นิสิต มมส. เกือบ 10 ราย ถูกโทรติดตามช่วง “ประธานองคมนตรี” ไปมอบปริญญา ตร.ระบุ ทหารส่งรายชื่อให้ ขณะอดีตนักกิจกรรม มข. ถูกส่องไอจี  

18-19 ธ.ค. 2566 มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตซึ่งสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2565 สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในหลวงรัชกาลที่ 10 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพฯ เสด็จแทนพระองค์ ส่วนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์

ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แม้ว่าผู้ที่เดินทางมาในพิธีไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์ แต่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ได้รับแจ้งจากนิสิตกลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม ว่า ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค. 2566 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์ถึงสมาชิกกลุ่มอย่างน้อย 7 คน สอบถามว่าจะไปที่งานรับปริญญาหรือไม่ จะทำกิจกรรมอะไรมั้ย พร้อมทั้งขอมาถ่ายรูปที่หอพักเพื่อส่งรายงานผู้บังคับบัญชาและทหาร ตำรวจบางนายระบุว่า ทหารส่งรายชื่อให้ติดตาม ตำรวจบางนายสามารถระบุชื่อหอพัก และห้องที่นิสิตพักได้ สร้างความตกใจและรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับนิสิตเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง  

ส่วนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งจาก อดีตนักกิจกรรมซึ่งจบการศึกษามาได้ 2 ปีแล้ว ว่า ถูกติดตามโดยตำรวจคนเดียวกับที่เคยติดตามเมื่อครั้งเธอเข้ารับปริญญาในปลายปี 2564 และช่วงรับปริญญาในปี 2565 ด้วย โดยครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน ๆ คือ ใช้วิธีเข้ามาสอดส่องชีวิตส่วนตัวของเธอผ่านไอจีสตอรี่ (IG Story) ซึ่งเธอถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป และโดยไม่มีเหตุอันสมควร เนื่องจากเธอไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับงานรับปริญญาอีกแล้ว 

.

เบอร์แปลกโทรหา 10 สมาชิก “เสรีมวลชนเพื่อสังคม” เกรงทำกิจกรรมชูป้ายช่วง “ประธานองคมนตรี” มามอบปริญญา ตำรวจระบุ ทหารส่งรายชื่อให้ติดตาม   

ภาพจาก เว็บไซต์พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

“ป๋อม” (นามสมมติ) นิสิตปี 4 ประธานกลุ่มเสรีมวลชนฯ ให้ข้อมูลว่า ประมาณ 10 โมงเช้า วันที่ 17 ธ.ค. 2566 ขณะที่เธออยู่ที่หอพักมีเสียงโทรศัพท์เข้ามา เมื่อป๋อมกดรับสาย ปลายสายซึ่งเป็นเสียงผู้ชายถามโดยเอ่ยชื่อจริงของเธอเพื่อให้แน่ใจว่าโทรมาหาไม่ผิดคน เมื่อป๋อมตอบรับว่า ใช่ เขาก็ถามต่อว่า ช่วงนี้อยู่ที่มหาวิทยาลัยหรือเปล่า มางานรับปริญญามั้ย ป๋อมตอบปฏิเสธไป 

อีกฝ่ายยังคงถามต่อโดยที่ไม่ได้มีการแนะนำตัวเองว่า ได้ทำกิจกรรมอะไรเกี่ยวกับการรับปริญญามั้ย ป๋อมตอบว่า ไม่มี ก่อนที่ทางนั้นจะพูดในทำนองชี้แจงสาเหตุที่โทรมาถามว่า นายให้ตามดูน้อง ๆ และถามย้ำอีกครั้งให้แน่ใจว่า ไม่มีการทำกิจกรรมอะไรในงานรับปริญญาจริง ๆ ใช่มั้ย ซึ่งป๋อมก็ยืนยันเช่นเดิมว่า ไม่มี

สุดท้ายชายคนดังกล่าวถามป๋อมว่า สะดวกออกมาให้ถ่ายรูปมั้ย เขาต้องถ่ายรูปส่งนาย ป๋อมตอบปัดไปว่า ไม่ได้ แล้วถามกลับไปว่า เขาเป็นใคร ติดต่อมาจากที่ไหน แต่เขาก็ไม่ได้บอก จากนั้นก็วางสายไป 

ป๋อมเล่าเพิ่มเติมว่า ก่อนที่ชายคนดังกล่าวซึ่งคาดว่าเป็นตำรวจจะโทรมา น้องในกลุ่มโทรมาบอกว่า มีตำรวจโทรไปหา โดยตำรวจรู้ทั้งชื่อจริงและหอพักของน้องด้วย และหลังจากที่ป๋อมได้รับโทรศัพท์ ก็ทราบว่า มีน้องอีก 2 คน ถูกโทรหาและสอบถามในลักษณะเดียวกันนี้ รวมทั้งมีอีก 2 คน บอกว่า มีเบอร์แปลกโทรมา แต่ไม่ได้รับ ทำให้ไม่รู้ว่า เป็นตำรวจโทรมาติดตามเหมือนกับคนอื่นหรือไม่ ทั้งหมดเป็นสมาชิกที่ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเสรีมวลชนฯ และเมื่อทุกคนเอาเบอร์ที่โทรเข้ามาเช็คพบว่า ไม่ใช่เบอร์เดียวกันเลย 

รวมทั้งวันถัดมา ซึ่งเป็นวันรับปริญญา นิสิตที่ทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเสรีมวลชนฯ อีกอย่างน้อย 4 คน ถูกโทรศัพท์เบอร์แปลกโทรหา บางคนก็ไม่ได้รับสาย จำนวน 2 คนที่รับสาย ก็ถูกถามในลักษณะว่า ไปงานรับปริญญาหรือเปล่า มีความเห็นอย่างไรต่องานรับปริญญา โดยไม่ได้แนะนำตัวว่าคนที่โทรมาเป็นใคร ทำให้นิสิตทั้งสองคิดว่าเป็นคอลเซ็นเตอร์จึงรีบตัดสายไป 

ป๋อมกล่าวถึงความรู้สึกที่เจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ว่า อยากให้สาธารณะรับรู้เรื่องนี้ เพราะไม่อยากให้เจ้าหน้าที่คิดว่าพวกเรากลัว และไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาจะมาทำอะไรแบบนี้ ทั้งที่พวกเราก็ไม่ได้ทำอะไร หรือคิดจะทำอะไรซักหน่อย

.

“ตุ้ย” (นามสมมติ) นิสิตปี 2 เป็น 1 ในสมาชิกกลุ่มเสรีมวลชนฯ ที่ถูกติดตามจากตำรวจในช่วงงานรับปริญญาครั้งนี้ เล่าถึงการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่เป็นครั้งแรกว่า เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2566 ประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง เพื่อนที่อยู่ในจังหวัดซึ่งเป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของเขา โทรมาทางเมสเซนเจอร์เล่าว่า ตำรวจโทรศัพท์ไปหา บอกว่าเป็นตำรวจที่มหาสารคาม และถามว่ารู้จักตุ้ยมั้ย โทรติดต่อให้หน่อย อยากพูดคุยเรื่องทำกิจกรรม เพื่อนตอบไปแค่ว่า จะลองติดต่อให้ แล้ววางสายไป โดยที่เพื่อนก็ไม่ได้เอะใจว่า ตำรวจรู้เบอร์โทรเขาได้อย่างไร

ขณะที่ตุ้ยคุยกับเพื่อนอยู่นั้นก็มีโทรศัพท์เบอร์แปลกโทรเข้ามา เขาไม่ได้รับสาย แต่หลังจากคุยกับเพื่อนเสร็จแล้ว เบอร์เดิมก็โทรมาอีกครั้ง ทำให้ตุ้ยคิดว่าน่าจะเป็นคนรู้จัก เขาจึงรับสาย ชายที่โทรมาแนะนำตัวว่าเป็นตำรวจอยู่ที่มหาสารคาม ก่อนเริ่มถามว่า ตุ้ยจะไปทำกิจกรรมชูป้ายในงานรับปริญญามั้ย ที่โทรมาเพราะตุ้ยมีชื่ออยู่ในรายชื่อของทหาร และทหารส่งรายชื่อดังกล่าวมาให้ตำรวจ โดยตำรวจคนดังกล่าวก็ไม่ได้บอกรายละเอียดให้ตุ้ยรู้ว่าเป็นรายชื่ออะไร ถึงตรงนี้ตุ้ยเริ่มรู้สึกงงว่า เขาไปอยู่ในรายชื่อของเจ้าหน้าที่ได้ยังไง เพราะไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย 

จากนั้นตำรวจก็ขอนัดเจอตุ้ยและถ่ายรูปในวันเช้ารุ่งขึ้น โดยบอกว่าเพื่อแสดงตัวตนว่า ‘ไม่ได้มีความเห็นต่าง’ แล้วเขาจะส่งรูปให้ทหารเพื่อให้ทหารเอาชื่อตุ้ยออก ตุ้ยที่เพิ่งเคยเจอสถานการณ์แบบนี้และไม่รู้ว่าควรต้องรับมือแบบไหน จึงตอบตกลงไป ตำรวจนัดว่าจะมาพบที่ห้องของตุ้ยในหอพักประมาณ 8 โมง โดยบอกเลขห้องได้ถูกต้อง ทำให้ตุ้ยตกใจมาก ตำรวจบอกด้วยว่า เขามาดูตุ้ยหลายวันแล้ว 

หลังจากวางสายไป ตุ้ยเริ่มตั้งสติได้จึงโทรเล่าให้รุ่นพี่ในกลุ่มเสรีมวลชนฯ ฟัง ทั้งยังเอาเบอร์โทรที่โทรเข้ามาไปแอดไลน์ ซึ่งก็ปรากฏรูปโปรไฟล์เป็นรูปผู้ชายใส่เสื้อสีดำมีสัญลักษณ์ของตำรวจ และเมื่อตุ้ยเช็คกับเพื่อนก็เป็นเบอร์เดียวกับที่โทรไปถามถึงตุ้ย

คืนนั้นตุ้ยย้ายไปนอนห้องเพื่อน เนื่องจากรู้สึกไม่ปลอดภัย รวมถึงไม่ได้มาพบตำรวจตามนัดในวันรุ่งขึ้น แม้เขาจะโทรมาอีก ตุ้ยก็ไม่ได้รับ 

ตุ้ยเปิดเผยความรู้สึกว่า ตอนนี้เขารู้สึกว่าตนเองมีอันตรายมากที่ตำรวจรู้ที่อยู่ รู้กระทั่งว่าอยู่หอไหน ห้องไหน ซ้ำยังไปอยู่ในรายชื่อของเจ้าหน้าที่ โดยไม่เคยทำผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาตั้งแต่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขาก็เพียงทำกิจกรรมกับกลุ่มเสรีมวลชนฯ โดยไปค่ายเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน 2 ครั้ง และร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าเป็นเหตุให้ตกเป็นเป้าหมายในการติดตามของตำรวจได้อย่างไร   

.

เช้าตรู่วันรับปริญญา (18 ธ.ค. 2566) ราว 08.30 น. “บอย” พงศธรณ์ ตันเจริญ นิสิตปี 5 สมาชิกอีกคนของกลุ่มเสรีมวลชนฯ และนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม “ราษฎร” ในปี 2563 ก็ได้รับโทรศัพท์เบอร์แปลกเช่นกัน เมื่อบอยรับสายแล้วถามว่า คนที่โทรมาเป็นใคร ชายคนดังกล่าวไม่ได้ตอบคำถามตามตรง แต่แนะนำตัวว่า เป็นคนที่นั่งข้าง ๆ บอยในวันงานกิจกรรมของกลุ่มเสรีมวลชนฯ เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา บอยจึงสรุปว่า “พี่เป็นตำรวจใช่มั้ย” ซึ่งเขาไม่ได้ตอบปฏิเสธ 

บอยถามถึงสาเหตุที่โทรมา ตำรวจปลายสายเล่าเท้าความทำนองว่า ปกติจะมีตำรวจท้องที่ของ สภ.เขวาใหญ่ ติดตามบอยอยู่แล้ว แล้วก็จะมีฝ่ายความมั่นคง ทั้งสันติบาลและทหาร มาติดตามข้อมูลจากตำรวจอีกที ว่าบอยทำอะไร ยังไงบ้าง 

จากนั้นก็บอกว่า ก่อนหน้าที่เขาจะโทรมานี้ ฝ่ายความมั่นคงเรียกประชุมเตรียมงานพิธีรับปริญญา และเขาถูกเรียกเข้าประชุมด้วย ในที่ประชุมระบุว่า มีนิสิต 1 คน ถูกขึ้นบัญชีแดง (บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ) ก็คือบอย เนื่องจากมีข่าวว่าจะเคลื่อนไหวทางการเมืองในพิธีรับปริญญา

ตำรวจท้องที่ออกตัวกับบอยว่า เขาก็งง ๆ ว่าทำไมบอยถูกขึ้นบัญชีแดงคนเดียว วันที่ไปนั่งฟังบอยพูด เขาก็เห็นว่าบอยพูดดี ก่อนหยอดคำถามว่า “บอยก็ไม่มีอะไรใช่ไหม”

บอยตอบไปตามความเป็นจริงว่า เขาแค่จัดงานครบรอบ 1 ทศวรรษ กลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ซึ่งมีสัมมนาวิชาการ มีกิจกรรมโต้วาที ฝ่ายความมั่นคงเขากลัวอะไร “ผมไม่คิดว่าเขาจะมาให้ความสำคัญกับผมขนาดนี้”

การพูดคุยทางโทรศัพท์กินเวลาประมาณ 10 นาที ช่วงหนึ่งตำรวจที่ติดตามบอยบอกด้วยว่า ที่เขาคุยกับบอยก็อาจจะมีคนฟังอยู่ และคำพูดที่ขาดไม่ได้ “ผมทำตามหน้าที่ ไม่ได้มีอะไร เขาให้รายงาน ผมก็รายงาน” ทิ้งท้ายด้วยว่า เขาอาจจะนัดบอยไปกินข้าวด้วยซักครั้ง ก่อนจบการสนทนา บอยสอบถามชื่อและยศของตำรวจที่เขาคุยด้วย ซึ่งก็ได้รับคำตอบกลับมาด้วยดี

บอยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาก็จะมีเจ้าหน้าที่โทรมาอย่างในครั้งนี้เป็นประจำ บางทีก็เป็นสันติบาล หรือมีตำรวจย้ายมารับตำแหน่งใหม่ก็โทรมา ซึ่งถ้าเป็นตำรวจท้องที่เขาเข้าใจได้ แต่ถ้าเป็นทหารหรือส่วนกลางเขาก็คิดว่าเป็นการคุกคามนิสิตนักศึกษาจนเกินไป

ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2563 บอยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัด “แล่น ลัก ลุง” ที่จังหวัดมหาสารคาม เป็นเหตุให้ถูกตำรวจโทรคุกคาม ช่วงการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกกลางปี 2563 บอยถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมการชุมนุมและขึ้นปราศรัยในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อนคดียกฟ้องในกลางปี 2565 ทั้งยังถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หลังร่วมขึ้นปราศรัยถึงทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในม็อบ #25พฤศจิกาไปSCB ที่หน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ กทม. เมื่อปี 2563 ซึ่งปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการสืบพยาน

สำหรับกลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม เป็นกลุ่มอิสระที่เกิดจากการรวมตัวกันของนิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครองและนิสิตคณะอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีวัตถุประสงค์เพื่อทำกิจกรรมเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ค่ายศึกษา นิทรรศการ เสวนา ฯลฯ ทั้งนี้ ในการจัดค่ายเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและสังคมพหุวัฒนธรรมที่วัดสองคอน อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ช่วงเดือนธันวาคม 2565 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็ถูกตำรวจไปพบครอบครัว และมีสันติบาลโทรสอบถามข้อมูลมาแล้วเช่นกัน  

.

ชุดสืบเมืองขอนแก่นส่องไอจีอดีตนักกิจกรรม ช่วงงานรับปริญญา มข. แม้เรียนจบ-ไม่ได้เคลื่อนไหวมาแล้ว 2 ปี 

“แป้ง” (นามสมมติ) อดีตนักกิจกรรมและบัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจบการศึกษามาได้ 2 ปีแล้ว ให้ข้อมูลว่า ช่วงนี้ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีงานรับปริญญา เธอถูกตำรวจติดตามโดยการเข้าดูไอจีสตอรี่ (IG Story) ซึ่งถือเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล เป็นนายตำรวจคนเดิมที่เคยติดตามเธอตั้งแต่เข้ารับปริญญาเมื่อปลายปี 2564 

โดยเมื่อวันเสาร์ (16 ธ.ค.) แป้งสังเกตเห็นว่า นายตำรวจคนดังกล่าวเข้ามาส่องไอจีสตอรี่ของเธอ แม้จะเริ่มรู้สึกไม่พอใจที่ถูกละเมิดพื้นที่ส่วนตัว แต่ขณะนั้นเธอไม่ได้อยู่ที่ขอนแก่น จึงคิดว่า ถ้าเขาเห็นแล้วว่าเธอไม่ได้อยู่ขอนแก่น เขาก็น่าจะเลิกติดตามไปเอง 

แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น วันจันทร์ (18 ธ.ค.) แป้งเดินทางกลับขอนแก่นก็ยังเห็นว่า เขาเข้ามาส่องไอจีของเธออีก ทำให้แป้งไม่พอใจมากจึงบล็อกไอจีของนายตำรวจคนนั้นไป และคิดว่าน่าจะยุติความรำคาญใจลงได้ แต่แล้วเช้าวันถัดมา แป้งพบว่า รุ่นพี่ของแป้งซึ่งแป้งทราบว่าเป็นเพื่อนกับตำรวจคนดังกล่าวเข้ามากดติดตามและดูไอจีสตอรี่ของแป้ง แป้งรู้ได้ว่า ไม่ใช่เรื่องปกติ และเมื่อสอบถามรุ่นพี่ไปก็เป็นไปตามที่เธอคาด นายตำรวจคนเดิมยังไม่เลิกการติดตาม และขอให้รุ่นพี่ของแป้งมาดูความเคลื่อนไหวของแป้งให้ 

แป้งให้ข้อมูลย้อนไปด้วยว่า ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่แป้งเข้ารับปริญญา ตำรวจคนเดียวกันนี้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นชุดสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น โทรศัพท์มาสอบถามก่อนวันรับว่า ตอนนี้อยู่ที่ไหน ทำงานอะไร และจะเข้ารับปริญญามั้ย นอกจากนี้ยังแชทมาถามทางเฟซบุ๊ก และฝากรุ่นพี่ของแป้งมาถามด้วย งานรับปริญญาปี 2565 ตำรวจคนเดิมก็ยังโทรมาเช็คว่า ช่วงนี้อยู่ที่ไหน จะไปหาใครที่งานรับปริญญาหรือเปล่า

แป้งกล่าวด้วยความรู้สึกอีดอัดใจว่า เธอก็ไม่เข้าใจสาเหตุที่ตำรวจยังติดตามเธอในช่วงงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกปี แม้ว่าแป้งจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับงานดังกล่าวแล้ว และแป้งได้เคยบอกไปแล้วว่า เธอทำงานแล้วในองค์กรที่ทำงานด้านสื่อสารประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่สามารถไปแสดงออกทางการเมืองได้เหมือนที่เคยทำกิจกรรมขณะเป็นนักศึกษา ตำรวจไม่จำเป็นต้องมาจับตาดูเธออีกแล้ว และเท่าที่แป้งสอบถามเพื่อนนักกิจกรรมก็ไม่มีใครถูกติดตามอย่างเธอเลย

ที่สำคัญสำหรับแป้ง การที่ตำรวจโทรศัพท์มาพูดคุยสอบถามอย่างที่เป็นมาใน 2 ปีก่อน ยังเป็นวิธีการที่เธอพอรับได้ แต่การมาแอบส่องไอจีสตอรี่ว่าเธอทำอะไร อยู่ที่ไหน แป้งถือว่าเป็นการละเมิดชีวิตส่วนตัวและสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนมากเกินไป และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกไม่ว่ากับใคร 

.

ทั้งนี้ สถานการณ์การติดตามนักกิจกรรม หรือบุคคลที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศกลับเข้าสู่รัฐบาลพลเรือนนำโดยพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะเมื่อมีการเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ไปในพื้นที่ต่าง ๆ 

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

สถานการณ์ติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐรอบสองเดือน พบไม่น้อยกว่า 23 กรณี แม้เปลี่ยนรัฐบาล แต่ตำรวจยังไปบ้านนักกิจกรรม

นักกิจกรรมในภาคใต้ถูกตำรวจติดตามอย่างน้อย 3 ราย เหตุมีเสด็จไปภูเก็ต

X