อธิบดีศาลเยาวชนฯ อนุญาตให้รับอุทธรณ์ขอให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งการควบคุมตัว “ภูมิ หัวลำโพง” คดี ม.112 ในสถานพินิจฯ

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ที่ปรึกษากฎหมายของ “ภูมิ หัวลำโพง” นักกิจกรรมเยาวชนและอาสากู้ภัยวัย 20 ปี ผู้ถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจฯ บ้านเมตตา จากคดีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้เข้ายื่นคำร้องขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอนุญาตให้อุทธรณ์คำสั่งของศาลที่ให้ควบคุมตัวเยาวชนในสถานพินิจฯ พร้อมกับยื่นอุทธรณ์ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนประกอบ โดยระบุถึงคำสั่งของศาลเยาวชนฯ ก่อนหน้านี้ ที่สั่งโดยไม่มีรายละเอียดสำคัญ และอาจขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ก่อนหน้านี้ ภูมิกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ในคดีที่เข้าถูกกล่าวหาจากการร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมไปยัง สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 และวันที่ 18 ต.ค. 2566 ศาลเยาวชนฯ ได้วินิจฉัยให้ใช้มาตรการพิเศษแทนคำพิพากษาคดีกับจำเลย ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มาตรา 132 วรรค 2 แก่จำเลย ส่งตัวจำเลยไปสถานพินิจฯ กำหนดเงื่อนไขให้จำเลยอบรมหลักสูตรวิชาชีพอย่างน้อย 2 หลักสูตร โดยกำหนดระยะเวลาให้จำเลยอยู่สถานพินิจ 1 ปี 

แม้ที่ปรึกษากฎหมายได้ยื่นขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง เนื่องจากมีข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไป ประการสำคัญคือมารดาของภูมิ ที่เดิมไปทำงานต่างประเทศ ได้เดินทางกลับมา และแสดงตัวว่าพร้อมจะดูแลภูมิในฐานะผู้ปกครองอยู่ในประเทศไทย แต่ศาลเยาวชนฯ ยังเห็นว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม 

ที่ปรึกษากฎหมายจึงได้ยื่นขออนุญาตอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว เพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ทบทวนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566

ต่อมาวันที่ 20 ธ.ค. 2566 อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของฝ่ายจำเลยดังกล่าว และให้ส่งคำร้องให้อัยการโจทก์แก้อุทธรณ์ ทำให้ต้องติดตามการส่งคำร้องไปที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม คุยกับ “ป้ามล”: ว่าด้วยคดีของ “ภูมิ” ช่องว่างของคำสั่งควบคุมตัวเยาวชนในสถานพินิจฯ และปัญหาการอบรมวิชาชีพ

.

อุทธรณ์คำสั่ง เห็นว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

สำหรับคำร้องขอให้อธิบดีผู้พิพากษาอนุญาตให้อุทธรณ์คำสั่ง ระบุโดยสรุปว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงสำคัญที่เป็นข้อแพ้ชนะหรือประโยชน์แก่คดี หรือมีผลทำให้คำสั่งเปลี่ยนแปลงและเป็นสาระในอันที่จะให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย 

ทั้งปัญหาตามอุทธรณ์เป็นปัญหาเกี่ยวกับหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน และเพื่อการพัฒนาการตีความกฎหมาย นอกจากนี้ ยังเป็นปัญหาสำคัญกรณีคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง วินิจฉัยข้อกฎหมายสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย อันควรนำสู่ศาลอุทธรณ์ฯ วินิจฉัย

แต่ด้วยคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ตามมาตรา 180 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธิพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 จึงขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลฯ อนุญาตให้รับอุทธรณ์ของจำเลย ตามมาตรา 181 

สำหรับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว มีเนื้อหาโดยสรุป

1. คำสั่งของศาลไม่มีรายละเอียดข้อสำคัญที่ต้องระบุในคำสั่ง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

การจัดทำคำสั่งศาลจะต้องมีเหตุผลอธิบายหรือชี้แจงแสดงเหตุหรือสาเหตุในการมีคำสั่งให้ชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัย เพื่อให้คู่ความทราบและเข้าใจเพื่อยอมรับ ตลอดจนเพื่อที่จะโต้แย้งอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งได้ถูกต้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลนำมาพิจารณา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับจำเลยในการต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องและอย่างเต็มที่ 

เมื่อคดีนี้ศาลมีคำสั่งเพียงว่า “พิเคราะห์แล้วกรณียังไม่มีเหตุอันสมควรให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต่อจำเลยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธิพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 137 จึงไม่อนุญาตยกคำร้อง” เป็นคำสั่งที่ไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ และเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

.

2. คำสั่งของศาลรับฟังรายงานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของสถานพินิจฯ ตามมาตรา 115 ไม่สอดคล้องกับหลักการและวิธีการที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 118 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ 

คดีนี้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงจากรายงานข้อเท็จจริงของสถานพินิจฯ ประกอบการทำคำสั่งว่า เยาวชนอาศัยอยู่กับมารดาและยาย มารดาไปทำงานที่ต่างประเทศ ยายเลี้ยงดูโดยให้อิสระแก่เยาวชน แต่เยาวชนไม่ได้เรียนหนังสือ และเคยกระทำความผิดคดีอาญาในคดีอื่นอีก 8 คดี 

ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ใช่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ถูกฟ้องคดีนี้ และศาลเยาวชนและครอบครัวกลางรับฟังเป็นผลร้ายแก่เยาวชน ศาลไม่ได้แจ้งข้อความตามรายงานในส่วนที่ศาลจะรับฟังเป็นผลร้ายดังกล่าวให้เยาวชนทราบ เพื่อให้เยาวชนแถลงคัดค้านและสืบพยานหักล้างก่อนมีคำสั่ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 118 

.

3. คำสั่งขัดต่อหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน อันเป็นหลักการสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 

– ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับผู้ปกครองที่ดูแลจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากมารดาและเป็นผู้ปกครองของจำเลยได้กลับมาพักอาศัยและทำงานที่ประเทศไทย และมารดาประสงค์จะขอรับจำเลยกลับไปดูแล การให้จำเลยได้อยู่กับมารดาพร้อมกับได้รับการดูแลแก้ไขบำบัดฟื้นฟูความประพฤติในระหว่างที่อยู่ด้วยกันกับมารดา เป็นประโยชน์สูงสุดของจำเลย 

ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับการศึกษาอบรม อาชีพ สังคมและสิ่งแวดล้อมของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากแม้จำเลยยังไม่ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคปกติ แต่จำเลยเข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับหลักสูตรการปฏิบัติงานด้านกู้ชีพ กู้ภัย เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพอาสากู้ภัย ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อมของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นสังคมการทำงานของผู้ปฏิบัติงานด้านอาสากู้ภัยและสาธารณะประโยชน์ทางการแพทย์ฉุกเฉิน และกิจกรรมเพื่อประโยชน์สังคมด้านต่าง ๆ การให้จำเลยได้ประกอบอาชีพที่มั่นคงและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นประโยชน์ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นความประสงค์ของจำเลยและยังเป็นประโยชน์สูงสุดของจำเลย 

คำร้องได้บอกเล่าถึงการเริ่มทำงานเป็นอาสากู้ภัยของจำเลย โดยมารดาและยายของจำเลยสนับสนุน และได้เข้าอบรมการเป็นอาสากู้ภัยในลักษณะต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2565-66 รวมทั้งการรับรองจากหัวหน้าอาสาสมัคร มูลนิธิร่วมกตัญญู จุด สน.ปทุมวัน และเป็นหัวหน้างานในปัจจุบันของจำเลย ซึ่งให้การรับรองการดูแลพฤติกรรมของจำเลย 

ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับอายุ นิสัย และความประพฤติของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากจำเลยบรรลุนิติภาวะ มีความมุ่งมั่นรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน รู้จักแยกแยะความผิดชอบชั่วดี ไม่ได้มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงใดใดที่จะกระทำผิดซ้ำอีก และมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และจำเลยตลอดจนครอบครัวได้แสดงออกถึงความสำนึกผิดด้วยการทำจิตอาสาช่วยเหลือสังคมเป็นประโยชน์ของสังคมและเป็นประโยชน์สูงสุดของจำเลย 

– ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากจำเลยได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจจากการถูกส่งไปสถานพินิจ เนื่องจากในระหว่างที่ศาลให้โอกาสประกันตัว จำเลยได้ตั้งใจปฏิบัติตามข้อแนะนำของพนักงานคุมประพฤติ นักจิตวิทยา และผู้อำนวยการสถานพินิจ และเมื่อถูกฟ้องเป็นคดีจำเลยได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้อำนวยการสถานพินิจ โดยตั้งใจปรับปรุงแก้ไขตนเอง ทำจิตอาสา การให้โอกาสจำเลยได้เข้ามาตรการแทนการพิพากษาและคุมประพฤติจำเลยแบบเข้มงวดหรือมีเงื่อนไขอื่นอีกครั้งเป็นประโยชน์สูงสุดของจำเลย

คำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางที่มีคำสั่งว่าไม่มีเหตุอันสมควรเปลี่ยนแปลงคำสั่งจึงเป็นคำสั่งที่ขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน ไม่เหมาะสมกับอายุ สภาพจิตใจ วุฒิภาวะ และขัดต่อหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน 

.

4. พฤติการณ์คดีและพฤติกรรมของเยาวชนอยู่ในเกณฑ์ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ตามมาตรา 132 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาได้ 

นอกจากความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ในข้อเท็จจริงของจำเลยแล้ว ประการสำคัญพฤติการณ์ในคดีตามฟ้องเป็นการกระทำผิดร่วมกันของกลุ่มผู้ชุมนุมในการชุมนุม เยาวชนไม่ได้มีพฤติการณ์เป็นหัวหน้าสั่งการและไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมเกินสมควร 

จึงขอให้ศาลเปลี่ยนใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี และให้จำเลยอยู่ในความดูแลของมารดา ตามมาตรา 132 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ แทน

.

X