะ สมาชิกกลุ่มนักกฎหมายอาสา Law Long Beach (จำเลยที่ 2) และ ศุภกร ขุนชิต บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (จำเลยที่ 3)  ที่ถูกฟ้องในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112, “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามมาตรา 116 (2) (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันขับขี่รถไปถ่ายภาพสถานที่ต่าง ๆ ในตัวเมืองพัทลุง เมื่อช่วงกลางดึกวันที่ 24 พ.ย. 2563 และนำภาพถ่ายไปใส่ข้อความทางการเมืองประกอบ ก่อนโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” จำนวน 20 ภาพ

.

จำเลยถูกกล่าวหาใน 2 กระทง โพสต์ภาพใน 2 เพจ มีเยาวชนอีกรายถูกดำเนินคดีแยกไป

คดีนี้มี ร.ต.อ.รณกร หุ้มขาว ตำรวจฝ่ายสืบสวนของ สภ.เมืองพัทลุง เป็นผู้กล่าวหา โดยหลังเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวหาผ่านไปกว่าหนึ่งปี ตำรวจได้เข้าจับกุม ศุกภร ขุนชิต ถึงภายในมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 ขณะกำลังเพิ่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยอ้างหมายจับของศาลจังหวัดพัทลุง ก่อนนำตัวไปสอบสวนที่ สภ.เมืองพัทลุง

ก่อนที่เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 อลิสาและชมพูนุทจะได้เดินทางเข้ามอบตัวหลังทราบว่าถูกออกหมายจับเช่นเดียวกัน โดยทั้งสามคนไม่เคยได้รับหมายเรียกใด ๆ มาก่อน ก่อนศาลจะให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยใช้ตำแหน่งของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ต่อมาวันที่ 6 ก.พ. 2565 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทลุง ได้จัดทำบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ใหม่ ตามที่ผู้ต้องหาร้องขอ เนื่องจากในบันทึกมอบตัวหรือบันทึกขอฝากขังเดิมนั้น ไม่มีการระบุพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาให้ชัดเจนว่าการกระทำใดที่เข้าข่ายข้อกล่าวหา ทำให้ผู้ต้องหาไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ทั้งยังมีการระบุวันที่เกิดเหตุผิดพลาด โดยระบุว่าเหตุเกิดวันที่ 24 ส.ค. 2563 ก่อนตำรวจจะมีการแก้ไขเป็นวันที่ 24 พ.ย. 2563 ในบันทึกข้อกล่าวหาใหม่นี้

จากนั้นวันที่ 14 ก.พ. 2565 ทั้งสามคนได้ยื่นขอความเป็นธรรมไปยังพนักงานอัยการ เพื่อขอให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ แต่จนวันที่ 15 ก.พ. 2565 อัยการก็ได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ทันที

อัยการบรรยายฟ้องโดยแยกเป็น 2 กระทง โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2563 เวลากลางคืน จนถึงวันที่ 25 พ.ย. 2563 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันถ่ายรูปสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ อนุสรณ์สถาน พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ในท้องที่อำเภอเมืองพัทลุง แล้วนำไปตัดต่อพิมพ์ประกอบข้อความ แล้วนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “พัทลุงปลดแอก” จำนวน 5 ภาพ โดยมีข้อความ ได้แก่ “Land of Compromise ทำไมใช้ ม.112 #กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ”, “ไปด้วยกัน ไปได้ไกล ไปด้วยความรักความสามัคคี”, “EAT THE RICH”, “คิดถึงยอด SCB ใจจะขาด” และ “เผด็จการจงพินาศ เป็ดก้าบ ก้าบ จงเจริญ”

อีกกระทงหนึ่ง อัยการบรรยายฟ้องส่วนที่อ้างว่าในช่วงเวลาเดียวกัน จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ ในท้องที่อำเภอเมืองพัทลุง แล้วนำไปตัดต่อประกอบข้อความ โพสต์ในเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” จำนวน 15 ภาพ โดยมีข้อความ ได้แก่ “เลียตีนให้ตายยศมึงก็ไม่เท่า ฟู ฟู #สุนัขทรงเลี้ยงด้วยภาษีประชาชน” “เผด็จการจงพินาศ เป็ดก้าบ ก้าบ จงเจริญ” “1 2 3 4 5 ไอ้เหี้ย…” “Land of Compromise ทำไมใช้ ม.112 #กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ”, “#ภาษีกู #ภาษีกู #ภาษีกู”, “ก็เสียภาษีเหมือนกัน ทำไมถึงไม่มีรถไฟฟ้า ให้ดูที่บ้านเราบ้าง“, ภาพสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว, “จะปรับตัวทั้งที ช่วยมีสมองหน่อยน้า”, “กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ”, “3,008 ศพ ถีบลงเขา เผาลงถัง”, “#เราต้องช่วยกันเอาความจริงกันออกมา”, “King Killer”, “เราคือคนไทย เพราะเราถูกล่า อาณานิคม”, “ประชาชน=เจ้าของประเทศ” และ “30 นี้เจอกันแบบเบิ้มๆ ที่หอนาฬิกาหาดใหญ่”

พนักงานอัยการอ้างว่าภาพและข้อความดังกล่าวมีเจตนาพาดพิงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความ และแสดงความอาฆาตมาดร้ายและทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์

ในเวลาต่อมาในเดือน ก.ค. 2565 ตำรวจ สภ.เมืองพัทลุงยังได้ออกหมายเรียก “เบลล์” ไปรับทราบข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย โดยขณะเกิดเหตุเขาอายุ 17 ปี ทำให้ถูกแยกดำเนินคดีในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพัทลุง โดยคดีของเบลล์มีการต่อสู้คดี และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปก่อนแล้ว เห็นว่าเขามีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมโทษจำคุก 2 ปี 12 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นนำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เป็นระยะเวลา 2 ปี แทน โดยเบลล์ยังได้รับการประกันตัวและคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา

.

.

โจทก์กล่าวหาบางข้อความเป็นการหมิ่นกษัตริย์ เชื่อมโยงการเสด็จของ ร.10 หลังเกิดเหตุ

สำหรับคดีในส่วนของศาลจังหวัดพัทลุง จำเลยทั้งสามได้ให้การปฏิเสธ ยืนยันต่อสู้คดีเรื่อยมา ศาลได้นัดหมายสืบพยานไปในสองช่วง ได้แก่ ช่วงวันที่ 7-9 มิ.ย. และ 7-10 พ.ย. 2566

ทั้งนี้ คดีนี้แม้พนักงานอัยการพัทลุงเป็นผู้ฟ้องคดี แต่ในการสืบพยานได้ให้อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 มาเป็นผู้ทำคดี โดยเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการอัยการ ที่กำหนดเรื่องคดีความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรนั้น ให้อัยการจากสำนักงานอัยการภาค 9 มาเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดี (ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้, สงขลา, สตูล, ตรัง และพัทลุง)

ฝ่ายโจทก์พยายามกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามคนเป็นผู้ไปขับรถถ่ายภาพสถานที่ในตัวเมืองพัทลุง ก่อนนำมาใส่ภาพข้อความ และนำไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊กเพจสองเพจที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ โดยข้อความบางส่วนเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทกษัตริย์ ทั้งยังนำสืบบริบทของการแสดงออกดังกล่าวว่าเกี่ยวข้องกับการที่รัชกาลที่ 10 และพระราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดศาลหลักเมืองพัทลุงในวันที่ 28 พ.ย. 2563 อีกด้วย

ฝ่ายโจทก์นำพยานทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน พนักงานสอบสวน และพยานความคิดเห็นที่นำมาให้ความเห็นต่อข้อความจำนวน 5 ปาก อาทิ ครู ทนายความในพื้นที่ และนักการเมืองท้องถิ่น โดยเป็นการให้พยานแต่ละปากดูภาพข้อความไล่ไปรวม 20 ภาพ พร้อมให้ความเห็น

สำหรับโดยภาพรวม ข้อความในหลายภาพ พยานโจทก์เองก็ระบุว่าไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร หรือสื่อไม่ได้ว่าหมายถึงถึงบุคคลใด หรือแม้เห็นว่าบางข้อความไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่ได้เข้าข่ายมาตรา 112 รวมทั้งไม่ได้มีความวุ่นวายหรือไม่สงบเกิดขึ้นหลังจากการเผยแพร่ภาพข้อความดังกล่าว

แต่มีภาพข้อความบางส่วน ที่ปรากฏว่าถูกใส่บนภาพถ่ายที่มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ เช่น “Land of Compromise ทำไมใช้ ม.112 #กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ” พยานบางปากเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 และพระราชินี แต่ก็มีพยานที่รับในการตอบคำถามค้านว่า เป็นสุภาษิตทั่วไป มีการใช้กันมาก่อนแล้ว

หรือข้อความว่า “#ภาษีกู #ภาษีกู #ภาษีกู”, “จะปรับตัวทั้งที ช่วยมีสมองหน่อยน้า” ที่ปรากฏบนพระบรมฉายาลักษณ์เช่นกัน พยานโจทก์ก็มองว่าไม่เหมาะสม แต่ก็รับว่าเป็นข้อความที่ไม่ได้ระบุว่าหมายถึงบุคคลใด

พยานโจทก์บางปากยังเชื่อมโยงภาพสถานที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะศาลหลักเมืองพัทลุง ว่าจะเป็นสถานที่ซึ่งรัชกาลที่ 10 จะเสด็จมา การนำภาพสถานที่ดังกล่าว พร้อมใส่ข้อความอาทิ “เผด็จการจงพินาศ เป็ดก้าบ ก้าบ จงเจริญ”  “กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” ไปเผยแพร่ จึงเป็นการกระทำไม่เหมาะสม

ที่น่าสนใจ พยานปาก นัญธิดา รักสกุล ทนายความในพัทลุง ได้เบิกความเห็นว่าข้อความในภาพ “30 นี้เจอกันแบบเบิ้ม ๆ ที่หอนาฬิกาหาดใหญ่” พยานเข้าใจว่าเป็นการนัดหมายก่อการร้าย จากคำว่า “เบิ้มๆ” อาจจะหมายถึงการระเบิด แต่เป็นพยานปากนี้เพียงปากเดียวที่เบิกความลักษณะนี้ ส่วนปากอื่น ๆ เห็นว่าเป็นการนัดหมายทั่วไป โดยข้อเท็จจริง คือในวันที่ 30 พ.ย. 2563 มีการนัดหมายชุมนุมของกลุ่มเยาวชนที่หอนาฬิกาหาดใหญ่

.

.

ตำรวจตรวจสอบสัญญาณโทรศัพท์มือถือจำเลยทั้งสาม คาดว่าอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ แต่ไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าใครเป็นผู้โพสต์ในเพจ

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการพิสูจน์ว่าจำเลยทั้งสามคนเกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความในเพจที่ถูกกล่าวหาทั้งสองเพจหรือไม่

พยานโจทก์ปากสำคัญคือ ร.ต.อ.ภูนท เรืองยิ่ง เป็นพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทลุง ในขณะเกิดเหตุ โดยคดีมี ร.ต.อ.รณกร หุ้มขาว เข้าแจ้งความเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 กล่าวหาต่อแอดมินเพจ “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” ในข้อหาตามมาตรา 112 ต่อมาผู้บังคับบัญชาได้มีการตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเพื่อทำคดีนี้

ปากคำพนักงานสอบสวน ระบุว่า ในช่วงเกิดเหตุ พนักงานติดไฟในจังหวัดได้พบว่ามีการฉายโปรเจคเตอร์ที่หน้าศาลหลักเมืองพัทลุง จึงไปแจ้งกับตำรวจ  ต่อมามีการสืบรูปพรรณรถต้องสงสัยที่ใช้ก่อเหตุ จากภาพกล้องวงจรปิด และได้ตรวจสอบทะเบียนรถดังกล่าว ซึ่งคาดว่าน่าจะมีจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นผู้ขับขี่

ตำรวจยังมีการตรวจสอบข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์จากเบอร์โทรที่อ้างว่าเป็นของจำเลยทั้งสามในคืนเกิดเหตุ พบว่ามีสัญญาณอยู่ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง

ตำรวจระบุว่าตามรายงานการสืบสวน พบว่าเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับ “เบลล์” เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีแยกออกไป ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ น่าจะร่วมนั่งรถไปกับจำเลยที่ 1 

ฝ่ายพนักงานสอบสวนยังได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ในภาพและได้ถ่ายภาพไว้ และนำมาจัดทำเป็นแผนผังที่เกิดเหตุ และยังได้สอบพยานความเห็นที่มาจากหลายวิชาชีพอีกจำนวน 5 ปาก ก่อนรวบรวมพยานหลักฐานขอออกหมายจับจำเลยทั้งสามคน ส่วนกรณีของเยาวชนอีกหนึ่งคน ศาลเยาวชนฯ ไม่อนุญาตหมายจับ เนื่องจากเห็นว่ายังเป็นเยาวชน จึงให้ตำรวจออกหมายเรียกมารับทราบข้อหาแทน

จากการถามค้านของทนายความ ทางตำรวจได้มีการสืบสวนสอบสวนก่อนจะมีการแจ้งความในคดีนี้แล้ว โดยอ้างว่าเป็นคดีสำคัญ และรับว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาไม่ชัดเจนในตอนแรก โดยไม่ได้แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาต่อผู้ต้องหา ทำให้ต้องมีการเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาใหม่ทั้งหมด

ในส่วนของสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่พนักงานสอบสวนอ้าง มี พ.ต.ท.จตุรงค์ จงหวัง เป็นผู้ตรวจสัญญาณโทรศัพท์ แล้วส่งให้พยานเป็นไฟล์ Excel ในวันที่ 21 ธ.ค. 2563 แต่จะได้ข้อมูลได้อย่างไร พนักงานสอบสวนก็ไม่ทราบ ไม่ทราบว่าไฟล์ดังกล่าวแก้ไขได้หรือไม่ และทั้งความหมายของพวกสัญญาณต่าง ๆ นั้น ฝ่ายพนักงานสอบสวนก็ไม่ทราบ และไม่ได้เรียกผู้จัดทำเอกสารมาสอบคำให้การแต่อย่างใด

ในการสอบสวน ไม่มีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ทั้งจากการตรวจสอบกล้องวงจรปิด ไม่ได้เห็นภาพของจำเลยทั้งสามแต่อย่างใด เห็นเพียงแต่รถยนต์ที่คาดว่าเป็นของจำเลยที่ 1 และไม่สามารถยืนยันได้ว่าทั้งสามคนจะอยู่ในรถคันเดียวกัน

พนักงานสอบสวนยังรับว่า จากการสืบสวนจากเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา ไม่พบว่าจำเลยที่ 2 เคยร่วมกิจกรรมในจังหวัดพัทลุง แต่พบว่าจำเลยที่ 3 เคยมาร่วมปราศรัยในพัทลุง 1 ครั้ง ฝ่ายพนักงานสอบสวนเห็นว่าจำเลยทั้ง 3 พร้อมกับ “เบลล์” นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกัน แต่ไม่ทราบว่าใครจะเป็นแอดมินเพจ ใครเป็นคนโพสต์ภาพ หรือโพสต์จากที่ไหน โดยได้ขอให้ทาง บก.ปอท. ตรวจสอบ แต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันในช่วงเกิดเหตุและภายหลัง ก็รับว่าไม่ได้มีการชุมนุมหรือเกิดความวุ่นวายใด ๆ

.

.

ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพ และเป็นผู้โพสต์ข้อความในเพจตามฟ้อง

ด้านฝ่ายจำเลย ได้ต่อสู้คดีโดยนำพยานขึ้นเบิกความจำนวน 5 ปาก แบ่งเป็นจำเลยทั้งสามเอง พยานผู้เชี่ยวชาญทางอิเล็กทรอนิกส์ และพยานด้านภาษาไทย

โดยสรุป ชมพูนุท จำเลยที่ 1 อายุ 26 ปี ศึกษาชั้นปริญญาเอก คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในช่วงเกิดเหตุ พยานจะทำแลปและรายงานความก้าวหน้าในตอนเย็นของทุกวัน เนื่องจากได้ทุนของคณะ โดยต้องทำวิจัยให้เป็นที่น่าพอใจ หัวข้อวิจัยใหญ่ 1 เรื่อง และมีเรื่องย่อยอื่น ๆ อีก โดยจำเลยได้ยื่นประวัติของตนเองประกอบต่อศาล

พยานเบิกความว่า ตนได้เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกภาคใต้ในปี 2563-64 โดยทำกิจกรรมเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ แต่หลัง ๆ พยานไม่ได้ทำกิจกรรมแล้วเนื่องจากการเรียนหนัก และพยานไม่เคยเป็นแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวใด เป็นแต่เพียงผู้เข้าร่วม

พยานเล่าถึงเหตุในช่วงวันที่ 24-26 พ.ย. 2563 พยานได้ไปที่มหาวิทยาลัย และตอนเย็นก็กลับมาอยุ่ที่คอนโด ไม่ทราบเรื่องที่จะมีการเสด็จ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพจทั้งสองเพจที่ถูกฟ้อง และพยานไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกบัการจัดทำภาพที่ถูกฟ้องทั้ง 20 ภาพดังกล่าว ในเรื่องรถยนต์ของพยาน ก่อนหน้านี้มีผู้ใช้หลายคน เพราะส่วนใหญ่เพื่อน ๆ มีรถจักยานยนต์ จึงถูกขอยืมนำไปใช้ขนของหรือซื้อของอยู่บ่อยครั้ง

พยานรับว่ารู้จักกับจำเลยอีกสองคน แต่ไม่รู้จักกับ “เบลล์” เยาวชนอีกคนหนึ่ง ทราบว่าจำเลยที่ 2 มีรถยนต์เป็นของตัวเอง ส่วนจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์ไม่ได้

ส่วนเหตุการณ์ชุมนุมที่หาดใหญ่วันที่ 30 พ.ย. 2563 พยานไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม แต่ทราบว่ามีการจัดกิจกรรม โดยไม่รู้ว่าใครเป็นผู้จัด ในวันนั้นพยานไม่ได้ให้ใครใช้รถ

พยานยังได้เบิกความชี้แจงถึงภาพถ่ายที่ตำรวจรวบรวมมาว่าเป็นตัวพยาน ที่เข้าร่วมชุมนุมครั้งต่าง ๆ อาทิ ภาพพยานฉายเลเซอร์อยู่ เป็นงานของเฟมินิสต์ปลดแอกภาคใต้ ฉายแค่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยพยานและเพื่อนเป็นคนทำ เพื่อเรียกร้องต่อสภากาชาดเรื่องการเลือกปฏิบัติเพราะไม่รับเลือดของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้มารับชม

หรือภาพที่ปราศรัยอยู่ เป็นเหตุการณ์วันที่ 14 ก.พ. 2564 พยานวิจารณ์การทำงานของตำรวจในเรื่องของการสลายการชุมนุม และมีตำรวจถ่ายภาพและวิดีโอเอาไว้ หลังจากเหตุการณ์นั้น อาจารย์ของพยานไม่อยากให้พยานไปเคลื่อนไหวในกิจกรรมทางการเมือง เนื่องจากอาจกระทบต่อทุน พยานจึงได้ทำตามที่อาจารย์ขอ

คดีนี้ หลังทราบว่าตนเองถูกดำเนินคดี เนื่องจากจำเลยที่ 3 ถูกตำรวจไปล้อมจับในมหาวิทยาลัย และแจ้งว่ามีชื่อของอีกสองคน พยานพร้อมกับจำเลยที่ 2 จึงไปแสดงตัวที่ สภ.เมืองพัทลุง และปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา เพราะตำรวจไม่ได้มีการแจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหา โดยพยานก็ได้เขียนสาเหตุไว้ในการให้การ และพยานเองก็ให้การปฏิเสธข้อหาตลอดมา

.

จำเลยที่ 2 อลิสา บินดุส๊ะ อายุ 28 ปี เรียนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยจบการศึกษาเมื่อปี 2563 คดีนี้พยานให้การปฏิเสธเรื่อยมา

ในคืนเกิดเหตุวันที่ 24 ถึง 26 พ.ย. 2563 พยานอยู่ที่บ้านที่จังหวัดสงขลา เพราะต้องไปศาลจังหวัดสงขลาเพื่อติดตามคดีการตายของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ไม่ได้ไปที่จังหวัดพัทลุง ภาพทั้ง 20 ภาพ ในฟ้องพยานไม่เกี่ยวข้องและไม่ทราบอะไรเลย เพราะพยานไม่ได้เกี่ยวกับกิจกรรมที่พัทลุง และพยานก็มีรถยนต์เป็นของตนเอง

สำหรับกิจกรรมทางการเมืองในจังหวัดสงขลานั้น พยานจะทำในเรื่องของสิทธิชุมชน, การให้บริการทางกฎหมาย ส่วนการชุมนุม ก็มีไปในลักษณะผู้สังเกตการณ์  

ในวันที่ 28 พ.ย. 2563 พยานไม่ทราบว่าจะมีการเสด็จของพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ส่วนในการชุมนุมวันที่ 30 พ.ย. 2563 พยานไม่ได้เป็นผู้จัด เพียงแต่ไปร่วมสังเกตการณ์ เพราะวันนั้นมีการชุมนุมสองลักษณะชนกัน

พยานทราบว่าตนถูกดำเนินคดีตอนที่จำเลยที่ 3 ถูกล้อมจับ จึงประสานเข้ามอบตัวและไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกของตำรวจ เนื่องจากไม่มีการแจ้งพฤติการณ์ที่กระทำความผิด ในบันทึกมอบตัวก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริง อันเป็นพฤติการณ์ของคดี ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาครั้งแรก พยานก็ยังไม่ได้เอกสารจากทางตำรวจ เพื่อใช้ในการต่อสู้คดี

.

.

จำเลยที่ 3 ศุภกร ขุนชิต มีภูมิลำเนาอยู่พัทลุง จบการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2564 ขณะนี้ทำธุรกิจส่วนตัว 

ขณะศึกษา พยานทำกิจกรรมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่ายอาสา หรือกิจกรรมชมรมอื่น ๆ  โดยได้เป็นรองนายกองค์การนักศึกษา ในช่วงปี 2561-2562 แต่ในปี 2563 พยานเป็นที่ปรึกษา

ในปี 2563 พยานเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ไม่ได้เป็นกลุ่มในจังหวัดสงขลา เนื่องจากมีกลุ่มทางการเมืองเกิน 30 กลุ่ม เพราะทุกสถานศึกษาล้วนมีกลุ่มทางการเมืองทั้งหมด โดยเรียกร้องในประเด็นโควิด-19 การบริหารของรัฐบาล การแก้รัฐธรรมนูญ การทุจริต การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ในครั้งแรกที่พยานขึ้นปราศรัย เนื่องจากมีตำรวจเข้าไปคุกคามพยานถึงบ้าน 20 กว่าคน แต่เจอพี่สาว พยานจึงโพสต์ด่าตำรวจในเฟซบุ๊กของตน หลังจากนั้นพยานเข้าร่วมเป็นพิธีกรเนื่องจากรุ่นน้องในโรงเรียนชวนไป เพราะเห็นว่าเคยเป็นพิธีกรในงานอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว พยานเคยไปร่วมกิจกรรมที่จังหวัดพัทลุง 1 ครั้ง ส่วนคนที่เชิญพยานมานั้น ถูกตำรวจเข้าไปคุกคามถึงที่บ้าน จึงไม่ได้มาในการชุมนุมนั้น และพยานไม่ได้เป็นแกนนำในจังหวัดพัทลุงแต่อย่างใด

ในช่วงเกิดเหตุพยานไม่ได้อยู่ในพัทลุง แต่อยู่ที่จังหวัดสงขลา และพยานไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊กทั้งสองเพจตามฟ้อง พยานเพียงแต่เคยกดถูกใจ โดยในตอนนั้นมีเพจลักษณะนี้เยอะมาก  พยานรู้จักจำเลยที่ 1 เพราะอยู่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ส่วนจำเลยที่ 2 พยานทราบว่าเป็นรุ่นพี่

วันที่ 30 พ.ย. 2563 ในการการชุมนุมหน้าหอนาฬิกาหาดใหญ่ พยานร่วมเป็นพิธีกร และพยานรับว่ามีชื่อของตนเองอยู่ในบัญชีรับบริจาคสำหรับกิจกรรม ร่วมกับเพื่อนนักศึกษารุ่นร้องอีกคนหนึ่ง เพราะชื่อของพยานเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว และเพียงเป็นการบริจาคสำหรับชุดเครื่องเสียง และงานจัดการ พยานยืนยันว่าตนเองขับรถยนต์ไม่เป็น

พยานเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตนถูกตำรวจล้อมจับ ว่าตอนนั้นพยานไปฉีดวัคซีน มีตำรวจมาประมาณ 20 คน ในชั้นจับกุมพยานให้การปฏิเสธ ตลอดการให้การทั้ง 3 ครั้ง ส่วนเรื่องของคดีคาร์ม็อบที่พยานโดนฟ้องเป็นจำเลยนั้นศาลแขวงสงขลายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้ว โดยคดีนี้มีผู้ตกเป็นจำเลยเหมือนพยานประมาณ 10 คน โดยพยานก็ไม่ใช่คนจัดกิจกรรม

พยานระบุว่าในช่วงเกิดเหตุ พยานไม่ทราบว่าจะมีการเสด็จที่พัทลุง เพราะเรียนอยู่ที่สงขลา พยานระบุว่าตนถูกตำรวจคุกคามหลายครั้งและได้ปราศรัยวิจารณ์การทำงานตำรวจ อาจจะเรียกได้ว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับเจ้าหน้าที่ก็ได้

.

พยานผู้เชี่ยวชาญทางอิเล็กทรอนิกส์ เห็นว่าพยานหลักฐานที่มีบอกไม่ได้ว่าแอดมินเพจตามฟ้องเป็นใคร และเอกสารตำรวจ ก็ไม่มี URL เพจ

พยานจำเลยอีกปากหนึ่ง เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำงานในบริษัทเอกชนด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ มีหน้าที่ ออกแบบ ปรับปรุง และพัฒนาระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยจบการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์

พยานปากนี้ได้เบิกความถึงการใช้งานเฟซบุ๊ก ว่ามีทั้งระบบแบบบัญชีส่วนตัว และระบบเพจ ซึ่งต้องมีแอดมินเพจ และมีได้มากกว่า 1 คนขึ้นไป ส่วนการที่จะรู้ว่าใครเป็นแอดมินเพจมีทั้งหมด 2 วิธี หนึ่งคือทราบรหัสและอีเมลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก สองคือสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ผู้ใช้งานเช่นมือถือหรือโน๊ตบุ๊กได้

พยานให้ความเห็นว่าจากพยานหลักฐานในคดีนี้ ไม่มีการเข้าถึงข้อมูลการตรวจสอบจากทั้ง 2 วิธี ในเอกสารการสืบสวน ก็ระบุไม่ได้ว่าใครคือเป็นแอดมินเพจ “พัทลุงปลดแอก” โดยตัวเลขไอดีที่ระบุในเอกสารคือเลขประจำตัวว่าเฟซบุ๊กแฟนเพจนั้นมีจริง ไม่มีลักษณะเป็นตัวเลขเปรียบเทียบกับเลขบัตรประชาชนหรือเลขทะเบียนบ้าน

ส่วน URL คือที่อยู่ของเว็บที่สมบูรณ์เข้าถึงได้แบบเจาะจง จะอยู่ด้านล่างเวลาพิมพ์ออกมา ทำให้รู้ว่ามีจริง ถ้ากดลิงก์ก็จะรู้ว่า URL นั้นมีจริง และสามารถเข้าถึงได้ โดยพบว่าจากเอกสารโจทก์เกี่ยวกับเพจ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” และ “พัทลุงปลดแอก” ไม่ปรากฏ URL ของเพจ เอกสารต่าง ๆ ไม่ปรากฏ URL แต่มีลักษณะมาจากการตัดและใส่ข้อมูลเพิ่มเข้าไป โดยอาจเป็นการนำภาพไปใส่ในโปรแกรมอื่น ทำให้ตัดต่อข้อมูลอื่นมาใส่ได้

.

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา เห็นว่าข้อความไม่เข้า ม.112 การนำมาใช้กล่าวหาลักษณะนี้ ไม่เป็นคุณต่อสถาบันฯ

พยานจำเลยปากสุดท้าย เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและการตีความ โดยทำอาชีพเป็นนักแปลด้านประวัติศาสตร์ วิชาการ และวรรณกรรม

พยานให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพทั้ง 20 ภาพ ในคดีนี้ เห็นว่าไม่ได้เข้าข่ายมาตรา 112 ที่สำคัญอาทิ ข้อความว่า “Land of Compromise ทำไมใช้ ม.112 #กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ” พยานเห็นว่าพอแปลความร่วมได้ว่าเป็นแผ่นดินแห่งการประนีประนอม คือการตั้งคำถามว่าถ้าประนีประนอมจริง ทำไมถึงยังใช้ ม.112

ในประเด็นนี้ พยานเห็นว่า ม.112 มีการอภิปรายกันมากว่าถูกนำมาใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองเยอะ พยานก็เห็นว่าถ้านำมาใช้มากเกินไปเช่นนี้ ก็จะไม่เป็นคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ออกมาจากประชาชน ส่วนคำว่า “กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ” ก็เป็นคำทำนองสุภาษิตที่ใช้มานานในประวัติศาสตร์

ส่วนข้อความอื่น ๆ ก็มีทั้งลักษณะการชวนกันทำกิจกรรม การกล่าวถึงตำรวจให้รับใช้ประชาชน กล่าวถึงภาษีของประชาชน กล่าวถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์กรณีถีบลงเขา เผาลงถังแดง หรือไม่ก็ตีความไม่ได้ชัดเจน

แม้อัยการโจทก์พยายามถามค้าน แต่พยานยืนยันความเห็นว่าการดำเนินคดีลักษณะนี้ เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมา และเอาออกจากใจของประชาชน มุมมองนี้มาจากคนที่รักสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกัน

.

ย้อนดูฐานข้อมูลคดีนี้

คดี 112 “3 นักกิจกรรม ‘ราษฎรใต้’” เหตุโพสต์ภาพพร้อมข้อความแสดงออกทางการเมืองในเพจ “พัทลุงปลดแอก”

.

X