ตำรวจศรีสะเกษโทรติดตาม-ไปบ้านประชาชนอย่างน้อย 3 ราย ก่อน ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ลงพื้นที่ แม้ไม่มีตำแหน่งใดในปัจจุบัน

เสียงโทรศัพท์ปริศนาและชายทั้งใน-นอกเครื่องแบบที่ปรากฏตัวหน้าบ้าน ยังคงเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมและประชาชนที่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ในทุกครั้งที่มีบุคคลสำคัญไปเยือน จ.ศรีสะเกษ 

แม้ว่าวันเวลาและรัฐบาลจะเปลี่ยนผ่าน แต่การเฝ้าระวังยังคงอยู่ ยิ่งกับครั้งหลังสุดระหว่างวันที่ 24-25 ม.ค. 2568 ที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่หาเสียงช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 1 ก.พ. 2568  พบว่ามีประชาชนอย่างน้อย 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรติดตามสอบถามถึงที่อยู่ และมีบางรายที่ติดตามไปหาถึงที่บ้าน

เหตุการณ์ดังกล่าวทั้ง 3 คน ต่างตั้งคำถามถึงสาเหตุ เพราะไม่คาดคิดว่าตั้งแต่มีการเปลี่ยนจากรัฐบาลทหารแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐจะยังคงใช้วิธีการรูปแบบเดิม ๆ ในการสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชน

.

“พรสิทธิ์ รักษาทรัพย์” ทนายความและสมาชิกพรรคประชาชน จ.ศรีสะเกษ เผยข้อมูลว่า หนึ่งสัปดาห์ก่อนทักษิณ ชินวัตร มาเยือนศรีสะเกษ พบว่าตำรวจชุดสืบ สภ.เมืองศรีสะเกษ ติดต่อมาหาทุกวัน โดยเป็นตำรวจชุดเดิมกับที่เคยติดต่อตนในทุกครั้งที่มีบุคคลสำคัญเดินทางมา  สาเหตุหลัก ๆ เพื่อปรามการแสดงออกทางการเมือง  “ถ้าครั้งก่อน ๆ โทรมาก็จะนัดเจอกันตามร้านกาแฟ ผมก็จะเข้าไปให้ถ่ายรูป แต่ครั้งนี้เราก็คิดว่า ไม่ใช่รัฐบาลประยุทธ์ มันน่าจะดีขึ้น” พรสิทธิ์กล่าวไว้ตอนหนึ่ง

จนเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2568 พรสิทธิ์แจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดต่อมาว่า วันที่ 24-25 ม.ค. 2568 เขาจะไม่อยู่ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เพราะมีแผนเดินทางไปดูคอนเสิร์ตที่ จ.เพชรบูรณ์ แต่แล้วในช่วงวันที่ 24 ม.ค. 2568 ก็ทราบจากคนที่บ้านว่า มีตำรวจ 4-5 นาย ไปที่บ้านเหมือนเดิม ให้เหตุผลที่ยากจะรับฟังว่าไปถ่ายรูปเพื่อยืนยันว่าตนไม่ได้อยู่ที่บ้านจริง ๆ 

พรสิทธิ์กล่าวอีกว่า วันที่ตำรวจเข้ามาหาคนในบ้าน มีคนอาศัยร่วม 10 คน บางคนอยู่ในวัยชราก็ตกใจว่าตนไปทำอะไรผิดมา เลยบอกตำรวจไปว่าได้ตกลงไว้แล้วว่าจะไม่อยู่บ้าน และไม่ควรไปที่บ้าน  ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่ให้ความร่วมมืออีก เพราะไม่อยากให้คนที่บ้านตกใจ โดยเฉพาะคนที่ไม่คุ้นชินกับเหตุการณ์แบบนี้

“มันแปลกที่แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว แต่วิธีการเหล่านี้ยังคงอยู่” พรสิทธิ์สะท้อนความรู้สึก เขาเล่าว่าหลังการเลือกตั้ง เขาและเพื่อน ๆ แทบไม่ได้ทำกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ เพราะมองว่าสถานการณ์อยู่ในครรลองที่ยอมรับได้ มีเพียงการเคลื่อนไหวในประเด็นสังคม เช่น สมรสเท่าเทียม และสิทธิที่ดิน

ก่อนกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมไม่ได้หวาดกลัวแต่แปลกใจมากกว่า คิดว่าการคุกคามจะเบาบางลง แต่มันกลับมีมากขึ้น และไม่ต่างกันระหว่างวิธีการทำกับคนเห็นต่างที่ใช้ทั้งตำรวจ ทั้งทหาร มาติดตามคนเคยแสดงออกทางการเมือง”

.

นอกจากนั้น ยังมีกรณีของ “มายด์”  (นามสมมติ) ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวที่ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เล่าว่าระหว่างวันที่ 23-24 ม.ค. 2568 มีตำรวจจาก สภ.ขุนหาญ โทรมาสอบถามว่าอยู่ที่ไหนทำอะไร ทั้งกำชับให้ส่งรูปไปให้

แม้ครั้งนี้ไม่ได้มาหาถึงบ้าน มาขอแค่ภาพและยืนยันว่าอยู่ที่ไหน แต่ก็ทำให้รู้สึกรำคาญและอึดอัดที่มีคนตามตลอดเวลา  มายด์เล่าอีกว่าไม่ทราบว่ามาก่อนว่าอดีตนายกฯ ทักษิณจะมาลงพื้นที่ เพราะต้องทำงานในช่วงไฮซีซั่น จึงไม่ได้สนใจเรื่องนี้ 

มายด์กล่าวอย่างตลกร้ายว่ารู้สึกถูกเป็นห่วงจากเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไป เขาเห็นว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเป็นทุกครั้งที่มีบุคคลสำคัญมาศรีสะเกษ เช่น สมาชิกราชวงศ์ หรือ บุคคลในคณะรัฐมนตรี อยากให้ตำรวจทบทวนถึงสิ่งที่กระทำ 

“เราไม่ใช่อาชญากร ไม่จำเป็นต้องมาสนใจเรา ทำหน้าที่ของคุณให้ดีกับประชาชนก็เพียงพอ”  มายด์กล่าวทิ้งท้ายอย่างขมขื่น สะท้อนความรู้สึกของประชาชนที่ยังคงถูกเฝ้าติดตาม

.

ในขณะที่ “แท็ก”  (นามสมมติ) เกษตรกร ใน อ.ขุนหาญ ย้อนเหตุการณ์ไปว่า ราว 1 เดือนที่แล้วมีตำรวจจาก สภ.ขุนหาญ มาหาที่บ้าน แต่ตอนนั้นตนอยู่บ้านของแฟนในอีกอำเภอหนึ่ง  ตำรวจเลยถามคนที่บ้านว่าอยู่ที่ไหน จากนั้นอีกราว 1 ชั่วโมงตำรวจจึงไปตามหาถึง อ.กันทรลักษ์  วันนั้นตำรวจมีการขอเบอร์โทรศัพท์ ขอไลน์ แต่แท็กให้เพียงเบอร์โทรไป    

กระทั่ง 1-2 วัน ก่อนหน้าทักษิณจะเดินทางมาศรีสะเกษ ก็มีตำรวจชุดเดิมจาก สภ.ขุนหาญ โทรมาสอบถามว่ายังอยู่ในพื้นที่หรือไม่ หรือจะออกเดินทางไปไหนไหม  

แท็กจึงแจ้งว่ายังอยู่ในพื้นที่ขุนหาญ ไม่ได้ไปไหน เพราะทำไร่ทำสวนที่บ้าน จนวันที่ 24 ม.ค. 2568 ตำรวจพยายามติดต่อแท็กมาอีกครั้ง แต่เขาตัดสินใจไม่ได้รับสาย  

แท็กกล่าวด้วยความสงสัยว่า ทั้งที่เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ทำไมยังมีการติดตามอยู่เหมือนเดิม “มันรู้สึกวุ่นวายและรำคาญมากกว่า เพราะช่วงนี้ก็ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย ตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2566 เสร็จสิ้น” 

ทั้งนี้น่าสังเกตว่าทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ดำรงตำแหน่งใดในคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน จึงไม่แน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไปติดตามประชาชนด้วยเหตุใด อาศัยอำนาจใด และปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คำสั่งของใคร โดยก่อนหน้านี้มักมีรายงานการคุกคามประชาชนกรณีสมาชิกราชวงศ์ หรือนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่เป็นหลัก ยังไม่พบกรณีอย่างทักษิณมาก่อน

โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในช่วงปี 2567 มีรายงานกรณีนักกิจกรรมถูกติดตามลักษณะนี้อยู่เช่นกัน ในช่วงที่ทักษิณไปลงพื้นที่ ได้แก่ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และปทุมธานี ทั้งที่นักกิจกรรมไม่ได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ 

สำหรับนักกิจกรรมและประชาชนในพื้นที่ศรีสะเกษ การถูกติดตามครั้งนี้ไม่เพียงสร้างความรำคาญ แต่ยังสะท้อนความสืบเนื่องของวิธีการเก่าในยุครัฐบาลใหม่ อันถือเป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชน และครอบครัวและคนใกล้ชิดยังพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย คำถามที่ยังคงค้างคาใจทั้งสามคนคือเมื่อไรการติดตามเช่นนี้จะยุติลง 

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ไม่ใช่ประยุทธ์แล้ว! ชาวอุบลฯ สงสัย เหตุใด ‘เศรษฐา’ ลงพื้นที่  ตร.ยังตามความเคลื่อนไหวนักกิจกรรมอยู่

คุกคามประชาชนปี 2567 พบไม่น้อยกว่า 121 กรณี: สถานการณ์ตำรวจไปบ้าน-ติดตามบุคคลเฝ้าระวัง-คนโพสต์เรื่องสถาบันฯ ยังดำรงอยู่

X