วันที่ 18 กรกฎาคม ของปี 2563 นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมใหญ่ “เยาวชนปลดแอก” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนติดตามมาด้วยการชุมนุมอย่างต่อเนื่องของเยาวชน คนรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วประเทศในตลอดครึ่งหลังของปีนั้น และการปรากฏของข้อเรียกร้องที่ผลักเพดานการเมืองไทยออกไป
การชุมนุมในวันนั้น ได้ประกาศข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ข้อ ต่อรัฐบาลในขณะนั้น ได้แก่ 1. เรียกร้องให้ยุบสภา และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3. เจ้าหน้าที่รัฐหยุดคุกคามประชาชน แม้ภายหลังกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ คลี่คลายตัวในระยะต่อมา ทำให้ข้อเรียกร้องในข้อที่สาม ถูกนำเสนอเป็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
สำหรับข้อเรียกร้อง “หยุดคุกคามประชาชน” นั้น เกิดขึ้นภายใต้บริบทที่ คสช. แม้สิ้นสุดบทบาทลง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ภายหลังการเลือกตั้งที่มีคำถามเรื่องความเสรีและเป็นธรรม แต่ปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐบุกเข้าติดตามประชาชน นักกิจกรรม นักวิชาการ หรือผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ถึงบ้านช่องส่วนบุคคล ก็ยังคงดำเนินไปอยู่ แม้ไม่ได้มีกฎหมายใดให้อำนาจในการดำเนินการเช่นนั้นก็ตาม อันนำไปสู่ข้อเรียกร้องดังกล่าวในการเคลื่อนไหวเมื่อปี 2563
ผ่านไปครบ 4 ปี หลังการชุมนุมระลอกดังกล่าว ข้อเรียกร้อง “หยุดคุกคามประชาชน” ดูเหมือนจะยังไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อแนวทางการใช้อำนาจเช่นนั้น กลับดำรงสืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งเมื่อปี 2566 และมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยแล้วก็ตาม
.
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าในแต่ละปี ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ยังคงมีรายงานจากเยาวชน นักกิจกรรม และประชาชนทั่วไปที่เคยออกมาแสดงออกทางการเมือง ทั้งในรูปแบบการชุมนุม หรือบนโลกออนไลน์ ยังคงถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามถึงที่พักหรือพื้นที่ส่วนตัว ถูกสะกดรอยสอดแนม หรือถูกเรียกมาพูดคุยโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย อยู่เรื่อยมา รวมทั้งการแทรกแซงปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ ก็ยังมีเป็นระยะ
1. ในช่วงปี 2563 หลังการประกาศข้อเรียกร้องหยุดคุกคามประชาชนในการชุมนุมเยาวชนปลดแอก ยังพบว่ามีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามไปถึงที่บ้าน สถานศึกษา หรือโทรศัพท์ติดตามตัว อย่างน้อย 196 กรณี ในจำนวนนี้เป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 17 กรณี
สาเหตุการถูกคุกคามดังกล่าว แยกเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการออกมาจัดการชุมนุม 147 กรณี และอีก 49 กรณี เป็นกรณีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นหรือแชร์โพสต์ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
ในช่วงปีแห่งการชุมนุมนี้ ผู้ติดตามคุกคามส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาจัดกิจกรรมชุมนุมในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งการแสดงออกของนักเรียนภายในสถานศึกษาก็เผชิญกับการปิดกั้นและคุกคามในหลายรูปแบบทั้งถูกห้ามแสดงออกเชิงสัญลักษณ์, ถูกโรงเรียนห้ามใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรม, ถูกครูทำร้ายร่างกาย, ถูกขู่จะดำเนินการทางวินัย เรียกผู้ปกครอง หรือกระทั่งขู่ไล่ออก, มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาติดตามในโรงเรียนหรือตามไปคุยกับผู้ปกครองที่บ้าน เป็นต้น
.
.
2. ในช่วงปี 2564 ท่ามกลางสถานการณ์ชุมนุมที่ยังคงเข้มข้น ตลอดทั้งปี พบว่ามีนักกิจกรรมและประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามคุกคามไปถึงบ้านพัก หรือเรียกตัวไปพูดคุย ไม่น้อยกว่า 291 กรณี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 39 กรณี
สถิติในปีนี้ พบว่ามีกรณีที่ประชาชนถูกคุกคามเนื่องจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ อย่างน้อย 81 กรณี และโดยส่วนมากเป็นกรณีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ตามมาด้วยกรณีที่ถูกติดตามก่อนหรือระหว่างที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่ อย่างน้อย 79 กรณี โดย “บุคคลสำคัญ” ดังกล่าว มีทั้งสมาชิกราชวงศ์และบุคคลในคณะรัฐมนตรี และยังคงมีกรณีการคุกคามเนื่องจากการจัดหรือร่วมการชุมนุมทางการเมือง อย่างน้อย 75 กรณี
.
.
3. ในช่วงปี 2565 ท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวชุมนุมที่ถูกปราบปรามลงเรื่อย ๆ พบว่าปี 2565 เป็นปีที่มีรายงานผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามมากกว่าปีก่อนหน้า คือพบไม่น้อยกว่า 349 กรณี ในจำนวนนี้ เป็นเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 24 กรณี
ในปีนี้ สาเหตุการคุกคามสำคัญเกิดขึ้นเนื่องจากการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ พบอย่างน้อย 134 กรณี ขณะที่ในช่วงก่อนและหลังการประชุม APEC2022 ซึ่งมีชาวบ้าน-นักกิจกรรม-เอ็นจีโอ ที่ทำงานในประเด็นด้านทรัพยากร ตลอดจนนักศึกษาหรือนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามไม่น้อยกว่า 58 กรณี ส่วนกรณีการแสดงออกออนไลน์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ยังพบอย่างน้อย 23 กรณี
.
.
4. ในช่วงปี 2566 ในปีแห่งการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ยังพบว่ามีนักกิจกรรมและประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามคุกคามไปถึงบ้านพัก หรือเรียกตัวไปพูดคุย ไม่น้อยกว่า 209 กรณี ในจำนวนนี้ เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 6 กรณี แม้ในปีนี้จะมีการเปลี่ยนเป็นรัฐบาลเพื่อไทยแล้วก็ตาม แต่หลังการโปรดเกล้าฯ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ยังคงมีสถานการณ์ลักษณะเดิมเกิดขึ้นเรื่อยมา
สาเหตุการติดตามตลอดทั้งปีนี้ พบว่ากรณีบุคคลสำคัญลงพื้นที่ ยังคงเป็นเหตุที่ทำให้ประชาชนถูกติดตามคุกคามมากที่สุด คือไม่น้อยกว่า 78 กรณี ขณะที่สาเหตุจากการออกมาทำกิจกรรมหรือแสดงออกทางการเมือง ที่ไม่ใช่ลักษณะการชุมนุม อย่างน้อย 40 กรณี และกรณีคุกคามที่เกี่ยวกับการชุมนุมอีกอย่างน้อย 13 กรณี และยังพบการคุกคามสืบเนื่องจากการแสดงออกออนไลน์ในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อย่างน้อย 20 กรณี
5. ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ก็ยังพบว่ามีนักกิจกรรมและประชาชนถูกติดตามคุกคามไม่น้อยกว่า 103 กรณี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 2 ราย
สาเหตุการคุกคามโดยมากยังเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ คือไม่น้อยกว่า 26 กรณี ตามมาด้วยกรณีแสดงการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ อีก 16 กรณี และกรณีการแสดงออกออนไลน์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อย่างน้อย 7 กรณี
.
.
หากรวมตลอด 4 ปีนี้ จึงมีข้อมูลกรณีการคุกคามไม่น้อยกว่า 1,148 กรณี เป็นกรณีที่ทราบว่าเป็นเยาวชนจำนวน 88 กรณี โดยที่สถิติดังกล่าว เป็นเพียงจำนวนที่ศูนย์ทนายความเเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้ง หรือติดตามพบข้อมูลเท่านั้น คาดว่าการคุกคามที่เกิดขึ้นทั่วประเทศตลอด 4 ปีนี้ จะมีจำนวนมากกว่านี้หลายเท่า
จากแหล่งข้อมูลในหลายกรณี พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐบอกกับประชาชนหรือนักกิจกรรมที่ถูกคุกคาม ว่ายังมีบุคคลที่ต้องไปติดตามในจังหวัดนั้น ๆ อีกหลายคน โดยที่ไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง บางกรณี เจ้าหน้าที่มีการแสดงรายชื่อบุคคลหลายสิบรายที่ได้รับคำสั่งให้มาติดตามด้วย รวมทั้ง นักกิจกรรมบางรายยังถูกติดตามซ้ำหลายครั้งในแต่ละช่วงเวลา ทำให้ยากจะติดตามและทราบสถานการณ์ภาพรวมทั้งหมดของปฏิบัติการคุกคามที่เกิดขึ้นได้
หากแต่แม้เราจะทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงบางส่วน แต่ก็พอบอกได้ว่าการใช้อำนาจรัฐลักษณะนี้ มีลักษณะสืบเนื่องต่อมาตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าติดตามคุกคามประชาชนถึงบ้าน และปิดกั้นกิจกรรมทางการเมืองทุกรูปแบบอย่างเข้มข้น จนแม้ คสช. จะยุติบทบาทลง แม้จะเปิดพื้นที่กิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น แต่การใช้อำนาจเช่นนี้โดยรวมก็ดำเนินสืบต่อมา โดยเปลี่ยนไปใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานแทนมากกว่าในการติดตามไปบ้านประชาชน
จนแม้ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก็กลับไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้อำนาจนี้ แม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ควบคุมดูแลองค์กรตำรวจโดยตรงก็ตาม ชี้ให้เห็นความเป็นนโยบายที่ค่อนข้างคงทนและสืบเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จนถูกทำให้กลายเป็นเรื่อง “ปกติ” ในการใช้อำนาจของรัฐไทย แม้ไม่ควรกลายเป็นเรื่องปกติอย่างยิ่งก็ตาม
นอกจากนั้น การจัดทำ “รายชื่อเฝ้าระวัง” หรือ “บุคคลที่เป็นภัยคุกคาม” กลายเป็นเรื่องปกติในการทำงานของหน่วยงานความมั่นคง โดยมีการใช้นิยามที่รวบรวมรายชื่ออย่างกว้างขวาง อาทิ แม้เพียงเยาวชน นักศึกษาที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองโดยสงบ ก็สามารถอยู่ใน “ลิสต์รายชื่อ” ของหน่วยงานความมั่นคง หรือประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน ก็กลายเป็น “ภัยคุกคาม” เมื่อนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ไปได้
สถานการณ์ “การคุกคามประชาชน” นี้ ยังไม่ได้นับถึงการใช้กฎหมายเป็นหนึ่งในเครื่องมือใน “การคุกคาม” การออกมาใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ดำเนินสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
การจัดการชำระสะสางการใช้อำนาจเช่นนี้ของหน่วยงานความมั่นคง ทำให้เกิดการตรวจสอบเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต กระทั่งทำให้เกิดการ #หยุดคุกคามประชาชน ที่แท้จริง และเปลี่ยนกรอบคิดการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงยังเป็นภารกิจสืบเนื่องที่ยังไม่สิ้นสุดหลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอก
.