จับทีมงานเครื่องเสียง 5 คน! หลังให้บริการเครื่องเสียงกิจกรรมครบรอบ 1 ปี ม็อบแฮร์รี่ อ้างผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พร้อมยึดรถ-เครื่องเสียง ก่อนศาลให้ประกันโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์

วานนี้ (3 กรกฎาคม 2564) เวลาประมาณ 20.40 น. ศูนย์ความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า ตำรวจได้เข้าจับกุมผู้ให้บริการรถเครื่องเสียงจำนวน 5 คน ที่หน้าด่านเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษพระราม 9-1 (ศรีรัช) ก่อนจะควบคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน สืบเนื่องจากการร่วมกิจกรรมชุมนุม ‘ลอร์ดโวลเดอร์มอร์ยังไม่ตาย เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

ก่อนหน้านี้ ผู้ให้บริการรถเครื่องเสียงได้เดินทางไปที่ สน. ปทุมวัน แล้ว เพื่อเสียค่าปรับจำนวน 500 บาท ตามข้อกล่าวหา “ปิดบังป้ายทะเบียน” แม้ว่าผู้ถูกจับกุมจะชี้แจงว่าได้ไปเสียค่าปรับแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงควบคุมตัวทั้ง 5 คน ไปที่สถานีตำรวจ และได้ยึดโทรศัพท์ทั้งหมด 4 เครื่อง, เครื่องเสียง และรถกระบะที่บรรทุกเครื่องเสียงของผู้ต้องหาเอาไว้ 

เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. “อั๋ว” จุฑาทิพย์ สิริขันธ์ รายงานผ่านบัญชีทวิตเตอร์ของตนว่า ตำรวจได้มาถึง สน.ปทุมวัน พร้อมผู้ถูกจับกุมแล้ว โดยมีรถกันกระสุน, รถตู้ที่ติดตราสัญลักษณ์ตำรวจ และรถเครื่องเสียงของผู้ถูกจับกุมเข้ามาในพื้นที่ และเริ่มทำบันทึกการจับกุม ก่อนที่เวลา 23.00 น. โดยประมาณ ทนายความจะเดินทางไปถึง สน.ปทุมวัน 

ตามบันทึกจับกุม ตำรวจชุดจับกุมประกอบด้วยตำรวจจาก กก.สส.6 บก.สส.บชน., กองกำลังควบคุมฝูงชน 2 บก.อคฝ. และ สน.ปทุมวัน ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผบก.น.6 โดยได้จับกุมผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ในความผิดฐาน ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามชุมนุม ได้แก่ ข้อกำหนดฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2563, ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2564, ฝ่าฝืนประกาศกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมาตรา 35 พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

นอกจากนี้ เจตน์ (นามสมมติ) คนขับรถยังถูกจับในความผิดฐาน จอดหรือขับขี่รถยนต์บนทางเท้า ฝ่าฝืน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ อีกข้อหาด้วย 

ตำรวจได้บรรยายพฤติการณ์จับกุมไว้ว่า ก่อนทําการจับกุมผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับคําสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทําการสืบสวน ติดตาม และจับกุมผู้ขับขี่รถเครื่องขยายเสียงคันหนึ่งในการปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 3 สิงหาคม 2564   

เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมพบรถยนต์คันดังกล่าวที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีเจตน์เป็นผู้ขับขี่ขึ้นไปจอดบนทางเท้าหน้าหอศิลป์ฯ ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือนั่งอยู่ภายในรถยนต์คันดังกล่าว ต่อมาผู้ต้องหาทั้งห้าช่วยกันจัดระบบเครื่องเสียงให้แกนนําใช้ปราศรัยในกิจกรรม และหลังจากแกนนำประกาศยุติการจัดกิจกรรม ผู้ต้องหาทั้งหมดได้เดินทางออกจากบริเวณหอศิลป์ฯ เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงติดตามไปจนถึงบริเวณหน้าด่านเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษพระราม 9-1 (ศรีรัช) ช่องที่ 3 และเข้าจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ชั้นจับกุมบันทึกจับกุมระบุว่า ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม

เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. พนักงานสอบสวนเริ่มสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งห้า โดยผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2564

เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดโทรศัพท์ 4 เครื่องของผู้ต้องหาไว้ ซึ่งพฤติการณ์ในคดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  ผู้ต้องหาจึงให้การว่าตนไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดเป็นของกลาง และขอให้พนักงานสอบสวนคืนโทรศัพท์แก่ตน อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนปฏิเสธที่จะคืนโทรศัพท์ให้ ทนายความจึงได้แจ้งความให้พนักงานสอบสวนลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ตามความประสงค์ของผู้ต้องหาทั้งห้า

หลังสอบปากคำเสร็จในเวลาประมาณ 03.00 น. พนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะนำตัวผู้ต้องหาไปที่ศาลแขวงปทุมวันในช่วงเช้าเพื่อขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหา ทำให้ผู้ให้บริการรถเครื่องเสียงทั้งห้า ถูกคุมขังอยู่ที่ สน.ปทุมวัน ตลอดคืน

เช้าวันนี้ (4 สิงหาคม 2564) เวลา 08.30 น. พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งห้าที่ศาลแขวงปทุมวัน ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยระบุในคำร้องว่าพฤติการณ์ของผู้ต้องหามิได้เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาแต่อย่างใด อีกทั้งคดีของผู้ต้องหายังมีหนทางจะต่อสู้คดีได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยผู้ต้องหาประสงค์จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน

นอกจากนี้ ผู้ต้องหาทั้งห้ายังมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงดูครอบครัว และไม่ใช่ผู้มีอิทธิพล ผู้ต้องหาทั้งจึงไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่มีความสามารถในการก่ออันตราย หรือสร้างอุปสรรคและความเสียหายให้กับกระบวนการพิจารณาคดี

จนเวลาประมาณ 10.55 น. ศาลแขวงปทุมวันมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 5 คน โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์เป็นหลักประกัน และนัดรายงานตัวต่อศาลในวันที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 9.00 น.

หลังได้รับการปล่อยตัว ผู้ต้องหาที่ 4 ได้ไปขอรับโทรศัพท์คืนจากพนักงานสอบสวนอีกครั้ง พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ จงอิทธิ รอง ผกก. (สอบสวน) สน.ปทุมวัน จึงได้สอบปากคำเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์ ผู้ต้องหาที่ 4 ได้ให้การเพิ่มเติม โดยไม่มีทนายความและผู้ไว้ใจอยู่ร่วมว่า ตนและครอบครัว ซึ่งประกอบกิจการรับจ้างจัดงานดนตรี ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ ขอเช่าเครื่องขยายเสียงมาใช้ในกิจกรรมที่หน้าหอศิลป์ ในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 15.00 น. ตนจึงตอบตกลง หลังพนักงานสอบสวนถ่ายภาพแสดงข้อมูลการใช้โทรศัพท์ตามที่ผู้ต้องหาที่ 4 ให้การ ก็ได้คืนโทรศัพท์ที่ยึดไว้ทั้ง 4 เครื่อง ให้กับผู้ต้องหาที่ 4   

อย่างไรก็ตาม กรณีการจับกุมผู้ให้บริการเครื่องเสียงทั้งห้า โดยอ้างเหตุจากการชุมนุมในช่วงเย็น แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำการจับกุมขณะเกิดเหตุ จึงต้องจับกุมโดยมีหมายจับ แต่ตำรวจชุดจับกุมไม่มีหมายจับ จึงเข้าข่ายเป็นการจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกับกรณีการจับรถเครื่องเสียงหลังกลับจากรับจ้างและให้เช่าเครื่องเสียงในคาร์ม็อบของกลุ่มราษฎร เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา และกรณีจับกุมประชาชน 13 ราย ที่บางเขน โดยอ้างเหตุจากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 

อนึ่ง กิจกรรมชุมนุม ‘ลอร์ดโวลเดอร์มอร์ยังไม่ตาย เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ โดยในวันนั้นผู้ปราศรัยได้กล่าวถึงการจัดการสถานการณ์โควิดของรัฐบาล  รวมไปจัดสรรงบประมาณของกองทัพ ในส่วนของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ มีการปราศรัยเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และการปรับลดงบประมาณและทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์

X