ตร.อุบลฯ คุกคามนักกิจกรรมหนัก! แอบติด ‘GPS’ – ไม่ให้วิ่งไรเดอร์ หวั่นการเคลื่อนไหว ในช่วงเจ้าฟ้าทีปังกรฯ เสด็จ

ระหว่างวันที่ 28 ธ.ค. 2566 – 2 ม.ค. 2567 ที่ จ.อุบลราธานี มีหมายกำหนดการเสด็จของเจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ตั้งแต่ก่อนช่วงดังกล่าวก็มีสถานการณ์ที่ประชาชน นักศึกษา นักกิจกรรม รวมถึงนักการเมืองในพื้นที่ถูกติดตามตัว และพยายามสอบถาม รวมถึงห้ามปรามการเคลื่อนไหวในระหว่างการเสด็จของเจ้าฟ้าทีปังกรฯ รูปแบบการคุกคามมีทั้งโทรสอบถามถึงที่อยู่ ไปตามหาถึงบ้าน ถ่ายภาพหน้าบ้าน รวมถึงสอบถามถึงเพื่อนบ้านและเจ้าของหอพักที่ผู้คนเหล่านั้นอาศัยอยู่ มากไปกว่านั้นการเสด็จครั้งนี้ยังมีการแอบติดอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งยานพาหนะ (GPS Tracker) ไว้ที่มอเตอร์ไซค์ของไรเดอร์รายหนึ่งอีกด้วย

การเสด็จมา จ.อุบลราชธานี ครั้งนี้ของพระบรมวงศานุวงศ์ ส่งผลให้ประชาชนและนักกิจกรรมส่วนหนึ่งรู้สึกถูกรบกวนจิตใจ หากต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ เพราะอาจถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอดเวลา หากออกไปก็อาจถูกติดตามถ่ายภาพความเคลื่อนไหวอีก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครประกาศหรือแสดงท่าทีว่าจะออกไปแสดงออกในเชิงต่อต้านอย่างไรต่อขบวนเสด็จ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่ทุกคนต่างอยากใช้เวลาอยู่กับตัวเองและครอบครัวมากกว่า

ณัฐวุฒิ (สงวนนามสกุล) อาชีพไรเดอร์ กล่าวว่า การเสด็จครั้งนี้เขาถูกติดตามหนักกว่าทุกรอบ เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2566 มีตำรวจจากตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี โทรหาเขาหลายครั้ง สอบถามว่าอยู่ที่ไหน และถามถึงที่พักปัจจุบัน กระทั่งวันที่ 25 ธ.ค. 2566 ก็โทรมาถามอีกครั้งว่า จะไปที่ขบวนเสด็จหรือไม่ เขายืนยันว่า ไม่ได้ไป เพราะต้องทำงาน เจ้าหน้าที่ถามคำถามหนึ่งว่า รู้สึกยังไงกับองค์ที ณัฐตอบไปว่า ไม่รู้ว่าต้องรู้สึกอะไร รู้สึกเฉย ๆ เรื่องการเสด็จก็ทราบจากร้านค้าที่ไปส่งของ และตนไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรแล้ว ตั้งแต่ประยุทธ์ไม่ได้เป็นรัฐบาล 

จากนั้นเมื่อเช้าวันที่ 28 ธ.ค. 2566 ณัฐเล่าว่า ขณะเดินออกมาหน้าบ้าน สังเกตเห็นวัตถุก้อนเล็ก ๆ สีดำ มีข้อความว่า Fashion หล่นอยู่บริเวณใต้รถมอเตอร์ไซค์ จึงหยิบขึ้นมาดู และคิดว่าน่าจะเป็นเครื่องติดตามหรือ GPS Tracker ช่วงสายณัฐจึงเดินทางไปที่สำนักงานพรรคการเมืองแห่งหนึ่งเพื่อให้ช่วยตรวจสอบวัตถุนี้ ซึ่งก็พบว่า เป็น GPS Tracker จริง เป็นเครื่องที่สามารถดักฟังและบันทึกได้ และมีซิมใส่ไว้เพื่อติดตามพิกัด หากออกไปนอกเขตที่ตั้งไว้ก็จะมีสัญญาณแจ้งเตือน  

ณัฐจึงเอารถไปเช็คที่ร้านซ่อม ก่อนโทรสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดอุบลฯ แต่ตำรวจกลับบอกว่าไม่รู้เรื่อง อาจเป็นทหารเอามาติด แต่พอคุยกันเสร็จตำรวจกลับขอ GPS Tracker คืน โดยนัดไปรับที่ร้านซ่อมรถ หลังจากได้เครื่องดังกล่าวคืน ตำรวจบอกณัฐว่า ช่วงนี้ไม่ต้องไปไหนได้มั้ย ให้อยู่แต่บ้านไปก่อน รอจนถึงช่วงวันที่ 3 ม.ค. 2567 ค่อยเดินทาง  

จากนั้นช่วงบ่าย ตำรวจ สภ.วารินชำราบ โทรมาถามที่อยู่ และขอมาถ่ายภาพเป็นระยะ ๆ วันหนึ่งสัก 2 ภาพ  และขอความร่วมมือไม่ให้ออกไปวิ่งงานไรเดอร์ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป แต่ไปซื้อกับข้าวใกล้ ๆ บ้านได้ 

ณัฐกล่าวว่า เขาไม่ได้มีแผนที่จะไปไหนอยู่แล้ว แต่การที่ตำรวจไม่ให้ขับไรเดอร์ถึง 5 วัน ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากสำหรับตัวเขา โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ ซึ่งทำให้เขาสูญเสียรายได้อย่างมาก ปกติเขามีรายได้เฉลี่ยวันละ 1,000 บาท ช่วงเทศกาลปีใหม่ยิ่งเป็นช่วงที่ชัวร์ที่สุด ไม่ต้องลุ้นว่าขับออกไปแล้วจะได้งานหรือไม่ เพราะได้แน่ ๆ เคยได้เยอะที่สุดถึง 15,000 บาท 

ณัฐสรุปอีกว่า จากการที่ได้พูดคุยกับตำรวจนอกเครื่องแบบนายหนึ่งจึงทราบว่า ตำรวจทหารทุกหน่วยในพื้นที่ให้ความสำคัญกับการติดตามจับตาเขาอย่างมาก ทั้งสันติบาล, สภ.วารินชำราบ, กอ.รมน., มทบ.22 ยังไม่รวมพวกที่แอบติดตามด้วย “สภ.วารินฯ เองได้รับคำสั่งจากทหารซึ่งไม่ทราบตัวตน พร้อมบอกกับผมว่ามีทหารอยู่ 5 คน กำลังติดตามผมอยู่”

ณัฐกล่าวย้ำในท้ายการสนทนาอีกว่า “ผมไม่ได้สนใจเรื่องพระองค์ทีจะเสด็จมาอยู่แล้ว เพราะไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรตั้งนานแล้ว”

“เค้ก” (นามสมมติ) นักกิจกรรมอีกรายเล่าว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 เวลาประมาณ 16.00 น. มีตำรวจมาถามกับแม่ที่บ้านว่า เธออยู่ที่ไหน แม่เลยแจ้งคร่าว ๆ ว่า หลังจากเลือกตั้งเสร็จ เค้กก็ไปทำงานที่กรุงเทพฯ แม่เองก็ไม่ค่อยได้ติดต่อกับลูก 

ขณะที่ “ออฟ” วิศรุต สวัสดิ์วร สมาชิกพรรคก้าวไกล จ.อุบลราชธานี ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2566 มีรถยนต์ของตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาขับวนอยู่หน้าบ้าน รวมถึงมีการจอดในลักษณะคอยถ่ายภาพ และคอยจ้องมองว่าเขาอยู่ที่บ้านหรือไม่ วันต่อมา รองผู้กำกับ สภ.เมืองอุบลฯ ก็มาที่บ้าน แจ้งว่า อยากคุยด้วย แต่ออฟกล่าวว่า ตนไม่อยู่ ออกไปทำธุระข้างนอก  

“แชมป์” ฉัตรชัย แก้วคำปอด นักกิจกรรมซึ่งอาศัยอยู่ที่ อ.เดชอุดม ก็ให้ข้อมูลว่า ถูกทั้งตำรวจภูธรจังหวัดอุบลฯ และทหารไม่ทราบสังกัดโทรสอบถามว่า ช่วงนี้จะเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ รู้จักนักศึกษา นักกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีหรือไม่ ทั้งยังมาหาเขาที่บ้าน ถ่ายภาพบ้านและสำนักงานทนายความ แชมป์กล่าวว่า เขาไม่อยากพบเจ้าหน้าที่ จึงไม่ออกจากบ้าน แต่ทั้งตำรวจและทหารก็แจ้งว่าหากจะไปไหนให้แจ้งด้วย 

แชมป์ทราบว่า เจ้าฟ้าทีปังกรจะเสด็จไปประทับเขื่อนสิรินธร “ผมรู้เพียงว่าจะมีการเสด็จไปไหนบ้าง เพื่อจะไม่ได้ไปตรงจุดนั้น เพราะอาจถูกสกัดกั้นหรือรบกวนความปกติสุข ผมไม่คิดจะไปจุดนั้นอยู่แล้วเพราะไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิตผม”

“สหายเขียว” ภานุภพ ยุตกิจ สื่อมวลชนท้องถิ่นที่ทำประเด็นเครือข่ายต่อสู้ในชุมชนพื้นที่ อ.สิรินธร ก็ถูกโทรติดตาม โดยตำรวจ สภ.ช่องเม็ก หลายครั้ง เพื่อสอบถามว่าช่วงนี้อยู่ที่ไหน และเมื่อเขาแจ้งว่า ไม่ได้อยู่ที่ จ.อุบลฯ ตำรวจจึงไม่ได้เข้าไปหาที่บ้าน 

รวมไปถึง “ต้าร์” (นามสมมติ) นักศึกษาปี 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2566 มีตำรวจไม่ทราบสังกัดไปสอบถามเจ้าของหอพักที่ต้าร์อาศัยอยู่ว่า พบเจอต้าร์หรือไม่ ขณะเดียวกันเพื่อนบ้านของต้าร์ที่ อ.น้ำขุ่น ก็แจ้งว่า มีตำรวจจาก สภ.น้ำขุ่น ไปสอบถามหาต้าร์ เพื่อนบ้านแจ้งว่า ช่วงนี้ต้าร์ไม่ได้อยู่ที่บ้าน ตำรวจจึงได้ถ่ายภาพบ้านของต้าร์ไว้ในหลาย ๆ มุม ก่อนจะเดินทางกลับไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ไม่ใช่ประยุทธ์แล้ว! ชาวอุบลฯ สงสัย เหตุใด ‘เศรษฐา’ ลงพื้นที่  ตร.ยังตามความเคลื่อนไหวนักกิจกรรมอยู่

X