เมื่อสตอรี่เฟซบุ๊กพลิกชีวิต หนุ่มสวนยางขุนหาญ กลายเป็นจำเลย ‘112’ คดีแรกของศรีสะเกษ

คล้ายวันเวลาหมุนช้าลงไปตามระยะทางที่วิ่งเข้าสู่ ต.บักดอง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ภาพสองข้างทางเป็นป่ายางพาราสลับนาข้าว เสื้อสีแดงที่ถูกแขวนไว้หน้าบ้านบางหลังตามความเชื่อแก้อาถรรพ์ผีแม่ม่ายยังมีปรากฏ อันสะท้อนว่าพื้นที่ที่ห่างไกลจากเมืองหลวงราว 540 กิโลเมตร ในตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา ยังมีหลายสิ่งที่ยากจะอธิบาย 

ย้อนไปสิบปีก่อนหน้านี้ชาวบ้านบางหมู่บ้านใน อ.ขุนหาญ และ อ.กันทรลักษ์ ต่างตกอยู่ในความหวาดผวา เสียงปืนและระเบิดจากข้อพิพาทดินแดนเขาพระวิหาร นั่นเป็นความทรงจำแรกของเด็กหนุ่มที่มีต่อการเมืองและความขัดแย้ง ภาพผู้คนเตรียมอพยพออกจากพื้นที่ การกักตุนอาหารและของใช้ไว้ยามจำเป็น เป็นสิ่งที่เขาสัมผัสในห้วงเวลานั้น ก่อนที่ชีวิตอันระหกระเหินตามสภาพเศรษฐกิจในวัยหนุ่มต้องมาเผชิญกับคดีความทางการเมืองที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน หลังจากเพียงแค่แชร์สตอรี่ภาพวาดชายหน้าคล้ายรัชกาลที่ 10 ลงในเฟซบุ๊ก และตัดสินใจลบไปภายในไม่กี่นาที หลังจากเพื่อนรุ่นพี่เตือนให้ลบ 

.

.

แต่โชคชะตาที่ไม่เข้าข้าง เมื่ออีกคนที่เห็นภาพดังกล่าว นำเรื่องไปแจ้งความ ก่อนที่ ‘โอม’ ชลสิทธิ์ หนุ่มสวนยางวัย 21 ปี จะกลายเป็นผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 คดีที่เขาและคนรอบตัวต่างคิดว่าหากเข้าไปข้องแวะ ชีวิตน่าจะยุ่งยากและอาจทำลายความฝันในชีวิตที่เหลืออยู่ลงได้

หลังศาลจังหวัดกันทรลักษ์ให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนดา ตอร์ปิโด ทำให้โอมยังมีอิสรภาพต่อไป แต่ในใจลึกๆ เขายังหวาดหวั่นด้วยเส้นทางการต่อสู้คดีในชั้นพิจารณายังยาวไกล โอมบอกเสมอว่า ที่เขากังวลแน่ๆ คือเรื่องการถูกจองจำในคุก มากกว่านั้นเป็นห่วงแม่ว่าเธอจะใช้ชีวิตลำพังอย่างไร ในวันที่เขาไม่ได้อยู่ดูแล     

.

ขุนหาญ-บักดอง บ้านและสวนยางพารา 1 ไร่

โอมเล่าถึงบ้านเกิดว่า ต.บักดอง นับเป็นตำบลที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ของ อ.ขุนหาญ เป็นคนไทยที่มีภาษาท้องถิ่น ขะแมร์  ส่วย และอีสาน ตามลำดับ ที่โรงเรียนพูดภาษาขะแมร์กันราวๆ ร้อยละ 80  

พูดถึง อ.ขุนหาญ มีทุเรียนภูเขาไฟ วัดล้านขวด น้ำตกสำคัญสองแห่ง โดยมีอำเภอข้างเคียงอย่างกันทรลักษ์ อำเภอใหญ่ของจังหวัด เป็นเหมือนศูนย์กลางทางราชการและเศรษฐกิจ แม้จะขึ้นชื่อเรื่องทุเรียนภูเขาไฟที่สร้างความคึกคักให้ขุนหาญในแง่การท่องเที่ยวในระยะหลัง แต่ถึงอย่างนั้นประชากรส่วนมากยังประกอบอาชีพทำนาทำไร่ กรีดยางพารา และรับจ้างทั่วไป  แรงงานหนุ่มสาวจะเข้าไปอยู่เมืองอุตสาหกรรม ระยะหลังคนรุ่นโอมเลือกที่จะอยู่บ้านมากกว่า เพราะที่เมืองใหญ่ค่าครองชีพสูงและความเป็นอยู่ไม่ค่อยสะดวกสบายนัก

สำหรับโอม ครอบครัวเขามีสวนยางพาราเพียง 1 ไร่  ใน 1 สัปดาห์อาจได้ราคาน้ำยางที่กรีดไปไม่ถึง 1,000 บาท จึงต้องไปรับจ้างกรีดยางที่สวนยางของคนอื่นๆ เป็นรายวันด้วย  โอมย้อนเล่าว่าตัวเขาเกิดที่กรุงเทพฯ  แต่ป้าเอากลับมาเลี้ยงที่บ้านบักดองตั้งแต่เด็ก เพราะแม่ต้องทำงาน 

“ผมเกิดมาคือพ่อกับแม่เลิกกันแล้ว ไม่เคยเจอพ่อเลย แม่ทำงานที่สนามกอล์ฟ จนแม่กลับมาอยู่บ้านถาวรตอนช่วงที่ผมอยู่ ม.1 ก่อนหน้านั้นจะกลับมาในช่วงวันหยุดเทศกาล หลังแม่กลับจากกรุงเทพฯ ครอบครัวที่มีผมกับแม่ จึงเริ่มงานทำสวนและรับจ้างกรีดยาง”

.

ภาพโอม ตอนที่ทำงานยกลำโพงและควบคุมเครื่องเสียง

.

โอมเล่าว่า ตอนเด็กเคยคิดอยากไปเจอพ่อ เพราะแม่ชอบพาไปกรุงเทพฯ ช่วงปิดเทอม เขาบอกแม่เสมอว่าขอให้พาไปเจอพ่อบ้าง แต่ช่วงเวลานั้นแม่ไม่ได้พาไปสักที จนถึงวันนี้โอมก็ยังไม่ได้เจอหน้าพ่อที่แท้จริง และคงไม่คิดว่าอยากไปเจอแล้ว

‘ตู้’ วรพงศ์ รุ่งคำ พี่ที่โอมสนิทและนับถือได้ว่าเป็นพ่อคนหนึ่ง เล่าว่า เขารู้จักโอมเพราะลูกพี่ลูกน้องของโอมเป็นนักมวยในค่ายมวยของตู้ เขาเห็นเด็กคนนี้ตั้งแต่ยังแบเบาะ และรู้ว่าเด็กคนนี้กำพร้าพ่อ หนำซ้ำที่มาอยู่ขุนหาญยังไม่มีแม่ตามมาด้วยอีก ก่อนเริ่มมาสนิทกันจริงๆตอนโอมเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายแล้ว ด้วยหลังจากเลิกกิจการค่ายมวย ตู้หันมาสนใจเรื่องเครื่องเสียง จึงมีเด็กๆ กลุ่มเพื่อนโอมมาสนใจฟังเครื่องเสียงไปด้วย 

การพบกับตู้และกลุ่มเพื่อนในวัยวันนั้น ทำให้โอมเริ่มสนใจสิ่งที่อยู่ไกลตัวออกไป หนึ่งในนั้นคือบทสนทนาเรื่องการเมืองและคำถามหนักๆ ถึงความเป็นไปในบ้านนี้เมืองนี้ 

.

เข้าเมืองกรุงมุ่งแสวงหาชีวิต 

นอกจากรับจ้างกรีดยาง งานรับเปิดเครื่องเสียงตามงานแต่งงาน งานบวช งานศพ ที่ตู้และโอมยึดเป็นอีกหนึ่งช่องทางทำมาหากิน มีรายได้เฉลี่ยครั้งละ 1,000 บาท ซึ่งโอมจะได้เงินส่วนแบ่งจากตรงนี้ไปบ้าง จากการทำหน้าที่ยกลำโพง ติดตั้งลำโพง และควบคุมเครื่องเสียง แต่ส่วนมากทั้งโอมและตู้ก็ไม่ได้รับเงินเพราะรู้สึกสงสารชาวบ้าน  

ตู้ยอมรับว่า เขาคิดราคาค่าแรงไม่เป็น เพราะเกรงใจคนด้วย ส่วนใครอยากเอาเครื่องเสียงเขาไปเล่น เอาไปเปิดฟังก็เอาไปได้เลย ถึงอย่างนั้นโอมและตู้เคยได้งานจาก อบต. ช่วงจัดงานกีฬาที่ต้องใช้เครื่องเสียง อาจจะได้งาน 9 วัน 9 คืน แต่ต้องไปนอนเฝ้าเครื่องเสียงอีก และงานลักษณะนี้ 1 ปีมีอยู่ 1 ครั้ง ก่อนหดหายไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด

เมื่อถามถึงงานอื่นๆ ที่เคยทำ โอมย้อนเล่าไปว่าระหว่างทำงานเปิดเครื่องเสียงเป็นพาร์ทไทม์ จนจบ ม.6 เลยคิดอยากเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ ด้วยปกติช่วงเรียนมัธยม ระหว่างปิดเทอมใหญ่ก็จะเข้าเมืองหลวงเพื่อไปทำงานกับญาติในโรงงานเย็บผ้าอยู่แล้ว หลังเรียนจบ ม.6 เพื่อนๆ เริ่มแยกย้ายไปทำงานในเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ๆ โอมจึงคิดว่าเขาควรจะต้องไปแสวงหาและใช้ชีวิตแบบคนอื่นบ้าง จึงโดยสารรถตู้ล่องจากขุนหาญเข้าไปกรุงเทพฯ 

.

.

งานแรกที่โอมได้ทำคือการยกของในโรงงานเย็บผ้า พอทำไปได้ 2 เดือน ญาติอีกคนของโอมชวนไปทำงานขับรถขนส่งสินค้าให้โรงงานแก้วพลาสติกแห่งหนึ่ง ซึ่งโอมทำหน้าที่เป็นเด็กรถและคอยยกของไปไว้ตามจุดสต็อคสินค้าของร้านนั้นๆ ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล 

เมื่อทำงานไปได้ราว 7 เดือน โอมตัดสินใจที่จะกลับบ้าน เพราะรู้สึกเหนื่อยและไม่คุ้มค่ากับแรงงานที่ลงไป ด้วยบางทีรถกระบะของญาติต้องวิ่งงานระยะไกลจากกรุงเทพฯ ไปถึงพระนครศรีอยุธยา เลยวิ่งได้เพียงวันละเที่ยว และทำเงินได้ไม่กี่พันบาทต่อรอบ หน้าที่หลักๆของโอมคือการยกของ และเอาไปวางในห้องเก็บของ ต้องยกลังละ 15 กิโลกรัม ทีละ 3 ลัง โดยไปแต่ละเที่ยวมีสินค้าประมาณ 70 ลัง 

“ช่วงนั้นถ้าวันไหนได้งาน 2 เที่ยว ส่วนแบ่งผมจะได้ 400 บาท ถ้าได้ 1 เที่ยว ก็จะได้ 300 บาท ส่วนมากก็จะได้ 1 เที่ยว ทำอยู่ 7-8 เดือน จึงบอกกับญาติว่าจะมาเรียนหนังสือ ส่วนญาติก็บอกว่าจะหางานใหม่ทำอยู่พอดี เลยเลิกตรงนั้น” 

โอมตัดสินใจเข้าเรียนสาขาอิเลคทรอนิกส์อุตสาหกรรม ที่วิทยาลัยการอาชีพขุนหาญ ใช้เวลาเรียนจบ 2 ปีตามหลักสูตร ปวส.   ตอนปีสุดท้ายโอมเข้ามาฝึกงานที่บ้านของตู้ เพราะตอนนั้นตู้ทำงานติดตั้งเครื่องจักรพอดี งานเดินสายไฟและคุมเครื่องจักรเป็นสิ่งที่โอมถนัดที่สุด จนตู้ถึงกับเอ่ยปากว่า  

“ถ้าได้ไปทำงานดีๆ ในโรงงานใหญ่ๆ คุมเครื่องจักรเขาคงทำได้ดี เพราะโอมหัวค่อนข้างไว”  นอกจากความรู้เรื่องการงาน ในด้านการเมือง โอมอยากรู้อะไร ก็จะปรึกษาเพื่อนรุ่นพี่คนนี้เสมอๆ

“ถ้าอยากรู้อะไรให้ไปศึกษาดู ค่อยไปคิดตามว่ามันถูกหรือผิดหรือใช่เรื่องจริงไหม แล้วมาคุยกัน เหมือนการเบิกเนตร การใช้ ม.112 คืออะไร เพราะเราไม่ชอบอยู่แล้วเผด็จการ ไม่ชอบการกดขี่อยู่แล้ว ก็แนะนำเขาว่าฝั่งนั้นทำยังไง ทำถูกไหม ถ้าทำผิดเราต้องแย้งได้ และเวลาจะคุยเรื่องการเมือง ต้องคุยกับเฉพาะเพื่อนที่ไว้ใจ”  ตู้บอกไว้อีกตอนหนึ่ง จนมาถึงวันนั้น วันชุมนุมคาร์ม็อบขุนหาญ วันที่เป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวคดี 112 คดีแรกเท่าที่บันทึกได้ในประวัติศาสตร์จังหวัดศรีสะเกษ  

.

ขอโอกาสได้ไหม ขอโอกาสให้น้องได้ไหม

วันที่ 19 กันยายน 2564 นักกิจกรรมในจังหวัดศรีสะเกษ จัดคาร์ม็อบขุนหาญ เพื่อรำลึกวันรัฐประหารเมื่อ 15 ปีที่แล้ว และแสดงความไม่เห็นด้วยรัฐบาลเผด็จการไม่ว่าในยุคไหนๆ กิจกรรมยังสะท้อนความล้มเหลวการจัดการสถานการณ์โควิด -19 ของรัฐบาลปัจจุบัน รวมถึงต้องการกดดันนักการเมืองในจังหวัดที่เปลี่ยนขั้วการเมือง ทรยศต่อเสียงของประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามา  ขบวนคาร์ม็อบตั้งต้นที่ อ.ขุนหาญ และมีหมุดหมายปลายทางที่ตัวเมืองศรีสะเกษ  

ช่วงสายวันนั้นโอมได้รับการชักชวนจากรุ่นพี่และเพื่อนให้เข้าร่วมคาร์ม็อบด้วย หลังจากกรีดยางเสร็จราว 11.00 น. เขานั่งดูโทรศัพท์มือถือก่อนแชร์ภาพๆ หนึ่งลงในสตอรี่เฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ภายใน 5 นาทีต่อมา ตู้โทรศัพท์มาบอกให้ลบภาพดังกล่าวออก เนื่องจากเป็นภาพคล้ายรูปวาดรัชกาลที่ 10  ระหว่างโอมลบภาพนั้นออก จึงเห็นว่านอกจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของตู้ ยังมีเฟซบุ๊กของ “อภิสิทธิ์ ไทรทอง” สมาชิกอาสารักษาดินแดนที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันที่เห็นภาพนั้นด้วย 

.

ภาพโอม ขณะฝึกงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักร

.

กระทั่งโอมนอนพักจนถึงช่วง 17.00 น. และอาบน้ำออกไปร่วมกิจกรรม จนขับมอเตอร์ไซค์ไปถึงตัวขุนหาญ จากนั้นไม่กี่นาที แม่ของโอมโทรบอกว่ามีตำรวจมาหาที่บ้าน เขาจึงขับรถกลับบ้าน ก่อนถูกตำรวจคุมตัวไปที่ สภ.ขุนหาญ

ตู้ในฐานะหนึ่งในผู้จะเข้าร่วมชุมนุมวันนั้น เล่าว่าจากที่นัดหมายเวลา 17.00 น.  ที่แยกหัวช้าง บนถนนหมายเลข 24 มีรถอยู่หลายสิบคัน กำลังจะออกขบวน มีสายโทรศัพท์เข้าจากโอม ว่ามีตำรวจไปที่บ้านแล้ว ตู้จึงรู้ในทันทีว่าคนที่ไปแจ้งความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ คือ อส. (สมาชิกอาสารักษาดินแดน) คนที่อยู่หมู่บ้านเดียวกัน 

“อยู่บ้านเดียวกันไม่น่าทำกันขนาดนี้ เรียนโรงเรียนเดียวกัน ทำไมถึงเกลียดกันขนาดนั้น น่าจะมีการเตือนกันก่อน มันไม่ควรเกิดเหตุการณ์แบบนี้” ตู้สะท้อนใจไว้อีกตอน 

เมื่อไปถึง สภ.ขุนหาญ ตำรวจสอบปากคำโอม โดยไม่มีทนายความร่วมด้วย ครั้งนั้นโอมบอกตำรวจไปว่าเป็นคนแชร์ภาพดังกล่าวลงในสตอรี่เฟซบุ๊ก แต่เมื่อผ่านไปไม่กี่นาที ตู้โทรมาแจ้งว่าให้ลบภาพดังกล่าวออกไป ตนจึงได้ลบภาพนั้นออกทันที วันถัดมาตำรวจเรียกตู้ไปที่ สภ.ขุนหาญ ด้วย อ้างว่าให้ไปให้การในฐานะพยาน โดยตู้ก็บอกความจริงกับตำรวจไปว่า เป็นคนบอกให้โอมลบภาพดังกล่าวออกไป และโอมก็ได้ลบภาพนั้นทันทีจริง 

กระทั่งพนักงานสอบสวน สภ.ขุนหาญ ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ในวันที่ 28 ต.ค. 2564

“ไอ้คนที่คิดหนักคือพี่ มองทางไหนก็ไม่มี ปรึกษาใครก็ไม่สามารถมีใครช่วยได้ เข้ากูเกิ้ล หาวิธีแก้ไข ว่าต้องทำอะไรช่วยโอมบ้าง” ตู้กล่าวย้อนถึงเหตุการณ์ช่วงเวลานั้น

ช่วงเวลานั้นทั้งตู้และโอม ตัดสินใจสอบถามไปยังทีมงาน “ขุนหาญไม่เอาเผด็จการ” เพราะมีทีมทนายในศรีสะเกษที่พอจะปรึกษาเรื่องคดีได้ จนเข้าใจว่าทางทนายความก็ไปคุยกับทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และมีการรับเป็นคดีช่วยเหลือไว้ จึงรู้สึกโล่งใจขึ้นมา แต่ถึงอย่างนั้นท่าทีของตำรวจที่ สภ.ขุนหาญ ในวันที่พวกเขาสองคนถูกเรียกไปสอบปากคำยังชวนให้รู้สึกว่าคดีนี้น่าจะเป็นเรื่องลำบากหากจะขอประกันตัว 

ตู้ถึงกับระบายว่า “แอบน้อยใจตำรวจ ว่าขอโอกาสได้ไหม ขอโอกาสให้น้องได้ไหม ตำรวจบอกว่าไม่ได้อย่างเดียว”

กระทั่งวันนัดรับทราบข้อกล่าวหา หลังเสร็จสิ้นกระบวนการสอบสวน พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลจังหวัดกันทรลักษ์ฝากขัง 14 วัน  ต่อมาทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนายประกัน ยื่นประกันตัวโอม โดยใช้เงินสด 200,000 บาท จากกองทุนดา ตอร์ปิโด เป็นหลักทรัพย์ 

“สุดท้ายศาลเรียกหลักประกัน 200,000 บาท ก็ไม่คิดว่ากองทุนจะช่วยจริงๆ และรู้สึกว่าเป็นการประกันตัวที่ใช้เงินมูลค่าสูงมากต่อการได้อิสรภาพในครั้งนี้” ตู้เล่าถึงเงินประกันตัวและการช่วยเหลือจากกองทุนดา ตอร์ปิโด ที่เขาและโอมไม่เคยรู้จักมาก่อนว่ามีองค์กรลักษณะนี้ในประเทศด้วย

.

หากผ่านพ้นคดี  การได้ดูแลแม่คือสิ่งที่ดีที่สุด

ปัจจุบัน คดีของโอมถูกอัยการสั่งฟ้องที่ศาลจังหวัดกันทรลักษ์แล้ว กระบวนการอยู่ในชั้นนัดสอบคำให้การในเดือนเมษายน 2565 โดยเจ้าตัวได้รับการประกันตัวตลอดชั้นการพิจารณาคดี 

สำหรับโอมเขายืนยันว่าจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด ส่วนตู้ในฐานะคนสนิทก็เล่าเสริมไปว่า หากเป็นไปได้เขาไม่อยากให้น้องคนนี้เป็นผู้ต้องหาคดี 112 เลย เมื่อถามถึง อส. คนที่ไปแจ้งความกล่าวหากับโอม ได้รับคำตอบว่า หายหน้าหายตาไปและไม่ได้มาคุยกับทางฝั่งโอมเลย 

“คนที่มีอำนาจอย่างตำรวจ น่าจะเรียกทั้งผู้แจ้งความ และผู้ถูกกล่าวหาอย่างโอมมาคุยกันก่อน เพราะทางพวกเราเองเมื่อเห็นว่าภาพนั้นไม่สมควรโพสต์ ก็ได้มีการลบภาพดังกล่าวออกไปแล้ว ทำไมเรื่องนี้จะแค่ตักเตือนกันไม่ได้” ตู้กล่าวถึงมุมมองการแก้ปัญหาและคิดว่าเรื่องนี้น่าจะคุยกันได้ 

.

ภาพบรรยากาศสวนยางที่ ต.บักดอง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ

.

แน่นอนว่าสำหรับตัวโอม กังวลเรื่องการติดคุกเพราะไม่รู้ว่ากระบวนการต่อสู้ในท้ายที่สุดผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร และเป็นห่วงคนที่อยู่ข้างหลังหากเขาต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ โดยเฉพาะแม่ เพราะครอบครัวอยู่กันแค่สองคน และแม่เองมีปัญหาด้านสุขภาพ บกพร่องทางการได้ยิน โดยโอมไม่รู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไร แต่แม่มีอาการหูตึงมาตั้งแต่กลับมาจากกรุงเทพฯ 

โอมคิดต่อไปว่าหากเสร็จสิ้นคดีนี้ ฝันอยากทำงานและดูแลแม่ไปด้วย อยากทำงานเกี่ยวกับรถ  เพื่อนหลายคนชมว่าเขาเก่งในด้านการประดิษฐ์แบบ DIY การดัดแปลง การซ่อมบำรุงรถยนต์ และคิดว่าจะหารายได้จากการรับจ้างตกแต่งรถตรงนี้ได้ เพราะกังวลว่าการสมัครงานในบริษัททั่วไปอาจไม่มีใครรับ เนื่องจากเขาถูกดำเนินคดี 112   

การรับจ้างกรีดยางและดูแลแม่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่โอมทำได้ขณะนี้ โอมคิดว่าคนเรากตัญญูอย่างน้อยก็ต้องได้ดี ได้ดูแลแม่ ได้อยู่บ้านกับแม่ก็มีความสุขได้เช่นกัน 

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ตร.ศรีสะเกษแจ้ง ‘112’ หนุ่มสวนยาง หลังอส.คนบ้านเดียวกัน กล่าวหาแชร์ภาพล้อเลียน ร.10 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ

ฟ้องแล้ว! คดี 112 – พ.ร.บ.คอมฯ หนุ่มสวนยาง ศรีสะเกษ แชร์ภาพวาดล้อเลียน ร.10 เจ้าตัวยืนยันไม่มีเจตนาหมิ่นฯ

ดูฐานข้อมูลคดี คดี 112 “ชลสิทธิ์” หนุ่มสวนยางศรีสะเกษ ถูก อส.คนบ้านเดียวกันแจ้งความกล่าวหาแชร์ภาพล้อเลียน ร.10

.

X