ตำรวจไปบ้านนักกิจกรรม “ทะลุแก๊ส” ที่อุบลฯ หลังไปร่วมดูแลความปลอดภัย “ตะวัน” เจอลูกวัย 10 ขวบ พร้อมคุยกับแม่ อยากให้เลิกออกมาทำกิจกรรม

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งข้อมูลจาก “แนน” (สงวนชื่อสกุล) นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุแก๊ส ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2567 ได้ไปร่วมดูแลความปลอดภัยของ “ตะวัน” ที่แถลงข่าวบริเวณสถานีบีทีเอสสยาม แต่หลังเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหาถึงบ้านที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยพบกับแม่ และลูกสองคนที่อยู่ในวัย 10 ขวบ พยายามสอบถามข้อมูล และขอถ่ายรูปบัตรประชาชนของแม่ ทำให้ลูกตกใจกลัว ร้องไห้อยู่หลายชั่วโมง

แนนระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2567 ตนและเพื่อนเห็นว่าทานตะวันประกาศทำกิจกรรมบริเวณสยามพารากอน จึงร่วมไปเป็นเพื่อน เพื่อคอยช่วยกันดูแลเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากมีกระแสที่น่ากังวลโจมตีตะวัน โดยตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าสถานการณ์จะแย่ขนาดนั้น ทางตะวันแค่เพียงจะแถลงขอโทษต่อเรื่องที่เกิดขึ้น แต่กำลังแถลงอยู่บริเวณสถานีบีทีเอสสยามได้ยังไม่ถึงสองนาที ก็ถูกประชาชนอีกฝ่ายเข้ามาทำร้าย ส่วนตัวของแนนก็ถูกคุณป้าคนหนึ่งมาดึงผมจนหัวชนกับรั้วเหล็ก หลังเหตุการณ์แนนและเพื่อน ๆ ก็ร่วมกันไปแจ้งความ แต่จนถึงตอนนี้ก็ไม่มีความคืบหน้าจากทางตำรวจ

หากวันถัดมา 11 ก.พ. 2567 แม่ของแนนซึ่งอยู่ที่บ้านในจังหวัดอุบลราชธานี ได้โทรแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาหาที่บ้านถึงสองครั้งในวันเดียว โดยครั้งแรกมาในช่วงเช้า มีตำรวจ 4 นาย เข้ามาในบ้าน ตอนนั้น แม่ไม่ได้อยู่บ้าน อยู่แต่ลูกสองคน ซึ่งอายุ 12 ปี และ 10 ปี ตามลำดับ โดยไม่มีผู้ใหญ่คนอื่นอยู่ด้วยอีก แต่ทางตำรวจก็ไม่ได้รอให้แม่กลับมา กลับพยายามเข้าสอบถามกับเด็ก ๆ ว่า เป็นลูกของแนนใช่หรือไม่ และพยายามเล่าเรื่องที่แนนทำให้ฟัง จากนั้นบอกให้ลูกไปหาบัตรประชาชนของแม่มาให้ เพื่อจะได้ถ่ายรูป แต่ลูกหาไม่เจอ ตำรวจจึงออกไป

จนในช่วงบ่าย เมื่อแม่กลับมาบ้าน ก็มีตำรวจชุดเดิมมาหาอีก โดยทราบว่าเป็นหน่วยที่มาจากทั้งสถานีตำรวจในตัวอำเภอ และตำรวจในพื้นที่หมู่บ้าน อ้างว่าได้รับคำสั่งจากทางกรุงเทพฯ ให้มาสอบถาม ตำรวจได้ถามเรื่องเกี่ยวกับแนนว่า ตอนนื้ทำงานอยู่ที่ไหน กลับบ้านบ่อยไหม ส่งเงินกลับมาที่บ้านหรือเปล่า แม่ก็ตอบไปเท่าที่ทราบ

ตำรวจยังพยายามให้แม่บอกกับแนนว่า ให้เลิกทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้วกลับไปทำมาหากิน และพยายามจะขอถ่ายบัตรประชาชนของแม่อีก แต่แม่ไม่ให้ถ่าย ทั้งตำรวจยังขอถ่ายรูปแม่กับลูกของแนนไปด้วย แนนได้บอกกับแม่ว่าให้เอาเบอร์โทรของแนนให้ตำรวจไปได้เลย ถ้ามีอะไรให้โทรมา ไม่ใช่ไปหาที่บ้านแบบนี้ แล้วตำรวจก็กลับไป

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ลูกของเธอกลัวและตกใจมาก ร้องไห้ตั้งแต่บ่ายโมงยันค่ำ ขณะที่แม่ของแนนก็พยายามบอกให้แนนเลิกไปร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วย

แนนเห็นว่า ทางหน่วยตำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งสันติบาล หรือหน่วยสืบสวน ก็มีเบอร์ติดต่อของเธอ ถ้าอยากทราบข้อมูลอะไรทำไมไม่โทรมา แต่ใช้วิธีไปคุกคามถึงบ้าน โดยก่อนหน้านี้ ก่อนมีขบวนเสด็จต่าง ๆ ตำรวจก็เคยโทรศัพท์มาสอบถามความเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องใช้วิธีการไปหาถึงบ้านต่างจังหวัดแบบนี้ แม้ทางตำรวจจะไม่ได้ใช้คำพูดข่มขู่ แต่การไปหาถึงบ้าน ไปคุยกับครอบครัวที่ไม่เกี่ยวข้อง ก็ถือว่าเป็นการคุกคามแล้ว คนที่ทำผิดแบบอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ยังไม่เห็นไปทำหน้าที่ติดตามถึงบ้านแบบนี้เลย

แนนระบุข้อมูลว่าเธอออกมาร่วมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 กับเพื่อนกลุ่มอาชีวะฯ โดยตั้งแต่ทำกิจกรรม เคยถูกตำรวจมาหาที่บ้านลักษณะนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงปี 2564-65 ประมาณปีละครั้ง โดยก่อนหน้านี้หายไปนานแล้ว แต่กลับมามีอีกในปี 2567 นี้

ในตอนแรก ๆ ตำรวจนำรูปถ่ายที่แนนไปร่วมการชุมนุมในกรุงเทพฯ ไปให้แม่ดู พร้อมสอบถามข้อมูล และถ่ายรูปไปรายงาน ในเหตุการณ์ครั้งแรกนั้น เนื่องจากเป็นหมู่บ้านชนบท จึงทราบเรื่องกันได้ง่าย ทำให้ลูกโดนเพื่อนที่โรงเรียนเอาไปล้อเลียน ทำนองว่าแม่แนนไปทำผิดกฎหมายมา ทำให้มีตำรวจมาตามถึงบ้าน ทำให้ลูกต้องถึงกลับย้ายโรงเรียน เพราะถูกเพื่อนล้อลักษณะนี้ด้วย

ทั้งนี้ แนนระบุตนว่าเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา และพยายามช่วยดูแลความปลอดภัยของเพื่อน ๆ ก่อนหน้านี้เธอเคยถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุม 1 คดี เป็นคดีข้อหาหลักตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จากการชุมนุมช่วง APEC2022 โดยคดียังอยู่ระหว่างรอการสืบพยานที่ศาลแขวงปทุมวัน

.

X