สรุปเสวนา ‘ดินแดนแห่งการจับตาสอดส่อง: จากการบังคับสูญหาย ถึงการสอดแนมทางดิจิตอล/EM/เทคโนโลยีไบโอเมตริก’

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย ดินแดนแห่งการจับตาสอดส่อง: จากการบังคับสูญหาย ถึงการสอดแนมทางดิจิตอล/ EM/ เทคโนโลยีไบโอเมตริก” ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เพื่อเปิดเผยรูปแบบและวิธีปฏิบัติของรัฐที่ใช้คุกคามนักเคลื่อนไหว และแสดงให้เห็นว่าการคุกคามจากรัฐ เช่น การโทรศัพท์หาสมาชิกในครอบครัวสามารถลุกลามไปจนถึงการบังคับสูญหายได้อย่างไร 

งานเสวนานี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรกจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในส่วนของรูปแบบหรือวิธีปฏิบัติในการสอดส่องและคุกคาม และในช่วงต่อมาเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงแนวทางในการลดความเสี่ยงและป้องกันตัวเองจากการคุกคามของรัฐ ประกอบด้วยผู้ร่วมเสวนาหลัก ได้แก่ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์, มนทนา ดวงประภา, จตุรนต์ เอี่ยมโสภา, ชลธิชา แจ้งเร็ว, พิมชนก ใจหงษ์, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, สัณหวรรณ ศรีสด และฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล โดยมี ภาณุ วงศ์ชอุ่ม เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียบเรียงเนื้อหาจากการเสวนาดังกล่าว โดยเริ่มลำดับจากประเด็นการครบรอบ 2 ปี ของกรณีบังคับสูญหายของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในวันที่ 4 มิถุนายน ต่อมาเป็นรูปแบบหรือวิธีปฏิบัติในการสอดส่องและคุกคามโดยรัฐ ผ่านประสบการณ์ของวิทยากรแต่ละท่าน ตลอดจนหลักการที่จะคุ้มครองการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนโดยรัฐ

.

.

ครบรอบ 2 ปี ของกรณีบังคับสูญหายของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในวันที่ 4 มิถุนายน 2565 

———————————————————————————————-

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม เริ่มต้นกล่าวถึงโอกาสครบรอบ 2 ปีของการหายตัวไปของวันเฉลิม ช่วงที่ผ่านมา ตัวเธอเองก็ถูกดำเนินคดี 2 คดี ได้แก่ คดีการชุมนุมที่แยกอโศก และคดีเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล เธอได้ไปยื่นหนังสือที่หน้า UN แต่กลับถูกดำเนินคดีตามมาที่ สน.นางเลิ้ง 

“มันเป็นอะไรที่แปลกมาก คืออยากจะบอกว่าทางรัฐได้ใช้อำนาจตามคุกคามแล้วก็ยัดข้อหาให้กับญาติผู้เสียหาย แทนที่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ติดตามผู้สูญหาย แต่ยังไม่จบเพียงแค่นี้ พี่ยังอยู่ในรายชื่อในเอกสารระดับแดงของบุคคลเฝ้าระวังของรัฐ ซึ่งตกใจมากว่าทำไมทางรัฐถึงทำกับเหยื่อผู้เสียหายแบบนี้” 

.

มนทนา ดวงประภา จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เล่าถึงความคืบหน้าในคดีการติดตามหาตัววันเฉลิม โดยบอกเล่าในรูปแบบของตัวเลขสำคัญ

เลข 2  ​– 2 ปี คือช่วงเวลาที่วันเฉลิมหายไป ตั้งแต่ 4 มิถุนายน 2563 จนถึง 4 มิถุนายน 2565 

เลข 6 — 6 คือจำนวนองค์กรในประเทศไทยที่สิตานันพยายามดำเนินเรื่องนี้ หนึ่งคือกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุด ไปเพื่อที่จะขอให้รับคดีนี้เป็นคดีนอกราชอาณาจักรเพราะเกี่ยวข้องกับคนไทย องค์กรที่สาม กระทรวงยุติธรรม เพื่อยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับบุคคลสูญหาย ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาเพื่อจะทำเรื่องเกี่ยวกับบุคคลสูญหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยตรง 

องค์กรที่สี่คือ DSI เป็นการไปยื่นเรื่องเพื่อให้ดำเนินการเรื่องนี้เป็น “คดีพิเศษ” องค์การที่ห้าคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรที่หก คือคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ ของสภา ซึ่งคณะกรรมการนี้ก็ได้ให้ทุกองค์กรที่สิตานันไปยื่นเรื่องราวร้องทุกข์มารวมตัวกัน เพื่อที่จะบอกว่าสรุปแล้วทิศทางของคดีควรจะไปในทิศทางไหน  

เลข 3 — 3 คือ จำนวนองค์กรในประเทศกัมพูชาที่ญาติของวันเฉลิมไปร้องเรียนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2563 จนมาถึงปัจจุบัน หนึ่งคือกระทรวงมหาดไทย  สองคือกระทรวงยุติธรรม และสามคืออัยการศาลแขวงที่กรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น

เลข 2 — 2 หน่วยงานใหญ่ในองค์กรสหประชาชาติที่ติดตามกรณีวันเฉลิม ได้แก่ คณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย และคณะกรรมการ Working Group ที่ทำเรื่องการบังคับสูญหาย 

ตัวเลข ‘2 6 3 2’ จึงเป็นความพยายามของครอบครัววันเฉลิม ที่ได้นำเรื่องเกี่ยวกับการสูญหายของน้องชายไปสู่การรับรู้ของสังคมไทยและสากล  

มนทนาระบุว่า ในส่วนของทางฝั่งกัมพูชา ขณะนี้ก็ยังอยู่ในส่วนของขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนโดยผู้พิพากษาไต่สวน หลังจากที่สิตานันเดินทางไปที่กัมพูชาเพื่อให้ข้อมูลกับศาลชั้นต้นในวันที่ 8 ธันวาคม 2563  1 ปีผ่านไป ศาลกัมพูชาระบุว่าทำการตรวจสอบเกี่ยวกับกล้องวงจรปิด แล้วพบว่าภาพบันทึกจากกล้องวงจรปิด ไม่แสดงผลภาพเหตุการณ์ที่บันทึกในวันนั้น เพราะวงจรปิดมันหมดอายุไปแล้ว 

อย่างที่สอง พยานบุคคลที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ว่าใครคือผู้กระทำความผิด แล้วตอนนี้เขาบอกว่าศาลเองกำลังขอตรวจสอบทะเบียนรถอยู่ ซึ่งก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะสรุปสำนวนได้หรือเปล่า

สถานการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามคือ 1 ปีผ่านไป ผู้พิพากษาศาลไต่สวนเองยังไม่สามารถปิดสำนวนเพื่อที่จะส่งให้อัยการได้ เพื่อให้อัยการไปตั้งเรื่องขึ้นสู่ศาลอีกรอบหนึ่ง สิ่งนี้คือความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ ขณะที่พยานหลักฐานที่ตัวสิตานันพยายามที่จะบอกกับสังคมมันค่อยๆ หายไป 

ในส่วนของไทย DSI ส่งเรื่องตอบกลับมาล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ให้กับสิตานันว่าตอนนี้รับเรื่องสืบสวน แต่ยังไม่รับเป็นคดีพิเศษ แล้วก็มีการขอสอบถ้อยคำ เพื่อรับเอกสารกว่า 172 หน้าจากสิตานันที่เคยนำไปยื่นที่ศาลกัมพูชา และยังอยู่ระหว่างประสานงานองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศเพื่อมาให้ข้อมูลกับ DSI 

สุดท้ายในส่วนอัยการสูงสุด ระบุว่าได้ติดต่อไปที่สถานกงสุลของไทยที่กัมพูชา และทราบข้อมูลว่าศาลของกัมพูชาบอกว่าคดียังอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนเพิ่มเติมของศาลชั้นต้น แต่ว่ายังเป็นความลับและยังไม่สามารถให้ข้อมูลผู้ใดได้ 

.

.

รูปแบบหรือวิธีปฏิบัติในการสอดส่องและคุกคาม: 

การเปลี่ยนแปลง, วิวัฒนาการ, ประวัติศาสตร์ และกรณีศึกษาจากสามชายแดนภาคใต้ สู่กลางเมืองกรุง ถึงทั่วประเทศ

———————————————————————————————-

จตุรนต์ เอี่ยมโสภา ทายาทของ “หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา” ผู้ถูกบังคับสูญหายโดยรัฐในปี 2497 เล่าว่าผู้ถูกบังคับสูญหายคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยก็มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีรายชื่อ 4 ท่าน ได้แก่ หะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา, ลูกชายคนโต และลูกศิษย์ของเขาอีก 2 คน ซึ่งน่าจะเป็นเคสเดียวในประเทศไทยที่ทราบว่าถูกฆาตกรรม เพราะต่อมาจอมพลสฤษดิ์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน จนมีผู้กระทำผิดรับสารภาพ แต่ไม่พบศพหรือพยานหลักฐาน ก็เลยทราบว่าเหตุเกิดในวันที่ 13 สิงหาคม 2497 แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ ครอบครัวก็เลยต้องแจ้งเป็นบุคคลสูญหายตามกฎหมาย 

ตัดมาในปี 2547 ที่เริ่มมีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนที่ถูกบังคับสูญหายจากเหตุการณ์คือทนายความสมชาย นีละไพจิตร เป็นบุคคลที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ และทำคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาค่อนข้างเยอะ สุดท้ายก็ถูกอุ้มหายเหมือนกัน จนปัจจุบันไม่ทราบชะตากรรม 

จตุรนต์เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับถูกสอดส่องหรือสอดแนมจากรัฐ เนื่องจากเพราะตนมาจากครอบครัว “โต๊ะมีนา” ทำให้ครอบครัวก็ถูกจับจ้องมาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2547 คุณเด่น โต๊ะมีนา ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม 2547 หลังจากนั้นก็ถูกติดตาม ตลอดจนกระทั่งมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าจะมีการสั่งเก็บ 

“สิ่งที่น่าตกใจอย่างยิ่ง ก็คือการรับทราบว่ามีการกระทำฆาตกรรม แล้วก็ทิ้งลงในแม่น้ำโขงเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ที่น่าตกใจคือเป็นการกระทำการฆาตกรรมอย่างเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้วกับหะยีสุหลงและคณะ ก็คือมีการรัดคอ ผ่าท้อง แล้วก็เอาใส่กระสอบแล้วก็ทิ้งน้ำ ที่ตกใจก็คือว่าไม่อยากจะเชื่อว่ายังมีเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งส่งต่อความรุนแรงในการกระทำเช่นนี้ ขออนุญาตพูดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ใช่ส่วนมาก แต่เป็นส่วนน้อยที่สร้างผลกระทบรุนแรงในวงกว้างของสังคม”

.

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวนการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้ความเห็นว่าแนวโน้มในการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ถูกนำรูปแบบมาใช้ในลักษณะที่แยบยลกว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนทั่วประเทศในขณะนี้ ทั้งในรูปแบบการใช้ “กฎหมายพิเศษ” ซึ่งถูกประกาศเพื่อตอบสนองนโยบายบางอย่าง แต่ภายใต้สภาพประเทศไทยที่ไม่มีประชาธิปไตย ทำให้ไม่มีระบบรัฐสภาในการทบทวนการประกาศกฎหมายพิเศษ 

“กฎหมายเหล่านี้ก็ต่อเนื่องมาจนเหมือนกับว่าเป็นสภาพปกติ แล้วก็ทำให้ระบบของการติดตามผู้ที่มีความเห็นต่างเกิดขึ้นผ่านกระบวนการคิดที่จะบอกกับสังคมว่าสถานการณ์ยังไม่ปกติ ในกรณีของสามจังหวัดฯ ก็เป็นเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน และสุดท้ายกระบวนการแบบนี้เมื่อมันไม่มีพื้นที่ประชาธิปไตยแล้ว เขาเหล่านั้นล้วนถูกทำให้เป็นอื่น” 

พรเพ็ญระบุว่า ในบริบทของทั่วประเทศหลังรัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน แม้มีการลดการใช้กำลังในเรื่องของการสอดแนมด้วยทหารน้อยลง แต่เป็นการถ่ายโอนวิธีการในแนวทหารให้กับหน่วยงานของตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือลักษณะ “การทำรายชื่อบัญชีดำ” ที่เผยแพร่ออกมาตามสื่อ ซึ่งรายชื่อบัญชีดำแบบนี้พบเจอมาโดยตลอด 18 ปีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับการทำ IO (ปฏิบัติการข่าวสาร) ทำให้นักสิทธิมนุษยชน คนที่มีความคิดเห็นต่างกลายเป็นคนอื่น หรือเรียกกันว่า “ระบบของการป้ายมลทิน” คือทำให้ดูแย่ ดูไม่รักชาติ ดูชังชาติ 

สื่อมวลชนในสามจังหวัดจะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพก่อนใครอื่น ภาพข่าวต่างๆ ที่เผยแพร่ต่อสังคมโดยรวม มักจะเป็นภาพข่าวที่เผยแพร่มาจาก กอ.รมน. เท่านั้น เพราะเป็นคนที่ควบคุมสื่อแทบทั้งหมดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ระบบกระบวนการยุติธรรม ทั้งในส่วนตำรวจ อัยการ และศาล ก็มีลักษณะที่โน้มเอียงในทางยอมรับมุมมองด้านความมั่นคงของรัฐอย่างที่สุด 

พรเพ็ญยังระบุถึงกรณีการไม่ให้ประกันตัว การอายัดตัวต่อหลังจากถูกปล่อยตัวในคดีหนึ่ง หรือการติดตามหรือข่มขู่ครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นสิ่งที่พบในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มา โดยในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังมีลักษณะการใช้เทคโนโลยีไบโอเมตริกมาติดตามตรวจสอบประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดอย่างหนัก ยกตัวอย่างเช่นกรณีการบังคับตรวจดีเอ็นเอที่เกิดขึ้นในเรือนจำ การตรวจเก็บดีเอ็นเอกรณีที่เป็นผู้เข้ารับการคัดเลือกทหารเกณฑ์ หรือการบังคับให้จดทะเบียนซิมการ์ดโดยการถ่ายรูป ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดเท่านั้น 

“เราคิดว่าเราคงจะต้องตั้งคำถามกับความเป็นอิสระของตำรวจ อัยการ ศาลที่พัฒนาระบบเข้ามาจนกระทั่งเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ใช้กำไล EM กับผู้ที่ใช้สิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็นเท่านั้น เหมือนเขาจะกำลังจะกำกับความคิดของเราด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมันเข้ามาสู่สังคมไทยอย่างกว้างขวาง และสิ่งที่น่าตกใจมากก็คือคนในสังคมไทยยังไม่รู้สึกว่าเรากำลังถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพ” พรเพ็ญกล่าว

.

.

จากการบังคับสูญหาย ถึงการสอดแนมทางดิจิตอล/EM/ เทคโนโลยีไบโอเมตริก

———————————————————————————————-

ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมทางการเมือง และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้เล่าถึงรูปแบบการคุกคาม สอดแนมโดยรัฐจากประสบการณ์ของตน โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ

ลักษณะแรก เกิดขึ้นตั้งแต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย-ต่อต้านรัฐประหารหลังปี 2557 จนถึงปัจจุบัน คือการคุกคามในเชิงของกายภาพ เช่น การติดตาม การถ่ายรูปในพื้นที่ชุมนุม การทำบัญชีรายชื่อบุคคลเฝ้าระวัง ซึ่งมีการอัพเดทอยู่ตลอด ชลธิชาระบุว่าเธอเองก็พบว่าล่าสุดถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อในกลุ่มคนเฝ้าระวัง ในฐานะของคนที่รัฐมองว่าให้การสนับสนุนน้องๆ กลุ่มทะลุวัง  อีกลักษณะหนึ่งที่พบเจอ เช่น การเข้ามาพูดคุยหรือสอบถามข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะข้อมูลการเดินทางต่างๆ 

ชลธิชาวิเคราะห์ว่าลักษณะการติดตามนี้ มีทั้งการทำให้เรารู้ตัวว่ากำลังถูกสะกดรอยอยู่ เพื่อว่าให้เรามีความหวาดกลัวหวาดระแวงในความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว และการสอดแนมสะกดรอยโดยที่ไม่ให้เรารู้ตัว เป็นไปเพื่อเข้าถึงข้อมูล การใช้ชีวิตของเรา เข้าถึงข้อมูลการทำกิจกรรมหรือการพบปะพูดคุยกับใครบ้าง

ชลธิชาระบุว่าในส่วนของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยซึ่งเธอทำงานอยู่นั้น ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับผลกระทบของการถูกสอดแนมถูกสอดส่องมาอย่างต่อเนื่อง เพิ่งทราบกันว่ามีเจ้าหน้าที่มาเช่าบ้านพักอยู่ติดกับสำนักงานของเรา คอยถ่ายรูป-จดบันทึกการเข้าออกของพนักงาน  แล้วก็คอยสอดส่องว่ามีใครบ้าง ที่จะเข้ามาติดต่อประสานงานในออฟฟิศ

ประเด็นถัดมาในเรื่องการสอดแนมทางดิจิตอล ชลธิชาระบุว่าในบางคดีความที่โดนแจ้งความด้วย พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงของการเคลื่อนไหวของราษฎร เอกสารสำนวนคดีความที่ฟ้อง พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีพยานหลักฐานใดๆ ว่าเราเองอยู่ในพื้นที่ของการชุมนุม พยานหลักฐานส่วนมากคือการนำภาพแคปจากหน้าเฟซบุ๊กของเราเอง การโพสต์ว่าจะมีการชุมนุมหรือเชิญชวนให้ไปร่วมชุมนุม กลายเป็นเงื่อนไขทำให้ถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้  ซึ่งสะท้อนว่าเจ้าหน้าที่รัฐมอนิเตอร์โซเชียลมีเดียของนักกิจกรรม แม้กระทั่งหน่วยงานศาล ตนก็ทราบว่ามีการมอนิเตอร์โซเชียลมิเดียอยู่ด้วย

“ทีนี้ที่อยากจะเน้นย้ำมากที่สุดสำหรับตัวเองที่กำลังพบเจออยู่ ก็คือการติดกำไล EM เกดโดนติดกำไล EM ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีราษฎรสาส์น ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งผลจากการฟ้อง ศาลได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางหลักประกัน 90,000 บาท พร้อมเงื่อนไขอื่นๆ” 

ชลธิชา ชวนทบทวนถึงภาพรวมของการใช้ EM ในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในคดีการเมืองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงยุติธรรมและศาลยุติธรรมได้เริ่มนำกำไล EM มาใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามตัวและใช้แทนการวางหลักทรัพย์ในการประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญา โดยเฉพาะคดียาเสพติด เพื่อให้คนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการต่อสู้คดีความได้ และเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ 

“แต่อย่างไรก็ตาม เราพบว่ามันมีหลายกรณีที่กำไล EM ถูกบังคับใช้กับคดีความเกี่ยวเนื่องกับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ช่วงปี 2564 – 2565 ไม่ใช่ระลอกแรกของการใช้ EM กับคดีทางการเมือง เพราะก่อนหน้านี้ก็มีในกรณีของสหพันธรัฐไท แต่กำไล EM บังคับใช้กับผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกเยอะขึ้นในช่วงปี 64-65 นี้ก็ว่าได้”

ชลธิชาตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีรูปแบบของการบังคับใช้ EM เพื่อควบคุมนักกิจกรรม-นักเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งต้องยอมรับว่านับตั้งแต่มีการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ทั้งเรื่องกำไล EM การกำหนดระยะเวลาการเข้าออกเคหสถานต่างๆ ล้วนกระทบกับการเคลื่อนไหวขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในบ้านเราค่อนข้างมาก ตอนนี้หลายคนพอถึงเวลา 20:00 – 21:00 น. ก็ต้องเข้าบ้านแล้ว

ชลธิชา ยังกล่าวถึง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฉบับที่ 30 เมื่อปี 2558  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการปล่อยตัวชั่วคราวโดยการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการตรวจสอบจำกัดการเดินทางของผู้ต้องหาระหว่างการปล่อยตัว เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตราย หรือความเสียหายอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่กลับพบว่าในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็น ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ในการหลบหนีหรือก่อเหตุอันตรายอื่นใดต่อสาธารณะ ต่อประชาชนคนอื่นในสังคม ทำให้เห็นว่าการใช้ EM แบบนี้ขัดกันกับตัว พ.ร.บ. เอง เว้นเสียแต่ว่าศาลเองมองว่าการแสดงความคิดเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเรื่องของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ 

ส่วนประเด็นการใช้ EM เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในการเข้าถึงสิทธิในการประกันตัว กลับพบว่าในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกของราษฎร ศาลได้กำหนดเงื่อนไขให้ใส่กำไล EM พร้อมกับการวางหลักทรัพย์การประกันตัวที่สูงมากอยู่ดี อย่างกรณีของรุ้ง เพนกวิน หรือทนายอานนท์เอง ก็โดนติดกำไล EM พร้อมวางหลักทรัพย์สูงถึง 200,000 บาท ในแต่ละคดีด้วยกัน 

คดีของชลธิชาเอง ก็ต้องวางหลักทรัพย์ 90,000 บาท หลังจากนั้นได้กำหนดเงื่อนไขให้ติดกำไล EM ซึ่งในวันนั้นเราทำหนังสือคัดค้านการติดกำไล EM โดยให้เหตุผลกับศาลว่าเราเองยังไม่ได้มีพฤติการณ์ในการหลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานใด ๆ และเรายินดีที่จะวางหลักทรัพย์หรือวางเงินประกันเพิ่ม ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการบังคับใช้ EM แต่ผู้พิพากษาก็ได้ยกคำร้องดังกล่าว

“อันนี้เป็นตัวอย่างของการบังคับใช้กำไล EM กับคดีทางการเมือง มันเลยกลายเป็นการถูกตั้งคำถามกับสังคม ว่าสุดท้ายแล้ว ผู้พิพากษาบังคับใช้กำไล EM เพื่อการสอดแนมหรือเปล่า หรือว่าจุดมุ่งหมายอื่นก็คือเพื่อทำให้การเคลื่อนไหวการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและในการชุมนุมนั้น เป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นหรือเปล่า”

ชลธิชากล่าวประเด็นสุดท้ายถึงผลกระทบการติดกำไล EM ต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยพบว่าเครื่องมือนี้มีปัญหาทางเทคนิคเยอะมาก ทั้งการชาร์จแบตเตอรี่ไม่เข้าบ้าง ซึ่งหากปล่อยให้แบตเตอรี่หมด จะผิดเงื่อนไขการประกันตัวได้ หมายความว่าเมื่ออุปกรณ์มีปัญหา ก็ต้องรีบวิ่งเข้าติดต่อกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุม EM และรีบไปที่ศาลเพื่อเปลี่ยนกำไล EM 

ทั้งยังมีประเด็นการถูกตีตราว่าเป็นบุคคลอันตรายต่อสังคม เนื่องจากกำไล EM ในบ้านเราก็ยังเป็นเรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ใช้กับคดียาเสพติดหรือว่าคดีอาชญากรรม แต่เมื่อนำมาใช้กับคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออก เลยทำให้คนในสังคมเริ่มเกิดความสงสัย มองว่าเราเป็นอาชญากรรมใช่ไหม อาจมองว่าเป็นผู้ต้องหาในคดีร้ายแรงหรือเปล่า อาจจะก่ออันตรายต่อชีวิต-ทรัพย์สินเขาหรือเปล่า เป็นความหวาดระแวงที่เกิดขึ้น

“เกดอยากจะชวนให้ทุกคนตั้งคำถามด้วย ก็คือว่าการติดกำไล EM ควรที่จะถูกคำนึงถึงหลักของความเหมาะสม ความได้สัดส่วน และความจำเป็นในการใช้ด้วย มันเป็นหลักการ ที่เกดคิดว่าผู้พิพากษาเองควรคำนึงถึงก่อนที่จะกำหนดเงื่อนไขในการประกันตัว อย่างในกรณีของเราเอง เราไม่ได้มีสัญญาณใดๆ เลยที่จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นต่อสังคมได้ ดังนั้นมันไม่มีความจำเป็นในการกำหนดเงื่อนไขในการใส่กำไล EM” 

.

ดูปัญหาเรื่อง EM เพิ่มเติมในรายงาน “9 ปัญหาที่ตามมาจากการติด EM” (ภาพไข่แมวชีส)

.

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)  นำเสนอว่า เราอยู่ในยุคสมัยที่การต่อต้านอำนาจรัฐ มีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยค่อนข้างมาก ทั้งฝ่ายรัฐที่พยายามป้องกันควบคุมอำนาจ ก็ใช้เทคโนโลยีเป็นเหมือนกัน และอาจใช้เป็นมากกว่าฝ่ายต่อต้านรัฐด้วย 

ยิ่งชีพเล่าถึงปรากฏการณ์ที่มีนักกิจกรรมอาทิ โตโต้ ปิยรัฐ และศรีไพร หรือนักการเมืองอย่างคุณช่อ พรรณิการ์ ได้พบเครื่องติดตาม GPS ภายในรถ โดยไม่ทราบว่าใครเป็นคนติด แม้จะกล่าวหารัฐเลยก็ไม่ได้ แต่แน่นอนว่า 3 คนนี้ทำงานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐในปัจจุบัน 

เรายังพบปฏิบัติการข่าวสาร (IO) มีทั้งหลักฐานจากการอภิปรายในสภาของพรรคก้าวไกลหรืออนาคตใหม่ 3 รอบ ซึ่งมีข้อมูลที่ได้จากคนในของกองทัพเองด้วย อันที่สองคือรายงานของทวิตเตอร์ ที่เปิดเผยว่าได้ปิดบัญชีที่เกี่ยวข้องกับกองทัพไป 926 บัญชี มีรายงานกิจกรรมของบัญชีทั้งหมดหลายหมื่นรายการ และมีชื่อของนักการเมืองฝ่ายค้าน นักกิจกรรมหลายคน รวมทั้งตน ที่ตกเป็นเป้าของบัญชีเหล่านี้  ทางเฟซบุ๊กเอง ก็มีรายงานออกมาว่าตรวจพบปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารโดยกองทัพไทยเหมือนกัน แล้วก็ได้ปิดบัญชีเป็นจำนวนหนึ่งไป

ขณะเดียวกันเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว เรายังพบเครื่องมือใหม่ของรัฐที่เรียกว่า Pegasus Spyware หลายท่านได้รับอีเมลเตือนจาก Apple ว่า State sponsored attackers อาจจะกำลังโจมตีไอโฟนของเรา ซึ่งยิ่งชีพก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับอีเมลนั้น เขาจึงได้ลองติดต่อกับทาง Citizen Lab ซึ่งเป็นองค์กรแคนาดาที่ติดตามเรื่องนี้มานาน และมีความรู้ทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งข้อมูลไปตรวจสอบ พบว่าสปายแวร์ตัวนี้ผลิตโดยบริษัทของประเทศอิสราเอล ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าจะขายให้กับรัฐบาลต่างๆ เท่านั้น

ยิ่งชีพระบุว่า ในปี 2564 พบว่ามีผู้ถูกโจมตีจาก Pegasus Spyware จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง จากรายงานของ Citizen Lab ก็ตรวจพบการใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า SS7 ซึ่งอานุภาพต่ำกว่า Pegasus Spyware เพียงแต่ใช้ดักฟังการโทรศัพท์ได้เท่านั้น  และพบว่ารัฐได้ใช้มาตั้งนานแล้ว โดยสามารถระบุได้ว่าหน่วยงานที่ใช้มี ปปส. และหน่วยข่าวกรองทหาร ซึ่งใช้มาอย่างน้อยก็ 3-4 ปีแล้ว

อีกประเด็นหนึ่ง คือก่อนงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 2 ปีก่อน คนที่เดินเข้าไปงานจะต้องยื่นบัตรประชาชนให้ตำรวจแล้วก็คีย์เลข 13 หลักลงไป แล้วพบว่าแต่ละคนก็จะขึ้นมามีหลายสี ของตนตอนนั้นพบว่าเป็นสีแดง ซึ่งคนที่ได้สีแดงในช่วงตอนเช้ายังเข้าไม่ได้ แต่ตนไปบ่ายแล้ว และยังมีกรณีเอกสารรายชื่อบุคคลของทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งพบว่าหากมีรายชื่ออยู่ในนั้น ก็จะถูกรายงานการเดินทางเข้าออกประเทศ

ยิ่งชีพสรุปว่า เรากำลังพบการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการติดตามสอดแนมการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเชื่อว่าประชาชนเองก็ยังไม่ทราบทั้งหมดว่ามีการนำเครื่องมืออะไรมาใช้บ้าง แต่เชื่อว่ามีมากกว่าที่ตนยกมานี้

.

พิมชนก ใจหงษ์ นักกิจกรรมอิสระ  เล่าถึงการคุกคามโดยรัฐภายใต้กำบังของการสอดส่องเพื่อการรักษาความมั่นคง กรณีของตนนั้น มีเรื่องในช่วงงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตนได้เดินทางไปที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยติดตาไปที่อำเภอปาย และมีการแจ้งขอเข้าพักที่ที่พักเดียวกัน นอกจากนั้นระหว่างทาง ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่ป่าไม้คอยมาตรวจ โดยเห็นว่ามีรูปบัตรประชาชนของตนไว้ด้วย ระหว่างทางกลับ ก็มีการมาสอบถามว่าจะไปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่หรือไม่ 

“เป็นเรื่องน่ากลัวมากและพิมก็รู้สึกกลัวจริงๆ กับเหตุการณ์นี้ มันดูตลกที่ทางมันคดเคี้ยวขนาดนี้คุณยังมานะที่จะไป”

อีกเรื่องหนึ่งที่พิมชนกเล่า คือการถูกติดตามเรื่องการเดินทางของไฟท์บิน โดยหลังจากตนถูกดำเนินคดี 112 ที่เชียงใหม่ ต้องเดินทางไปกลับบ่อย พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐไปรอตนอยู่ที่สนามบิน คอยถ่ายภาพตนและเพื่อนที่ไปรับ และยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่ติดตามไปถ่ายภาพที่ศาล การถูกติดตามเช่นนี้ ทำให้คาดว่าทางบริษัทสายการบินเองก็ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

“พิมโดนไปเชียงใหม่ ต้องไปรายงานตัวทุก 12 วัน เป็นเรื่องที่เสียหลายอย่าง เพราะในระหว่างที่เขาจับกุม พิมอยู่ในช่วงระหว่างการยื่นสอบเข้าสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง วันนั้นก็ไม่ได้สอบ ทำให้ไม่ได้ศึกษาต่อในสถาบันที่วางไว้ เรื่องการเดินทางคือมันลำบากในการใช้ชีวิตมาก ที่รัฐเขากลั่นแกล้งเรา คือระยะทางจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ เนี่ยมันไกลมากนะคะ ก็รู้สึกว่ามันสร้างความลำบากให้นักกิจกรรมหลายๆ คน รวมถึงค่าใช้จ่าย มันส่งผลกระทบต่อนักกิจกรรมหลายๆ คนที่โดนคดี”

พิมชนกยังเล่าถึงเหตุการณ์ที่เดินทางไปทานข้าวกับครอบครัวที่จังหวัดตราด แต่กลับมีเจ้าหน้าที่นำรูปถ่ายพิมกับของครอบครัวไปยื่นให้กับทางร้าน พร้อมยื่นขอใบกำกับภาษี เพื่ออยากทราบว่าใครเป็นคนออกเงิน แต่ก็ไมได้ไปเพราะทางร้านไม่ให้

.

ภาพเสวนาจาก @CrCF_Thailand

.

แนวทางในการลดความเสี่ยงและป้องกันตัวเองจากการคุกคามของรัฐ

———————————————————————————————

สัณหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) ได้กล่าวถึงประเด็นในกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก คือปกติถ้าเมื่อไรที่เราถูกติดตามสอดแนม ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอยู่แล้ว และในเวลาเดียวกันคนที่ถูกติดตาม จะเริ่ม Self-Censored ตัวเอง ทำให้เขาหวาดกลัว และหวาดระแวงที่จะพูดหรือว่าแสดงความเห็นของตัวเองออกไป

ต่อคำถามว่า รัฐจะสามารถกระทำการอะไรที่เป็นการแทรกแซงความเป็นส่วนบุคคล หรือ Privacy ของประชาชนได้ไหม ในทางกฎหมายระหว่างประเทศโดยหลักแล้วห้ามทำ แต่ในกรณีที่พิเศษมากๆ อาจจะพอทำได้ ภายใต้หลัก Checklist ด้ว ไม่ใช่ว่าคิดว่าตัวเองทำได้ปุ๊บ ก็คือทำได้เลย 

สัณหวรรณ ได้สรุปถึงหลักการ 13 ข้อ ที่ต้องตรวจเช็คการใช้อำนาจรัฐ ได้แก่ กฎหมายได้ให้อำนาจไว้ไหม,วัตถุประสงค์ที่รัฐจะเข้าไปสอดแนม ว่าชอบธรรมหรือไม่ หรือเพียงแค่เป็นการเลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลด้านเชื้อชาติ ศาสนา หรือทางการเมือง, หลักความความจำเป็น, หลักความเหมาะสม,  หลักความได้สัดส่วน, เจ้าหน้าที่ทางด้านตุลาการเป็นผู้ให้คำอนุญาต กำหนดระยะเวลาและรูปแบบวิธีการควรจะเป็นอย่างไร, เป็นรูปแบบและกระบวนการที่ชอบธรรม, ต้องมีการแจ้งกับบุคคลที่ถูกสอดแนมให้ทราบ ตราบใดเท่าที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อวัตถุประสงค์อันชอบธรรม, ความโปร่งใสตรวจสอบได้, ควรจะมีหน่วยงานอิสระอื่นๆ มาควบคุมตรวจสอบด้วย รวมถึงมีช่องทางในการเยียวยาความเสียหาย

ในกรณีของ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ฯ ของไทย ที่มีการอนุญาตให้รัฐสามารถแทรกแซงสอดแนมได้ แต่ก็พบว่ากฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ตรงกับหลักเหล่านี้เท่าไร 

“อีกอันหนึ่งที่เป็นข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับสหประชาชาติ ก็คือเรื่องของการตั้งกลไกสาธารณะขึ้นมา เพื่อมาอนุมัติการใช้ระบบเทคโนโลยีหรือว่ากระบวนการวิธีการ หรือกิจกรรมในการสอดแนมต่างๆ  ยกตัวอย่างในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา เขามีการออกระเบียบมาว่าถ้าเกิดรัฐจะซื้อเทคโนโลยีมาสอดแนมคนหรือว่ากิจกรรมใด อย่างแรกกระบวนการอนุมัติทุกอย่างจะต้องอยู่ในงบในบัญชี ทุกอย่างให้เห็นชัดเจน ไม่ใช่ว่าแอบๆ ซ่อนๆ ต้องได้รับการอนุมัติโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาถึงสิทธิมนุษยชน 

“อย่างที่ 2 จะต้องมีการแจ้งสาธารณะว่าจะมีการใช้ จะมีการซื้อเทคโนโลยี ต้องมีการปรึกษาหารือกับสาธารณะว่า ถ้าเราซื้อ มันจะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างไร และสาธารณะคิดว่ามันได้สัดส่วน มีความจำเป็นหรือเปล่า นอกจากนั้นเขาก็กำหนดมาว่า ตัวรัฐจะต้องมีการออกรายงานอย่างสม่ำเสมอให้แก่สาธารณชนทราบว่า สุดท้ายซื้อไม่ซื้อ อนุมัติไม่อนุมัติ เข้าไปใช้ยังไงบ้าง แล้วก็เอาไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรบ้าง ข้อมูลนี้ถูกนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องหรือเปล่า” สัณหวรรณระบุ 

.

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชวนทบทวนว่าทำไมเราต้องมาสนใจประเด็นการคุกคามโดยภาครัฐ หรือสิทธิความเป็นส่วนตัวที่อาจจะถูกแทรกแซงล่วงล้ำ โดยเฉพาะในนามของผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งไม่ใช่เรื่องเฉพาะของเพียงกลุ่มนักกิจกรรม

ฐิติรัตน์ระบุว่าแม้โดยหลัก รัฐจะสามารถเข้าแทรกแซงความเป็นส่วนตัวได้ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ อย่างการป้องกันอาชญกรรม หรือการรักษาความปลอดภัย แต่ก็ต้องมีเหตุผลที่ดีพอ ต้องได้รับการตรวจสอบ จะไปใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องไปปรึกษาฝ่ายที่ตรวจสอบอำนาจบริหารก่อน การตรวจสอบต้องพอๆ กันไม่ว่าจะเป็นโลกทางกายภาพหรือทางดิจิทัล

ในประเด็นที่สอง ที่ทั้งสังคมควรจะสนใจเรื่องนี้ เนื่องจากมีงานวิจัยจากหลายๆ ประเทศ ทำให้เราเห็นว่า เมื่อรัฐสอดแนมมากเกินไปแล้วข้อมูลถูกเปิดโปงภายหลัง ทำให้คนในสังคมรู้สึกไม่เชื่อใจการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม รวมถึงไม่เชื่อใจรัฐและหน่วยงานราชการ ทำให้รัฐเองที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ทำงานได้ไม่เต็มที่ ยกตัวอย่างกรณีแอพไทยชนะหรือหมอชนะ ที่คนหวาดระแวงเรื่องการให้ข้อมูลกับหน่วยงานรัฐ

“ความหวาดระแวงของเรามันแสดงให้เห็นถึงความไม่ไว้ใจรัฐ สิ่งนี้มันมีผลกระทบยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดที่เราต้องการข้อมูล และความสมัครใจในการแบ่งปันข้อมูล เพื่อผลประโยชน์โดยรวมล มันไม่เกิด แล้วมันทำให้รัฐต้องหาวิธีการต่างๆ ให้ได้มาซึ่งข้อมูล รวมถึงการบีบบังคับ นี่คือการทำให้เห็นชัดๆ เลยว่า สังคมที่เรายอมให้รัฐสอดแนมเรามากเกินไป มันสร้างความหายนะในระยะยาวได้ในการอยู่ด้วยกันในสังคม”

ฐิติรัตน์ยกกฎหมายในประเทศไทย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ ซึ่งบังคับใช้กับทุกหน่วยงานรัฐ ยกเว้นศาลเมื่อพิจารณาคดี ซึ่งมีจริยธรรมวิชาชีพและข้อบังคับอื่นๆ ดูแลอยู่แล้ว แต่ว่าหน่วยงานรัฐอื่นทั้งหมดอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.นี้ โดยในมาตรา 22 และ 23 พูดอย่างชัดเจนว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่หน่วยงานราชการจะใช้งานได้นั้น จะต้องเก็บเท่าที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเท่านั้นเพื่อให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ดังนั้นต้องรับว่าวัตถุประสงค์ที่นำข้อมูลมาใช้ของหน่วยงานนั้นคืออะไร เก็บมาทำไม และเมื่อบรรลุวัตถุประสงค์แล้วต้องยกเลิกระบบเหล่านั้น รวมทั้งทำให้ระบบโปร่งใส

“เราต้องเน้นย้ำว่ามันมีกฎหมายที่บังคับให้หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลข้อมูลส่วนตัวของเรา ให้ใช้ตามความจำเป็น ให้ดูแลความปลอดภัย ไม่ใช่แบ่งปันไปยังหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง แล้วก็ต้องโปร่งใสกับประชาชน ซึ่งมันมีกฎหมายนี้มาตั้งแต่ 2540 แล้ว ปัญหาก็คือว่าตอนนี้มันยังไม่ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง มันมักจะบังคับใช้จริงจังในส่วนของการเข้าถึงข้อมูล อย่างนักข่าวเข้าขอข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ และในส่วนของการคุ้มครองข้อมูล มันควรจะมีการบังคับใช้ให้มากกว่านี้ ผู้ดูแลตรงนี้คือสำนักงานข้อมูลข่าวสารราชการ ก็ควรจะมีการเข้าทำงานกับหน่วยงานรัฐในส่วนนี้มากขึ้น”

ฐิริรัตน์กล่าวต่อถึง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเพิ่งบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565  ภายใต้หลักการเดียวกันกับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ. 2540 คือใช้ตามความจำเป็น ต้องโปร่งใส ต้องดูแลความปลอดภัยของข้อมูล แม้ พ.ร.บ. นี้ จะมีข้อยกเว้นในส่วนของการทำงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของชาติ แต่ก็จำเป็นต้องมีการดูแลความปลอดภัยของข้อมูล แต่คำถามคือเรามีความเชื่อมั่นมากแค่ไหนว่าหน่วยงานรัฐที่ดูแลข้อมูลตรงนี้จะดูแลได้อย่างปลอดภัย จะไม่ถูกนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นๆ ในที่สุด เราไม่มีทางรู้เลยถ้าหน่วยงานรัฐไม่บอกเรา 

อีกประเด็นเกี่ยวกับ พ.ร.บนี้ คือการบังคับในส่วนของเอกชน ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐอาจจะติดต่อขอข้อมูลจากหน่วยงานเอกชนได้เลย แต่ตัว พ.ร.บ. นี้ระบุว่าหากมีการขอข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชนจำเป็นต้องมีการบันทึกเอาไว้ให้ชัดเจน เพราะตอนนี้เค้าไม่ได้มีหน้าที่ในการให้ความร่วมมือรัฐอย่างเดียว แต่มีหน้าที่ในการดูแลข้อมูลในมือด้วย 

ประเด็นสุดท้ายที่ฐิติรัตน์นำเสนอ ซึ่งเห็นว่าอาจจะขาดอยู่ในเมืองไทย คือการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมือและโปรแกรมเพื่อการสอดแนมต่างๆ ถ้ามีการจัดซื้อจัดจ้างจริง ควรจะอยู่ภายใต้การกำกับในมาตรฐานเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการดูแลความปลอดภัยของข้อมูลที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมดิจิตัลในยุคนี้ จะต้องมีมาตรฐานในการคุ้มครองสิ่งเหล่านี้มากขึ้นต่อไป 

.

X