นักกิจกรรมภาคใต้อย่างน้อย 2 ราย ถูกตำรวจไปหาถึงบ้าน-ที่ทำงาน เหตุมีเสด็จไปสงขลา

เมื่อวันที่ 4-5 ก.พ. 2568 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งถึงกรณีนักกิจกรรมที่เคยออกมาร่วมชุมนุมทางทางการเมืองในช่วงปี 2563-64 ในพื้นที่ภาคใต้ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปติดตามถึงที่บ้านและที่ทำงาน อย่างน้อย 2 ราย ในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดตรัง โดยตำรวจระบุว่าเนื่องจากมีการเสด็จมายังจังหวัดสงขลา ทำให้มีคำสั่งให้มาติดตาม-ถ่ายภาพ แม้ประชาชนทั้งคู่จะไม่ทราบเรื่องการเสด็จเลยก็ตาม

.

กรณีแรก “เบลล์” นักศึกษาในจังหวัดพัทลุง ซึ่งเคยออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง และเคยถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ขณะยังเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ก่อนหน้านี้เคยถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปบ้านหลายครั้ง เปิดเผยว่าในช่วงเดือน ม.ค. และ ก.พ. 2568 นี้ เขาถูกตำรวจมาหาที่บ้านถึง 2 ครั้งแล้ว เหตุเนื่องจากเจ้าหน้าที่ระบุว่ามีการเสด็จมาในจังหวัดใกล้เคียง

ครั้งแรก เมื่อช่วงเดือนมกราคม มีตำรวจฝ่ายสืบสวนโทรศัพท์มาหา แจ้งว่าจะขอเข้ามาถ่ายรูปที่บ้าน เนื่องจากมีการเสด็จ แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามีผู้ใดเดินทางมา แต่เบลล์ไม่อยู่บ้าน ไปทำงานที่ต่างจังหวัด จึงคิดว่าเจ้าหน้าที่คงไม่เข้ามาหา แต่กลายเป็นว่ายังมีตำรวจเข้าไปถ่ายรูปกับครอบครัวของเขาที่บ้าน ทั้งที่เขาไม่อยู่ 

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2568 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 1 นาย ฝ่ายสืบสวนของสถานีตำรวจในพื้นที่ เดินทางเข้ามาพบเบลล์ที่บ้าน แจ้งว่าเข้ามาพูดคุยด้วย เนื่องจากจะมีการเสด็จมายังจังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่ได้ขอถ่ายรูปด้วย พร้อมพยายามสอบถามว่าเขาทำอะไรอยู่ช่วงนี้ เรียนเป็นอย่างไร คดีเป็นยังไงบ้าง 

เบลล์พยายามสอบถามว่านอกจากเขามีใครโดนแบบนี้อีกหรือไม่ ตำรวจแจ้งว่าน่าจะมีอีก เพราะ “นาย” เขาให้เช็ค แต่ไม่ได้บอกชัดเจนว่ามีใครอีกบ้าง แต่ระบุว่าที่เบลล์โดน เพราะเขาเคยมีคดีความอยู่ เวลามีเสด็จ ก็ได้รับคำสั่งให้ต้องมาติดตาม

จากการตรวจสอบภายหลัง พบว่าในวันที่ 7 ก.พ. 2568 รัชกาลที่ 10 และพระราชินี มีกำหนดการเสด็จมาเปิดอาคารที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ และเปิดอาคารที่ทำการศาลแขวงสงขลา ซึ่งเบลล์ไม่ทราบเรื่องมาก่อน และไม่ได้คิดจะเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ 

.

อีกกรณีหนึ่ง “ต้นสน” (นามสมมติ) อดีตนักกิจกรรมในจังหวัดตรัง เขาเคยออกทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา และเริ่มถูกเจ้าหน้าที่ติดตามมาตั้งแต่นั้น แต่ไม่เคยถูกดำเนินคดีใด ๆ มาก่อน 

ต้นสนระบุว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เขาถูกเจ้าหน้าที่มาหาที่ทำงานอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะทุกครั้งที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่ แม้ไม่ได้มาจังหวัดตรัง แต่มาจังหวัดใกล้เคียง ก็ถูกตำรวจมาติดตาม ทั้งกรณีของสมาชิกราชวงศ์ หรือกรณีนายกรัฐมนตรีทั้งในสมัยประยุทธ์ จันทร์โอชา, เศรษฐา ทวีสิน จนแทบกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่ยังไม่เคยถูกติดตามในรัฐบาลของแพทองธาร ชินวัตร มาก่อน จนกระทั่งครั้งนี้ ทั้งเขาไม่เคยไปแสดงออกในช่วงที่มีบุคคลใดมาลงพื้นที่แต่อย่างใด

ต้นสนระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบกัน ช่วงรัฐบาลประยุทธ์ จะโดนค่อนข้างหนักและถี่กว่าในช่วงหลัง แต่กระนั้นการติดตามมาหาถึงที่ทำงาน ก็ยังมีอยู่ ไม่ว่ารัฐบาลไหน หลายครั้งสร้างผลกระทบให้การทำงานของเขา โดยเคยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาขณะเขาดูแลลูกค้าอยู่ หรือมานั่งเฝ้าอยู่บริเวณที่ทำงานเลย ทำให้รู้สึกรำคาญ และส่งผลกระทบต่อการทำมาหากิน

เหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 1 นาย เข้ามาหาเขาที่ทำงาน แต่สังเกตว่าในรถของเจ้าหน้าที่ ยังมีเจ้าหน้าที่อีกหลายนายรออยู่บนรถ ตำรวจระบุกับเขาว่าจะมีขบวนเสด็จมาจังหวัดสงขลา จึงได้รับคำสั่งให้มาดูเขา 

เจ้าหน้าที่ได้ขอถ่ายรูปกับเขา เพื่อนำไปรายงาน และยังพยายามขอเบอร์โทรศัพท์เขาใหม่ พร้อมขอถ่ายภาพทะเบียนรถของเขา แต่ต้นสนให้เฉพาะเบอร์โทรไป ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปยานพาหนะ

ต้นสนยังสอบถามว่าครั้งนี้มีใครต้องไปติดตามแบบนี้บ้าง เจ้าหน้าที่ระบุว่ามีรายชื่ออีก 4-5 คนในจังหวัดตรัง โดยคนหนึ่งทราบว่าเป็นรุ่นน้องที่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย แต่ตอนนี้ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ จึงไม่ทราบว่าตำรวจไปบ้านแบบเขาอีกหรือไม่ 

ต้นสนระบุว่า ในรอบนี้เจ้าหน้าที่มาก็พูดคุยด้วยค่อนข้างดี  สุภาพมากขึ้น เปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ ที่เขารู้สึกว่าตำรวจที่มาจะห้าว ๆ กว่านี้ ทั้งเจ้าหน้าที่ยังบ่นถึงต้องมาทำตามคำสั่งในเรื่องแบบนี้ แม้จะมีงานอื่น ๆ ต้องทำอีกมากก็ตาม

ต้นสนระบุว่า ในแทบทุกครั้ง ที่เจ้าหน้าที่มาติดตาม เขาไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีใครเดินทางมาที่ไหน อย่างไร แต่กลายเป็นตำรวจเองที่มาแจ้งให้ทราบตลอด แม้เขาไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก แต่ก็ยังไม่รู้จะทำให้เจ้าหน้าที่หยุดได้อย่างไร

.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า สถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าติดตามนักกิจกรรม หรือประชาชนที่เคยออกมาชุมนุมทางการเมือง ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเหตุเนื่องจากมีบุคคลสำคัญลงพื้นที่ ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้ไปติดตามประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยในช่วงปี 2567 พบกรณีลักษณะนี้ตลอดปีอย่างน้อย 31 กรณี แยกเป็นกรณีการลงพื้นที่ของสมาชิกราชวงศ์ 20 กรณี และกรณีเกี่ยวกับการลงพื้นที่ของบุคคลในคณะรัฐมนตรี 11 กรณี 

แต่สถิติดังกล่าว เป็นเพียงตัวเลขเท่าที่ทราบข้อมูลเท่านั้น คาดว่ามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นและไม่ได้ถูกบันทึกข้อมูลอีกหลายราย โดยผู้ถูกละเมิดสิทธิหลายคน ถูกดำเนินการจนกลายเป็นเรื่อง “ปกติ” ในชีวิตประจำวันไปแล้ว 

.

X