เปิดสถิติยื่นประกันตัว “ผู้ต้องขังคดีการเมือง” ส่งท้ายปี 2566 : แนวโน้มคนถูกคุมขังได้คืนสิทธิประกันตัวยากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566 ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีที่แสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง 37 คน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 24 คน 

ในจำนวนของผู้ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดีมีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 จำนวน 15 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 2 คน และในคดีครอบครองวัตถุระเบิด – เผารถตำรวจ รวม 9 คน

ตลอดทั้งปี 2566 พบว่าในเดือนพฤศจิกายน มีการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังในคดีการเมืองสูงที่สุดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 15 คน โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเพียง 4 คน ได้แก่ เก่ง พลพล, อาร์ม วัชรพล, ต้อม จตุพล และ แบงค์ ณัฐพล ซึ่งเป็นกลุ่มจำเลยในคดีเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์คดีมาตรา 112 รวมถึงคดีที่เกี่ยวเนื่องกับระเบิดในเหตุการณ์ชุมนุมที่บริเวณดินแดง ภายหลังศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา พบว่าแนวโน้มของการไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุดมีเพิ่มมากขึ้น โดยในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่มีผู้ถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดี 19 คน ปัจจุบันพบว่ามีสูงขึ้นถึง 25 คนแล้ว

.

ปัจจุบันผู้ต้องขังคดีการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับระเบิด – วางเพลิง ถูกขังข้ามปี รวม 9 คน ขณะมี 6 คนที่ได้ประกันตัว

“ถิรนัย – ชัยพร” ทั้งสองถูกศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566 ให้จำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี ในคดีครอบครองระเบิดปิงปอง ก่อนการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 โดยศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมาจากการยื่นรวม 6 ครั้ง ซึ่งถือเป็นสองผู้ต้องขังที่ถูกควบคุมตัวนานที่สุดในปี 2566 เป็นระยะเวลาทะลุ 300 วันแล้ว 

และเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 ศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีของ “มาร์ค ชนะดล” หนุ่มวัย 24 ปี ให้จำคุก 2 ปี 1 เดือน ในข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง จากกรณีเข้าร่วมชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564  

ภายหลังคำพิพากษา ยังต้องติดตามการอุทธรณ์คดี เขายังคงถูกคุมขังเรื่อยมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และไม่ได้ประกันตัวจากการยื่นขอกว่า 10 ครั้ง ทำให้มาร์คเป็นหนึ่งในผู้ต้องขังที่ยื่นขอประกันตัวมากที่สุดกว่า 10 ครั้งในรอบปีที่ผ่านมา

ในเดือนกรกฏาคม 2566 ศาลอาญายังได้มีคำพิพากษาในคดีของ “ประวิตร” วัย 21 ปี ซึ่งถูกฟ้องว่า ร่วมกันวางเพลิงป้อมตำรวจจราจร บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ภายหลัง #ม็อบ10สิงหา เมื่อปี 2564 โดยลงโทษจำคุก 12 ปี 8 เดือน ก่อนลดเหลือ 6 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา แม้จะมีการยื่นขอประกันประวิตรไปแล้ว 3 ครั้ง แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกัน โดยระบุเช่นเดียวกับคดีอื่นว่า เป็นข้อหาอัตราโทษสูง เกรงจะหลบหนี

สำหรับ “ประวิตร” ประกอบอาชีพเป็นพนักงานขนสินค้าของโรงงานน้ำมันแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ อาศัยอยู่กับแม่ ภรรยา และลูกอีก 2 คน วัย 3 ปี และ 4 เดือน ก่อนถูกคุมขังประวิตรทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว การที่ประวิตรถูกคุมขังในคดีนี้ส่งผลกระทบให้ครอบครัวได้รับความลำบากมากขึ้น 

ในเดือนสิงหาคม 2566 คดีของ “คเชนท์ – ขจรศักดิ์”  สองสมาชิกกลุ่มทะลุแก๊สวัย 21 และ 20 ปี ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 10 ปี 6 เดือน และ 11 ปี 6 เดือน ตามลำดับ ในข้อหาหลัก คือ ร่วมกันมี / ใช้วัตถุระเบิดในครอบครองฯ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ จากกรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ30กันยา64 และถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดเข้าใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์

ในเดือนกันยายน บุ๊ค’ ธนายุทธ ณ อยุธยา แร็ปเปอร์ ซึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน คดีครอบครองวัตถุระเบิด หลังเจ้าหน้าที่ตรวจพบประทัดลูกบอล, ไข่ก็อง, พลุควัน และระเบิดควัน ที่บ้านพัก โดยเขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย. 2566 ถึงปัจจุบัน (22 ธ.ค. 2566) แม้จะยื่นขอประกันตัวกว่า 3 ครั้ง แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงไม่อนุญาตเรื่อยมา ทำให้เขาถูกคุมขังมาทะลุ 100 วันแล้ว

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาคดีของ  “ทูน” ไพฑูรย์ อายุ 22 ปี จำคุก 6 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 3 ปี  และ “ดั๊ก” สุขสันต์ อายุ 21 ปี ซึ่งถูกพิพากษายกฟ้อง ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันทำและมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง จากการถูกจับกุมและตรวจค้นบ้าน เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 ตามหมายจับและหมายค้นกรณีถูกกล่าวหาว่า ใช้วัตถุระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ ในการชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส ที่หน้าบริเวณดุริยางค์ทหารบก เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 ซึ่งถูกแยกฟ้องเป็นอีกคดีอยู่ที่ศาลอาญา

ผลจากคำพิพากษา สรุปได้ว่า สุขสันต์ไม่ได้รับโทษจำคุกในคดีนี้ แต่ยังต้องรับโทษจำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน ในคดีของศาลอาญา จึงยังต้องถูกคุมขังต่อไปที่เรือนจำกลางคลองเปรม ส่วนไพฑูรย์เมื่อรวมโทษจำคุกนี้กับคดีที่ศาลอาญา ไพฑูรย์จะต้องรับโทษจำคุก รวม 36 ปี 12 เดือน หรือราว 37 ปี และต้องถูกคุมขังต่อไปที่เรือนจำกลางคลองเปรมเช่นกัน ทำให้ทั้งสองเป็นผู้ต้องขังคดีระเบิดที่ต้องโทษจำคุกมากที่สุดในระลอกปี 2566 แต่คดียังไม่ได้ถึงที่สุด

ข่าวพิพากษา ไพฑูรณ์ – สุขสันต์ ที่ศาลอาญา >>> จำคุก ‘ไพฑูรย์’ 33 ปี 12 เดือน – ‘สุขสันต์’ 22 ปี 2 เดือนเศษ ถูกกล่าวหาโยนระเบิดใส่ตำรวจดินแดง #ม็อบ11กันยา64

ทั้งนี้ นอกจากผู้ต้องขังจำนวน 9 คนข้างต้น พบว่าในเดือนตุลาคม 2566 ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัว “ธีรภัทร – ปฐวีกานต์” หลังถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดีกว่า 68 วัน ในคดีที่อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ในข้อหาร่วมกันทำให้เกิดระเบิด และร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน จากการปาวัตถุคล้ายระเบิดใส่รถสายตรวจ ในระหว่างการชุมนุมของ #ทะลุแก๊ส คืนวันที่ 31 ต.ค. 2564 

ทำให้ในปี 2566 สามารถสรุปแนวโน้มได้ว่า คดีเกี่ยวกับระเบิดและการวางเพลิงเผาทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องมาจากการชุมนุมเริ่มเข้าสู่ชั้นพิจารณาคดีและมีคำพิพากษามากขึ้น ซึ่งนอกจากศาลชั้นต้นจะมีแนวโน้มลงโทษจำคุก พ่วงมาด้วยคำสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวโดยศาลอุทธรณ์แล้ว คดีที่ถูกยื่นฟ้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลก็มีแนวโน้มที่จำเลยจะไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาเช่นเดียวกัน

.

ผู้ต้องขังคดี 112 ที่ถูกคุมขังในระหว่างต่อสู้คดี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 15 ราย ตั้งแต่เดือนกันยายนจนท้ายปี

จากการเก็บข้อมูลการยื่นประกันผู้ต้องขังคดีทางการเมืองซึ่งอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีข้อหามาตรา 112 จำนวน 15 ราย ได้แก่ วุฒิ, เวหา, ทีปกร, วารุณี, โสภณ, อุดม, สมบัติ, อานนท์, วีรภาพ, กัลยา, แม็กกี้, ณัฐกานต์ และ จิรวัฒน์  โดยในจำนวนดังกล่าวมีเยาวชน 2 คน ได้แก่ ภัทรชัย และภูมิ  

นอกจากวุฒิที่ไม่ได้ประกันนานตั้งแต่อัยการยื่นฟ้องคดี จนกระทั่งวันกำหนดนัดฟังคำพิพากษาแล้ว กรณีอุดม,กัลยา และสมบัติ ที่ไม่ได้ประกันระหว่างฎีกา คนที่เหลืออีก 9 ราย (ยกเว้นกรณีเยาวชน) เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้น คือศาลอาญามีคำพิพากษา และส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าจะให้ประกันระหว่างอุทธรณ์หรือไม่ โดยมีข้อน่าสังเกตว่าในจำนวนทั้ง 9 รายนี้ ไม่มีรายใดที่ได้รับการประกันตัวจากศาลอุทธรณ์เลย แม้ว่าคดีจะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด 

ขณะที่คดีมาตรา 112 ในช่วงระยะเดียวกันนี้ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกในศาลอื่น ๆ พบว่าศาลยังให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ทั้งคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ หรือคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่

จากกรณีดังกล่าวยังส่งผลให้ผู้ต้องขังอย่างวารุณี ชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี ตัดสินใจประท้วงโดยการอดอาหารตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566 ก่อนจะยุติการประท้วง ในวันที่ 6 ต.ค. 2566  หลังถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ในคดีโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์มาตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 แม้จะได้ยื่นประกันไปถึง 8 ครั้ง

และกรณีของ  “เวหา” หลังไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ก็ได้ตัดสินใจประท้วงอดอาหารเคียงข้างวารุณี ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2566 ก่อนจะยุติการประท้วงในวันที่ 10 ต.ค. 2566 และเขาตัดสินใจไม่อุทธรณ์คำพิพากษาในคดีตนเองอีก

และแม้ “เก็ท โสภณ” ซึ่งถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือนจากกรณีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 เขาได้ทำการประท้วงศาลด้วยวิธีการปฏิเสธอำนาจศาล และปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม โดยการถอนทนายของตัวเองในคดีอื่นออก เพื่อทวงสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ยังอยู่ในเรือนจำทุกคน ปัจจุบันเก็ทถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2566 เป็นระยะเวลากว่า 138 วันแล้ว

“กิ๊ฟ ทีปกร” หมอนวดอิสระ วัย 38 ปี ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2566 หลังศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี ในคดีมาตรา 112 เหตุจากการโพสต์เฟซบุ๊กและแชร์คลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษีของสถาบันกษัตริย์

ในการยื่นประกันตัวรวม 4 ครั้ง โดยในวันที่ 5 พ.ย. 2566 ครอบครัวของทีปกรได้พยายามยื่นคำร้องขอประกันด้วยตนเอง แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเช่นเคย จนวันนี้เขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มานานกว่า 200 วันแล้ว

ในส่วนของ วุฒิ’ (นามสมมติ) ประชาชนวัย 51 ปี หลังถูกอัยการยื่นฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 ศาลอาญามีนบุรีก็ไม่เคยอนุญาตให้ประกัน ตั้งแต่ที่ยังไม่ได้สืบพยานให้จำเลยได้ต่อสู้คดี จนถึงปัจจุบันทนายยื่นประกันวุฒิไปแล้ว 5 ครั้ง ทำให้วุฒิเป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 รายเดียวที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตั้งแต่ในชั้นพิจารณาคดี

นอกจากนี้ในส่วนคดี ม.112 ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ก็พบว่ามีความน่าเป็นห่วงอยู่ 3 คน ซึ่งในส่วนของคดีที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว และศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษายืนในคดีของ “อุดม” คนงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจังหวัดปราจีนบุรีวัย 35 ปี จำคุก 4 ปี  และคดีของ “กัลยา” พนักงานจากกรุงเทพฯ อายุ 29 ปี ถูกพิพากษาจำคุก 6 ปี ทั้งสองคนยังต่อสู้ในชั้นฎีกาต่อ แม้ยังไม่ได้รับการประกันตัว

และในคดีของ “เจมส์” ณัฐกานต์  นักกิจกรรมฝั่งธนบุรี วัย 37 ปี ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางพัทลุงตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2566 หลังเขาถูกจับกุมที่บ้านพักตามหมายจับศาลจังหวัดพัทลุงในข้อหามาตรา 112 ทนายความได้เข้ายื่นประกันตัวในระหว่างสอบสวน แต่ศาลจังหวัดพัทลุงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้เจมส์ถูกขังเรื่อยมาเป็นจำนวนกว่า 61 วันแล้ว

จากกรณีของผู้ต้องขังไกลบ้านข้างต้นทั้ง 3 ราย พบว่าในการเข้าเยี่ยมที่จังหวัดนราธิวาส หรือจังหวัดพัทลุงมีความยากลำบากมาก เนื่องจากเรือนจำให้เพียงแค่ญาติและครอบครัวเท่านั้นที่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้ และถึงอย่างนั้น การเดินทางของครอบครัวเพื่อไปเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากครอบครัวของผู้ต้องขังทั้ง 3 คน ไม่ได้มีใครมีพื้นเพ หรือทำมาหากินอยู่ในจังหวัดทางภาคใต้ ตลอดจนทุนทรัพย์ที่มีอยู่จำกัดไม่ได้ส่งเสริมให้พวกเขาสามารถเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวของตัวเองได้อย่างสม่ำเสมอ ความโดดเดี่ยวและสุขภาวะที่ผู้ต้องขังทั้งสามต้องเผชิญจึงยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก

ด้าน สมบัติ ทองย้อย ที่ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 4 ปี ในกรณีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” พร้อมกับอีก 2 ข้อความ กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น เขาเป็นผู้ต้องขังอีกรายที่ต้องหวนกลับเข้าเรือนจำ แม้ในช่วงต้นปี เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 ศาลฎีกาจะเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว พร้อมเงื่อนไขติดกำไล EM และวางหลักทรัพย์ประกันสูงถึง 300,000 บาท แต่ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลฎีกา ซึ่งศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมาเป็นจำนวน 2 ครั้ง แม้สมบัติจะไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีก็ตาม  ล่าสุด เขาตัดสินใจไม่ต่อสู้ในชั้นฎีกา ทำให้อยู่ระหว่างรอให้คดีสิ้นสุดลง

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท ในคดีมาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ รวม 9 ข้อกล่าวหา จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563

ในการยื่นขอประกันตัวครั้งแรก ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีประกอบพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง” 

และแม้อานนท์จะไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี เคยขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศ พร้อมกลับมารายงานตัวตามนัด ทั้งยังคงต้องออกศาลเพื่อเข้าร่วมพิจารณาคดีที่ตัวเองเป็นจำเลยและทนายความจำเลยอยู่อย่างเสมอ ก็ไม่ได้ส่งผลให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมรวมกว่า 5 ครั้ง ซึ่งทำให้อานนท์ตัดสินใจที่จะถอนประกันคดี ม.112 ของตัวเองในทุกคดี

“อารีฟ” วีรภาพ วงษ์สมาน ถูกคุมขังจากคดีเขียนข้อความเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ใต้ทางด่วนดินแดง  มาตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2566 หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และศาลอุทธรณ์สั่งไม่ให้ประกันตัวจากการยื่นมาแล้ว 3 ครั้ง ทั้งยังเคยอุทธรณ์คำสั่งอีก 1 ครั้ง รวมทั้งหมด 4 ครั้งแล้ว

การยื่นประกันตัวครั้งที่ 4 นี้ ยังคงเป็นการยืนยันเรื่องจำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานเช่นเดียวกับกรณีของอานนท์แล้ว ยังกล่าวถึงภาระหน้าที่ของจำเลยในการดูแลมารดา และบุตรวัย 1 ปีเศษ ซึ่งจำเลยกับภรรยาต้องแบ่งเบาการหารายได้ในการดำรงชีวิตประจำวัน การไม่ได้รับการประกันตัวส่งผลกระทบต่อครอบครัวของจำเลยอย่างมาก

นอกจากนั้น วีรภาพยังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า การถูกคุมขังทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็มีข้อจำกัดในหลายด้าน เช่น ความเชี่ยวชาญและยารักษาด้านอาการป่วยจิตเวช

ในปีที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังเพิ่งได้ทราบกรณีของ “แม็กกี้” (สงวนชื่อสกุล) ประชาชนอายุ 26 ปี ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในข้อหามาตรา 112 โดยไม่มีทนายความให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ทราบว่าเธอถูกจับกุมเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 และถูกตำรวจนำตัวมาขอฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ก่อนศาลไม่ให้ประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. 2566

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566 ทนายความยื่นขอประกันตัวเธอเป็นจำนวน 1 ครั้ง แต่ศาลยังมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง” ทำให้แม็กกี้ถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนมาแล้ว 79 วัน ยังต้องติดตามว่าอัยการจะสั่งฟ้องภายในผัดฟ้องหรือไม่

จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) พ่อค้าออนไลน์วัย 32 ปี เป็นผู้ต้องขังทางการเมืองในคดี ม.112 รายล่าสุดที่เพิ่งถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายหลังศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก 6 ปี  จากการถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์เฟซบุ๊กทั้งหมด 3 โพสต์เมื่อปี 2564 ปัจจุบันจิรวัฒน์ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2566  แม้จะยื่นขอประกันตัวไป 2 ครั้งแล้ว

ในปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีกลุ่มคดี ม.112 ของเยาวชน ได้แก่ ภัทรชัย และ ภูมิ สองเยาวชนชายที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานแรกรับเด็กและเยาวชนชายบ้านเมตตา ตามคำสั่งของศาลเยาวชนฯ ที่กำหนดมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา โดยให้ควบคุมตัวทั้งสองคนไว้เป็นเวลา 6 เดือน และ 1 ปี ตามลำดับ

ในส่วนคดีของภูมิ ที่ปรึกษากฎหมายได้พยายามยื่นคำร้องขอให้ศาลเปลี่ยนไปใช้มาตรการพิเศษตามมาตรา 132 วรรค 1 แทน เนื่องจากมีข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไป ประการสำคัญคือมารดาของภูมิ ที่เดิมไปทำงานต่างประเทศ ได้เดินทางกลับมา และแสดงตัวว่าพร้อมจะดูแลภูมิในฐานะผู้ปกครองอยู่ในประเทศไทย โดยล่าสุดอธิบดีของศาลเยาวชนฯ ได้อนุญาตให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้ว อยู่ระหว่างรอการพิจารณาต่อไป

อ่านบทสัมภาษณ์ป้ามล >>> คุยกับ “ป้ามล”: ว่าด้วยคดีของ “ภูมิ” ช่องว่างของคำสั่งควบคุมตัวเยาวชนในสถานพินิจฯ และปัญหาการอบรมวิชาชีพ 

.

ผู้ต้องขังการเมืองที่คดีเด็ดขาดเพิ่มเป็น 13 ราย

จากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายพบว่า ในปี 2566 มีผู้ต้องขังเด็ดขาดเพิ่มเป็น 13 ราย โดยแบ่งเป็นคดี ม.112 จำนวน 6 ราย ได้แก่ โย่ง, อัญชัญ, พลทหารเมธิน, ปริทัศน์, วัฒน์ และ กิจจา ส่วนในคดีอื่น ๆ มีจำนวนทั้งหมด 7 ราย ได้แก่ “มะ” ณัฐชนน, วรรณภา, กฤษณะ, “แน็ก” ทัตพงศ์, สุวิทย์, เอกชัย และสุดใจ

ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางปี 2566 มีผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ตัดสินใจยุติการสู้คดีในชั้นศาลอีก จำนวน 5 ราย ได้แก่ “คทาธร – คงเพชร”, “ทัตพงศ์”, “วัฒน์” และ “สุวิทย์” ทั้งหมดตัดสินใจยุติการยื่นคำร้องขอประกันตัว สืบเนื่องมาจากการที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพวกเขา ทำให้ทั้งหมดกลายเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาด และบางรายได้พ้นโทษออกไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตในกรณีของผู้ต้องขังที่ตัดสินใจยุติการสู้คดี โดยให้คดีถึงที่สุด ปัจจัยสำคัญคือการไม่ได้รับการประกันตัวจากศาล หลายคนเคยต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีโอกาสได้สู้ถึงที่สุด

สถานการณ์ช่นนี้ ทำให้ความหวังในการใช้ชีวิตข้างนอกของพวกเขาริบรี่ เพียงเพราะคำสั่งประกันเดิม ๆ ของศาลที่ว่า ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’ การตัดสินใจยอมรับคำตัดสินโทษจึงเป็นเพียงความหวังสุดท้ายที่พวกเขาจะได้กลับมามีอิสรภาพในชีวิตอีกครั้ง 

*ข้อมูลวันที่ 9 ม.ค. 2566

X