“ปกป้อง” (นามสมมติ) บัณฑิตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2567 และเคยทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงการชุมนุมของนักศึกษาตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เปิดเผยข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า เมื่อวันที่ 15-16 ม.ค. 2568 ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัย แม้เขาจะไม่ได้เข้าร่วมพิธีการ โดยเพียงจะแต่งชุดรับปริญญามาเพื่อถ่ายภาพร่วมกับครอบครัวและเพื่อน ๆ เท่านั้นก็ตาม กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาสอบถามติดตามตัวหลายครั้ง และขอให้ความร่วมมือช่วยไปหา พร้อมกักตัวให้อยู่บริเวณพื้นที่ใกล้ ๆ กับเจ้าหน้าที่ตลอดระยะเวลาพิธีทั้งสองวัน
ปกป้องระบุว่า ก่อนวันรับปริญญา ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เชียงใหม่ได้โทรศัพท์มาสอบถามหลายครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่ก่อนสิ้นปี 2567 และอีกครั้งประมาณวันที่ 10 ม.ค. 2568 นอกจากนี้ยังโทรศัพท์มาสอบถามผ่านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยที่รู้จักกัน เพื่อให้มาสอบถามถึงเขาอีกหลายครั้ง โดยหลัก ๆ พยายามสอบถามว่าจะเข้าร่วมพิธีรับปริญญาหรือไม่ จะไปอยู่ที่ไหนในวันงาน และจะไปถ่ายรูปตรงจุดไหนบ้าง
ปกป้องแจ้งกับตำรวจว่าเขาไม่ได้เข้าพิธีรับปริญญา เพียงแต่จะไปร่วมถ่ายภาพกับเพื่อนและครอบครัวบริเวณมหาวิทยาลัยเท่านั้น ปกป้องตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่น่าจะมีข้อมูลทั้งหมดอยู่แล้วว่าใครจะเข้ารับปริญญาบ้าง เพียงแต่โทรหาตนและคนรอบตัวบ่อย ๆ เพื่อให้รู้สึกตัวว่ากำลังถูกเจ้าหน้าที่ติดตาม
ตำรวจที่ติดต่อมายังขอความร่วมมือให้ไปช่วยงานในวันรับปริญญา แต่เมื่อฟังดูก็เข้าใจได้ว่าจะให้ไปอยู่ใกล้ ๆ ในสายตาเจ้าหน้าที่ โดยตำรวจอ้างว่าเป็นการขอให้ไปช่วย หากมีเหตุการณ์จัดกิจกรรมทางการเมืองบริเวณงานรับปริญญา ซึ่งที่ผ่านมาปกป้องเคยช่วยไกล่เกลี่ยระหว่างนักกิจกรรมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน
แม้ว่าปกป้องรู้สึกอึดอัดใจ ไม่อยากทำตามที่เจ้าหน้าที่ร้องขอก็ตาม แต่ที่ผ่านมาเคยมีตำรวจมาหาที่บ้าน โดยมาพบพ่อแม่ที่บ้านอยู่บ่อยครั้ง หลังเขาออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้สมาชิกครอบครัวเกิดความกังวล และหากเขาไปร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยก็มักจะมีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยติดตามอย่างใกล้ชิดเสมอ เหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมดทำให้เขากังวลว่า หากเขาไม่ให้ความร่วมมือ อาจมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาติดตามขณะถ่ายภาพกับครอบครัวในบริเวณงาน และจะทำให้ครอบครัวเกิดความไม่สบายใจ
ปกป้องเห็นว่าการที่ตำรวจขอเช่นนี้มีลักษณะเป็นการมัดมือชก เพราะเขากังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของครอบครัว ทำให้จำเป็นจะต้องไปอยู่กับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากหากไม่ยอมก็อาจมีตำรวจมาคอยเดินติดตาม หรือสอดแนมอยู่ตลอด เขาจึงตกลงที่จะไปหาตามที่ตำรวจแจ้ง
กระทั่งช่วงเช้าวันที่ 15 ม.ค. 2568 ตำรวจดังกล่าวได้แจ้งให้ปกป้องเดินทางไปหาที่ห้องจุดคัดกรอง บริเวณทางเข้าอาคารรับปริญญา ซึ่งเป็นห้องปิด เฉพาะผู้มีบัตรเท่านั้นสามารถเข้าได้ เขาพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากอยู่ด้วย แม้ว่าตำรวจดูแลเขาอย่างดี แต่เขาก็จะต้องรออยู่ที่จุดคัดกรองดังกล่าวอยู่นานมาก จนถึงช่วงบ่าย หลังจากกรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จออกไปจากพื้นที่อาคารแล้ว จึงให้ปกป้องออกมาด้านนอกได้
ต่อมาวันที่ 16 ม.ค. 2568 วันรับปริญญาวันที่สอง ช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งให้ปกป้องไปพบที่ห้องเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย และต่อมาให้ไปที่บริเวณหอเฉลิมพระเกียรติ ด้านข้างคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยให้เขาไปนั่งรอบริเวณด้านหน้าโรงอาหาร ซึ่งเขาพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนั่งอยู่จำนวนมากบริเวณนั้น จนถึงช่วงบ่าย หลังพิธีรับปริญญาเสร็จสิ้นเช่นเดิม ก็จึงให้ออกจากบริเวณนั้นได้
ปกป้องเล่าต่อไปว่า พ่อของเขาซึ่งมาจากต่างจังหวัด และรออยู่ในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ 7 โมงเช้า พร้อมคุณแม่ก็มารอเพื่อถ่ายภาพแสดงความยินดีในงานรับปริญญา แต่การถูกกักบริเวณดังกล่าว ทำให้เขาไม่สามารถออกไปไหนได้จนถึงบ่าย ทำให้พ่อแม่จะต้องรอคอยนานมาก กว่าจะได้ถ่ายภาพร่วมกัน
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังนำภาพบุคคลอื่นซึ่งเป็นบัณฑิตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกจำนวนหนึ่ง ระบุว่าเป็นรายชื่อผู้ต้องเฝ้าระวังมาให้ดู และสอบถามว่ารู้จักหรือไม่ด้วย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า การติดตามหรือคุกคามนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองลักษณะนี้ สร้างผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ถูกติดตามหลายคน โดยเฉพาะการที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อบุคคลในครอบครัว หรือการแสดงตัวเพื่อให้บุคคลใกล้ชิดเกิดความกังวล เพื่อกดดันให้บุคคลเป้าหมายต้องทำตามหรือไม่ทำตามคำสั่งของผู้คุกคาม ทั้งยังเกิดขึ้นต่อเนื่องต่อผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนในหลายปีที่ผ่านมา
.
ย้อนอ่าน ทำไมตำรวจถึงคุกคามคนรอบตัวผู้แสดงออกทางการเมือง: มองผ่านอาชญาวิทยา
ย้อนอ่านรายงานการคุกคามประจำปี 2567 คุกคามประชาชนปี 2567 พบไม่น้อยกว่า 121 กรณี: สถานการณ์ตำรวจไปบ้าน-ติดตามบุคคลเฝ้าระวัง-คนโพสต์เรื่องสถาบันฯ ยังดำรงอยู่
.