คุกคามหนักแห่งปี 2567: กลุ่ม NU-Movement ทั้งสมาชิก-ผู้เคยร่วมกิจกรรม อย่างน้อย 7 ราย ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามไปบ้าน แม้ไม่ได้เคลื่อนไหว

ในปี 2567 ท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และสถานการณ์การเคลื่อนไหวชุมนุมที่เงียบเหงาลง แต่สิ่งที่ยังดำเนินสืบเนื่องมาไม่เปลี่ยนแปลง คือกรณีการติดตามคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อนักกิจกรรมและประชาชนที่เคยออกมาชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง โดยมิใช่กระบวนการที่เป็นไปตามกฎหมาย อย่างรูปแบบการติดตามไปบ้าน การไปพบครอบครัว-คนใกล้ชิด การสอดแนมถ่ายรูป การแทรกแซงปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะ หรือแม้แต่การเรียกตัวไปพูดคุยโดยไม่ได้มีหมายเรียกใด ๆ

ตลอดปีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานและพบกรณีเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามประชาชน ด้วยกระบวนการนอกกฎหมาย อยู่ไม่น้อยกว่า 121 กรณี นักกิจกรรมหรือประชาชนบางรายยังถูกติดตามคุกคามหลายครั้งตลอดปีนี้

ข้อมูลเท่าที่ได้รับรายงานนี้ พบว่ามีกรณีของสมาชิกหรือผู้ที่เคยร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม NU-Movement เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 7 ราย นับว่าเป็นกลุ่มกิจกรรมที่มีรายงานการถูกคุกคามค่อนข้างมากในรอบปีนี้ จนควรจะบันทึกสรุปสถานการณ์คุกคามที่เกิดขึ้นไว้

.

กลุ่ม NU-Movement หรือ “กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเยาวชน ภาคเหนือตอนล่าง” เป็นกลุ่มกิจกรรมของนิสิตในมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เกิดขึ้นในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ปี 2563 มีบทบาทในการจัดการชุมนุมในมหาวิทยาลัย และรณรงค์ประเด็นทางการเมืองในช่วงที่การเคลื่อนไหวเข้มข้นในช่วง 3-4 ปีทีผ่านมา แต่จนถึงปี 2567 นี้ นิสิตผู้เคยทำกิจกรรมหลายคนก็จบการศึกษาไปแล้ว กลุ่มก็ไม่ได้ทำกิจกรรมสาธารณะมากนัก แต่กลับยังตกเป็นเป้าหมายติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง โดยแม้แต่คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม แต่เคยไปร่วมกิจกรรมในช่วงดังกล่าวมาก่อน ก็ตกเป็นเป้าถูกติดตามไปด้วย

ตั้งแต่ต้นปี 2567 “นิรา” (นามสมมติ) นิสิตที่เคยทำกิจกรรมกับกลุ่ม NU-movement ในช่วงปี 2563-64 ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย เดินทางไปหาถึงบ้าน อ้างว่าเป็นคำสั่งของ “ข้างบน” ให้มาสอบถามข้อมูล ว่าได้หยุดความเคลื่อนไหวในกิจกรรมทางการเมืองแล้วหรือยัง เพราะมีรายชื่ออยู่ใน “บุคคลเฝ้าระวัง” เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องมาคอยดู เจ้าหน้าที่ยังพยายามให้ทำบันทึกคำให้การยืนยันว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก แล้วจะได้นำรายชื่อออกไป และไม่ติดตามอีก แต่นิราก็ปฏิเสธการดำเนินการดังกล่าว

ทางตำรวจยังอ้างว่า เมื่อมีรายชื่ออยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง หากมีบุคคลสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรี เข้ามาในพื้นที่ ตำรวจที่ได้รับคำสั่งก็จะต้องมาตรวจสอบ ว่าจะไปร้องเรียนหรือเคลื่อนไหวอะไรไหม แต่ครั้งนี้ไม่ได้มีใครมา แค่มาตรวจสอบตามหน้าที่

หลังจากนั้น นิรายังถูกตำรวจไปติดตามถึงบ้านอีกอย่างน้อย 3 ครั้งในรอบปีนี้ ในช่วงที่เธอไม่อยู่บ้าน แต่เจ้าหน้าที่ได้พบกับตาและยายแทน โดยช่วงที่ทราบว่าตำรวจไปติดตามหานั้น ครั้งหนึ่งเป็นช่วงรับปริญญาของมหาวิทยาลัย และอีกช่วงหนึ่งคาดว่าอาจจะเกี่ยวกับการเสด็จมาในพื้นที่ของสมาชิกราชวงศ์ แต่ทั้งที่เธอก็ไม่ได้ทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวใดมาเป็นปีแล้ว แต่ก็ยังถูกติดตามอยู่ ช่วงปีนี้ เธอจึงพยายามร้องเรียนการถูกละเมิดสิทธิไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกด้วย แต่ยังไม่มีความคืบหน้าของเรื่องใดนัก

.

.

บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวรอีกรายหนึ่ง ซึ่งเคยไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม NU-Movement ในช่วงปี 2563 แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มแต่อย่างใด หลังจากนั้นในปีถัด ๆ มา เธอถูกตำรวจมาติดตามอยู่เป็นระยะ อ้างว่าเธออยู่ในรายชื่อบุคคลเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ แม้เธอไม่ได้เคลื่อนไหวใด ๆ   

ในปี 2567 นี้ เธอถูกตำรวจไปติดตามหาถึงบ้านในจังหวัดทางภาคเหนือถึง 2 ครั้ง โดยพบกับครอบครัวของเธอ และพยายามสอบถามถึงสถานที่อยู่ และความเคลื่อนไหวของเธอ ซึ่งการกระทำดังกล่าว สร้างปัญหาให้กับเธอ ต้องคอยพูดคุยทำความเข้าใจกับครอบครัว จนต่อมาก็ได้ร้องเรียนการละเมิดของเจ้าหน้าที่ไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเช่นเดียวกัน

สมาชิกกลุ่ม NU-Movement อีกรายหนึ่ง ซึ่งยังอยู่ระหว่างศึกษา และในเทอมการศึกษาเมื่อช่วงต้นปีนี้ เขาได้ไปฝึกงานอยู่จังหวัดในภาคอีสาน ก็ได้มีบุคคลระบุตนว่าเป็นตำรวจ โทรศัพท์ไปหาเจ้าของหอพักที่ไปพักอยู่ สอบถามถึงชื่อของเขาโดยตรง โดยระบุว่าติดตามที่อยู่มาจากกล่องพัสดุที่ส่งกลับไปยังมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้บอกวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าต้องการสอบถามข้อมูลไปเพื่อเหตุใด ก่อนหน้านั้นก็มีตำรวจโทรศัพท์ไปหาญาติ เพื่อสอบถามข้อมูลส่วนตัว เช่น เรื่องไปอาศัยอยู่ที่ไหน และทะเบียนรถอะไร โดยระบุว่าต้องการบันทึกข้อมูล แต่ไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะบันทึกไปเพื่อเหตุใด

ในช่วงกลางปี บัณฑิตที่เคยร่วมกิจกรรมของกลุ่ม NU-Movement ในช่วงที่ยังศึกษาอยู่ ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่สันติบาล 2 นาย ติดตามไปหาถึงบ้านในจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่าง โดยไปพบกับครอบครัวของเขา และพยายามอ้างว่าเขาได้แชร์โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาพาดพิงไปถึงสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่เมื่อปี 2565 ขอให้ลบโพสต์ดังกล่าวออก และอย่ากระทำอีก แต่ไม่ทราบว่าผ่านไปกว่า 2 ปี เหตุใดเจ้าหน้าที่เพิ่งมาติดตาม และจากการตรวจสอบโพสต์ที่เจ้าหน้าที่ขอให้ลบ ก็คิดว่าไม่ได้เกี่ยวกับสถาบันฯ แต่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ในช่วงเดือนตุลาคม นิสิตที่เคยทำกิจกรรมกับกลุ่ม NU-Movement อีก 2 ราย ยังถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปติดตามถึงบ้านในต่างจังหวัดในเวลาไล่เลี่ยกัน รายหนึ่งเจ้าหน้าที่ 2 นาย ได้กับกับคุณแม่ และพยายามสอบถามความเคลื่อนไหวของนิสิต แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเหตุใดจึงต้องมาติดตามในช่วงนี้ เพียงแต่ระบุว่านิสิตรายนี้เคยทำกิจกรรมทางการเมืองที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จึงมาติดตามสอบถามข้อมูลว่าในช่วงนี้ทำอะไรอยู่บ้าง และขอให้ครอบครัวดูแลไม่ให้ทำกิจกรรมอีก

อีกรายหนึ่งเป็นบัณฑิตซึ่งจบการศึกษาแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ไปหาที่บ้าน แต่ไม่พบใคร ต่อมาได้ติดตามมาทางโทรศัพท์ของครอบครัว พยายามสอบถามข้อมูลในปัจจุบันของเขา เช่น ทำงานอยู่ที่ไหน เช่าหอพักอยู่ที่ไหน ถามถึงข้อมูลคนในครอบครัว ก่อนระบุสาเหตุว่าติดตามเพราะเจ้าฟ้าทีปังกรฯ กำลังจะเสด็จมาที่จังหวัดพิษณุโลกในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ทำให้มีคำสั่งให้ติดตามคนที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมือง

.

รายละเอียดดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลบางส่วนและตัวอย่างของสถานการณ์การคุกคามที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ อาจมีกรณีการละเมิดสิทธิที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ทราบข้อมูล หรือผู้ถูกคุกคามไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะอีกจำนวนมาก

ปัญหาการละเมิดสิทธิโดยการจัดทำรายชื่อ “บุคคลเฝ้าระวัง” ของหน่วยงานรัฐ ทั้งที่รายชื่อจำนวนมากเป็นเพียงนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาใช้เสรีภาพการแสดงออกทางเมืองเท่านั้น หรือการคุกคามประชาชนจนเกินกว่าเหตุ ด้วยเหตุมีพระบรมวงศานุวงศ์หรือบุคคลสำคัญลงพื้นที่ต่าง ๆ โดยคนที่ถูกติดตามคุกคามก็ไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวใด หรือแม้แต่การไปให้ประชาชนลบโพสต์ข้อความในโลกออนไลน์ต่าง ๆ หรือขอไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ 

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน ซึ่งถูกดำเนินการสืบเนื่องมาหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเปลี่ยนหน้าตารัฐบาลไปอย่างไร จนเคยนำไปสู่ข้อเรียกร้อง #หยุดคุกคามประชาชน ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ และยังคงเป็นโจทย์ในการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายการใช้อำนาจรัฐเช่นนี้ในปีต่อๆ ไป

.

ย้อนอ่านสรุปสถานการณ์การคุกคามประชาชนในแต่ละช่วงสองเดือนของปี 2567

มกราคม-กุมภาพันธ์, มีนาคม-เมษายน, พฤษภาคม-มิถุนายน, กรกฎาคม-สิงหาคม, กันยายน-ตุลาคม

.

X