ตำรวจบุกบ้านบัณฑิต ม.นเรศวร รับปีใหม่ อ้างมีชื่อใน “บุคคลเฝ้าระวัง” – ขณะไปขอถ่ายรูปบ้าน 2 อดีตผู้สมัคร สส. ก้าวไกลเพชรบูรณ์ คาดเกี่ยวเนื่อง พล.อ.ประวิตร ลงพื้นที่

ช่วงอาทิตย์ต้นเดือนมกราคม 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งข้อมูลกรณีที่มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปพบถึงบ้านด้วยเหตุผลทางการเมือง อย่างน้อย 4 ราย โดยเป็นสถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ กรณีบัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร และเคยทำกิจกรรมทางการเมือง ถูกเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบความเคลื่อนไหวถึงบ้านในช่วงหลังปีใหม่ อ้างว่ามีรายชื่อเป็นบุคคลเฝ้าระวัง หรือแบล็คสิสต์ และนิสิตมหาวิทยาลัยเดียวกันอีกราย ยังถูกตำรวจพยายามโทรสอบถามข้อมูลจากเจ้าของหอพัก

ขณะที่สองอดีตผู้สมัคร สส. ก้าวไกลในจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ถูกตำรวจไปขอถ่ายรูปถึงบ้านในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ตำรวจระบุว่าเป็นการมาทำงานย้อนหลัง จึงคาดว่าเกี่ยวกับเหตุที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และแกนนำพรรคพลังประชารัฐมาลงพื้นที่เพชรบูรณ์ ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยอดีตผู้สมัครเห็นว่าเป็นการคุกคาม และได้ร้องไปที่กรรมาธิการตำรวจของสภาแล้ว 

.

บัณฑิต มน. เคยร่วมกลุ่ม NU-movement ถูกตำรวจไปหาถึงบ้านรับปีใหม่ อ้างมาตรวจสอบความเคลื่อนไหว เพราะมีรายชื่อเฝ้าระวัง 

“นิรา” (นามสมมติ) เป็นบัณฑิตจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เคยทำกิจกรรมและร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่ม NU-movement ในช่วงปี 2563-64

เธอเล่าว่า ตนเดินทางไปฝึกงานอยู่ที่ต่างจังหวัด และก่อนปีใหม่ได้เดินทางกลับบ้านในจังหวัดใกล้เคียงกับจังหวัดพิษณุโลก เมื่อเดินทางกลับถึง เธอพบว่าเฟซบุ๊กมีลักษณะแปลก ๆ ขึ้นให้ล็อกอินใหม่ รู้สึกคล้าย ๆ กับช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง และคาดว่าอาจจะถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐ

จนเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 ช่วงประมาณเที่ยง ๆ ได้มีเจ้าหน้าที่จำนวน 3 นาย ใส่ชุดนอกเครื่องแบบ แต่ใส่เสื้อกั๊กที่แสดงตัวเป็นตำรวจ มีทั้งคำว่า “Police” และ “สืบสวน” มาเคาะประตูบ้าน และนิราอยู่ที่บ้านพอดี ตำรวจได้ระบุว่าเป็นหน่วยสืบสวนของทางจังหวัด และมีนายหนึ่งถูกเรียกว่า “รองสารวัตร” แต่ไม่ได้ระบุชื่อสกุล

ตำรวจแจ้งว่าเป็นคำสั่งของ “ข้างบน” ให้มาสอบถามข้อมูล ว่าหยุดความเคลื่อนไหวในกิจกรรมทางการเมืองที่ทำแล้วหรือยัง เพราะมีรายชื่ออยู่ในบุคคลเฝ้าระวัง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องมาคอยดู และได้ยินตำรวจอีกนายยังใช้คำว่ามีรายชื่ออยู่ใน “แบล็คลิสต์” อีกด้วย

ชุดตำรวจได้สอบถามว่าอยากจะทำบันทึกคำให้การว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ได้หยุดไปแล้ว หรือไม่ เพื่อทางเจ้าหน้าที่จะได้ทำเรื่องนำรายชื่อออก และเจ้าหน้าที่จะไม่ติดตามอีกต่อไป แต่ไม่ใช่การบังคับ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ แต่นิราปฏิเสธว่าตนจะไม่ทำเอกสารหรือลงชื่อใด ๆ 

ทางตำรวจยังระบุด้วยว่า เมื่อมีรายชื่ออยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง หากมีบุคคลสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรี เข้ามาในพื้นที่ ตำรวจที่ได้รับคำสั่งก็จะต้องมาตรวจสอบ ว่าจะไปร้องเรียนหรือเคลื่อนไหวอะไรไหม แต่ครั้งนี้ไม่ได้มีใครมา แค่มาตรวจสอบตามหน้าที่ 

เมื่อนิราปฏิเสธไม่ทำบันทึกเอกสารใด ๆ ตำรวจจึงเดินทางกลับไป โดยตลอดการพูดคุย ตำรวจที่มาด้วยก็จะคอยถ่ายรูปเธอเอาไว้ตลอดเวลา

นิราระบุว่า หลังออกไปทำกิจกรรมทางการเมืองเมื่อ 2-3 ปีก่อน ได้ถูกเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้านประมาณ 5-6 ครั้งแล้ว และปกติจะมาเจอแต่ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านมากกว่า ก่อนหน้านี้ตำรวจก็ไม่ได้มาระยะใหญ่แล้ว แต่ครั้งนี้ก็มาถึงบ้านอีก ทั้งที่เธอไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร 

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ คือรู้สึกรำคาญ เพราะมีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน ซึ่งจะไม่ค่อยเข้าใจว่าตำรวจมาหาทำไม ไปทำผิดอะไรหรือเปล่า ชาวบ้านจะคิดว่าทำอะไรผิดมา ทำให้เกิดปัญหากับคนในครอบครัว การมาของเจ้าหน้าที่ โดยไม่บอกกล่าว จึงเป็นการละเมิดสิทธิและกระทบต่อครอบครัวของตน

.

นิสิต มน. อีกราย ถูกตำรวจพยายามโทรติดตามตัว ทั้งกับญาติและที่หอพัก

ขณะเดียวกันมีรายงานว่านิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เคยทำกิจกรรมกับกลุ่ม NU-movement อีกรายหนึ่ง ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐพยายามติดตามตัวด้วยเช่นกัน

นิสิตรายดังกล่าวยังอยู่ระหว่างศึกษาและในเทอมการศึกษานี้ได้ไปฝึกงานอยู่จังหวัดในภาคอีสาน และเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ได้ทราบว่ามีตำรวจโทรศัพท์ไปหาญาติ เพื่อสอบถามข้อมูลส่วนตัวของตน เช่น เรื่องไปอาศัยอยู่ที่ไหน และทะเบียนรถอะไร โดยระบุว่าต้องการบันทึกข้อมูล แต่ไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะบันทึกไปเพื่อเหตุใด 

และเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2567 ก็ทราบว่ามีบุคคลระบุตนว่าเป็นตำรวจ โทรศัพท์ไปหาเจ้าของหอพัก สอบถามถึงชื่อของตน โดยระบุได้ชัดว่าเป็นนิสิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวร และระบุว่าติดตามที่อยู่มาจากกล่องพัสดุที่ส่งกลับไปยังมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้บอกวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าต้องการสอบถามข้อมูลไปเพื่อเหตุใด

นิสิตรายนี้ระบุเช่นกันว่าช่วงหลังตนก็ไม่ได้ทำกิจกรรมทางการเมืองอะไร ตอนนี้ก็ฝึกงานอยู่ต่างจังหวัด จึงไม่ทราบว่าทำไมตำรวจยังต้องมาติดตาม โดยพยายามถึงสองครั้งในรอบสองเดือน และไม่ได้มีข่าวว่ามีใครลงพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลกแต่อย่างใด ทั้งยังมีการไปดูพัสดุในมหาวิทยาลัย จึงค่อนข้างผิดสังเกตว่าทำไมต้องติดตามขนาดนี้

.

สองอดีตผู้สมัคร สส. ก้าวไกลเพชรบูรณ์ ถูกตำรวจไปบ้านขอถ่ายรูป คาดเกี่ยวเนื่องคณะของ พปชร. มาลงพื้นที่

ศิริวิชช์ ทองคำ อดีตผู้สมัครเลือกตั้ง สส. พรรคก้าวไกล เพชรบูรณ์ เขต 3 ระบุว่าเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 เวลาประมาณ 13.00 น. เศษ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจากภูธรภาค 6 จำนวน 5 นาย ใส่ชุดนอกเครื่องแบบ แต่สวมเสื้อกั๊กที่ระบุหน่วยงาน เดินทางมาที่บ้านของเขาด้วยรถสองคัน ซึ่งขณะนั้นเขาไม่ได้อยู่บ้าน มีเพียงพ่ออยู่คนเดียว

ทางตำรวจแจ้งกับพ่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงชุดเจ้าหน้าที่ เลยมาขอเก็บข้อมูลและถ่ายรูปเพื่อรายงานส่งให้กับ “นาย” แต่พ่อของเขาไม่อนุญาต และได้ให้เจ้าหน้าที่ออกไป แต่ตำรวจก็ไปยืนถ่ายรูปข้างหน้าบ้านอีก ก่อนพากันเดินทางกลับไป

ศิริวิชช์ระบุถึงความเห็นของเขาว่า “มันเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เหมือนเดิม ไม่รู้ว่าทำไมผมโดนบ่อยอยู่คนเดียว เหมือนเท่าที่ทราบต้นปีนี้มีผมที่โดนตำรวจจากภูธรภาค 6 ไปหาคนเดียว ไม่เหมือนรอบก่อนปลายปี 2566 ที่โดนกันหลายคน ไม่รู้ว่าเขาคิดว่าเราทำอะไร สถานการณ์มันดูหนักขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลนี้ควรจะชี้แจงหรือจัดการว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงยังทำแบบนี้กันอยู่”

ศิริวิชช์ ยังเปิดเผยว่าขณะนี้ได้ยื่นเรื่องการมาติดตามคุกคามประชาชนของตำรวจในช่วงปลายปี 2566 ซึ่งเกิดขึ้นในภาคเหนือตอนล่างหลายจังหวัด ให้กับคณะกรรมาธิการตำรวจ ของสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการเรียกไปชี้แจง

ขณะเดียวกัน นันทวัฒน์ บุญถูก อดีตผู้สมัครเลือกตั้ง สส. พรรคก้าวไกล เพชรบูรณ์ เขต 5 ก็เปิดเผยว่าได้มีตำรวจไปหาเช่นกัน โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2567 ตำรวจจาก สภ.บึงสามพัน จำนวน 2 นาย เดินทางไปที่บ้านของเขา และแจ้งลักษณะเดียวกันว่ามาเยี่ยมและขอถ่ายรูปไว้ พร้อมบอกทำนองว่า “มาทำงานย้อนหลัง” จึงคาดว่าเกี่ยวข้องกับการมาลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พร้อมรัฐมนตรีและแกนนำของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมาจัดกิจกรรมพรรคพลังประชารัฐสัญจรครั้งที่ 1 ในพื้นที่เพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา

นันทวัฒน์ระบุว่าทางตำรวจที่มายังบ่นถึงความอึดอัดใจที่ต้องมาทำหน้าที่นี้ โดยทางตำรวจก็พูดจาด้วยดี ไม่ได้ข่มขู่ แต่การมาของเจ้าหน้าที่แบบนี้กำลังถูกทำให้กลายเป็นปกติ โดยตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปี 2566 เป็นต้นมา เขาถูกตำรวจมาหาที่บ้านลักษณะนี้ประมาณ 5-6 ครั้งแล้ว ทำให้รู้สึกว่าเป็นการเปลืองงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนมาก ที่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาทำหน้าที่ติดตามประชาชนเช่นนี้ แทนที่จะเอาเวลาไปทำอย่างอื่น 

.

X