สรุปสถานการณ์ยื่นประกันตัว ‘ผู้ต้องขังทางการเมือง’ ต้นเดือน พ.ย. ได้ประกันแล้ว 4 คน – ยังไม่ได้ประกันระหว่างต่อสู้คดีอีก 23 คน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจนถึงวันที่ 15 พ.ย. 2566 ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีที่แสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 24 คน โดยในจำนวนดังกล่าวมีผู้ที่ถูกคุมขังในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 จำนวน 15 คน

ระหว่างวันที่ 1-14 พ.ย. 2566 ได้มีการยื่นประกันตัวผู้คุมขังทางการเมืองไปทั้งสิ้น 15 คน โดยศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวจำนวน 4 คน ได้แก่ เก่ง พลพล, อาร์ม วัชรพล, ต้อม จตุพล และ แบงค์ ณัฐพล กลุ่มจำเลยในคดีเดียวกัน

ในวันที่ 3 พ.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัว “เก่ง พลพล” ที่ถูกคุมขังระหว่างชั้นอุทธรณ์จากกรณีเข้าร่วมชุมนุมบริเวณดินแดงเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565 และถูกกล่าวหาว่าร่วมเผารถตำรวจ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัว “อาร์ม วัชรพล”, “ต้อม จตุพล”, “แบงค์ ณัฐพล” เมื่อวันที่ 12, 13 และ 14 พ.ย. 2566 ตามลำดับ โดยทั้งสามคนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาเป็นระยะเวลาร่วมสามเดือน โดยพลพลถูกคุมขังทั้งสิ้น 69 วัน ส่วนวัชรพลถูกคุมขังทั้งสิ้น 76 วัน, จตุพล ถูกคุมขังทั้งสิ้น 77 วัน ส่วน ณัฐพล ถูกคุมขังทั้งสิ้น 78 วัน 

4 พล (เมือง) ดินแดง ได้รับการประกันตัวทั้งหมดแล้วหลังถูกคุมขังมาร่วมสามเดือน

หลังศาลมีคำพิพากษาในคดีของ 4 พลเมืองดินแดง ซึ่งประกอบไปด้วย วัชรพล, จตุพล, พลพล และ ณัฐพล เหตุจากการเข้าร่วมชุมนุมบริเวณแยกดินแดงใน #ม็อบ11มิถุนา65 และถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเผารถตำรวจ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2566 ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกวัชรพล, จตุพล และ ณัฐพล คนละ 3 ปี ส่วนพลพลจำคุก 1 ปี 4 เดือน โดยยกฟ้องในเรื่องเกี่ยวกับการวางเพลิง ทำให้ทั้งสี่คนต้องกลับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีกครั้งหลังจากที่พวกเขาเคยถูกคุมขังยาวนานกว่า 240 วันในระหว่างพิจารณาคดี ผู้ต้องขังกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีการยื่นขอประกันตัวมากที่สุดในระลอกปี 2565 กว่า 18 ครั้ง จนกระทั่งได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2566

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2566 ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว “พลพล” สองวันถัดมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวในระหว่างชั้นอุทธรณ์ โดยให้ติดกำไล EM พร้อมวางหลักประกัน 30,000 บาท และแต่งตั้งให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้กำกับดูแล พร้อมให้จำเลยไปรายงานตัวกับผู้กำกับดูแลทุก 30 วัน ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 6 พ.ย. 2566

หลังจากที่พลพลได้รับการประกันตัว ต่อมาในวันที่ 9 พ.ย. 2566 ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว “วัชรพล” ตามมา สามวันถัดมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยเห็นว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ให้จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนไป อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 ในระหว่างอุทธรณ์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้จำเลยที่ 1 หลบหนี จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 วางหลักประกัน 30,000 บาท พร้อมติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของจำเลยที่ 1 กรณีผิดสัญญาประกันให้ปรับ 150,000 บาท และสมควรตั้งผู้กำกับดูแลและกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยที่ 1 รายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลทุก 30 วัน เพื่อสอดส่องดูแลไม่ให้จำเลยที่ 1 หลบหนีหรือกระทำความผิดอื่น”

ต่อมาในวันที่ 13 และ 14 พ.ย. 2566 ทนายก็ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว “จตุพล” และ “ณัฐพล” ตามลำดับ โดยศาลอาญามีคำสั่งให้ประกันตัวทั้งสองคน โดยไม่ได้ส่งศาลอุทธรณ์พิจารณา แต่กำหนดให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 150,000 บาท พร้อมติดกำไล EM และให้รายงานตัวต่อผู้กำกับดูแลทุก 30 วัน

ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ยังคงไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว หลังทนายความยื่นประกัน “ทีปกร – วารุณี – อานนท์ – วีรภาพ – กัลยา” ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา

กิ๊ฟ ทีปกร หมอนวดอิสระ วัย 38 ปี ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2566 หลังศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี ในคดีมาตรา 112 เหตุจากการโพสต์เฟซบุ๊กและแชร์คลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษีของสถาบันกษัตริย์

ในการขอยื่นประกันตัวครั้งแรกศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์และกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง” 

หลังจากนั้นศาลอุทธรณ์ รวมถึงศาลฎีกา ยังมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน หลังยื่นประกันและอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันมาแล้วรวม 4 ครั้ง ซึ่งในครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ครอบครัวของทีปกรได้ยื่นขอประกันตัวด้วยตนเอง แต่วันที่ 5 พ.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งยกคำร้องอีกเช่นเคย จนถึงวันนี้เขาถูกคุมขังมาแล้ว 149 วัน หรือกว่า 5 เดือน

.

วารุณี ชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางหลังศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน ในคดีมาตรา 112 และข้อหาเหยียดหยามศาสนา ตั้งแต่วันที่เธอถูกพิพากษามาจนถึงปัจจุบัน ทนายความคำร้องยื่นประกันตัววารุณีไปแล้วกว่า 7 ครั้ง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ทนายความยื่นขอประกันตัวอีกครั้งหนึ่ง และวันที่ 5 พ.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้องเช่นกับทุกครั้งที่ผ่านมา โดยระบุว่าพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง ที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้นกรมราชทัณฑ์ก็สามารถดูแลจัดการให้ได้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 เหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง” 

ด้านทนายความเตรียมยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวต่อศาลฎีกาต่อไป วารุณียังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาแล้ว 140 วัน

.

อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท ในคดีมาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ รวม 9 ข้อกล่าวหา จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563

ในการยื่นขอประกันตัวครั้งแรก ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีประกอบพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง

“ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ไต่สวนพยานผู้ร้องก่อนมีคำสั่งในคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนั้น เนื่องจากพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอต่อการวินิจฉัยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานผู้ร้องอีก ให้ยกคำร้องในส่วนนี้”

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวอานนท์เป็นครั้งที่สาม แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว 

และล่าสุดในวันที่ 10 พ.ย. 2566 ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวต่อศาลฎีกาเป็นครั้งแรก ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง ระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกสี่ปีและปรับ 20,000 บาท หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง” ทำให้อานนท์ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาแล้ว 50 วัน

.

รีฟ วีรภาพ เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2566 หลังศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ในข้อหามาตรา 112 จากเหตุพ่นสีสเปรย์บริเวณแยกดินแดง ระหว่างการชุมนุมวันที่ 13 ก.ย. 2564 

ทนายความยื่นประกันตัวหลังศาลมีคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัววีรภาพ ระบุว่า

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีประกอบพยานหลักฐานแล้ว การกระทำของจำเลยมีลักษณะไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองพฤติการณ์ เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

หลังจากนั้นช่วงปลายเดือนตุลาคม ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 2 ศาลอุทธรณ์ยังคงไม่อนุญาต จึงมีการยื่นอุทธรณ์คำสั่ง และศาลฎีกามีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 ให้ยกคำร้องเห็นว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกสามปี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนี คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”

ด้วยเหตุนี้ทำให้ “รีฟ” ยังคงถูกคุมขังระหว่างชั้นอุทธรณ์มาแล้ว 48 วัน

.

กัลยา (นามสมมติ) ถูกคุมขังอยู่ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2566 หลังศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาจำคุกยืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 6 ปี ในข้อหามาตรา 112 เหตุจากการโพสต์และแชร์ข้อความบนเฟซบุ๊กใน 2 กระทง

จากนั้น ทนายยื่นคำร้องขอประกันตัวครั้งแรก โดยศาลจังหวัดนราธิวาสส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา และศาลฏีกาก็มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 ปี หากปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างฎีกา ให้ยกคำร้อง”

จนเมื่อครั้งล่าสุด ทนายความยื่นขอประกันอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 ศาลฎีกายังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุว่า “เหตุที่อ้างตามคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างฎีกามิใช่เหตุเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม และเหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วย จำเลยมีสิทธิได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง” ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้ “กัลยา” ยังคงถูกคุมขังมาแล้ว 26 วัน

ผู้ถูกคุมขังรายใหม่ “แม็กกี้” และ “ณัฐกานต์” ถูกฝากขังในชั้นสอบสวนคดี ม.112 ศาลไม่ให้ประกันตัว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพิ่งได้ทราบข้อมูล กรณีของ “แม็กกี้” (สงวนชื่อสกุล) ประชาชนอายุ 26 ปี ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในข้อหามาตรา 112 โดยไม่มีทนายความให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ทราบว่าเธอถูกจับกุมเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 และถูกตำรวจนำตัวมาขอฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ก่อนศาลไม่ให้ประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. 2566

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566 ทนายความยื่นขอประกันตัวเธออีกครั้งต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยเสนอวางหลักทรัพย์ แต่ศาลยังมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง” ทำให้แม็กกี้ถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนมาแล้ว 24 วัน 

นอกจากนั้นแล้วยังมี “เจมส์ – ณัฐกานต์” นักกิจกรรมฝั่งธนบุรี วัย 37 ปี ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางพัทลุงตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2566 หลังเขาถูกจับกุมที่บ้านพักตามหมายจับศาลจังหวัดพัทลุงในข้อหามาตรา 112 

ทนายความยื่นขอประกันตัวหลังศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ในวันเดียวกันศาลจังหวัดพัทลุงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่กลัวเกรงต่อกฎหมาย ผู้ต้องหาไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และมีแนวโน้มที่จะไปกระทำความผิดซ้ำตามที่ถูกกล่าวหา จึงยังไม่มีเหตุที่จะปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้เจมส์ถูกคุมขังระหว่างสอบสวนมาแล้ว 6 วัน

สี่ผู้ต้องขังคดีที่มีมูลเหตุจากม็อบดินแดงหรือวัตถุระเบิดยังคงไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

ถิรนัยชัยพร ทั้งสองคนอยู่ในเรือนจำมาแล้ว 273 วัน ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่ถูกควบคุมตัวนานที่สุดในรอบปี 2566 สืบเนื่องมาจากพวกเขาถูกศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566 ให้จำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี ในข้อหาครอบครองระเบิดปิงปอง ก่อนการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 โดยศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมารวมแล้ว 6 ครั้ง

ในครั้งล่าสุด ทนายยื่นขอประกันตัวชั่วคราวทั้งสองคนเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุควรเชื่อว่าจำเลยทั้งสองหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

นอกจากนั้นแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 บาส ประวิตร ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 12 ปี 8 เดือน ก่อนลดเหลือ 6 ปี 4 เดือน หลังถูกฟ้องว่าร่วมกันวางเพลิงป้อมตำรวจจราจรบริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ภายหลัง #ม็อบ10สิงหา64 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 ทนายความได้ขอยื่นประกันตัวบาสอีกครั้ง ศาลยังคงมีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี 4 เดือน มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ให้ปล่อยชั่วคราวอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง” จนถึงปัจจุบัน บาสถูกคุมขังมาแล้ว 127 วัน

สุดท้าย บุ๊ค ธนายุทธ ศิลปินแร็ปเปอร์วง Eleven Finger วัย 20 ปี ถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน คดีครอบครองวัตถุระเบิด หลังเจ้าหน้าที่ตรวจพบประทัดลูกบอล, ไข่ก็อง, พลุควัน และระเบิดควันที่บ้านพัก โดยเขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย. 2566

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 ทนายความยื่นขอประกันตัวบุ๊คเป็นครั้งที่สาม ศาลอุทธรณ์ยังคงยกคำร้อง โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ยกคำร้อง” จนถึงปัจจุบันเขาถูกคุมขังระหว่างชั้นอุทธรณ์มาแล้ว 54 วัน

ข้อมูลระหว่างวันที่ 1- 14 พ.ย. 2566

อ่านบทความเรื่องสิทธิประกันตัว >> สั่งไม่ขังได้ ทำไมไม่สั่ง ? : ความ 2 มาตรฐานในการสั่งปล่อยตัวชั่วคราวหลังศาลชั้นต้นพิพากษา

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง 2566

X