ประมวลเหตุการณ์ “พี่สาววันเฉลิม” ถูกตำรวจสกัดรถ-คุมตัวโดยการจำกัดพื้นที่ ก่อนถึงหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า 

จากกรณีเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 ที่มีรายงานข่าวในสื่อมวลชนโดยทั่วไปว่า สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งถูกบังคับสูญหายในประเทศกัมพูชาเมื่อปี 2563 ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตัวสกัดไม่ให้เดินทางไปยังหน้าบ้านจันทร์สองหล้าของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 ในวันที่อดีตนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาสมเด็จฮุนเซนมาเยี่ยมทักษิณ เพื่อติดตามทวงถามการหายตัวไปของน้องชาย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามข้อมูลเพิ่มเติม สิตานัน ให้ข้อมูลว่าวันดังกล่าว เวลาประมาณ 10.00 น. ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายสิบนายได้สกัดรถยนต์ส่วนบุคคลของตนเองขณะจะเลี้ยวไปยังซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 

จากนั้นตำรวจนอกเครื่องแบบได้ติดตามไปควบคุมตัวเธอไว้อีกโดยการจำกัดพื้นที่ให้อยู่เพียงหน้าธนาคารไทยพาณิชย์สาขา ถนนศิรินธร เขตบางพลัด และย้ำว่า “ไม่ให้เธอไปไหนจนกว่าจะได้รับอนุญาต” รวมกว่า 3 ชั่วโมงครึ่งที่เธอถูกสกัด ควบคุมตัวโดยไม่ชอบกฎหมาย และติดตามตัวจนถึงที่ปลอดภัย

สิตานันยืนยันเจตนาเพียงไปยื่นหนังสือและติดตามสอบถามว่าจริงหรือไม่ที่รัฐบาลกัมพูชาตอบคำถาม คณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (“คณะกรรมการฯ” หรือ CED) องค์การสหประชาชาติว่ามีการสอบสวนเรื่องวันเฉลิมสูญหายจริง แต่ยังอ้างว่าไม่ใช่การกระทำของหน่วยงานรัฐ 

เมื่อค่ำของวันที่ 20 ก.พ. 2567 สิตานันได้ประกาศสาธารณะผ่านทางเฟซบุ๊กของเพื่อนรุ่นน้อง ว่าวันที่ 21 ก.พ. 2567 “พี่สาววันเฉลิมจะไปรณรงค์ที่หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า สืบเนื่องจากคุณฮุนเซนมาเยี่ยมคุณทักษิณ ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. เรียนเชิญคนที่สนใจไปร่วมให้กำลังใจ #saveวันเฉลิม” 

ต่อมาเวลาประมาณ 20.00 น. เพื่อนรุ่นน้องได้รับโทรศัพท์จากหญิงที่เธอทราบว่าเป็นทีมงานของพรรคเพื่อไทยซึ่งเธอได้พบที่ลานประชาชน รัฐสภา ครั้งที่มีการรณรงค์เรื่องนิรโทษกรรมประชาชนเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 

บุคคลนั้นโทรมาสอบถามทำนองว่าเธอจะไปทำกิจกรรมอะไรที่บ้านทักษิณ เธอบอกไม่ทราบเพราะกิจกรรมนั้น สิตานันเป็นคนแจ้งเธออีกที 

อีกสักพักมีโทรศัพท์ของชายอีกคนหนึ่งโทรเข้ามาหาอีก สรุปข้อความที่สนทนาว่า มีความกังวลมาก หากมีการไปยืนด่าทอว่ากล่าวแพทองธารและทักษิณ ชินวัตร หน้าบ้าน ขอให้ใจเย็น และคล้ายว่าหากไม่ฟังกัน ก็จะไม่มีบรรยากาศการพูดคุยในเรื่องนี้ (เรื่องชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิม) อีก 

ต่อมาเช้าของวันที่ 21 ก.พ. 2567 เวลาประมาณ 10.00 น. สิตานันเพียงลำพังได้ขับรถยนต์ส่วนบุคคลเข้าไปถึงปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 เพื่อยื่นหนังสือถึงทักษิณและสมเด็จฮุนเซน กลับพบตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบยืนขวางถนน และจอดรถจักรยานยนต์ขวางรถของเธอไว้       




(รูปเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สกัดหน้ารถของสิตานันไว้ บริเวณถนนในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 บ้านจันทร์ส่องหล้า)

เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสอบถามและขอตรวจบัตรประชาชน ตำรวจบางคนเมื่อได้เห็นบัตรของเธอแล้วก็กลับไปดูหน้าจอโทรศัพท์ของตัวเอง และมีบางคนตะโกนว่า “เจอตัวแล้ว จับเลย” สิตานันตกใจ แม้ทราบว่าตนไม่น่ามีคดีติดตัวแล้วจึงรีบถอยรถออกจากบริเวณซอยนั้นมุ่งหน้าสู่ถนนสิรินธร 

ขณะนั้นตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 30 นาย ได้ขับรถติดตามเธอออกมาด้วย สิตานันจึงได้โทรศัพท์หาผู้ไว้วางใจและทนายความ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒธรรม และได้รับคำแนะนำให้อยู่ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านไว้  เพราะไม่แน่ใจเจ้าหน้าที่จะถึงขนาดจับกุมหรือไม่

สิตานันจึงตัดสินใจขับรถเข้าจอดที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสิรินธร ตรงข้ามกับห้างตั้งฮวดเส็ง เพื่อไม่ให้ตำรวจติดตามตัวเธออีก แต่เจ้าหน้าที่กลับลงมาล้อมรถเธอไว้ถึง 5 นาที จนเธอต้องลงจากรถออกมาสอบถามว่าต้องการอะไร เธอเป็นผู้ร้ายจะมาปล้นธนาคารหรืออย่างไร ทำไมต้องมาล้อมรถเธอไว้ ตำรวจกลับไม่บอกว่าเธอมีคดีอะไรหรือไม่ ยืนยันอย่างเดียว ซ้ำ ๆ กว่า 10 นาทีว่า “เธอไม่มีคดีอะไร แต่ไม่ให้เธอไปไหน” 

สิตานันเกรงว่าจะได้รับอันตรายต่อร่างกายเพราะมีชายนอกเครื่องแบบหลายสิบนายยืนล้อมอยู่ เธอจึงเดินรอบที่จอดรถและไปนั่งลงกับพื้นที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ข้างถนนใหญ่ เธอยังสังเกตเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง กองร้อยน้ำหวานพยายามจะเดินเข้ามาหาตัวเธอในจังหวะที่นั่งลงกับพื้น แต่เธอได้พูดดักไว้กับตำรวจชายว่า เห็นว่ามีตำรวจหญิงมาด้วยหรือ เขามาทำไม ต่อมาเจ้าหน้าที่กองร้อยน้ำหวานกลุ่มนั้นจึงออกห่างจากตัวเธอไป และยืนรวมตัวกันอยู่เฉย ๆ

ในระหว่างการพูดคุย เธอพบว่าตำรวจชายในกลุ่มนั้นมีบางคนทราบรายละเอียดที่ทำงานและธุรกิจของเธอ สามารถระบุถึงตึก ชั้น อาคาร และเหตุการจำเพาะบางอย่างที่หากไม่ใช่คนในตึกนั้นหรือคนอยู่ในเหตุการณ์จะทราบได้ เธอจึงรู้สึกว่าเธอถูกติดตามอย่างใกล้ชิดมาตลอดและรู้สึกไม่ปลอดภัยจากเหตุการณ์และบทสนทนานี้    

(ภาพ สิตานันนั่งหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ล้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ)

(ภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง กองร้อยน้ำหวาน ใกล้ที่เกิดเหตุ)

ประมาณ 10.25 น. ผู้ไว้วางใจ ทนายความของสิตานัน และนักข่าวสำนักข่าวออนไลน์หลายสำนักได้เดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ จนต่อมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้เข้ามาพูดคุยกับสิตานัน โดยอ้างว่าตนมีหน้าที่ด้านความมั่นคง ต้องการคุ้มครองผู้นำประเทศและกล่าวว่าหากสิตานันไปยืนหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้าจะส่งผลต่อหน้าตาของประเทศ ให้สิตานันพูดคุยกับตนนอกรอบดีกว่า ตนจะโทรหาเอง แล้วแยกตัวออกไป

เวลา 12.00 น. พรเพ็ญ ซึ่งทำหน้าที่ทนายความ ยืนยันต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในที่เกิดเหตุว่าเมื่อไม่มีเหตุตามกฎหมายในการควบคุมตัวสิตานันไว้ สิตานันต้องออกจากพื้นที่ได้และแจ้งว่าตนมีธุระที่รัฐสภาต่อ สิตานันพร้อมพรเพ็ญจึงสามารถออกจากพื้นที่หน้าธนาคารได้ ไปยังรัฐสภา

เวลา 13.00 น. หลังจากขับรถมุ่งหน้าออกจากอาคารรัฐสภา สิตานันยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ขับจักรยานยนต์อย่างน้อย 2 คัน และรถยนต์ 1 คัน ตามรถยนต์ส่วนบุคคลของเธอออกมาและตามขึ้นทางด่วน จนถึงทางลงทางด่วนพระราม 9 ตำรวจนอกเครื่องแบบก็ได้แยกตัวออกไป

จากเหตุการณ์คุกคามทั้งหมดกว่า 3 ชั่วโมง สิตานันรู้สึกได้ถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และจิตใจ และรู้สึกอึดอัดถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับตนในฐานะประชาชนคนไทยและญาติของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย 

เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า “กว่า 17 ปีที่ผ่านมา มีหลายชีวิตต่อสู้เพื่อทักษิณ ตนเองเห็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับทักษิณ แต่กี่ศพที่วัดปทุม 99 ศพ เห็นจะได้ และผู้คนอีกหลายชีวิตที่ออกมาสู้ร่วมกับทักษิณจนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ พวกเขายังไม่ได้กลับบ้าน แต่ทักษิณได้กลับบ้านแล้ว ทุกคนก็ควรได้กลับบ้านหรือไม่”

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าในเหตุการณ์ที่หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า มีประชาชนจากกลุ่มที่ทั้งสนับสนุนทักษิณ หรือระบุว่าเคยรัก แต่ไม่ได้ศรัทธาทักษิณแล้ว เข้าไปแสดงออกและให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวบริเวณนั้นได้ โดยไม่ได้ถูกสกัดกั้นอย่างรุนแรงในลักษณะของสิตานันแต่อย่างใด

(ภาพ ตำรวจนอกเครื่องแบบขับรถจักรยานยนต์ติดตามสิตานันมาจากอาคารรัฐสภา)

X