เมื่อช่วงอาทิตย์ต้นเดือนธันวาคม 2566 มีรายงานกรณีนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ ได้แก่ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและกระบี่ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปหาถึงบ้าน และโทรศัพท์สอบถามความเคลื่อนไหว เท่าทีทราบข้อมูลอย่างน้อย 3 ราย โดยสถานการณ์ติดตามดังกล่าว เกี่ยวเนื่องกับการเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ไปเป็นการส่วนพระองค์ที่จังหวัดภูเก็ต
“รัชตะ” (สงวนชื่อสกุลจริง) นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ผู้เคยทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีช่วงปี 2563-64 เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2566 ตนได้รับการติดต่อจากยายว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย คาดว่าเป็นตำรวจฝ่ายสืบสวนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มาสอบถามถึงการเคลื่อนไหวของตนเอง ถึงบ้าน ซึ่งมี ยาย น้า และหลานอีกสองคนอาศัยอยู่ โดยตนไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว
ตำรวจได้พูดคุยกับยาย โดยสอบถามถึงรัชตะ ว่าไปอยู่ไหน ตอนนี้ยังทำกิจกรรมอยู่หรือไม่ มีแผนจะไปที่ไหนหรือไม่ เดินทางบ่อยหรือไม่ และจะได้ไปจังหวัดภูเก็ตหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ยังระบุว่าจะมีการเสด็จไปยังจังหวัดภูเก็ต ทำให้ต้องมาติดตามรัชตะด้วย รวมทั้งยังเตือนผ่านยายว่า อย่าให้หลานออกไปทำกิจกรรมอะไร
ต่อมาวันที่ 7 ธ.ค. 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 3 นาย ได้เดินทางมาที่บ้านของยายรัชตะอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้ได้สอบถามเจาะจง ขอให้ยายยืนยันว่ารัชตะไม่ได้เดินทางไปที่จังหวัดภูเก็ต และไม่ได้ไปทำกิจกรรมที่ไหน โดยยังได้ขอดูโทรศัพท์มือถือของยายของรัชตะ เพื่อตรวจเช็คเบอร์ติดต่อกับหลานอีกด้วย ก่อนเดินทางกลับไป
รัชตะระบุว่าก่อนหน้านี้ ตนเคยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และโทรหาตนเป็นระยะเมื่อมีกรณีการชุมนุม หรือการจัดกิจกรรมในพื้นที่สุราษฎร์ธานีหรือใกล้เคียงด้วย แต่ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้โทรมา กลับใช้วิธีไปติดตามหาที่บ้านเลย โดยตนก็ไม่ทราบว่าจะมีการเสด็จมาก่อน และไม่เคยมีแผนจะเดินทางไปที่จังหวัดภูเก็ตแต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่กลับมาติดตามอย่างต่อเนื่องเช่นนี้
รัชตะยังระบุอีกว่า ช่วงก่อนหน้านี้ ก็เคยถูกตำรวจมาติดตามหาถึงบ้าน โดยเฉพาะในช่วงบุคคลสำคญมาในพื้นที่ภาคใต้ และในช่วงที่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในสภาหลังการเลือกตั้ง 2566 ก็มีตำรวจมาสอบถามว่ารัชตะจะเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อร่วมกิจกรรมชุมนุมในช่วงนั้นหรือไม่ จนกลับมีการติดตามจากตำรวจในช่วงนี้อีก ทั้งที่อยู่ภายใต้รัฐบาลใหม่ของเพื่อไทยแล้ว และพื้นที่เสด็จยังอยู่ไกลไปในจังหวัดอื่น ไม่ใช่ในจังหวัดที่ตนอาศัยอยู่อีกด้วย
รัชตะให้ความเห็นว่า การติดตามของเจ้าหน้าที่เช่นนี้นับเป็นเรื่องน่ารำคาญสำหรับตน และถือเป็นการคุกคามประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ก็มักมาย้ำว่า ขอให้ตนอยู่เฉย ๆ ไม่ให้ทำกิจกรรมอะไร ทั้งที่ช่วงหลังตนก็ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย
ขณะเดียวกันมีรายงานว่าเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2566 ยังมีนักกิจกรรมในจังหวัดสุราษฎร์ธานีอีก 1 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์ติดต่อ เพื่อสอบถามความเคลื่อนไหว พร้อมกับสอบถามว่าจะไปรับเสด็จที่จังหวัดภูเก็ตหรือไม่ โดยที่นักกิจกรรมรายดังกล่าวก็ไม่ทราบว่าจะมีการเสด็จมาก่อน รวมทั้งมีสถานการณ์การโทรศัพท์ติดตามความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมในจังหวัดกระบี่อีกอย่างน้อย 1 ราย ด้วย
สถานการณ์การติดตามนักกิจกรรม หรือบุคคลที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ภายใต้รัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทย โดยเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2556 มีสถานการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างหลายจังหวัด ทั้งเพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร หลังมีการเสด็จของสมาชิกราชวงศ์ไปยังจังหวัดพิษณุโลก
.