รอบปี 2566 มีประชาชนถูกติดตามคุกคามไม่น้อยกว่า 203 กรณี แม้เปลี่ยนรัฐบาลสถานการณ์ยังดำเนินสืบเนื่อง

ปี 2566 เป็นปีที่คาบเกี่ยวระหว่างรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังจะหมดวาระลง การจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยในเดือนสิงหาคม

สถานการณ์การติดตามคุกคามนักกิจกรรม นักศึกษา หรือประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเจ้าหน้าที่รัฐและไม่ใช่กระบวนการที่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งสืบเนื่องมาจากยุค คสช. – รัฐบาลประยุทธ์ 2 ยังคงดำเนินต่อไป และพบว่าไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในแนวทางการใช้อำนาจในเรื่องนี้ แม้มีการเปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็ตาม

แม้ในช่วงปี 2566 จะไม่ได้มีการชุมนุมทางการเมืองมากนัก แต่นักศึกษา-ประชาชนที่เคยออกมาเคลื่อนไหวและถูกจับตาในช่วงปี 2563-65 ก็ยังคงตกเป็น “เป้าหมาย” ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามถึงบ้านพักหรือพื้นที่ส่วนตัว, คอยสอดแนม-ตรวจเช็คความเคลื่อนไหว หากมีบุคคลสำคัญมาลงพื้นที่ รวมทั้งการเข้าห้ามหรือปิดกั้นกิจกรรมต่าง ๆ ยังเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะในรอบปีนี้

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตลอดปี 2566 (ข้อมูลจนถึงวันที่ 23 ธ.ค. 2566) พบกรณีการคุกคามนักกิจกรรมหรือประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่น้อยกว่า 203 กรณี โดยมีผู้ถูกคุกคามจำนวนไม่น้อยกว่า 167 คน (บางรายถูกติดตามคุกคามหลายครั้งในรอบปี ทำให้มีจำนวนหลายกรณี)  ในจำนวนนี้ มีข้อมูลว่าเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 6 คน

หากแบ่งตามระยะเวลา จากสถิติดังกล่าว แยกเป็นสถานการณ์คุกคามที่เกิดขึ้นภายหลังการโปรดเกล้าฯ ให้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว (วันที่ 23 ส.ค. 2566 เป็นต้นมา) จำนวน 70 กรณี

สำหรับรูปแบบการคุกคามที่พบมากที่สุด ได้แก่ การไปติดตามถึงที่บ้านหรือที่ทำงาน ไม่น้อยกว่า 75 กรณี ลำดับถัดมาได้แก่ การเข้าห้ามปรามหรือรบกวนการทำกิจกรรมจำนวน 38 กรณี, การติดตามสอดแนมไม่น้อยกว่า 36 กรณี และการโทรศัพท์ติดต่อสอบถามข้อมูลและความเคลื่อนไหว 21 กรณี

หากแบ่งกรณีที่เกิดขึ้นเท่าที่ทราบข้อมูลนี้ ไปตามพื้นที่ภูมิภาค พบว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคกลางจำนวน 98 กรณี พื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือจำนวน 54 กรณี พื้นที่จังหวัดทางภาคอีสานจำนวน 30 กรณี และพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้จำนวน 17 กรณี

.

.

การถูกติดตามเพราะมีบุคคลสำคัญลงพื้นที่ เป็นเหตุที่พบมากที่สุด กว่า 78 กรณี

สาเหตุการคุกคามที่พบมากที่สุดในรอบปี ยังคงพบว่าเป็นกรณีเจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามประชาชนก่อนหรือระหว่างการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ ทั้งของสมาชิกราชวงศ์ ตลอดจนนายกรัฐมนตรี เพื่อเฝ้าระวังการเคลื่อนไหว หรือห้ามปรามการแสดงออกเอาไว้ก่อน 

กรณีลักษณะนี้ พบว่ามีผู้ติดตามคุกคามอย่างน้อย 78 กรณี โดยแยกเป็นกรณีที่เกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์หรือองคมนตรีจำนวน 63 กรณี และกรณีนายกรัฐมนตรีหรือบุคคลในรัฐบาลจำนวน 15 กรณี

การติดตามประชาชนเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายจังหวัด หากบุคคลสำคัญเหล่านั้นไปลงพื้นที่ นักกิจกรรมหรือประชาชนที่อยู่ในรายชื่อจับตาของเจ้าหน้าที่ มักจะถูกติดตามไปพบถึงบ้าน หรือพื้นที่ส่วนตัว ส่วนใหญ่แล้ว ประชาชนหรือนักกิจกรรมที่ถูกติดตาม ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าจะมีการมาลงพื้นที่ และไม่ได้มีเจตนาจะไปเคลื่อนไหวหรือชุมนุมทางการเมืองใด

การเข้าติดตาม โดยมากเป็นการดำเนินการของหน่วยงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ก็พบว่ามีกรณีที่ตำรวจระบุว่าได้รับคำสั่ง หรือได้รับรายชื่อบุคคลจากเจ้าหน้าที่ทหารด้วย เช่น กรณี “มิน” กลุ่มนักเรียนเลว หรือกรณีนิสิตที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

บางกรณีแม้บุคคลสำคัญไปลงพื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียง ไม่ใช่จังหวัดที่นักกิจกรรมหรือประชาชนอาศัยอยู่ ก็มีการติดตามบุคคลในวงกว้างระดับภูมิภาค โดยพบว่าเป็นคำสั่งในระดับตำรวจภูธรภาค เช่น กรณีมีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จไปยังจังหวัดพิษณุโลก แต่มีการติดตามคุกคามประชาชนทั้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร หรือมีการเสด็จไปยังจังหวัดตาก แต่พบว่ามีการติดตามอดีตนักเรียนที่เคยไปชุมนุมทางการเมืองในจังหวัดนครสวรรค์ 

รวมทั้งการเสด็จของในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ไปยังจังหวัดภูเก็ต แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปบ้าน หรือโทรศัพท์ไปตรวจเช็คความเคลื่อนไหวผู้เคยร่วมชุมนุมในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสอบถามว่าจะไปยังจังหวัดภูเก็ตหรือไม่

นักกิจกรรมบางรายที่ตกเป็น “เป้าหมาย” ของเจ้าหน้าที่เนื่องจากการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ยังพบว่าถูกติดตามไปเฝ้าความเคลื่อนไหวที่บ้านหลายครั้งตลอดปี หากมีการเสด็จของสมาชิกราชวงศ์ในกรุงเทพฯ

ที่น่าสนใจคือในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2566 พบกรณีประชาชนและนักกิจกรรมอย่างน้อย 9 ราย ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามไปหาถึงที่บ้าน เพื่อถ่ายรูปรายงาน และสอบถามข้อมูลว่าจะมีการทำกิจกรรมใด ๆ ในระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่หาเสียงหรือไม่ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นกรณีใช้อำนาจรัฐสนับสนุนการหาเสียงของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งโดยเฉพาะอีกด้วย

ในช่วงรัฐบาลเศรษฐา ยังพบสถานการณ์เช่นกันว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางไปลงพื้นที่ตรวจราชการในต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่รัฐตำรวจได้เข้าติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมและประชาชน โดยพบกรณีที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดอุบลราชธานี หรือกรณีที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีตำรวจติดตามประกบแกนนำนักศึกษา หรือเชิญนักศึกษาที่เห็นว่าอาจแสดงออกทางการเมืองออกจากสถานที่

.

.

การติดตามคุกคามปิดกั้นกิจกรรมทางการเมืองของประชาชน ไม่น้อยกว่า 53 กรณี

ขณะที่สาเหตุของการถูกคุกคามอีกลักษณะหนึ่ง คือการออกมาทำกิจกรรมหรือแสดงออกทางสังคม/การเมือง ที่ไม่ใช่ลักษณะการชุมนุม ทำให้ถูกติดตามคุกคามหรือปิดกั้น พบในรอบปีนี้อย่างน้อย 40 กรณี และกรณีคุกคามที่เกี่ยวกับการชุมนุมอีกอย่างน้อย 13 กรณี

กรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าไปปิดกั้นหรือห้ามปรามการทำกิจกรรม อาทิเช่น กรณีกลุ่มนักเรียนทำกิจกรรมแจกหนังสือคู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียนที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการในช่วงวันเด็กแห่งชาติ ก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้าขัดขวาง หรือกรณีเยาวชนวัย 18 ปี ไปร่วมงานกิจกรรมวันเด็กที่จัดโดยกองบิน 41 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้ทำกิจกรรมเขียนป้ายผ้าแสดงความเห็นภายใต้โจทย์ว่า “เด็กๆ อยากบอกอะไรกับผู้ใหญ่?” แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าขัดขวางและยึดป้ายไป

หรือกรณีช่วงต้นปี 2566 มีรายงานสถานการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ากดดันประชาชน-นักกิจกรรมซึ่งทำกิจกรรมยืนหยุดขังที่จังหวัดน่าน เป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน ทั้งที่เป็นการทำกิจกรรมโดยสงบ และในจังหวัดอื่น ๆ กิจกรรมนี้ก็ดำเนินไปโดยปกติ

หรือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ พบว่ามีกรณีที่บูธสำนักพิมพ์สามัญชนติดป้ายข้อความ “ยกเลิก 112” ก่อนจะถูกสั่งให้นำออก ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สั่ง หลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเดินดูบูธต่าง ๆ ในงานเป็นระยะด้วย

ในช่วงหลังการเลือกตั้ง และมีสถานการณ์การพยายามจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล พร้อมกับการชุมนุมของประชาชนเรียกร้องให้วุฒิสภาเคารพเสียงประชาชน พบว่าในช่วงก่อนวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีนักกิจกรรมบางส่วนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปถ่ายรูปและสอบถามความเคลื่อนไหว ถึงการเข้าร่วมชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวด้วย

.

.

หรือการจัดกิจกรรมในช่วงดังกล่าว ก็เผชิญกับการคุกคามปิดกั้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐอยู่บ้าง เช่น ที่จังหวัดชลบุรี มีกลุ่มประชาชนจัดกิจกรรม “ชูป้ายไว้อาลัยให้กับเสียง 25 ล้านเสียงของประชาชนไม่มีควาหมาย” ก่อนจัดกิจกรรมหนึ่งวัน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปที่บ้านของผู้จัด เพื่อสอบถามถึงกิจกรรม  หรือที่จังหวัดอุตรดิตถ์ กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลได้ไปทำกิจกรรมสนับสนุนการโหวตเลือกพิธาเป็นนายกฯ แต่ถูกเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) นำโซ่และกุญแจมาล็อกประตูทางเข้า ไม่ให้เข้าไปทำกิจกรรม ทั้งที่โดยปกติพื้นที่ดังกล่าวเปิดให้ประชาชนเข้าออกได้ตลอด

ในปีที่ผ่านมา ยังพบว่ากิจกรรมของพรรคก้าวไกล ทั้งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และสมาชิกสัมพันธ์ในภายหลังเลือกตั้ง ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามสอดแนมอย่างใกล้ชิดในหลายกรณีด้วย บางกรณีมีลักษณะเป็นการคุกคามและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม เช่น กรณีสาขาพรรคที่จังหวัดบุรีรัมย์จัดกิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์ ในประเด็นสุราพื้นบ้าน แต่เจ้าของพื้นที่จัดกิจกรรมได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามไปหาถึงบ้านถึง 3 ครั้ง ทั้งยังมีการข่มขู่ในเรื่องการให้จัดกิจกรรมด้วย  หรือการเข้าติดตามสอดแนมกิจกรรมของพรรค โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่เปิดเผยตัว ทั้งมีการถ่ายภาพรายชื่อผู้เข้าร่วมงาน ไปส่งในไลน์ของเจ้าหน้าที่ด้วย

ในปีนี้ การทำกิจกรรมหรือแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่สถานศึกษา ยังเผชิญกับการปิดกั้นในหลายกรณีอีกด้วย เช่น กรณีการเสวนาทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถูกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ พยายามเคลื่อนไหวคัดค้านและกดดันการจัดกิจกรรม เพราะมีนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เข้าร่วม ทำให้ผู้จัดต้องยกเลิกหรือถูกให้เปลี่ยนแปลงสถานที่จัดกิจกรรมไปภายนอกมหาวิทยาลัย

หรือการจัดกิจกรรมเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ของกลุ่มนักศึกษา Thammasat Democratic Study Group (TUDS) เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน ก็พบกับปัญหาและอุปสรรค ทั้งกรณีมีตำรวจสันติบาลเข้ามาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย จนมหาวิทยาลัยแจ้งยกเลิกการใช้ห้อง จนผู้จัดต้องปรับการจัดงาน และยังมีตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 7 นาย เข้ามาสังเกตการณ์ในวันจัดสัมมนาด้วย

.

.

การคุกคามจากการแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์บนโลกออนไลน์ ยังพบต่อเนื่องอีกปี

ในปีนี้ ยังพบการคุกคามสืบเนื่องจากการแสดงออกออนไลน์ในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งไม่ได้เป็นคดีความ อย่างน้อย 20 กรณี  

ในจำนวนนี้พบว่า 9 กรณี ที่กรณีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐไปพบถึงบ้าน เนื่องจากมีการโพสต์หรือแชร์ข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และมีอีก 4 กรณีที่เป็นการโทรศัพท์ติดต่อมาเพื่อขอพบหรือพูดคุยในเรื่องการโพสต์หรือแชร์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ในจำนวนนี้ มีกรณีที่อาจเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วย ได้แก่ กรณีของ “กานต์” (นามสมมติ) นักศึกษาที่ทวีตข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 4 นาย จากสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง ไปรอพบยังที่พักอาศัย ก่อนจะนำตัวไปควบคุมไว้ที่ห้องภายในสถานีตำรวจเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง และยังยึดอุปกรณ์สื่อสารไว้ พร้อมขอเข้าถึงข้อมูล โดยไม่มีหมายจับหรือเอกสารใด ทั้งยังให้ลงนามในเอกสารข้อตกลงยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความ และจะไม่กระทำการในลักษณะเดียวกันซ้ำอีก

นอกจากนั้น ยังมีกรณีของ “เอ” (นามสมมติ) ผู้ประกอบอาชีพด้านการศึกษา ได้ถูกกลุ่มบุคคลอ้างตนเป็น “กองทัพมินเนี่ยน” แต่มีนายทหารมาเกี่ยวข้องด้วย เข้าไปติดตาม เนื่องจากเธอไปคอมเมนต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในเพจเฟซบุ๊ก กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้พูดคุยเชิงข่มขู่ว่าจะไม่แจ้งความดำเนินคดี แต่ให้เธอลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ที่เป็นเรื่องการไปทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

และยังมีกรณีที่ผู้ปฏิบัติการเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนปกครองท้องถิ่นหรือ กอ.รมน. อีกด้วย เช่น ช่วงต้นเดือนตุลาคม ผู้ที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองรายหนึ่งในจังหวัดทางภาคกลาง ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ส่วนปกครองท้องถิ่นเดินทางมาที่บ้าน อ้างว่ามีคำสั่งจากทางตำรวจให้มาติดตามกรณีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยพบว่าเป็นการแชร์ข้อความจากโพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และขอให้ลบโพสต์ดังกล่าวออก

หรือกรณี ทิวากร วิถีตน ผู้สวมใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้ว” โพสต์ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. โทรศัพท์ติดต่อมาหาพี่ชายของตน แจ้งขอให้โพสต์เฟซบุ๊กเบาลงหน่อย 

กรณีที่เจ้าหน้าที่ไปติดตามหรือนำตัวผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไปดำเนินการในลักษณะสอบสวน และให้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) โดยไม่ใช่กระบวนการทางกฎหมายเช่นนี้ มีรายงานตั้งแต่ราวช่วงปี 2562 เป็นต้นมา ในช่วงที่มีการหยุดบังคับใช้มาตรา 112 แต่พบว่ายังดำเนินสืบเนื่องมาถึงปี 2566 นี้ แม้ได้รับรายงานน้อยลงในปีนี้ โดยการทราบสถานการณ์ภาพรวมของการใช้อำนาจรัฐในเรื่องนี้เป็นไปได้ยากลำบาก  เพราะได้รับแจ้งข้อมูลเป็นรายกรณีเท่านั้น แต่ไม่สามารถทราบได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มบุคคลที่เคลื่อนไหวเช่นนี้ ดำเนินการต่อประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด

.

.

นอกจากการติดตามไปถึงบ้าน กลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็น “กองทัพมินเนี่ยน” นี้ ยังใช้รูปแบบการส่งข้อความ ข่มขู่ในเฟซบุ๊กผ่านแอคเคาท์ปลอม ไปยังบุคคลที่กลุ่มดังกล่าวเห็นว่าได้โพสต์ แชร์ หรือคอมเมนต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยส่งข้อความทำนองว่า “กองทัพมินเนี่ยนรวบรวมเอกสาร พร้อมแจ้งความดำเนินคดีคุณแล้ว” พร้อมกับมีการแนบไฟล์ที่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวของบุคคลดังกล่าวส่งมาให้ดูด้วย

ปฏิบัติการเช่นนี้ พบต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปี 2564 แม้ถึงปี 2566 ก็ได้รับรายงานว่ามีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่ แต่จำนวนลดน้อยลง จากนับร้อยกรณีในช่วงปีก่อนหน้า แต่ในปีนี้ได้รับรายงานกรณีลักษณะนี้จำนวน 9 กรณี แต่ก็เป็นไปได้ว่ามีผู้ถูกข่มขู่ที่ไม่ได้แจ้งข้อมูลเข้ามาอีกด้วย

ควรบันทึกไว้ด้วยว่าปี 2566 มีกรณีที่ตำรวจใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ปิดกั้นการนำเข้าและเผยแพร่สิ่งพิมพ์ในราชอาณาจักรจำนวน 1 กรณี ได้แก่ กรณีหนังสือ “Rama X : The Thai Monarchy under King Vajiralongkorn” ที่มี ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เป็นบรรณาธิการ โดยการสั่งห้ามนี้เกิดขึ้นภายใต้การออกคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก่อนที่หนังสือจะเผยแพร่ออกมา โดยอ้างว่ามีลักษณะของภาพปกหนังสือ และบทความที่นำเสนอสื่อถึงทัศนคติของผู้เขียนที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์

.

.

การข่มขู่ใช้ความรุนแรง โดยบุคคลไม่ทราบฝ่าย

นอกจากสถานการณ์คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในปีนี้ ยังมีสถานการณ์ที่น่ากังวลอีกส่วนหนึ่ง คือกรณีการข่มขู่คุกคามหรือใช้ความรุนแรงกับนักกิจกรรมด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยไม่ทราบผู้กระทำการชัดเจน

เช่น กรณี ‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2566 ได้ถูกบุคคล 2 ราย ขับขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งนำแผ่นป้ายทะเบียนออก และยังสวมหมวกกันน็อคปกปิดใบหน้า มาหยุดที่บริเวณรั้วกำแพงข้างบ้านพักในช่วงกลางดึก จากนั้นได้ใช้ก้อนหินขนาดใหญ่โยนทุ่มเข้ามาใส่รถที่จอดอยู่บริเวณรั้วภายในบ้าน ทำให้กระจกแตกได้รับความเสียหาย และตำรวจยังติดตามจับกุมตัวผู้กระทำไม่ได้จนถึงปัจจุบัน 

หรือกรณี “พิม” แทนฤทัย แท่นรัตน์ นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ถูกบุคคลโทรศัพท์ไปข่มขู่แม่ของเธอ

รวมทั้งกรณี แซม สาแมท นักกิจกรรมไร้สัญชาติ ที่ถูกคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างในแอปพลิเคชัน Bolt ทำร้ายร่างกายในขณะที่กำลังเดินทางออกจากบ้านพัก ไปทำธุระในจังหวัดนนทบุรี โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด โดยเจ้าตัวเข้าใจว่าเป็นเพราะเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน เพราะไม่เคยรู้จักผู้กระทำมาก่อน และไม่มีสาเหตุโกรธเคืองใด ๆ

ในปีหน้า ภายใต้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ยังต้องจับตาสถานการณ์การใช้อำนาจรัฐ ในการเข้าติดตามหรือคุกคามประชาชนและนักกิจกรรม ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือยังดำเนินต่อไปเช่นเดิม

.

ดูสรุปสถานการณ์แต่ละช่วงสองเดือนในรอบปีนี้

ม.ค.ก.พ. 2566 สองเดือนแรกปี 66 มีผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามอย่างน้อย 30 ราย เป็นกรณีถูกติดตามเหตุแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ 5 ราย

มี.ค.-เม.ย. 2566 พบกรณีประชาชนถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างน้อย 45 ราย

สถานการณ์ช่วงการเลือกตั้ง ภาพรวมสถานการณ์ใช้อำนาจรัฐติดตามคุกคาม ‘ประชาชน-นักกิจกรรม-ผู้สมัคร ส.ส.’ ช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2566

พ.ค.- มิ.ย. 2566 สถานการณ์ติดตามคุกคามโดยจนท.รัฐ อย่างน้อย 13 กรณีในรอบสองเดือนและพบกิจกรรมในมหาลัยถูกปิดกั้น 2 กรณี

ก.ค.ส.ค. 2566 สถานการณ์ติดตาม-คุกคาม-ปิดกั้นการแสดงทางการเมืองรอบสองเดือนขณะจัดตั้งรัฐบาล ยังพบไม่น้อยกว่า 18 กรณี

ก.ย.-ต.ค. 2566 สถานการณ์ติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐรอบสองเดือน พบไม่น้อยกว่า 23 กรณี แม้เปลี่ยนรัฐบาล แต่ตำรวจยังไปบ้านนักกิจกรรม

.

X